'ทีเซลส์' ร่วมจุฬาฯ แถลงผลวิจัยสำเร็จใช้เซลล์นักฆ่ารักษาผู้ป่วยมะเร็งเม็ดเลือดขาว
"ทีเซลส์" จับมือร่วมกับ จุฬาฯ พัฒนาการรักษามะเร็งเม็ดเลือดขาวที่กลับเป็นซ้ำด้วยเซลล์นักฆ่า พร้อมผลักดันต่อเป็นการรักษามาตรฐาน
ศ.นพ.สุทธิพงศ์ วัชรสินธุ คณบดี คณะแพทยศาสตร์ จุฬาฯ และผู้อำนวยการโรงพยาบาลจุฬาฯ สภากาชาดไทย กล่าวถึงแผนและวิสัยทัศน์ของคณะแพทยศาสตร์และโรงพยาบาลจุฬาฯด้านภูมิคุ้มกันบำบัดมะเร็ง
“คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทยมุ่งมั่นมาอย่างต่อเนื่องที่จะพัฒนาวิธีดูแลผู้ป่วยโรคมะเร็งแบบครบวงจร และกำลังจะดำเนินการโครงการก่อสร้างศูนย์บูรณาการวิจัยและรักษาโรคมะเร็งของโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย เพื่อมุ่งเน้นการวิจัยนวัตกรรมที่สามารถเป็นต้นแบบในการดูแลรักษาโรคมะเร็งควบคู่ไปกับการใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัยในการรักษาผู้ป่วย เนื่องจากโรคมะเร็งเป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับหนึ่งในประเทศไทยนับตั้งแต่ปี พ.ศ.2542 จนถึงปัจจุบัน ดังนั้น ยุทธศาสตร์ด้านโรคมะเร็งจึงมีความสำคัญเป็นอย่างยิ่งต่อความก้าวหน้าของประเทศ”
“หนึ่งในโครงการมุ่งเป้า คือ การวิจัยพัฒนาการรักษามะเร็งด้วยภูมิคุ้มกันบำบัดหลายรูปแบบเพื่อที่จะนำไปต่อยอดไปสู่การบริการ เพื่อให้ผู้ป่วยชาวไทยสามารถเข้าถึงการรักษาที่มีประสิทธิภาพได้อย่างทัดเทียมเช่นเดียวกันกับนานาชาติที่พัฒนาแล้ว และหนึ่งในโครงการวิจัยที่กำลังดำเนินการอยู่คือ การพัฒนาการรักษามะเร็งเม็ดเลือดขาวด้วยเซลล์บำบัด ภายใต้การดำเนินงานของศูนย์ความเป็นเลิศด้านภูมิคุ้มกันบำบัด” ศ.นพ.สุทธิพงศ์ กล่าว
ศ.นพ.สุทธิพงศ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า อย่างไรก็ดี กระบวนการพัฒนายาและเซลล์ต้นแบบมีขั้นตอนที่ยุ่งยากซับซ้อน จึงจำเป็นต้องทำในสถาบันที่มีความพร้อม และมีมาตรฐานเชื่อถือได้เท่านั้น โรงพยาบาลจุฬาฯ จึงได้เตรียมความพร้อมโดยมีการสร้างห้องปฏิบัติการปลอดเชื้อพิเศษที่สามารถผลิตเซลล์ที่ได้มาตรฐาน รวมถึงพัฒนาบุคลากรและระบบที่มีคุณภาพในด้านการผลิต ซึ่งในขณะนี้อยู่ในขั้นตอนการขอรับรองตามมาตรฐานจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องการแถลงข่าวในวันนี้ มีวัตถุประสงค์หลัก 2 ประการด้วยกันคือ เพื่อแจ้งถึงความสำเร็จก้าวแรกของงานวิจัย และการให้ความรู้แก่ประชาชนว่าเซลล์บำบัดด้วยเซลล์นักฆ่าคืออะไร สามารถใช้ในการรักษาโรคมะเร็งชนิดใดบ้าง และมีข้อจำกัดหรือข้อควรระวังใด
"ดังที่ทราบกันดีว่า งานนวัตกรรมทางการแพทย์เหล่านี้ จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องใช้ทุนทรัพย์เพื่อให้การวิจัยและการพัฒนาการรักษาด้วยเซลล์บำบัดต้นแบบเป็นไปได้อย่างรวดเร็ว และราบรื่น ซึ่งต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ไม่ว่าจะเป็น ภาครัฐ ภาคเอกชน รวมถึงภาคประชาชน ซึ่งที่ผ่านมาได้ให้การสนับสนุนแก่ กองทุนภูมิคุ้มกันบำบัดมะเร็งจุฬาฯมาอย่างต่อเนื่อง จึงขอเป็นตัวแทนในการขอบคุณทุกฝ่ายมา ณ ที่นี้” ศ.นพ.สุทธิพงศ์ กล่าวทิ้งท้าย
ดร.ศิรศักดิ์ เทพาคำ รองผู้อำนวยการด้านวิชาการและนวัตกรรม ศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาศาสตร์ ศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาศาสตร์ กล่าวถึงนโยบายและความมุ่งหวังในการสนับสนุนงานวิจัยสู่การให้บริการทางการแพทย์
“ศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาศาสตร์ หรือ ทีเซลส์ (TCELS) เป็นหน่วยงานภายใต้กำกับของกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ได้รับมอบนโยบายให้ผลักดันสนับสนุนการวิจัยและพัฒนาด้านเทคโนโลยีเซลล์บำบัดและยีนบำบัดโดยจัดตั้งเป็นโครงการพิเศษ ตั้งแต่ปี 2556 ซึ่งในปัจจุบัน เป็น 1 ใน 4 โปรแกรมหลักของ TCELS ในการขับเคลื่อนงานวิจัยสู่ภาคธุรกิจอุตสาหกรรมและการให้บริการทางการแพทย์”
ทีเซลส์ (TCELS) ได้สนับสนุนงบประมาณในการขับเคลื่อนงานวิจัยด้านเซลล์บำบัดและยีนบำบัดอย่างต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี 2557 เพราะ ทีเซลส์ (TCELS) เล็งเห็นถึงศักยภาพ ขีดความสามารถ และความพร้อมของนักวิจัยภายในประเทศ แต่ขาดโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญ และ Ecosystem ที่เอื้อต่อการขับเคลื่อนงานวิจัยด้านเทคโนโลยีเซลล์บำบัดและยีนบำบัดสู่การให้บริการทางการแพทย์ ให้สามารถก้าวทันตามเทคโนโลยีของโลก
โดยมีเป้าหมายให้เกิดการพัฒนาผลิตภัณฑ์ทางการแพทย์และการรับรองวิธีการรักษาใหม่สำหรับโรคที่ยังไม่สามารถรักษาให้หายขาดด้วยวิธีการปัจจุบัน จึงมุ่งเน้นการสนับสนุนและผลักดันงานหลักๆ 3 ส่วน คือ
(1) โครงสร้างพื้นฐานด้านสถานที่ผลิตสอดคล้องตามมาตรฐาน GMP และความพร้อมทางเทคโนโลยี ในประเทศ
(2) ส่งเสริมงานวิจัยและพัฒนาในกลุ่มโรคที่ไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ด้วยเทคโนโลยีในปัจจุบัน โดยการสนับสนุนให้เกิดการสร้าง Prototype, Prove of concept ตลอดจนการทดสอบความปลอดภัยและประสิทธิภาพในระดับก่อนคลินิกและในระดับคลินิก และ
(3) สนับสนุน ส่งเสริมให้ผลิตภัณฑ์เข้าสู่ธุรกิจอุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์และบริการ เน้นการสร้าง Ecosystem เช่น การสนับสนุน อย. ในการจัดทำ “แนวทางการขึ้นทะเบียนตำรับยาที่เป็นผลิตภัณฑ์การแพทย์ขั้นสูง ชนิดผลิตภัณฑ์เซลล์บำบัด”
ดร.ศิรศักดิ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า “นอกจากให้ความสำคัญด้านโครงสร้างพื้นฐานและสร้าง ecosystem แล้ว TCELS ยังเป็นหน่วยงานหลักในการจัดทำ “Mapping การวิจัยและ Roadmap การวิจัยและการให้บริการทางการแพทย์ด้านเซลล์บำบัดและยีนบำบัดในประเทศไทย” และสนับสนุนโครงการวิจัยที่สำคัญทางด้านนี้ของประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งโครงการวิจัยที่เกี่ยวข้องกับรักษาในกลุ่มโรคมะเร็งที่ผู้ป่วยมีโอกาสเป็นซ้ำและเสียชีวิต เช่น “โครงการพัฒนาการรักษาโดยเซลล์ Natural killer ในโรคมะเร็งเม็ดเลือดขาวที่มีความเสี่ยงสูง” ซึ่งได้ให้ความสำคัญและสนับสนุนมาอย่างต่อเนื่องเป็นปีที่ 6”
อ.นพ.กรมิษฐ์ ศุภพิพัฒน์ หัวหน้ากลุ่มวิจัยเซลล์บำบัดมะเร็ง คณะแพทยศาสตร์ จุฬาฯ กล่าวถึงการวิจัยและการพัฒนาวิธีการรักษามะเร็งด้วยเซลล์นักฆ่า ดังนี้ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทยได้เล็งเห็นถึงความสำคัญในการพัฒนาการรักษามะเร็งด้วยภูมิคุ้มกันบำบัดเพื่อการเข้าถึงการรักษาที่มีประสิทธิภาพแก่ของผู้ป่วยมะเร็งชาวไทย จึงริเริ่มโครงการวิจัยและพัฒนาการรักษาโรคมะเร็งเม็ดเลือดขาวที่มีความเสี่ยงสูงด้วยเซลล์นักฆ่า มาตั้งแต่ปีพ.ศ. 2557 โดยได้รับทุนสนับสนุนในระยะเริ่มต้นและได้รับการสนับสนุนอย่างต่อเนื่องจาก ศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาศาสตร์(องค์การมหาชน) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
“Natural Killer cell หรือ เซลล์นักฆ่า เป็นเซลล์เม็ดเลือดขาวชนิดหนึ่งที่ไหลเวียนอยู่ในร่างกาย ซึ่งเซลล์ชนิดนี้ เป็นเซลล์เม็ดเลือดขาวส่วนน้อยของเม็ดเลือดขาวทั้งหมด โดยจะมีอยู่ประมาณ 5-10% ของเม็ดเลือดขาวที่ไหลเวียนอยู่ในร่างกาย โดยทั่วไปเซลล์นักฆ่าจะมีหน้าที่หลักคือ การลาดตระเวน และตรวจตราหาเซลล์แปลกปลอม เซลล์ที่มีความผิดปกติทางพันธุกรรม หรือ เซลล์ที่เกิดการเปลี่ยนแปลงจนอาจก่อให้เกิดอันตราย ภายในร่างกาย เมื่อเซลล์นักฆ่าตรวจสอบพบเซลล์ที่มีความเปลี่ยนแปลง หรือ กลายพันธุ์ไปซึ่งมักเกิดจากจากการติดเชื้อ หรือกระบวนการเปลี่ยนแปลงไปสู่การเป็นเซลล์มะเร็งนั้น เซลล์นักฆ่าจะทำลายเซลล์ผิดปกติดังกล่าวก่อนที่เซลล์เหล่านั้นจะก่อให้เกิดอันตรายต่อร่างกายหรือพัฒนาไปสู่การเป็นโรคมะเร็ง”
อ.นพ.กรมิษฐ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ด้วยความสามารถพิเศษของเซลล์นักฆ่าที่สามารถทำลายเซลล์แปลกปลอมและเซลล์ที่ผิดปกติได้โดยไม่ต้องอาศัยการเรียนรู้แบบเม็ดเลือดขาวชนิดอื่น ๆ จึงทำให้นักวิทยาศาสตร์เกิดความสนใจและพยายามศึกษาวิจัยในการนำเซลล์นักฆ่ามาใช้ในการรักษาโรคมะเร็ง ต่อมานักวิทยาศาสตร์ได้ค้นพบว่าเราสามารถกระตุ้นและเพิ่มจำนวนเซลล์นักฆ่าภายนอกร่างกายได้ และเซลล์นักฆ่าที่ถูกกระตุ้นและเพิ่มจำนวนภายนอกร่างกายนั้นมีประสิทธิภาพในการทำลายเซลล์มะเร็งเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญในมะเร็งหลาย ๆ ชนิด ทั้งมะเร็งก้อนและมะเร็งทางโลหิตวิทยา ทั้งในการศึกษาระดับหลอดทดลองและในสัตว์ทดลอง การค้นพบดังกล่าว จึงทำให้เริ่มมีการศึกษาวิจัยการรักษามะเร็งด้วยเซลล์นักฆ่าในผู้ป่วยมะเร็งที่มีโรคกลับเป็นซ้ำหรือไม่ตอบสนองต่อการรักษามาตรฐาน
“เนื่องจาก โดยปกติเซลล์นักฆ่ามีจำนวนน้อยมากในเลือด การจะนำเซลล์นักฆ่ามาใช้ในรักษาผู้ป่วยนั้นจำเป็นจะต้องนำเซลล์นักฆ่าออกมากระตุ้นและเพิ่มจำนวนเสียก่อนโดยจะมีขั้นตอนโดยสังเขปดังนี้กล่าวคือ 1) ทำการเจาะเก็บตัวอย่างเลือดจากผู้ป่วยหรือผู้บริจาค 2) ปั่นแยกเซลล์เม็ดเลือดขาวออกจากเลือด 3) คัดแยกเซลล์นักฆ่าออกจากเม็ดเลือดขาว 4) ทำการกระตุ้นและเพิ่มจำนวนเซลล์นักฆ่า ด้วยอาหารเลี้ยงเซลล์ชนิดพิเศษและโปรตีนไซโตคาย เป็นเวลา 2-3 อาทิตย์ 5) ตรวจสอบคุณภาพของเซลล์นักฆ่าที่ได้ในเชิงปริมาณ คุณภาพ ปลอดจากการปนเปื้อนและปลอดจากเชื้อโรค 6) นำเซลล์นักฆ่าประสิทธิภาพสูงที่ได้กลับไปให้แก่ผู้ป่วย โดยกระบวนการกระตุ้นและเพิ่มจำนวนทั้งหมดนี้จะทำอยู่ภายในห้องปฏิบัติการสะอาดปลอดเชื้อพิเศษ (Clean room) ในแบบที่คล้ายกับการผลิตยา”
อย่างไรก็ดี จากการศึกษาวิจัยการรักษาโรคมะเร็งด้วยเซลล์นักฆ่าในระดับการวิจัยทางคลินิกในผู้ป่วยโรคมะเร็งที่มีโรคกลับเป็นซ้ำหรือไม่ตอบสนองต่อการรักษามาตรฐานนั้น กลับพบว่าประสิทธิภาพของการรักษามะเร็งด้วยเซลล์นักฆ่าในกลุ่มโรคมะเร็งก้อนทั้งหมดนั้นยังไม่ได้ผลเป็นที่น่าพอใจ แต่พบว่าการรักษามะเร็งด้วยเซลล์นักฆ่านั้นมีประสิทธิภาพสูงในการควบคุมโรคและป้องกันโรคกลับเป็นซ้ำในมะเร็งเม็ดเลือดขาวเฉียบพลันชนิดมัยอิลอยด์ โดยเฉพาะการใช้เซลล์นักฆ่าจาก พ่อแม่ พี่น้อง หรือ ลูกที่มีสารพันธุกรรมตรงกันเพียงครึ่งเดียว
สำหรับทางโครงการ ได้เริ่มวิจัยและพัฒนาการรักษาเซลล์บำบัดมะเร็งด้วยเซลล์นักฆ่า ตั้งแต่การทดสอบประสิทธิภาพในหลอดทดลอง การทดสอบประสิทธิภาพและความปลอดภัยในสัตว์ทดลอง การปรับปรุงกระบวนการผลิตและควบคุมคุณภาพของเซลล์นักฆ่าที่นำมาใช้ในผู้ป่วย รวมถึงการพัฒนาห้องปฏิบัติการพิเศษเพื่อผลิตเซลล์สำหรับการวิจัยด้านเซลล์บำบัดสำหรับโรคมะเร็ง ซึ่งในปีพ.ศ. 2561 ศูนย์ภูมิคุ้มกันบำบัดมะเร็ง และ สาขาโลหิตวิทยา ฝ่ายอายุรศาสตร์ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย ได้เริ่มโครงการนำร่องเพื่อศึกษาการรักษาผู้ป่วยมะเร็งเม็ดเลือดขาวที่มีความเสี่ยงสูงด้วยเซลล์นักฆ่า โดยได้รับทุนวิจัยและการสนับสนุนเพิ่มเติมจาก จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ คณะแพทยศาสตร์ และ กองทุนภูมิคุ้มกันบำบัดมะเร็งจุฬาฯ ซึ่งโครงการนำร่องนี้มีจุดประสงค์หลัก 2 ข้อคือ 1) เพื่อประเมินความพร้อมของบุคลากร ไม่ว่าจะเป็นนักวิทยาศาสตร์ผู้มีหน้าที่ผลิตเซลล์ ทีมแพทย์และพยาบาล ความพร้อมของห้องปฏิบัติการและเทคโนโลยีสำหรับการเตรียมผลิตเซลล์ที่มีประสิทธิภาพและปลอดภัย เพื่อรองรับการให้บริการแก่ผู้ป่วยชาวไทย 2) เพื่อประเมินความปลอดภัยของการรักษาผู้ป่วยมะเร็งเม็ดเลือดขาวชาวไทยด้วยเซลล์นักฆ่าจากผู้บริจาค
"ปัจจุบันมีผู้ป่วยร่วมโครงการอยู่ 5 ราย ซึ่งเป็นผู้ป่วยมะเร็งเม็ดเลือดขาวแบบเฉียบพลันชนิดมัยอิลอยด์ที่มีความเสี่ยงสูง โดยผู้ป่วยทั้ง 5 รายในโครงการนี้ ได้รับการรักษาด้วยเซลล์นักฆ่าจากผู้บริจาคทั้งหมด ซึ่งนักวิจัยประสบความสำเร็จในการกระตุ้นและเพิ่มจำนวนเซลล์นักฆ่าจากผู้บริจาค ให้มีปริมาณและคุณภาพที่ได้มาตรฐานสำหรับการใช้เซลล์จริงในผู้ป่วย ได้แก่ 1) สามารถเพิ่มจำนวนเซลล์นักฆ่าขึ้นมาได้ในระดับที่เพียงพอสำหรับการใช้ในผู้ป่วย 2) เซลล์นักฆ่าที่ได้ไม่มีเซลล์อื่น ๆ ปนเปื้อนเกินมาตรฐาน 3) ตัวอย่างทั้งหมดสามารถผ่านมาตรฐานการตรวจควบคุมคุณภาพสำหรับเซลล์ที่จะนำไปใช้ในผู้ป่วย ทั้งในด้าน จำนวนเซลล์ สัดส่วนเซลล์มีชีวิต ความสามาถในการทำลายเซลล์มะเร็ง การไม่พบจุลชีพปนเปื้อน และ ไม่พบการปลอมปนของ endotoxin (พิษจากเชื้อแบคทีเรีย) โดยในปี 2562 นี้ทางโครงการมีความตั้งใจจะเริ่มดำเนินโครงการต่อเนื่องเพื่อศึกษาประสิทธิภาพของการรักษามะเร็งเม็ดเลือดขาวที่มีความเสี่ยงสูงด้วยเซลล์นักฆ่าในลำดับต่อไป" อ.นพ.กรมิษฐ์ กล่าว
ผศ.นพ.อุดมศักดิ์ บุญวรเศรษฐ์ หัวหน้าสาขาวิชาโลหิตวิทยา คณะแพทยศาสตร์ จุฬาฯ กล่าวถึงตัวอย่างการรักษาผู้ป่วยมะเร็งเม็ดเลือดขาวด้วยเซลล์นักฆ่าและข้อควรระวังสำหรับประชาชนเกี่ยวกับการรักษาด้วยเซลล์นักฆ่าดังที่กล่าวมาแล้วว่า โครงการนำร่องเพื่อศึกษาการรักษาผู้ป่วยมะเร็งเม็ดเลือดขาวที่มีความเสี่ยงสูงด้วยเซลล์นักฆ่าในปี 2561 นี้ มีผู้ป่วยมะเร็งเม็ดเลือดขาวแบบเฉียบพลันชนิดมัยอิลอยด์ร่วมโครงการทั้งสิ้นจำนวน 5 ราย โดยเป็นผู้ป่วยที่มีโรคกลับเป็นซ้ำ และไม่ตอบสนองต่อการรักษามาตรฐาน หรือ เป็นผู้ป่วยที่มีความเสี่ยงสูงที่จะมีโรคกลับเป็นซ้ำแต่ไม่สามารถรักษาด้วยการปลูกถ่ายไขกระดูกได้
“มะเร็งเม็ดเลือดขาวแบบเฉียบพลันชนิดมัยอิลอยด์ เป็น 1 ใน 4 ชนิดของมะเร็งเม็ดเลือดขาว ซึ่งเป็นหนึ่งในปัญหาสาธารณสุขที่สำคัญในประเทศไทยโดยเป็นมะเร็งที่พบบ่อยเป็นหนึ่งใน 10 อันดับแรกของโรคมะเร็งในผู้ป่วยชาวไทย มะเร็งเม็ดเลือดขาวสามารถแบ่งเป็น 4 ชนิด โดยแบ่งป็นมะเร็งเม็ดเลือดขาวแบบเฉียบพลัน และ มะเร็งเม็ดเลือดขาวแบบเรื้อรัง และแบ่งย่อยตามชนิดของเซลล์ออกเป็น ชนิดลิมฟอยด์และ ชนิดมัยอิลอยด์ ซึ่งมะเร็งเม็ดเลือดขาวเฉียบพลันชนิดมัยอิลอยด์ เป็นมะเร็งเม็ดเลือดขาวแบบเฉียบพลันที่พบบ่อยที่สุดในผู้ใหญ่ โดยการรักษามาตรฐานจะประกอบไปด้วยการให้ยาเคมีบำบัด และการปลูกถ่ายไขกระดูกในผู้ป่วยที่มีความเสี่ยงสูงที่โรคกลับเป็นซ้ำ ซึ่งสามารถทำให้ผู้ป่วยหายขาดได้
อย่างไรก็ตาม จะมีผู้ป่วยส่วนหนึ่งที่มีโรคกลับเป็นซ้ำหลังจากการปลูกถ่ายไขกระดูก และไม่มีทางเลือกอื่น ๆในการรักษา ซึ่งโอกาสที่จะมีชีวิตรอดเกิน 1 ปี หลังจากที่มีโรคกลับมาเป็นซ้ำนั้นน้อยมากจนแทบจะไม่มีเลย จึงมีการวิจัยและพัฒนาการรักษาผู้ป่วยในกลุ่มนี้ด้วยเซลล์ภูมิคุ้มกันบำบัด โดยการวิจัยทางคลินิกของการรักษาผู้ป่วยกลุ่มนี้ในต่างประเทศในหลายการวิจัยพบว่า การรักษาด้วยเซลล์นักฆ่ามีประสิทธิภาพในการควบคุมโรคมะเร็งเม็ดเลือดขาวแบบเฉียบพลันชนิดมัยอิลอยด์ การใช้เซลล์นักฆ่าจากตัวผู้ป่วยเองนั้น มีประสิทธิภาพในการควบคุมโรคค่อนข้างต่ำ ตรงข้ามกับการใช้เซลล์นักฆ่าจากผู้บริจาคซึ่งมีประสิทธิภาพสูงในการควบคุมโรค โดยมีโอกาสควบคุมโรคได้ถึง 40-80% และยังช่วยลดโอกาสการเป็นซ้ำในผู้ป่วยกลุ่มนี้
ผศ.นพ.อุดมศักดิ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับโครงการนำร่อง มีขั้นตอนในการศึกษาความปลอดภัยของการรักษาด้วยเซลล์นักฆ่าโดยสังเขปดังนี้ เริ่มต้นจากการเจาะเลือดผู้บริจาคแล้วนำไปแยกเซลล์นักฆ่าและนำไปกระตุ้นเพิ่มจำนวนในห้องปฏิบัติการเป็นเวลา 2 อาทิตย์ จากนั้นผู้ป่วยจะเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลแบบผู้ป่วยในโดยจะได้รับยากดภูมิคุ้มกันก่อนเป็นเวลา 3-6 วัน จากนั้นจึงจะนำเซลล์นักฆ่าที่ถูกกระตุ้น และเพิ่มจำนวนมาฉีดเข้าในหลอดเลือดดำหลังจากหยุดยากดภูมิไป 1-2 วัน โดยในผู้ป่วยบางรายมีความจำเป็นต้องได้รับยากระตุ้นเซลล์นักฆ่าหลังจากได้รับเซลล์ ซึ่งหลังจากได้รับเซลล์แล้ว ผู้ป่วยจำเป็นต้องนอนโรงพยาบาลต่อเพื่อเฝ้าดูอาการอย่างน้อย 24 ชั่วโมง หากไม่พบผลข้างเคียงใดๆ จึงสามารถกลับบ้านได้และมาตรวจติดตามแบบผู้ป่วยนอก
ผู้ป่วยมะเร็งเม็ดเลือดขาวแบบเฉียบพลันชนิดมัยอิลอยด์รายแรกที่เข้าร่วมโครงการ เป็นผู้ป่วยหญิงไทย อายุ 52 ปี ซึ่งได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นมะเร็งเม็ดเลือดขาวในปี 2560 โดยที่ผู้ป่วยรายนี้ได้รับยาเคมีบำบัดถึง 3 สูตรยาที่รุนแรงขึ้นเรื่อยๆ แต่ก็ยังไม่สามารถควบคุมโรคได้ดีเท่าที่ควร ในไขกระดูกของผู้ป่วยนั้น ยังมีเซลล์มะเร็งหลงเหลืออยู่หลังจากการให้ยาเคมีบำบัดรอบที่ 3 ทีมแพทย์ผู้รักษาจึงตัดสินใจทำการการปลูกถ่ายไขกระดูกจากพี่สาวเพื่อเพิ่มโอกาสในการควบคุมโรค อย่างไรก็ดี 3 เดือนหลังจากการปลูกถ่ายไขกระดูกนั้น ผู้ป่วยกลับมาด้วยอาการเม็ดเลือดแดง เม็ดเลือดขาว และเกล็ดเลือดต่ำ และได้รับการวินิจฉัยยืนยันว่ามีโรคมะเร็งกลับเป็นซ้ำหลังจากปลูกถ่ายไขกระดูก ทีมแพทย์ผู้รักษาประเมินจากลักษณะการกลับเป็นซ้ำแล้วผู้ป่วยมีโอกาสการตอบสนองต่อการรักษามาตรฐานต่ำมากจึงเสนอให้ผู้ป่วยเข้าร่วมโครงการนำร่องโดยใช้เซลล์นักฆ่าจากพี่สาว ซึ่งผู้ป่วยมะเร็งเม็ดเลือดขาวรายดังกล่าว ได้รับเซลล์นักฆ่าและหยุดรักษามาเป็นเวลาประมาณ 1 ปี โดยที่ไม่มีอาการ และอาการแสดงของโรคกลับเป็นซ้ำ โดยที่ผู้ป่วยรายแรกนี้ มีอาการเซลล์ต่อต้านแบบเรื้อรังในระดับที่ไม่รุนแรงในบริเวณเยื่อบุช่องปากซึ่งสามารถควบคุมอาการได้ด้วยการใช้ยากดภูมิชนิดบ้วนปากเท่านั้น
"ปัจจุบันโครงการนำร่องของการรักษามะเร็งเม็ดเลือดขาวที่มีความเสี่ยงสูงด้วยเซลล์นักฆ่านั้น ยังมีผู้ป่วยมะเร็งเม็ดเลือดขาวแบบเฉียบพลันชนิดมัยอิลอยด์ที่มีความเสี่ยงสูงอยู่ในโครงการอยู่อีก 4 ราย โดยเป้าหมายของการให้เซลล์นักฆ่านั้น มีทั้งเพื่อการรักษาโรคที่กลับซ้ำและเพื่อป้องกันการกลับเป็นซ้ำของโรค โดยผู้ป่วยทั้งหมดมีระยะปลอดจากโรคหลังจากหยุดรักษาไปแล้วตั้งแต่ 2 เดือน - 1 ปี จากการประเมินความปลอดภัยเบื้องต้นเห็นได้ว่าการรักษาด้วยเซลล์นักฆ่าในผู้ป่วยกลุ่มนี้มีความปลอดภัยแต่ต้องอยู่ในการดูแลของทีมแพทย์ผู้เชี่ยวชาญต่อไป” ผศ.นพ.อุดมศักดิ์ กล่าว
การดำเนินโครงการนี้ จึงถือเป็นก้าวแรกที่สำคัญของการศึกษาการรักษาด้วยเซลล์นักฆ่าในผู้ป่วยชาวไทย ทางโครงการมีความมุ่งหวังจะดำเนินโครงการต่อเนื่องเพื่อประเมินประสิทธิภาพของการรักษานี้ในผู้ป่วยชาวไทยต่อไป ในช่วงระยะ 1-2 ปี ที่ผ่านมานี้มีการโฆษณาชวนเชื่อ การอวดอ้างสรรพคุณเกินจริง และมีการเสนอบริการด้านเซลล์บำบัดในการรักษาโรคต่างๆ ออกมาในสื่อต่างๆ รวมถึง social media อย่างต่อเนื่อง ซึ่งทำให้ผู้ป่วยและญาติเกิดความเข้าใจผิด และคลาดเคลื่อน เกิดความคาดหวังที่สูงเกินความเป็นจริง รวมถึงมีการเสียทรัพย์สินไปกับการตรวจทางห้องปฏิบัติการที่ไม่ก่อให้เกิดประโยชน์ และรักษาด้วยสิ่งที่อ้างว่าเป็นเซลล์บำบัด ทำให้เกิดผลข้างเคียงรุนแรงจนถึงขั้นเสียชีวิตหลังจากการได้รับการรักษาที่ไม่ได้มาตรฐาน ซึ่งมีตัวอย่างให้เห็นจากทั่วโลก เช่นในกรณีของผู้ป่วยที่เสียชีวิตจากการติดเชื้อรุนแรงหลังจากได้รับเซลล์นักฆ่าจากคลินิกเสริมความงามที่ฮ่องกงในปี 2017 จึงจำเป็นต้องมีการให้ความรู้ เพื่อสร้างความเข้าใจเบื้องต้นที่ถูกต้องเกี่ยวกับการรักษาด้วยเซลล์นักฆ่า ซึ่งปัจจุบันยังไม่มีกฎหมายควบคุมในเรื่องนี้โดยเฉพาะ
ในอนาคตอันใกล้ประเทศไทยจะมี พระราชบัญญัติเซลล์บำบัด เพื่อมาควบคุมมาตรฐานการรักษาด้วยเซลล์บำบัด และกำกับมาตรฐานห้องปฏิบัติการสำหรับผลิตเซลล์เพื่อมาใช้ในผู้ป่วย รวมถึงข้อบ่งชี้ในการใช้เซลล์บำบัดเฉพาะในโรคที่มีการรับรองประสิทธิภาพของการรักษา แต่ในขณะที่ยังไม่มีกฎหมายควบคุม ประชาชนควรรับทราบข้อพึงระวัง ดังนี้
1.การรักษาด้วยเซลล์บำบัด อาจเกิดผลข้างเคียงจากเซลล์ที่ใส่กลับเข้าไปได้ โดยเฉพาะเซลล์ที่มีการปนเปื้อนจากการผลิตที่ไม่ได้มาตรฐาน อาจทำให้ผู้ป่วยเสียชีวิตจากการแพ้อย่างรุนแรงหรือการติดเชื้ออย่างรุนแรง
2.เซลล์นักฆ่า ไม่สามารถใช้ได้กับมะเร็งทุกชนิด จากข้อมูลการศึกษาวิจัยทางคลินิกในปัจจุบันพบว่า เซลล์นักฆ่ามีประสิทธิภาพในการควบคุมโรคไม่ค่อยดีในมะเร็งก้อนทุกชนิด ถึงแม้การรักษาผู้ป่วยมะเร็งเม็ดเลือดขาวชนิดมัยอิลอยด์เอง การเลือกผู้ป่วยที่เหมาะสมก็มีความสำคัญต่อประสิทธิภาพในการควบคุมโรค
3.การวิจัยทางคลินิกหลายชิ้นสรุปตรงกันว่า เซลล์นักฆ่าที่ได้จากตัวผู้ป่วยเองมีประสิทธิภาพในการควบคุมโรคต่ำ
4.ในปัจจุบัน ยังมีการอวดอ้างสรรพคุณเกินจริงในการใช้เซลล์นักฆ่าในการช่วยเสริมสร้างภูมิคุ้มกัน ใช้ในการป้องกันการเกิดมะเร็ง ช่วยชะลอวัย ใช้ในการรักษาโรคเอดส์ หรือ แม้แต่การใช้ในการเพิ่มสมรรถภาพทางเพศ ซึ่งการอวดอ้างดังกล่าว ไม่มีหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ใดๆ รองรับทั้งสิ้น
5.การรักษาด้วยเซลล์นักฆ่านั้น ยังไม่ใช่การรักษามาตรฐานของโรคมะเร็งชนิดใดๆ ทั้งสิ้น ดังนั้น ผู้ป่วยควรได้
รับการรักษาตามมาตรฐานของโรคนั้นๆ ให้เสร็จสิ้นเสียก่อนที่จะพิจารณาการรักษาด้วยเซลล์นักฆ่า ผู้ป่วยควรที่จะได้รับการรักษาภายใต้โครงการการศึกษา หรือ การวิจัยทางคลินิกในโรงเรียนแพทย์เท่านั้นเพื่อความปลอดภัยสูงสุดของผู้ป่วยเองเนื่องจากแพทย์ผู้รักษาต้องเป็นแพทย์ทางโลหิตวิทยาที่มีประสบการณ์ด้านการปลูกถ่ายเซลล์ต้นกำเนิดเม็ดเลือดหรือการให้เซลล์ภูมิคุ้มกันเพื่อการเฝ้าระวังและแก้ไขผลข้างเคียงของการให้เซลล์ได้ทันท่วงทีก่อนการให้เซลล์นักฆ่าแก่ผู้ป่วยนั้น ผู้ป่วยจำเป็นต้องได้รับยากดภูมิคุ้มกัน เพื่อสร้างสภาวะที่เหมาะสมต่อการทำงานของเซลล์นักฆ่าที่ให้เข้าไปใหม่และป้องกันไม่ให้เซลล์ภูมิคุ้มกันของผู้ป่วยรบกวนการทำงานของเซลล์นักฆ่าที่ได้รับเข้าไป หลังจากการได้รับเซลล์แล้วผู้ป่วยจำเป็นต้องได้รับยาชนิดพิเศษเพื่อช่วยให้เซลล์นักฆ่าที่ได้รับเข้าไปสามารถเพิ่มจำนวนต่อไปได้ในตัวผู้ป่วย เพื่อประสิทธิภาพสูงสุดในการรักษา
หัวหน้ากลุ่มวิจัยเซลล์บำบัดมะเร็ง คณะแพทยศาสตร์ จุฬาฯ กล่าวถึงแผนการวิจัยต่อไปว่า สำหรับการเตรียมตัวสู่ก้าวต่อไปในช่วงปีที่ผ่านมานี้ ทางศูนย์ฯได้รับความอนุเคราะห์จากทางสำนักยา สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา ในการให้คำแนะนำในด้านปรับปรุงห้องปฏิบัติการสะอาดพิเศษสำหรับการผลิตเซลล์ เพื่อใช้กับผู้ป่วยรวมถึงกระบวนการควบคุมการผลิตเซลล์ เพื่อใช้ในโรงพยาบาล ซึ่งในเบื้องต้นทางสำนักยา ได้อนุมัติแบบแปลนสำหรับการปรับปรุงห้องปฏิบัติการดังกล่าวเป็นที่เรียบร้อย ทางศูนย์ฯกำลังดำเนินการปรับปรุงห้องปฏิบัติการดังกล่าว และกระบวนการควบคุมการผลิตเซลล์ เพื่อการรับรองตามมาตรฐานการผลิตเซลล์สำหรับใช้ในผู้ป่วยภายในสถานพยาบาล สำหรับการดำเนินการวิจัยทางคลินิกด้านเซลล์บำบัด สำหรับโรคมะเร็งและเตรียมพร้อม สำหรับการขึ้นทะเบียนการรักษากับ สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาต่อไปในอนาคต
“นอกจากการวิจัยและพัฒนาการรักษาโรคมะเร็งเม็ดเลือดขาวชนิดมัยอิลอยด์ด้วยเซลล์นักฆ่าแล้วทางศูนย์ยังมีการวิจัยและพัฒนาการรักษามะเร็งด้วยเซลล์บำบัดชนิดอื่นๆ อีกได้แก่ ที-เซลล์ที่ถูกดัดแปลงพันธุกรรมให้จำเพาะต่อเซลล์มะเร็ง (Chimeric Antigen Receptor T-cell: CAR T-cell) สำหรับการรักษาโรคมะเร็งเม็ดเลือดขาวและมะเร็งต่อมน้ำเหลืองชนิดลิมฟอยด์, ที-เซลล์ที่มีความจำเพาะต่อไวรัส (Virus specific T-cell) สำหรับการรักษาการติดเชื้อไวรัสภายหลังการปลูกถ่ายเซลล์ต้นกำเนิดเม็ดเลือด และโรคมะเร็งหลังโพรงจมูก และวัคซีนมะเร็งจากเดนไดรติกเซลล์ (Dendritic cell vaccine) โดยจะนำความคืบหน้าของโครงการต่างๆ มาแจ้งในโอกาสต่อไป” อ.นพ.กรมิษฐ์ กล่าว