สบส.สั่งตรวจสอบ รพ.เอกชน ย่านลาดพร้าว หลังสาวร้องทำ 'เฟซออฟ' หน้าเบี้ยว
กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ สั่งการจนท.ตรวจสอบโรงพยาบาลเอกชน ย่านลาดพร้าว หลังพบกลุ่มผู้เสียหายแจ้งเอาผิดโรงพยาบาลฐานหลอกลวงประชาชน อวดอ้าง สรรพคุณ บริการศัลยกรรม “เฟซออฟ” (Face Off) แต่กลับได้ผลลัพธ์ไม่ตรงกับโฆษณา จนเกิดอาการเจ็บป่วย และทุพพลภาพ
จากกรณี ที่มีผู้เสียหายยื่นฟ้องโรงพยาบาลเอกชนแห่งหนึ่ง ย่านลาดพร้าว ในฐานหลอกลวงประชาชน โดยผู้เสียหายแจ้งว่าโรงพยาบาลดังกล่าวได้โฆษณาผ่านสื่อโซเชียลว่าการรับบริการศัลยกรรม “เฟซออฟ” กับโรงพยาบาลไม่ทำให้เกิดแผลเป็น มีการบวมช้ำน้อยหรือไม่บวมช้ำเลย ฯลฯ จนผู้เสียหายหลงเชื่อเข้ารับบริการ แต่กลับได้ผลลัพธ์ไม่ตรงกับที่โฆษณา เกิดอาการเจ็บป่วย และทุพพลภาพใบหน้าบิดเบี้ยวหลังรับบริการนั้น
นายแพทย์ณัฐวุฒิ ประเสริฐสิริพงศ์ อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (กรม สบส.) กระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยว่า จากกรณีดังกล่าว ตนได้สั่งการให้พนักงานเจ้าหน้าที่ของกรม สบส.เร่งดำเนินการตรวจสอบข้อเท็จจริง เพื่อให้ความเป็นธรรมกับทั้ง 2 ฝ่าย โดยจะมีการประสานขอข้อมูลจากผู้เสียหาย และลงพื้นที่ตรวจสอบมาตรฐานของสถานพยาบาลดังกล่าวว่าได้มีการควบคุม ดูแล มาตรฐานให้ถูกต้องตามที่พระราชบัญญัติสถานพยาบาล พ.ศ.2541 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ฉบับที่ 4 พ.ศ.2559 กำหนดหรือไม่ ทั้งสถานที่จะต้องสะอาด, แพทย์ผู้ให้บริการมีใบประกอบวิชาชีพถูกต้อง, เครื่องมือแพทย์จะต้องสะอาด ผ่านการฆ่าเชื้อทุกครั้งก่อนและหลังการใช้งาน, ยา และเวชภัณฑ์ผ่านการขึ้นทะเบียนกับสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) และตรวจสอบโฆษณาในสื่อทุกช่องทางของสถานพยาบาลว่าได้ขออนุญาตอย่างถูกต้อง หรือมีการใช้ข้อความอันเป็นเท็จ หรือโอ้อวดเกินจริงตามที่ถูกกล่าวอ้างหรือไม่ โดยจะนำข้อมูลที่ได้เสนอแก่คณะอนุกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงฯ ซึ่งประกอบด้วยผู้เชี่ยวชาญ และสภาวิชาชีพที่เกี่ยวข้องในการพิจารณาตัดสิน หากพบว่ามีการกระทำผิดมาตรฐานด้านใดด้านหนึ่ง หรือพบว่ามีการใช้คำว่า “เฟซออฟ” ซึ่งไม่เคยมีเทคนิคดังกล่าวตามหลักวิชาการ ในการโฆษณาเพื่อให้เกิดความแปลกใหม่ หรืออวดอ้าง สรรพคุณบริการศัลยกรรมเสริมความงามด้วยวิธีการดึงหน้า ซึ่งถือว่าเข้าข่ายความผิดฐานโฆษณาโดยใช้ข้อความอันเป็นเท็จ หรือโอ้อวดเกินจริง หรือข้อความที่ก่อความเข้าใจผิดในสาระสำคัญต่อการบริการของสถานพยาบาล เพื่อชักชวนให้ประชาชนหลงเชื่อเข้ารับบริการ กรม สบส.จะดำเนินการเอาผิดตามกฎหมายทันที
นายแพทย์ณัฐวุฒิฯ กล่าวต่อว่า สำหรับปัญหาการโฆษณาโอ้อวดเกินจริง หลอกลวงประชาชนนั้น เป็นปัญหาที่พบได้บ่อยครั้งยิ่งในยุคที่ประชาชนสามารถเข้าถึงข้อมูลข่าวสารได้อย่างรวดเร็วผ่านสมาร์ทโฟน การเผยแพร่โฆษณาสถานพยาบาลจะต้องยึดหลักปฏิบัติตามที่พระราชบัญญัติสถานพยาบาล พ.ศ.2541และที่แก้ไขเพิ่มเติม ฉบับที่ 4 พ.ศ. 2559 กำหนดอย่างเคร่งครัด โดยกฎหมายได้กำหนดให้การเผยแพร่โฆษณาสถานพยาบาลเพื่อประโยชน์ทางการค้าสู่สาธารณชนจะต้องผ่านการตรวจสอบ และอนุมัติจากผู้อนุญาต คือ กรม สบส.หรือสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดในพื้นที่เสียก่อนจึงจะเผยแพร่ได้ หากผู้ใดทำการโฆษณาสถานพยาบาลโดยไม่ได้รับการอนุมัติจะถือว่ามีความผิดตามพระราชบัญญัติสถานพยาบาลฯ มาตรา 38 วรรคหนึ่ง ต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 2 หมื่นบาทและให้ปรับอีกวันละไม่เกิน 1 หมื่นบาท จนกว่าจะระงับการโฆษณา และหากเป็นการโฆษณาอันเป็นเท็จ โอ้อวดเกินจริง ก็จะถือว่ามีความผิดตามมาตรา 38 วรรคสอง ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 2 หมื่นบาทหรือทั้งจำทั้งปรับ และให้ปรับอีกวันละไม่เกิน 1 หมื่นบาทจนกว่าจะระงับการโฆษณา