'ปฏิรูปการศึกษาเชิงพื้นที่' หนุนเสริมรัฐจัดการศึกษา
"ปฏิรูปการศึกษาเชิงพื้นที่" พลังสำคัญหนุนเสริมรัฐจัดการศึกษา สอดรับนักวิชาการส่ง "ปัญญาประดิษฐ์" เครื่องมือช่วยครู จัดแผนการสอน เพื่อเด็กรายคน
นายไพรัช ใหม่ชมภู รองนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดเชียงใหม่ และเลขานุการภาคีเชียงใหม่เพื่อการปฏิรูปการศึกษา กล่าวเนื่องในโอกาส งานปฏิรูปการศึกษาเชียงใหม่ ครั้งที่ 4 “พื้นที่นวัตกรรมการศึกษาเชียงใหม่” ว่า การจัดงานในครั้งนี้ ได้ดำเนินการขับเคลื่อนตามแผนยุทธศาสตร์การปฏิรูปการศึกษาเชียงใหม่(2559-2562) ปีสุดท้ายของแผนฯ โดยครั้งนี้ชูประเด็นเรื่องพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาเชียงใหม่ ที่ประสบความสำเร็จจากความร่วมมือของคนเชียงใหม่ทุกภาคส่วน ประกับเมื่อวันที่ 2 ต.ค.61 กระทรวงศึกษาธิการ ได้ประกาศให้จังหวัดเชียงใหม่เป็น 1 ในพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา ซึ่งดำเนินงานเพื่อมุ่งลดช่องว่างและความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาในจังหวัดเชียงใหม่ ถึงวันนี้ มีอำเภอที่ยกระดับการขับเคลื่อนปฏิรูปการศึกษาเชียงใหม่ โดยนำเรื่องหลักสูตรรักษ์เชียงใหม่ บรรจุลงไปในหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน ขยายผลไปยังอำเภอห่างไกล ได้แก่ สันกำแพง ดอยสะเก็ด และกัลยานิวัฒนา
“ณ วันนี้ นับเวลาได้ 4 ปี ที่ภาคีเชียงใหม่เพื่อการปฏิรูปการศึกษา ร่วมกันจัดการศึกษาเพื่อดูแลลูกหลานของตนเอง จนค้นพบว่า การศึกษาเป็นเรื่องของทุกคน เพราะภาคีเชียงใหม่เพื่อการปฏิรูปการศึกษา ประกอบด้วยทุกภาคส่วน กว่า 99 องค์กร โดยเฉพาะภาคประชาสังคมซึ่งมีบทบาทและพลังมาก นับเป็นพลังสำคัญต่อการจัดการศึกษาที่สำเร็จของเชียงใหม่ ทำให้การปฏิรูปการศึกษา การปฏิรูปการเรียนรู้ของนักเรียนได้ผลมากและไปได้เร็ว ซึ่งตอบโจทย์การศึกษาของเชียงใหม่ได้มากยิ่งขึ้น” นายไพรัช กล่าว
นายไพรัช กล่าวอีกว่า ร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ.. ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างขั้นตอนการพิจารณานั้น หากเป็นไปได้อยากให้นโยบายและการจัดการศึกษาในพื้นที่เกิดความสอดรับทำให้จัดการศึกษาเกิดประสิทธิผล ตรงต่อกลุ่มเป้าหมาย คือ เด็กและเยาวชน เพราะการศึกษาเป็นเรื่องของทุกคน ต้องให้พื้นที่รับผิดชอบลูก หลานของตนเอง สร้างกลไกในพื้นที่ โดยภาคสังคม และประชาชนพร้อมหากเปิดโอกาสให้เข้ามามีส่วนร่วม ดังนั้น รัฐต้องเชื่อคนในพื้นที่ว่าการจัดการศึกษาที่ดี ต้องมีอิสระให้อำนาจพื้นที่ โดยรัฐเป็นผู้ให้การสนับสนุนในด้านนโยบายและงบประมาณ ส่วนวิธีดำเนินการให้พื้นที่รับผิดชอบ
นพ.ก้องเกียรติ เกษเพ็ชร์ เลขาธิการมูลนิธิสดศรี-สฤษดิ์วงศ์ กล่าวตอนหนึ่งในช่วง ED TALK ในหัวข้อ “ปัญญาประดิษฐ์ Artificial Intelligence” ในการพัฒนาการจัดการศึกษาเชิงพื้นที่ ว่า ทำอย่างไรจะนำการศึกษาไปแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำที่เกิดขึ้นได้ ทั้งเด็ก ผู้สูงวัยและประชาชนทุกคนในสังคม สามารถมีเสรีภาพในการเรียนรู้ตลอดชีวิตได้ โดยความเชื่อพื้นที่เป็นสิ่งที่จับต้องได้ แต่เป็นไปได้หรือไม่ที่จะนำเทคโนโลยีเข้ามาแก้ไขปัญหาการศึกษา หากพิจารณาผลลัพธ์ทางการศึกษาทั้งผลการเรียน ผลการสอบไม่ดีขึ้นเลย และยังพบว่าผลคะแนน PISA ภาคเหนือมีคะแนนดีกว่าภาคกลาง ซึ่งเห็นความแตกต่างอย่างมาก ดังนั้น นอกจากปัญหาระบบการศึกษาแล้ว พบว่าเศรษฐานะก็มีผลต่อผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษา ถ้าเด็กมาจากครอบครัวที่มีฐานะยากจนโอกาสที่จะเกิดความเท่าเทียมทางการศึกษายากมาก ซึ่งเด็กที่มีปัญหาดังกล่าว ต้องออกจากโรงเรียนไปทำงานช่วยเหลือครอบครัว
นพ.ก้องเกียรติ กล่าวอีกว่า จากผลการวิจัยของนักวิจัยท่านหนึ่งได้ตีพิม์ผลงานวิชาการน่าสนใจมากว่า ประเทศไทยมีความพยายามแก้ไขปัญหาการศึกษามาหลายรูปแบบ อาทิ การปฏิรูประบบการบริหารโรงเรียน การปฏิรูปครู การสร้างแรงจูงใจให้ครู หรือระบบทรัพยากรการเรียนการสอน โดยความพยายามทั้งหมดไม่ได้ส่งผลต่อผลลัพธ์ทางการศึกษาของนักเรียนเลย ฉะนั้น สิ่งที่ทำมาในอดีตเราพยายามแก้ไขปัญหา แต่ความต้องการให้นักเรียนประสบความสำเร็จยังไปไม่ถึง ดังนั้น จึงพยายามค้นหาหนทางใหม่ที่ทำให้เด็กทุกคนประสบความสำเร็จได้ โดยแปลความเท่าเทียมให้มีมาตรฐานเดียวกัน แต่เด็กทุกคนมีความแตกต่างกัน ดังนั้น ครูต้องได้รับการพัฒนาและจะต้องมีเครื่องมือที่จะช่วยเหลือเด็กได้ในจำนวนมากๆ ในเวลาเดียวกัน
“ในช่วง 5-6 ปี ได้ค้นพบเทคโนโลยีที่สามารถดักจับหรือเก็บสะสมการเรียนรู้ของเด็กแต่ละคนผ่านวิธีการที่เรียกว่า “ปัญญาประดิษฐ์” โดยความสามารถของคอมพิวเตอร์และเครือข่ายที่สามารถเก็บวิธีการเรียนรู้ของผู้เรียน วิเคราะห์พฤติกรรมการเรียนรู้ และออกแบบการเรียนรู้ได้ ซึ่งจะช่วยเหลือเด็กให้เกิดการเปลี่ยนแปลงการเรียนรู้ได้เร็วขึ้น โดยได้ทดลองนำผลสอบของนักเรียนทุกคนในห้องเรียนป้อนเข้าคอมพิวเตอร์ สิ่งที่เห็นคือ กลุ่มคะแนนที่แตกต่างอย่างชัดเจน โดยคะแนนของการเรียนแบบใช้โจทย์ปัญหาเป็นฐานสูงกว่าการเรียนตามรายวิชา ซึ่งพบว่าข้อมูลที่เกิดขึ้นครูไม่เคยเห็นภาพสะท้อนจากแผนการสอน นำไปสู่ภาพอนาคตว่าการเรียนของเด็กไม่สามารถเรียนแบบเส้นทางเดียว แต่เด็กต้องเรียนรู้บนความแตกต่างกัน จึงต้องจัดการเรียนการสอนที่หลากหลายเพื่อสนับสนุนช่วยเหลือเด็กแต่ละคน เพื่อไปถึงเป้าหมายสุดท้ายได้บนเส้นทางที่แตกต่างกัน ฉะนั้น เมื่อมีเทคโนโลยีที่ทำให้เห็นวิธีการเรียนและทำความเข้าใจเด็กได้ ครูก็จะออกแบบการสอนที่ตรงกับเด็กได้ ก็จะได้ห้องเรียนที่ทำให้เด็กเรียนได้สนุกมากขึ้น” นพ.ก้องเกียรติ กล่าว