สธ.ระดมภาคีหนุนนโยบายรัฐบาลสร้างความรอบรู้ทางสังคม
สธ.ระดมภาคีหนุนนโยบายรัฐบาลสร้างความรอบรู้ทางสังคม ส่งเสริมคนไทยทุกวัยเพิ่มกิจกรรม ทางกายในชีวิต
วันนี้ (18กุมภาพันธ์ 2562) นายแพทย์ศุภกิจ ศิริลักษณ์ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข ประธานคณะกรรมการบริหารการส่งเสริมกิจกรรมทางกาย ตามแผนการส่งเสริมกิจกรรมทางกาย พ.ศ.2561-2573 ประชุมหารือแนวทางการส่งเสริมกิจกรรมทางกายให้คนไทยทุกกลุ่มวัยมีกิจกรรมทางกายในชีวิตประจำวันเพิ่มขึ้น ร่วมกับภาคีทั้งภาครัฐ เอกชน ประชาสังคม และประชาชน มีนโยบายเร่งด่วนให้การสื่อสารรณรงค์สร้างความรอบรู้ด้านกิจกรรมทางกายกับสังคมไทยให้ตื่นตัวและเพิ่มความกระฉับกระเฉงในชีวิตประจำวัน
นายแพทย์ศุภกิจ กล่าวว่า ประเทศไทยเป็นผู้นำการส่งเสริมกิจกรรมทางกายในระดับโลก และนายกรัฐมนตรีให้ความสำคัญต่อการส่งเสริมกิจกรรมทางกาย จึงเป็นที่มาของแผนการส่งเสริมกิจกรรมทางกาย พ.ศ.2561-2573 ที่ได้รับการอนุมัติจากคณะรัฐมนตรี เพื่อให้เกิดกิจกรรมทางกายอย่างเพียงพอในวิถีชีวิตประจำวันในทุกกลุ่มวัย เนื่องจากคนไทยมีอัตราการเสียชีวิตจากโรคไม่ติดต่อถึงร้อยละ 71 ของการเสียชีวิตทั้งหมด สาเหตุหนึ่งมาจากการที่ประชาชนมีกิจกรรมทางกายที่ไม่เพียงพอถึง 1 ใน 3 ของคนไทยทั้งประเทศ ซึ่งคนไทยโดยเฉลี่ยมีพฤติกรรมเนือยนิ่งที่ไม่รวมการนอนมีสูงถึงเกือบ 14 ชั่วโมงต่อวัน เช่น การนั่งเล่นโทรศัพท์มือถือ การใช้คอมพิวเตอร์ การนั่งคุยกับเพื่อน การนั่งหรือนอนดูโทรทัศน์ และมีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้น ส่งผลให้มีน้ำหนักเกินและโรคอ้วน ซึ่งมีความสัมพันธ์ชัดเจนต่อการเกิดโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง เช่น โรคหัวใจและหลอดเลือด โรคเบาหวาน และโรคมะเร็งบางชนิด ดังนั้น หากส่งเสริมให้เกิดกิจกรรมทางกายอย่างจริงจังจะช่วยลดความสูญเสียชีวิตจากโรคไม่ติดต่อ และ ลดต้นทุนค่ารักษาพยาบาลได้
ทางด้าน แพทย์หญิงพรรณพิมล วิปุลากร อธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า การประชุมของคณะกรรมการบริหารการส่งเสริมกิจกรรมทางกายวันนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อนำแผนการส่งเสริมกิจกรรมทางกาย พ.ศ. 2561-2573 อันประกอบด้วย 3 ยุทธศาสตร์ ได้แก่ 1. การส่งเสริมกิจกรรมทางกายประชาชนทุกกลุ่มวัย 2. การส่งเสริมสภาพแวดล้อมให้เอื้อต่อการมีกิจกรรมทางกายซึ่งครอบคลุมสถานที่ที่ประชาชนแต่ละกลุ่มวัยใช้ชีวิตประจำวัน เช่น สถานที่ทำงาน สถานประกอบการ สถานบริการสุขภาพ ชุมชน รวมถึงระบบการขนส่งที่เอื้อให้เกิดการมีกิจกรรม ทางกายที่เพิ่มขึ้น และ 3. การพัฒนาระบบสนับสนุนการส่งเสริมกิจกรรมทางกาย ได้แก่ การสร้างองค์ความรู้ การวิจัย การเฝ้าระวังและติดตามกิจกรรมทางกาย การพัฒนาศักยภาพบุคลากร การสื่อสารรณรงค์สร้างความรอบรู้ด้านกิจกรรมทางกาย และการพัฒนานโยบายส่งเสริมกิจกรรมทางกายให้เกิดผลในทางปฏิบัติของทุกหน่วยงาน ทั้งส่วนกลางและพื้นที่อย่างมีส่วนร่วม
ดร.นายแพทย์ไพโรจน์ เสาน่วม ผู้อำนวยการสำนักส่งเสริมวิถีชีวิตสุขภาวะ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวว่า ประเทศไทยมีต้นทุนการส่งเสริมกิจกรรมทางกาย จากการที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นสนับสนุนการสร้างสวนสาธารณะ สถานที่ออกกำลังกาย ทางจักรยาน ทางเดินเท้า และชมรมออกกำลังกายในชุมชน การสนับสนุนให้เด็กปฐมวัย วัยเรียน วัยรุ่น มีการขยับร่างกายในสถานศึกษา วัยทำงานมีการขยับร่างกายในสถานที่ทำงาน แต่ต้องเสริมความเข้มข้นและความทั่วถึงในทุกพื้นที่เพื่อความเท่าเทียมกันในการมีโอกาส มีกิจกรรมทางกายในชีวิตประจำวันของประชาชนทุกคน ซึ่งทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในคณะกรรมการบริหารการส่งเสริมกิจกรรมทางกาย มีฉันทามติในการยกระดับการขับเคลื่อนการส่งเสริมกิจกรรมทางกายร่วมกันเพื่อให้เกิดความรอบรู้ Active Citizen Active City