เปิดนวัตกรรมเพิ่มความสุขในห้องเรียน

เปิดนวัตกรรมเพิ่มความสุขในห้องเรียน

3 หน่วยงาน สกว. กสศ. สพฐ. จับมือยกระดับคุณภาพ ปฏิรูป 197 โรงเรียนขนาดกลางพื้นที่ยากลำบาก พบนักเรียนมีความสุขในการเรียนรู้ ขณะที่ รร.มั่นใจพัฒนาตามบริบทท้องถิ่นตัวเอง

วันนี้ ( 29 เม.ย.) ที่ ห้องแกรนด์ไดมอนด์ บอลรูม อิมแพ็ค ฟอรัม เมืองทองธานี กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) และสํานักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ร่วมกับ สํานักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) จัดประชุมวิชาการ “นวัตกรรมการจัดการโรงเรียนคุณภาพต่อเนื่องสู่การประกันคุณภาพ” ผลสำเร็จและบทเรียนจากโครงการวิจัยปฏิบัติการ “โรงเรียนพัฒนาคุณภาพต่อเนื่อง” (School Quality Improvement Program : sQip)

นพ.สุภกร บัวสาย ผู้จัดการกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) กล่าวว่าปีการศึกษา 2562 กสศ. สกว.และสพฐ. พร้อมเดินหน้าขยายผลโรงเรียนขยายโอกาสจำนวน 280 แห่งรวม 17 จังหวัด ทั่วประเทศ พัฒนาให้เป็นสถานศึกษาต้นแบบลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาในมิติคุณภาพโรงเรียนและครู และนําไปสู่การพัฒนาระบบรับรองคุณภาพ (Accreditation System) ที่เหมาะสมสําหรับบริบทโรงเรียนขนาดกลางที่มีจํานวนนักเรียน 200 – 500 คน ต่อโรงเรียน ในพื้นที่ยากลําบากของประเทศไทย เพื่อลดความเหลื่อมล้ำด้านคุณภาพการเรียนการสอน โดยร่วมมือกับสถาบันอุดมศึกษาจำนวน 10 แห่งที่อยู่ใกล้เคียง พัฒนากระบวนการเรียนการสอนและหลักสูตรให้สอดคล้องกับบริบทท้องถิ่นควบคู่ไปด้วย

“กสศ.เตรียมได้นำเครื่องมือจัดการเรียนการสอนที่สามารถวัดทักษะการคิดวิเคราะห์และความคิดสร้างสรรค์ของผู้เรียนซึ่งเป็นทักษะในศตวรรษที่ 21 ที่เราได้พัฒนาร่วมกับองค์การความร่วมมือเพื่อพัฒนาเศรษฐกิจ หรือ OECD สำเร็จแล้วมาช่วยสนับสนุนการทำงานของครูและสถานศึกษาต้นแบบกลุ่มนี้ด้วย ทั้งหมดนี้ คือรูปธรรมของการปฏิรูปเพื่อแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำและยกระดับคุณภาพการศึกษาให้กับโรงเรียนในชนบท ที่กำลังเกิดขึ้นจริงในประเทศไทย” ผู้จัดการ กสศ.กล่าว

นายนคร ตังคะภิภพ หัวหน้าโครงการวิจัยและปฏิบัติการโรงเรียนพัฒนาคุณภาพต่อเนื่องหรือ sQip กล่าวว่า โครงการดังกล่าว เกือบ 2 ปีที่ทางสกว. กสศ. และสพฐ. ได้จับมือกันร่วมวิจัยเพื่อแก้ปัญหาดังกล่าวมากว่า 2 ปี และใช้ดำเนินการในโรงเรียนขยายโอกาสพื้นที่ยากลำบาก 197 แห่ง 14 จังหวัด ทั่วประเทศไทย ได้แก่ เชียงใหม่ แม่ฮ่องสอน เชียงราย น่าน ลำปาง สุโขทัย สุรินทร์ อำนาจเจริญ กาญจนบุรี พระนครศรีอยุธยา เพชรบุรี ชลบุรี สุราษฎร์ธานี และภูเก็ต เกิดผลลัพธ์การเปลี่ยนแปลงจริงสอดคล้องกับดัชนีชี้วัดสำคัญของระบบรับรองคุณภาพระดับนานาชาติคือ Student engagement หรือ นักเรียนเพลิดเพลินกับการเรียนรู้ โดยนักเรียนที่ร่วมโครงการมีความสุขในการมาเรียน มีความสัมพันธ์ ที่ดีขึ้นกับครูมากขึ้น ขณะที่ นักเรียนซึ่งมีปัญหาได้รับการเอาใจใส่ดูแล ทําให้ปัญหาการเรียน และปัญหาต่างๆ เช่น อัตราการขาดเรียน การมาสาย และหนีเรียน ไม่ใส่ใจในการเรียนลดลง ขณะเดียวกัน ผู้ปกครองนักเรียน ยังได้ให้ข้อมูลว่า งานวิจัยชิ้นนี้ ทำให้ นักเรียนมีสัมพันธภาพในครอบครัวดีขึ้น และมีพฤติกรรมในการสนใจการเรียน การรับผิดชอบช่วยงานที่บ้านดีขึ้นอย่างเห็นได้ชัด

นายวุฒิชัย วีระวัฒน์ ผู้อำนวยการโรงเรียนชุมชนบ้านบางเสร่ จ.ชลบุรี กล่าวว่า โครงการนี้ช่วยให้โรงเรียนสามารถพัฒนาเครือข่ายโรงเรียนร่วมพัฒนาได้สำเร็จ รวมกลุ่มกัน 5 โรงเรียน ช่วยกันยกระดับคุณภาพการเรียนการสอน เน้น Active Learning แลกเปลี่ยนความรู้ และทักษะต่างๆ หลังจากเข้าร่วมโครงการแต่ละโรงเรียนมีผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษาที่สูงขึ้นทุกโรงเรียน บางโรงเรียนผลสอบสูงกว่าระดับเขตการศึกษา ถือว่าประสบความสำเร็จเป็นอย่างมาก