'กรน' เรื่องเล็ก...ที่อันตรายชี้คนไทย3ล้านหยุดหายใจขณะหลับ

'กรน' เรื่องเล็ก...ที่อันตรายชี้คนไทย3ล้านหยุดหายใจขณะหลับ

"กรน" เรื่องเล็ก...ที่อันตรายชี้คนไทย3ล้านหยุดหายใจขณะหลับ

คนไทย 25% นอนกรนเป็นประจำและมีอาการหยุดหายใจร่วมด้วยประมาณ 5% หรือ 3 ล้านคน เป็นโรคหยุดหายใจขณะหลับ ซึ่งคนนอนกรนถือเป็นคนหลับง่ายแต่คุณภาพการนอนหลับไม่ดี เสี่ยงโรคความดันโลหิตสูง โรคหัวใจ โรคสมอง อัมพฤกษ์ อัมพาต  สามารถเช็กระดับนอนกรนได้เพื่อเป็นการป้องกัน
   

ราชวิทยาลัย โสต ศอ นาสิกแพทย์ แห่งประเทศไทย ร่วมกับสมาคมโรคนอนกรนและหยุดหายใจขณะหลับ และบริษัท ฟิลิปส์ (ประเทศไทย) จำกัด จัดงาน “WORLD SLEEP DAY 2019 ใครว่า "การนอนเป็นเรื่องเล่นๆ” เนื่องในวันนอนหลับโลก โดย ศ.นพ.ชัยรัตน์ นิรันตรัตน์ ประธานคณะอนุกรรมการฝึกอบรมและสอบหลักสูตร โสต ศอ นาสิกวิทยาการนอนหลับ ราชวิทยาลัย โสต ศอ นาสิกแพทย์ แห่งประเทศไทย อธิบายถึงโรคนอนกรนและหยุดหายใจขณะหลับ ว่าจากสถิติพบว่าคนไทยประมาณ 25% นอนกรนเกิดจากทางเดินหายใจช่วงบนมีการอุดกั้นเป็นระยะตลอดการนอนหลับ และผู้ที่มีอาการกรนมากจนมีการหายใจติดขัดจนเกิดการสะดุดหยุดหายใจเป็นช่วงๆ ร่างกายขาดอากาศเป็นระยะๆ ส่งผลเสียต่อหัวใจ สมอง หลอดเลือด และอวัยวะต่างๆ เรียกโรคนี้ว่า โรคหยุดหายใจขณะหลับจากการอุดกั้น พบในคนไทยประมาณ 5% หรือประมาณ 3 ล้านคน 
  

ทั้งนี้การนอนกรนเกิดจากบริเวณช่องคอซึ่งทางเดินอากาศแคบลงในขณะหลับและลิ้นตกลงด้านล่างอากาศเกิดการกระแทกกันของผนังคอส่งผลให้เกิดการสั่นสะเทือนลิ้นไก่ เพดานอ่อน โคนลิ้น ทอนซิลมีความหนา หรือโตขึ้นและกีดขวางทางเดินทางอากาศ ทำให้เกิดเสียงกรน ซึ่งปกติเวลานอนคนเราจะช่องคอแคบลง แต่คนนอนกรนจะแคบลงมากกว่าคนปกติทำให้ลมหายใจเข้าออกแรงขึ้น
  

จากผลสำรวจด้านการนอนประจำปีของฟิลิปส์ โกลบอล “The Global Pursuit of Better Sleep Health” พบว่า 44% ของประชากรในวัยผู้ใหญ่ทั่วโลกยอมรับว่าตัวเองมีการนอนหลับที่ไม่มีคุณภาพในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา และประสบปัญหาการหลับกลางวันระหว่างสัปดาห์ ในขณะที่ประชากรส่วนมากนอนหลับเฉลี่ยเพียงแค่ 6.3 ชั่วโมงในช่วงวันทำงาน และ 6.6 ชั่วโมงในวันหยุดสุดสัปดาห์ ซึ่งต่ำกว่า 8 ชั่วโมงตามคำแนะนำ จะเห็นได้ว่าคนส่วนใหญ่ยังไม่ได้ให้ความสำคัญกับการนอนหลับที่เพียงพอ 
 

   

ศ.นพ.ชัยรัตน์ กล่าวต่อว่า คนนอนกรนถือเป็นคนหลับง่ายแต่คุณภาพการนอนหลับไม่ดี เพราะออกซิเจนไม่เพียงพอ ยิ่งคนที่มีอาการมากจะพบว่าผนังคอยุบตัวลงจนอากาศไม่สามารถผ่านไปได้ชั่วขณะ และการนอนกรนถ้ามีอากาศมากอาจทำให้มีภาวะโรคอื่นๆ ตามมา เช่น โรคความดันโลหิตสูง โรคหัวใจ เมื่ออากาศไปเลี้ยงสมองไม่เพียงพออาจจะเป็นอัมพฤกษ์ อัมพาต ความจำเสื่อมถ่อย สมรรถภาพทางเพศเสื่อม เป็นต้น ซึ่งการนอนแบ่งออกเป็น 3 ระดับ คือระดับที่ 1 เป็นในขณะนอนหงาย ระดับที่ 2 กรนในทุกท่าที่นอน ระดับที่ 3 มีการหายใจติดขัด หายใจสะดุด หรือมีการหยุดหายใจเป็นระยะๆ แต่ละครั้งนานกว่า 10 วินาทีเกิดมากกว่าหรือเท่ากับ 5 ครั้งต่อชั่วโมง เรียกว่าโรคหยุดหายใจขณะหลับ หรือ obstructive sleep apnea (OSA) หรือ โรคโอเอสเอ
  

ปัจจุบันมีผู้ป่วยที่มารักษาโรคนอนกรนจำนวนเพิ่มมากขึ้นกว่าในอดีต เพราะพฤติกรรมการใช้ชีวิตของผู้คนไม่ว่าจะเป็นการนอนหลับพักผ่อนไม่เพียงพอ ไม่ได้ออกกำลังกาย และมีภาวะโรคอ้วน โดยเฉพาะในกลุ่มผู้ป่วยเด็กที่มารักษาโรคนอนกรนมากขึ้นเนื่องจากพ่อแม่พยายามเลี้ยงลูกให้อ้วนท้วนน่ารัก แต่ความอ้วนเป็นสาเหตุทำให้เด็กนอนกรนและเป็นโรคอื่นๆ ตามมา


พญ.สุภวรรณ เลาหศิริวงศ์ ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้าน เวชศาสตร์การนอนหลับ (นอนกรน) กล่าวว่า แนวทางการรักษาขึ้นอยู่กับระดับความรุนแรงและชนิดของโรคที่ผู้ป่วยแต่ละคนเป็น โดยในผู้ป่วยที่มีระดับความรุนแรงต่ำแพทย์จะแนะนำให้ 1.ปรับนิสัยการนอน อาทิ การนอนหลับในระยะเวลาที่เพียงพอ คือ 8 ชั่วโมงต่อวัน การนอนและตื่นให้เป็นเวลา งดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ งดดื่มชา กาแฟ และบุหรี่ ในรายที่มีน้ำหนักเกิน จำเป็นต้องมีการลดน้ำหนักและออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ 
   

สำหรับผู้ป่วยที่มีความรุนแรงระดับปานกลางและมาก จำเป็นต้องใช้วิธีการรักษาด้วย 2.เครื่องอัดอากาศแรงดันบวก (Positive Airway Pressure Therapy) หรือ CPAP ซึ่งเป็นเครื่องอัดอากาศเข้าทางช่องจมูกหรือปาก เพื่อให้ช่องคอและทางเดินหายใจส่วนต้นมีอากาศไหลเวียนได้ในขณะหลับ 3.การใช้เครื่องมือในช่องปาก และ 4.การผ่าตัด
  

“สำหรับผู้ที่มีอาการกรน หรือสงสัยว่าเป็นโรคหยุดหายใจขณะหลับ แนะนำให้ไปพบแพทย์ โดยเบื้องต้นแพทย์จะมีการซักประวัติเกี่ยวกับสุขภาพการนอนและมีการตรวจสุขภาพเบื้องต้น จากนั้นอาจจะมีการให้ตรวจสุขภาพการนอนหลับ ซึ่งปัจจุบันจะมีห้องตรวจพิเศษที่เรียกว่า Sleep Lab ออกแบบเหมือนอยู่บ้านและคนไข้ต้องเข้ามานอนพักหนึ่งคืน ภายในห้องนอนจะมีกล้องวงจรปิดและเครื่องมือติดที่ตัวคนไข้เพื่อตรวจวัดค่าการหยุดหายใจและระดับออกซิเจนขณะหลับ จากนั้นจึงนำค่าทั้งหมดที่ได้มาประมวลว่าคุณมีภาวะหยุดหายใจขณะหลับหรือไม่ เพื่อนำไปประกอบการตัดสินใจในการเลือกแนวทางการรักษาในขั้นถัดไป” พญ.สุภวรรณ กล่าว

ทั้งนี้ผู้ที่สนใจหรือสงสัยว่าตัวเองมีความเสี่ยงโรคหยุดหายใจขณะหลับสามารถเข้าไปทำแบบทดสอบได้ที่ Philips.com.sg/saveoursleep