'จดหมายลาครู' ในวันที่หนู(จำเป็น)ต้องหยุดเรียน
แม้ประเทศไทยจะพยายามแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา ด้วยเงินอุดหนุนแก่เด็กยากจน ไร้โอกาส แต่นั่นก็ไม่สามารถดึงเด็กๆ กว่าล้านคนกลับเข้าสู่ระบบการศึกษาได้
หลายครั้งที่สังคมมักตั้งคำถาม ว่าเพราะเหตุใดหลายครอบครัวถึงต้องให้ลูกออกมาทำงานแทนที่จะเรียนให้จบ คำตอบซึ่งจริงที่สุด แต่อาจขัดกับความรู้สึกใครหลายคน คือ “เรื่องปากท้อง สำคัญกว่าการศึกษา” ความจำเป็นสะท้อนความเหลื่อมล้ำที่ไม่ใช่แค่ด้านความรู้ แต่หมายรวมไปถึงทุนทรัพย์ จนดึงเด็กๆ เหล่านั้นออกจากโรงเรียนเพราะความจำยอม
แดงเขียนจม.ลาครู ช่วยแม่ทำงาน
น้องแดง ด.ช.พงศกร อาสาพิทักษ์ไพร อายุ 13 ปี โรงเรียนบ้านนาเกียน อ.อมก๋อย จ.เชียงใหม่ กับความฝันที่อยากจะเป็นนักกีฬาฟุตบอล เป็นหนึ่งในเด็กที่เกือบจะหลุดออกจากระบบการศึกษา บ้านซึ่งอยู่ห่างไกลจากโรงเรียนกว่า 10 กิโลเมตร ต้องข้ามเขากว่า 40 ลูก และใช้เวลาเดินเท้ากว่า 2-3 ชั่วโมง หลังจากคุณพ่อเสียชีวิต แดงอาศัยอยู่กับแม่เพียง 2 คน รายได้หลักมาจากการทำการเกษตร ส่วนพี่ชายและพี่สาวเดินทางไปรับจ้างที่ต่างถิ่น
เมื่อ 1 ปีก่อน ซึ่งเป็นช่วงฤดูเก็บเกี่ยวลำไย ด้วยความที่อยู่กับแม่เพียง 2 คน แดงจึงตัดสินใจเขียนจดหมายถึงครูบอย (นพรัตน์ เจริญผล) เพื่อขอพักการเรียน
“แม่บอกว่าถ้าไปเรียนก็ไม่มีใครช่วยแม่ จึงต้องเขียนจดหมายฝากเพื่อนไปให้ครู แต่ครูก็มาตามไปเรียน แม่จึงให้กลับไปเรียนอีกครั้ง โดยพักที่โรงเรียนจันทร์ - ศุกร์ และกลับมาช่วยแม่เสาร์อาทิตย์ ได้เงินอาทิตย์ละ 50 บาท ถ้าเลือกได้ เราก็อยากเรียนหนังสือ” น้องแดง กล่าว
ครูบอย นพรัตน์ เจริญผล โรงเรียนบ้านนาเกียน อ.อมก๋อย จ.เชียงใหม่ วัย 32 ปี ครูอัตราจ้างที่มาประจำบนพื้นที่ห่างไกลเป็นเวลา 2 ปี เล่าว่า โรงเรียนบ้านนาเกียน เป็นโรงเรียนขยายโอกาส มีนักเรียน 178 คน ครู 16 คน ไม่มีแม้แต่ไฟฟ้าใช้ และต้องใช้โซลาร์เซลล์ สำหรับน้องแดงถือว่าฐานะจนพิเศษ เนื่องจากพ่อเสีย บ้านทำจากฝ้าธรรมดาและไม่ค่อยแข็งแรง ช่วงรอยต่อจะขึ้น ม. 1 น้องหายไปหนึ่งอาทิตย์ อีก 2 วันถัดมา เห็นจดหมายวางไว้บนโต๊ะ มันเหมือนความรับผิดชอบของครูว่า ถ้าเด็กหายไป เราจะต้องตามกลับมา
“ช่วงฤดูเก็บเกี่ยวไม่ว่าจะเกี่ยวข้าว เก็บเห็ดเผาะ หรือผลไม้ต่างๆ เด็กจะหายไปกันหลายคนเพื่อช่วยพ่อแม่ เคสที่หนักที่สุด คือ เด็กคนหนึ่ง แม่คลอดน้องได้ 3 วัน แม่เสียชีวิต นักเรียนต้องเลี้ยงน้องเพราะพ่อต้องออกไปทำงาน โดยเอาน้ำข้าวให้น้องกิน หรือไม่ก็ขอนมโรงเรียนไป ตอนนี้กำลังจะจบ ป.6 และคาดว่าจะไม่เรียนต่อ เราก็ต้องตามมาเรียน ขณะที่ผู้เป็นพ่อไม่อยากให้มา เราไปเยี่ยมบ้านพบว่า บ้านไม่มีแม้แต่ห้องน้ำ ด้วยความที่เป็นวันเกิด ครูจึงลงทุนสร้างห้องน้ำให้แลกกลับการที่ให้เด็กกลับมาเรียนหนังสือ” ครูบอย กล่าว
อาร์มจำเป็นต้อง(ลา)เลี้ยงน้อง 4 คน
ขณะที่ น้องอาร์ม ด.ช.อาทิตย์ มืดคุ้ม อายุ 12 ปี โรงเรียนบ้านใหม่ปฏิรูป อ.ชุมพวง จ.นครราชสีมา ซึ่งพ่อแม่แยกทางกัน ผู้เป็นแม่จำเป็นต้องเดินทางไปหางานทำในตัวจังหวัดซึ่งห่างออกไปกว่า 130 กิโลเมตร โดยให้อาร์มอาศัยอยู่กับตายายซึ่งมีอาชีพเก็บของเก่าขาย และน้องๆ อีก 4 คน เมื่อชีวิตพลิกผัน อาร์มต้องเลือกระหว่างการเรียน ความฝันที่อยากจะเป็นทหาร และความรับผิดชอบในฐานะพี่ชายคนโต อาร์มจึงตัดสินใจเขียนจดหมายลาครูเพื่อขอหยุดเรียนเป็นเวลา 1 ปี
“ในบ้านมีกันอยู่ 7 คน ตอนนั้นตัดสินใจเขียนจดหมายลาครู เพราะต้องดูแลน้องๆ เนื่องจากน้องยังเล็กมาก และตายายต้องออกไปทำงาน” น้องอาร์มกล่าว
ครูหนูนา นางสาวกาญจนา ตั้งทรัพย์ โรงเรียนบ้านใหม่ปฏิรูป ต.โนนรัง อ.ชุมพวง จ.นครราชสีมา เล่าว่า ตอนแรกเขาขาดเรียนไปตั้งแต่เปิดเทอม 16 พฤษภาคม ที่ผ่านมา ซึ่งจากทางนโยบายของโรงเรียนที่ให้ครูไปเยี่ยมบ้าน 100% จึงขอหนังสือติดตามเด็กจากโรงเรียนไปถึงบ้าน และพบว่าเขาดูแลน้องๆ ช่วยคุณยาย สอบถามได้ความว่าต้องช่วยยายเลี้ยงน้องจึงต้องหยุดเรียนไป
“ทั้งนี้ นอกจากน้องอาร์ม ก็มีเด็กๆ คนอื่นๆ ที่มาเรียนแค่เปิดเทอมแล้วก็หายไป เพราะตามพ่อแม่ไปทำงานตัดอ้อย แต่น้องอาร์มเป็นคนแรกที่เขียนจดหมายฝากเพื่อนมา” ครูหนูนา กล่าว
จดหมายลาครูกระตุ้นถึงสังคม
จากจดหมายฉบับเล็กๆ ที่เขียนด้วยลายมือยุกยิกในวันนั้น กลายเป็นสิ่งเล็กๆ ที่ช่วยกระตุ้นสังคม ให้กลับมามองเห็นเด็กอีกกลุ่มที่อยู่ชายขอบมากยิ่งขึ้น และในวันนี้จดหมายน้องแดง และน้องอาร์ม รวมถึงเด็กๆ คนอื่นๆ ถูกนำมาสร้างงานศิลปะในนิทรรศการมีชีวิต “จดหมายลาครู” โดยฝีมือเครือข่ายศิลปินกราฟฟิตี้เพื่อสังคม ในผนัง 4 ภูมิภาคทั่วประเทศ ได้แก่ ขอนแก่น เชียงใหม่ ภูเก็ต และกรุงเทพฯ
ล่าสุด กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) ขยายความร่วมมือกับ 3 หน่วยงาน ได้แก่ คณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน กระทรวงศึกษาธิการ (สพฐ.) กองบัญชาการตำรวจตระเวนชายแดน (ตชด.) และกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น (อปท.) ในโครงการจัดสรรเงินอุดหนุนแบบมีเงื่อนไขสำหรับนักเรียนทุนเสมอภาค เพื่อแก้ปัญหาเหลื่อมล้ำทางการศึกษา คืนเด็กๆ กลุ่มเสี่ยงหลุดออกนอกระบบการศึกษากลับสู่โรงเรียน
เด็ก 2 ล้านเสี่ยงหลุดระบบการศึกษา
จากฐานข้อมูล กสศ.และกระทรวงศึกษาธิการ พบว่า ปัจจุบันประเทศไทยมีเด็กนักเรียนมากกว่า 2 ล้านคน ที่อาศัยอยู่กับครอบครัวที่มีปัญหาความยากจนและมีความเสี่ยงที่จะหลุดออกจากระบบการศึกษา โดยอุปสรรคสำคัญที่ทำให้นักเรียนไม่ไปโรงเรียน ได้แก่ ความห่างไกลของสถานศึกษา ไม่มีค่าเดินทาง ไม่มีค่าอาหาร หรือมีความจำเป็นต้องออกไปทำงานแบ่งเบาภาระครอบครัว ดังนั้น ครู จึงกลายเป็นฟันเฟืองสำคัญ ในการตามหาเด็กๆ เหล่านี้ ด้วยการเยี่ยมบ้าน และคัดกรองให้ได้กลุ่มเป้าหมายที่เดือดร้อน
นพ.สุภกร บัวสาย ผู้จัดการกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) กล่าวว่า "การร่วมมือของคุณครูทั้ง 3 สังกัด กว่า 4 แสนคนครั้งนี้ ถือเป็นกลไกที่ช่วยให้การลดความเหลื่อมล้ำมีประสิทธิภาพ เกิดผลยั่งยืนที่สุด และยังมีกระบวนการติดตามนักเรียน ที่ได้รับเงินอุดหนุนอย่างใกล้ชิดได้แก่ 1.การรักษาอัตราการมาเรียนให้เกินกว่าร้อยละ 80 ตลอดปีการศึกษา 2.น้ำหนักส่วนสูง การมีพัฒนาการที่สมวัยตามเกณฑ์มาตรฐาน เพื่อมั่นใจว่าเป็นการช่วยเหลือที่เด็กได้ประโยชน์อย่างแท้จริง
“อย่างไรก็ตาม ประชาชนทั่วไปสามารถมีส่วนร่วมในการส่งเสริมความเสมอภาคทางการศึกษากับ กสศ. ได้ หากพบเห็นเรื่องราวของเด็กๆ เหล่านี้ สามารถแจ้งไปยังโรงเรียนหรือเขตพื้นที่การศึกษาในพื้นที่ รวมถึง สายด่วน กสศ. 02-0795475 กด 1” นพ.สุภกร กล่าว
ปี 61 ช่วยได้ 5 แสนตั้งเป้า 8 แสนปีนี้
ทั้งนี้ จากการสำรวจและคัดกรองนักเรียนที่ขาดแคลนทุนทรัพย์โดย สพฐ. และ กสศ. ในปี 2561 พบว่า มีโรงเรียนในพื้นที่ชนบทห่างไกลที่มีนักเรียนยากจนที่ได้รับจัดสรรช่วยเหลือเต็ม 100% จำนวน 388 โรงเรียน สามารถเพิ่มโอกาสทางการศึกษาให้เด็กได้กว่า 510,040 คน แต่ยังมีเด็กอีกกว่า 1 แสนคนที่น่าจะเข้าข่ายแต่ยังไม่ได้รับเงินอุดหนุน
ขณะที่ โรงเรียนในสังกัด อปท. ซึ่งมีจำนวน 377 โรงเรียน ใน 10 จังหวัด ได้แก่ เชียงใหม่ เชียงราย ขอนแก่น ร้อยเอ็ด กาญจนบุรี นนทบุรี สระแก้ว ภูเก็ต สุราษฎร์ธานี และยะลา รวมถึง นักเรียนในสังกัดกองบัญชาการตำรวจตระเวนชายแดน (บช.ตชด.) มีจำนวนทั้งสิ้น 26,552 คน จาก 218 แห่งทั่วประเทศ แบ่งเป็นพื้นที่ภาคเหนือ 78 โรงเรียน ภาคตะวันออกฉียงเหนือ 52 โรงเรียน ภาคกลาง 46 โรงเรียน และภาคใต้ 42 โรงเรียน
ดังนั้น จากความร่วมมือของดังกล่าว คาดว่าจะช่วยเด็กนักเรียนที่ขาดแคลนทุนทรัพย์และมีคุณสมบัติตามเกณฑ์การคัดกรอง ได้รับเงินอุดหนุนเพิ่มขึ้นราว 800,000 คน ในปีการศึกษานี้