รับรอง 'น้ำมันกัญชาสูตรเดชา' เป็นตำรับยาหมอพื้นบ้าน
คกก.แพทย์แผนไทยรับรอง “น้ำมันกัญชาสูตรเดชา” เป็นตำรับยาหมอพื้นบ้าน รอชงเข้าคกก.ควบคุมยาเสพติด หากไฟเขียวสามารถสั่งจ่ายให้ผู้ป่วยตนเองได้ ขณะที่กรมการแพทย์แผนไทยฯคาดมียาไทยผสมกัญชาใช้ก.ค.นี้ ตำรับศุขไสยาศน์-น้ำมันสนั่นไตร
นพ.มรุต จิรเศรษฐสิริ อธิบดีกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กล่าวว่า การ พิจารณาตำรับยาแผนไทยของหมอพื้นบ้านที่มีส่วนผสมของกัญชา มียื่นขอรับการพิจารณาทั้งสิ้น 68 ตำรับ คณะกรรมการด้านการประเมินรับรองตำรับยาแผนไทยที่มีกัญชา และการใช้ยาแผนไทยที่มีกัญชาปรุงผสมอยู่ ได้ดำเนินการพิจารณาตำรับยาของหมอพื้นบ้าน ทั้งสิ้น 9 ตำรับซึ่งเป็นตำรับที่พิจารณาเป็นครั้งที่ 2 ผ่านความเห็นชอบเป็น 8 ตำรับ และไม่เข้าเกณฑ์ 1 ตำรับ โดย 8 ตำรับที่ผ่านความเห็นชอบ มีตำรับน้ำมันของนายเดชา ศิริภัทร ประธานมูลนิธิข้าวขวัญและหมอพื้นบ้าน รวมอยู่ด้วย ทั้งนี้คณะกรรมการจะรายงานเสนอต่อคณะกรรมการอำนวยการการนำกัญชาและกระท่อมมาใช้ประโยชน์ทางการแพทย์แผนไทย เพื่อพิจารณา หากเห็นชอบจะเสนอต่อคณะกรรมการควบคุมยาเสพติดให้โทษของกระทรวงสาธารณสุขต่อไป
นพ.ปราโมทย์ เสถียรรัตน์ รองอธิบดีกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก สำหรับข้อเสนอของเครือข่ายเดินเพื่อผู้ป่วยให้แก้ประกาศให้ตำรับยาหมอพื้นบ้านปรุงเฉพาะรายสามารถใช้โดยทั่วไปได้นั้น ไม่ได้อยู่ในอำนาจของกรมฯ โดยเฉพาะในตำรับที่กัญชาเป็นส่วนผสม เนื่องจากปัจจุบันการใช้กัญชายังต้องเป็นไปตาม พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ (ฉบับที่ 7) พ.ศ. 2562 และตำรับยานั้นเป็นการปรุงเฉพาะรายของหมอพื้นบ้านคนนั้น ซึ่งเป็นความสามารถของแต่ละคน ส่วนการจะใช้โดยทั่วไปได้นั้นจะต้องบรรจุเข้าเป็นบัญชียาหลักแห่งชาติ แต่ก็ต้องผ่านการวิจัยประสิทธิภาพประสิทธิผลด้วยกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ด้วย
“ขณะนี้มีประกาศ 16 ตำรับยาแผนไทยที่มีกัญชาผสม ที่สามารถใช้ได้โดยทั่วไปในแพทย์แผนไทยและแพทย์แผนไทยประยุกต์ที่ผ่านการรับรองแล้ว 2,800 รายทั่วประเทศ เบื้องต้น รพ.พระอาจารย์ฝั้น อาจาโร ที่ได้รับกัญชาของกลางจากสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด(ป.ป.ส.)ที่ไม่มีสารปนเปื้อนและโลหะหนัก จำนวน 7 กิโลกรัม ก็จะเอามาผลิตตำรับยากัญชาที่คาดว่าจะมีการใช้บ่อยก่อน เช่น ศุขไสยาศน์ น้ำมันสนั่นไตรภพ ซึ่งคาดว่าจะสามารถผลิตและมีผลิตใช้ภายใน ก.ค.นี้ โดยกรมฯ จะเป็นผู้จัดสรรว่าจะกระจายไปให้รพ.ที่ขึ้นทะเบียนเป็นสถานพยาบที่สั่งใช้กัญชาทางการแพทย์แผนไทยแล้วที่ไหนบ้าง” นพ.ปราโมทย์กล่าว
นพ.ปราโมทย์ กล่าวด้วยว่า การใช้ตำรับยาที่มีกัญชาปรุงผสมทั้ง 16 ตำรับ จะต้องมีการวิจัยควบคู่ไปด้วย โดยส่งรายงานความปลอดภัยให้แก่สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา(อย.) และส่งรายงานเรื่องประสิทธิภาพประสิทธิผลให้กรมฯ ซึ่งกรมฯ จะพิจารณาว่า ตำรับไหนที่มีการใช้มากและได้ผลดี ก็จะต่อยอดวิจัยเชิงวิทยาศาสตร์ โดยมีการวิจัยทางคลินิกในมนุษย์ เพื่อดูเรื่องของพิษเรื้อรังและสารสำคัญต่างๆ ซึ่งจะต้องมีกลุ่มทดลอง กลุ่มควบคุมชัดเจน ซึ่งถ้าได้ผลวิจัยที่มากพอ ก็จะเสนอต่อคณะกรรมการบัญชียาหลักแห่งชาติ พิจารณาเข้าสู่บัญชียาหลัก ซึ่งการเก็บข้อมูลวิจัยจะดูจากโรคด้วย เช่น เป็นโรคที่พบไม่มากก็จะคำนวณออกมาว่าการวิจัยต้องเก็บตัวอย่างเท่าไร เช่น ขั้นต่ำอาจจะ 1,000 คน เป็นต้น