ชี้ทีมรายการสื่อเกาหลีไม่แจ้งจนท.อุทยาน เพื่อถ่ายทำนอกพื้นที่
กรมอุทยานฯ ชี้แจง ทีมถ่ายทำรายการ Law of the Jungle จากเกาหลี "ไม่ได้แจ้งเจ้าหน้าที่" ในการออกไปถ่ายทำรายการนอกพื้นที่ที่ได้รับอนุญาต
จากกรณีที่มีการเผยแพร่คลิปรายการจากประเทศเกาหลี ที่มีผู้ร่วมรายการจับหอยมือเสือซึ่งเป็นสัตว์คุ้มครองตามกฏหมายไทยมาประกอบอาหารนั้น ทางกรมอุทยานฯ ยืนยันว่า คณะผู้ถ่ายทำรายการไม่ได้มีการแจ้งเจ้าหน้าที่ในการออกไปถ่ายทำรายการในพื้นที่นอกเหนือจากการขออนุญาตแต่อย่างใด
นายธัญญา เนติธรรมกุล อธิบดีกรมอุทยานฯ ได้ชี้แจงถึงกรณีดังกล่าวว่า กรมการท่องเที่ยว ได้มีหนังสือขอความอนุเคราะห์กรมอุทยานฯ ให้พิจารณาอนุญาตให้คณะถ่ายทำรายการ Law of the Jungle ซึ่งเป็นรายการเรียลลิตี้โชว์ จากบริษัท SCB Broadcasting center สาธารณรัฐเกาหลี เข้าไปถ่ายทำในเขตอุทยานแห่งชาติหาดเจ้าไหม จังหวัดตรัง ในวันที่ 29 มีนาคม และ 1-3 เมษายน 2562
โดยก่อนหน้านี้ กรมการท่องเที่ยว ได้ให้การอนุญาตการถ่ายทำในราชอาณาจักรแก่คณะถ่ายทำ ตามมาตรา 20 แห่งพระราชบัญญัติ ภาพยนตร์และวีดิทัศน์พ.ศ. 2551
ทั้งนี้ ยังได้มีการขอความอนุเคราะห์จัดส่งเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องกำกับดูแลการถ่ายทำให้เป็นไปตามเนื้อหาที่ได้รับอนุญาต โดยไม่ทำให้เกิดความเสื่อมเสียชื่อเสียงแก่ประเทศไทย
ทางกรมอุทยานฯ จึงได้มีหนังสือไปถึงกรรมการผู้จัดการบริษัท เดอะ ซิกซ์ เอลลิเม้นท์ จำกัด ซึ่งเป็นผู้ประสานงานของคณะถ่ายทำ เมื่อวันที่ 27 มีนาคม ว่า กรมอุทยานฯ อนุญาตให้ทางคณะเข้าไปถ่ายทำในเขตอุทยานฯ โดยให้บริษัทชำระค่าธรรมเนียมสำหรับการถ่ายทำ อัตราวันละ 4,000 บาท จำนวน 4 วัน เป็นเงิน 16,000 บาท พร้อมทั้งปฏิบัติให้เป็นไปตามกฎหมายและระเบียบด้วย
โดยกรมอุทยานฯ ได้มอบหมายให้ หัวหน้าอุทยานแห่งชาติหาดเจ้าไหม เป็นผู้แทนกำกับดูแลการถ่ายทำตามกำหนด คือ บริเวณหาดเจ้าไหม ในวันศุกร์ที่ 29 มีนาคม, บริเวณเกาะมุก ในวันอังคารที่ 2 และวันพุธที่ 3 เมษายน, และบริเวณเกาะแหวน ในวันจันทร์ที่ 1 เมษายน และวันพุธที่ 3 เมษายน
"ในช่วงระยะเวลาการถ่ายทำ ซึ่งมีเจ้าหน้าที่ควบคุมกำกับดูแลตามที่กรมอุทยานฯ สั่งการอย่างใกล้ชิดมาโดยตลอด ไม่ปรากฏว่าคณะผู้ถ่ายทำได้กระทำความผิดตาม พ.ร.บ. อุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2504 หรือกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้องแต่อย่างใด ยกเว้นเมื่อวันที่ 1 เมษายน” นายธัญญาชี้แจง
ในวันดังกล่าว คณะผู้ถ่ายทำแจ้งว่า จะทำการถ่ายทำในบริเวณอ่าวสบาย เกาะแหวน และถ้ำมรกต โดยในช่วงเช้า คณะถ่ายทำได้ถ่ายทำบริเวณอ่าวสบาย โดยมีเจ้าหน้าที่ควบคุมการถ่ายทำ ในขณะที่ทีมงานอีก 2คนแยกไปถ่ายทำในบริเวณเกาะแหวน
หลังจากนั้น ในช่วงบ่ายได้เกิดพายุลมแรง ทำให้คณะถ่ายทำแจ้งยกเลิกการถ่ายทำบริเวณถ้ำมรกต โดยจะขอเลื่อนไปเป็นวันที่2 เมษายน และหลังจากนั้นมิได้มีการแจ้งกับทางเจ้าหน้าที่อุทยานว่าจะไปถ่ายทำที่ใดอีก
คนขับเรือในวันดังกล่าวได้ให้ข้อมูลกับทางอุทยานฯว่า ได้ไปรับ
คณะถ่ายทำที่บริเวณอ่าวสบาย เพื่อนำไปยังบริเวณอ่าวโล๊ะอุดัง ซึ่งเป็นบริเวณที่เกิดเหตุ โดยที่มิได้มีการแจ้งให้กับเจ้าหน้าที่อุทยานได้รับทราบ
อุทยานแห่งชาติหาดเจ้าไหม เห็นว่าการกระทำดังกล่าวเป็นความผิด ตาม พ.ร.บ. อุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2504 และ พ.ร.บ. สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2535 จึงได้จัดทำบันทึกแจ้งข้อกล่าวหา และดำเนินคดี ที่ สภ.กันตัง เพื่อดำเนินคดีตามกฎหมายต่อไป นายธัญญากล่าว
หอยมือเสือ ถือเป็นสัตว์ป่าคุ้มครองในบัญชีสัตว์สงวนและคุ้มครองประเภท 2 ตามพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2535 คือ ห้ามล่า ห้ามมี และห้ามซื้อขาย ผู้ฝ่าฝืนมีโทษจำคุกไม่เกิน 4 ปี ปรับไม่เกิน 4 หมื่นบาท
เปลือกของหอยมือเสือถือเป็นซากสัตว์ป่าเช่นเดียวกับปะการังที่ห้ามซื้อขาย รวมทั้งห้ามนำมาวางประดับ ใช้เป็นที่เขี่ยบุหรี่ หรือที่ใส่สบู่ตามโรงแรมและร้านอาหาร
ข้อมูลจากกรมอุทยานฯ ระบุว่า หอยมือเสือถูกจับขึ้นมาใช้ประโยชน์อย่างมากในช่วงเวลาที่ผ่านมาจนกระทั่งอยู่ในสภาวะใกล้สูญพันธุ์ หรือบางชนิดถูกทำลายจนหมดไปจากบางแหล่ง
หอยมือเสือ จึงเป็นหนึ่งในจำนวนสัตว์น้ำที่ได้รับการขึ้นบัญชีในรายชื่อสัตว์และพืชที่ใกล้สูญพันธุ์หรือหายากในอนุสัญญาว่าด้วยการค้าระหว่างประเทศซึ่งชนิดของสัตว์ป่าและพืชป่าที่ใกล้จะสูญพันธุ์ หรือ CITES และจัดอยู่ในบัญชีสัตว์สงวนและคุ้มครองประเภท 2 ตามพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2535 ของกฎหมายไทย
ในน่านน้ำไทย พบหอยมือเสืออยู่ทั้งในอ่าวไทยและทะเลอันดามัน โดยมีทั้งหมด 5 ชนิด จำนวนประชากรหอยมือเสือในน่านน้ำไทยในปัจจุบันมีเหลืออยู่ไม่มาก เนื่องจากหอยมือเสือมีแหล่งอาศัยอยู่ตามแนวปะการังที่มีระดับน้ำไม่ลึกเพราะต้องอาศัยแสงสว่างในการดำรงชีพเพื่อให้สาหร่ายซึ่งอาศัยอยู่ในเนื้อเยื่อสามารถสังเคราะห์แสงได้
ด้วยเหตุดังกล่าว หอยมือเสือในธรรมชาติจึงมักถูกจับขึ้นมาได้ง่าย