ย้ำกินหมูปลอดภัย 'อหิวาต์แอฟริกาในสุกร' ไม่ติดต่อคน

ย้ำกินหมูปลอดภัย 'อหิวาต์แอฟริกาในสุกร' ไม่ติดต่อคน

ส.ผู้เลี้ยงสุกรย้ำกินหมูปลอดภัย "อหิวาต์แอฟริกาในสุกร" ไม่ติดต่อคน แนะเกษตรกรรายย่อยเฝ้าระวังเข้มงวด จี้ครม.อนุมัติเป็นวาระแห่งชาติ จัดงบเตรียมแผนป้องกัน

น.สพ.วิวัฒน์ พงษ์วิวัฒนชัย อุปนายกสมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติ และประธานกรรมการดำเนินการสหกรณ์การเกษตรปศุสัตว์ราชบุรี จำกัด เปิดเผยว่า  เปิดเผยว่า การระบาดของโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร  (African swine fever : ASF) ที่เริ่มจากในยุโรป มาที่รัสเซีย จีน และล่าสุดเวียดนามยืนยันพบโรค ASF รวมแล้ว ขณะนี้มีการระบาดไปมากกว่า 20 ประเทศ ซึ่งไม่มีวัคซีนป้องกัน ทำให้มีโอกาสเกิดความเสียหายรุนแรงต่อวงการปศุสัตว์ แต่อย่างไรก็ตาม ยืนยันได้ 100 % ว่าโรคดังกล่าวไม่ติดต่อคนอย่างแน่นอน

 

ปัจจุบัน ในประเทศไทย ยังไม่มีการแพร่ระบาดของโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร ด้วยความร่วมมือของทุกภาคส่วนที่มุ่งป้องกันไม่ให้โรคนี้เข้ามาติดต่อหมูในประเทศ โดยกรมปศุสัตว์ ร่วมมือกับฝ่ายทหาร จังหวัดที่มีชายแดนติดกับประเทศเพื่อนบ้าน ด่านกักกันสัตว์ทุกด่าน และสนามบินทุกแห่ง ตั้ง 50 ด่านทั่วประเทศ เพื่อตรวจสอบการลักลอบนำเข้าสินค้าปศุสัตว์และเข้มงวดการฆ่าเชื้อที่อาจจะแฝงมากับยานพาหนะของนักท่องเที่ยว พร้อมทั้งเร่งประชาสัมพันธ์ให้ความรู้เกี่ยวกับโรคดังกล่าว เพราะครั้งนี้ผลกระทบจะไม่ใช่เฉพาะผู้เลี้ยงสุกรเท่านั้นแต่จะกระทบต่อผู้ค้าเวชภัณฑ์ วัตถุดิบอาหารสัตว์ และพืชเกษตรด้วย หากเกิดโรค ASF ในไทย

 

ย้ำกินหมูปลอดภัย \'อหิวาต์แอฟริกาในสุกร\' ไม่ติดต่อคน

ขณะที่ สมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติ ก็ได้ร่วมมือในการป้องกันโรค โดยเพิ่มจำนวนสุนัขบีเกิลสำหรับดมกลิ่นตรวจสอบสัมภาระของนักท่องเที่ยว เพื่อเสริมกำลังเจ้าหน้าที่กรมปศุสัตว์เพิ่มเติม ในการตรวจสัมภาระของผู้โดยสารที่สนามบิน เป็นการป้องกันโรคอีกชั้นหนึ่ง และร่วมมือกับบริษัทเอกชน ปรับปรุงด่านชายแดน เพื่อป้องกันไม่ให้โรค ASF เข้ามาสร้างความเสียหายกับอุตสาหกรรมสุกรไทย ได้แก่ ด่านชายแดนที่ติด สปป.ลาว 4 ด่าน คือ ด่านเชียงของ ด่านจังหวัดหนองคาย ด่านจังหวัดมุกดาหาร ด่านจังหวัดนครพนม และด่านชายแดนที่ติดกัมพูชา คือ ด่านจังหวัดสระแก้ว ปอยเปต

 

โดยจัดสรรงบประมาณให้ด่านละ 1 ล้านบาท เพื่อการสร้างโรงล้าง ทำความสะอาดรถยนต์ พ่นยาฆ่าเชื้อ และมาตรการพักรถไว้ 30 นาที ก่อนกลับเข้าไทย ทั้งนี้ ที่ผ่านมา สมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติ ได้ลงพื้นที่ตรวจด่านจังหวัดหนองคาย ดูพื้นที่สร้างโรงล้างและฆ่าเชื้อรถยนต์ที่มาตามชายแดน เพื่อเร่งดำเนินการให้แล้วเสร็จก่อนเทศกาลสงกรานต์ เนื่องจากเป็นช่วงที่มีปริมาณคนข้ามชายแดนเป็นจำนวนมาก

 

นอกจากนี้ สมาคม ฯ มีการประชุมร่วมกับนายกสมาคมผู้เลี้ยงสุกรของแต่ละภูมิภาค สหกรณ์ผู้เลี้ยงสุกร ชมรมผู้เลี้ยงสุกร ได้มอบหมายในการให้ข้อมูลแก่สมาชิก ระมัดระวังเรื่องการขนส่ง การเคลื่อนย้ายระหว่างฟาร์ม โดยเข้มงวดในการนำคน สัตว์ สิ่งของทั้งหลาย ที่ต้องเคลื่อนย้ายระหว่างกัน แต่สิ่งที่ต้องเร่งดำเนินการอย่างเร่งด่วนอีกประการ คือ ภาครัฐยกระดับการเฝ้าระวังการป้องกันโรค ASF เป็นวาระแห่งชาติ ที่เตรียมเสนอให้คณะรัฐมนตรี ( ครม.) พิจารณา ต้องเร่งดำเนินการในเรื่องของการอนุมัติงบประมาณ โดยเฉพาะงบประมาณในการป้องกัน ซึ่งทางผู้เลี้ยงสุกรมองว่าจำเป็น เร่งด่วนแล้วที่จะต้องทำให้เร็ว

 

“สำหรับการเฝ้าระวังนั้น การตื่นตัวของเกษตรกรรายย่อย ต้องไม่นิ่งเฉยต่อการรับข่าวสาร มีแผนภายในในการป้องกันและเตรียมซ้อมแผนของตัวเอง เฝ้าระวังอย่างเข้มงวด เพราะเมื่อพิจารณาจากที่มาของการระบาดในหลายประเทศ ไม่ว่าจะเป็นจีน เวียดนาม เกิดจากรายย่อยก่อน ดังนั้น รายย่อยไม่ควรชะล่าใจ ปล่อยให้เป็นภาระของผู้เลี้ยงสุกรรายกลางและรายใหญ่ในการป้องกัน เพราะปัจจุบันทั้งรายกลางและรายใหญ่มีมาตรการป้องกันที่เข้มงวดอยู่แล้ว ในส่วนของผู้บริโภเอง แม้จะปลอดภัยจากโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกรอย่างแน่นอน เพราะโรคนี้ไม่ได้ติดต่อคน แต่โดยทั่วไปแล้วผู้บริโภคก็ควรรับประทานอาหารปรุงสุก กินร้อน ช้อนกลาง เป็นเรื่องปกติในชีวิตประจำวัน เพื่อสุขภาพของท่านเอง”น.สพ.วิวัฒน์