แนะ '3 วิธีเลือก 3 วิธีปฏิบัติ' เพื่อความปลอดภัยในการเดินทาง
กรมควบคุมโรค เตือนประชาชนใส่ใจการเดินทางไกลเป็นหมู่คณะ แนะ “ 3 วิธีเลือก 3 วิธีปฏิบัติ ” เพื่อความปลอดภัยในการเดินทางทุกครั้ง
นายแพทย์อัษฎางค์ รวยอาจิณ รองอธิบดีและโฆษกกรมควบคุมโรค กล่าวว่า ในช่วงที่ผ่านมา มีข่าวอุบัติเหตุของรถโดยสารสาธารณะเช่าเดินทางเกิดขึ้นบ่อยครั้ง ทำให้เกิดการบาดเจ็บและเสียชีวิตของประชาชนจำนวนมาก จากการเฝ้าระวังข่าวของสำนักโรคไม่ติดต่อ กรมควบคุมโรค พบว่านับตั้งแต่ปี 2562 เป็นต้นมา มีข่าวการเกิดอุบัติเหตุดังกล่าวแล้วมากกว่า 4 ครั้ง โดยเหตุการณ์ที่มีผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตจำนวนมาก เช่น เหตุการณ์ที่ 1 เมื่อวันที่ 6 มกราคม 2562 เกิดอุบัติเหตุรถบัสโดยสารพลิกคว่ำบริเวณถนนพหลโยธินขาเข้าช่องทางด่วน อ.คลองหลวง จ.ปทุมธานี ทำให้มีผู้เสียชีวิต 6 ราย บาดเจ็บ 54 ราย เหตุการณ์ที่ 2 เมื่อวันที่ 21 มกราคม 2562 รถทัวร์พาผู้นำชุมชนและผู้สูงอายุศึกษาดูงาน เสียหลักหลุดโค้งลงข้างทาง บริเวณถนนพหลโยธินสายลำปาง-ตาก มีผู้ได้รับบาดเจ็บ 4 ราย เหตุการณ์ที่ 3 เมื่อวันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2562 เกิดอุบัติเหตุรถบัสคณะนักศึกษา-อาจารย์ เบรกแตกพลิกคว่ำตกถนนบริเวณถนน สายดอกคำใต้-เชียงม่วน อ.เชียงม่วน จ.พะเยา มีผู้ได้รับบาดเจ็บหลายราย และเหตุการณ์ที่ 4 ล่าสุดเมื่อวันที่ 18 มีนาคม 2562 รถบัสเช่าทัศนศึกษาหลุดโค้งพลิกคว่ำ อ.นาดี จ.ปราจีนบุรี ทำให้มีนักเรียนเสียชีวิต 1 ราย บาดเจ็บหลายราย
ทั้งนี้ จากข้อมูลของสำนักระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค พบว่ารถบัสโดยสารสาธารณะมักเกิดอุบัติเหตุสูงสุดในเดือนเมษายน ซึ่งตรงกับช่วงปิดเทอมใหญ่ และมักมีการเดินทางไกลในช่วงเดียวกัน สาเหตุและปัจจัยเบื้องต้นเกิดจากฝนตก ถนนลื่น รองลงมาคาดว่าหลับใน และระบบเบรกของรถไม่ดี จากเหตุการณ์และความรุนแรงดังกล่าว กรมควบคุมโรค จึงขอย้ำเตือนให้ประชาชนใส่ใจการเดินทางไกลเป็นหมู่คณะ รวมทั้งกลุ่มนักเรียนที่มีการจัดทัศนศึกษาในช่วงปิดเทอม ควรมีการวางแผนและศึกษาเส้นทางที่ปลอดภัยก่อนออกเดินทางทุกครั้ง
นายแพทย์อัษฎางค์ กล่าวต่อไปว่า กรมควบคุมโรค ขอแนะนำประชาชนให้ยึดหลัก “3 วิธีเลือก 3 วิธีปฏิบัติ” เพื่อให้ปลอดภัยในการเดินทางเป็นหมู่คณะทุกครั้ง ดังนี้ 3 วิธีเลือก คือ 1.เลือกรถเช่า เลือกรถที่จดทะเบียนเป็นนิติบุคคล มีการติดตั้งอุปกรณ์เพื่อความปลอดภัยครบถ้วน เลือกรถให้เหมาะสมกับการเดินทาง หลีกเลี่ยงรถโดยสาร 2 ชั้นในเส้นทางโค้งและมีความลาดชัน จากข้อมูลของศูนย์วิจัยอุบัติเหตุแห่งประเทศไทย พบว่ารถโดยสาร 2 ชั้น มีโอกาสเกิดอุบัติเหตุพลิกคว่ำได้ง่ายกว่ารถโดยสารชั้นเดียวถึง 8 เท่า 2.เลือกผู้ประกอบการ ต้องมีสมุดประจำรถ มีการตรวจสภาพ ความพร้อมของรถและพนักงานขับรถอย่างสม่ำเสมอ มีการจัดทำประกันภัยภาคสมัครใจให้คลอบคลุมผู้โดยสาร และ 3.เลือกคนขับ โดยการตรวจสอบชื่อ-สกุล เลขที่ใบอนุญาตขับรถ ชำนาญเส้นทาง ไม่มีประวัติอุบัติเหตุ ไร้สารเสพติดและแอลกอฮอล์ มีใบอนุญาตขับรถตรงตามประเภทของรถ ส่วน 3 วิธีปฏิบัติ คือ 1.คาดเข็มขัดนิรภัยตลอดการเดินทาง 2.ไม่ดื่มแอลกอฮอล์บนรถ และ 3.หลีกเลี่ยงการเดินทางในเวลากลางคืน เนื่องจากทัศนะวิสัยอาจไม่ดี เสี่ยงกับการหลับใน และอาจเกิดอุบัติเหตุง่ายกว่าปกติ สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร. 1422