ฝากเดินหน้าขับเคลื่อนการศึกษาไทย

ฝากเดินหน้าขับเคลื่อนการศึกษาไทย

ฝากเดินหน้าขับเคลื่อนการศึกษาไทย

อธิการบดี มร.สส. ฝากรมว.ศธ. และรมช.ศธ.ทำงานด้านการศึกษาอย่างใจเย็น ตั้งอยู่บนพื้นฐานวิชาการ และงานวิจัยรองรับ ส่วนกระทรวง อว. เชื่อรมว.อว.เป็นอาจารย์เก่าเข้าใจอุดมศึกษา แนะนโยบายเร่งด่วน ขอยกเลิกทีคิวเอฟ ให้เสรีภาพมหาวิทยาลัยออกแบบมาตรฐาน หลักสูตร ได้มีคุณภาพหลากหลาย ขณะที่ “สมพงษ์” หวังรมว.ศธ.มาจากภาคเอกชน การตัดสินใจ เปลี่ยนแปลงน่าจะคล่องตัวดี พร้อมเสนอให้รมว.อว.วางตำแหน่งอว.ให้ดี ระหว่างอุตสาหกรรม และเหลื่อมล้ำ คุณภาพชีวิต เกิดความสมดุลระดับ 50 ต่อ 50


ตามกรณีที่เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา ได้เผยแพร่พระบรมราชโองการ ประกาศ แต่งตั้งคณะรัฐมนตรีแล้วนั้น ซึ่งในส่วนของกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) นายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รมว.ศธ.) ,คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีช่วยว่าการศึกษาธิการ (รมช.ศธ.) และนางกนกวรรณ วิลาวัลย์ รมช.ศธ. ส่วนกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม(อว.) นายสุวิทย์ เมษินทรีย์ ที่ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (รมว.อว.)


นายฤาเดช เกิดวิชัย อธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฎสวนสุนันทา (มร.สส.) กล่าวถึง ว่า สำหรับรมว.ศธ.และรมช.ศธ. ทั้ง 3 ท่านนั้น โดยส่วนตัว ไม่คุ้นเคยและไม่ทราบแน่ชัดว่าทั้ง 3 ท่านมีความถนัด และมีผลงานด้านการศึกษาอย่างไรบ้าง ซึ่งอาจจะมีความเกี่ยวข้องกับการศึกษาน้อย ดังนั้น มองว่ารัฐมนตรีทั้ง 3 ท่าน ถือเป็นมือใหม่ด้านการศึกษา จึงอยากฝากให้ใจเย็นในการทำงานด้านการศึกษา นโยบายต่างๆ ควรดำเนินการโดยตั้งอยู่บนพื้นฐานของวิชาการ มีงานวิจัยยอมรับ เป็นที่แน่ใจว่าทำแล้วมีผล อย่าวูบวาบทำทันที เพราะเมื่อมีการเปลี่ยนแปลงนโยบายคนที่อยู่ต่อก็ต้องทำต่อไป และทำให้การทำงานไม่ต่อเนื่อง อีกทั้งคนที่เป็นรมว.ศธ. รมช.ศธ.ควรจะมีความรู้ ความเชี่ยวชาญด้านการศึกษา แต่เข้าใจได้ว่า มาจากทางการเมือง ขณะนี้จึงไม่ได้คาดหวังว่าจะฝากอะไรถึงรมว.ศธ.และรมช.ศธ.


นายฤาเดช กล่าวต่อว่า ในส่วนของกระทรวงอว.นั้น มองว่ารมว.อว. เป็นอาจารย์เก่า มีความรู้ความเข้าใจในเรื่องบริบทการศึกษาไทยเป็นอย่างดี ว่ามหาวิทยาลัยควรมีเสรีภาพ ซึ่งสิ่งที่อยากฝากให้รมว.อว.ดำเนินการอย่างเร่งด่วน คือการยกเลิกมาตรฐาน ทีคิวเอฟ และเปิดให้เสรีภาพแก่มหาวิทยาลัยในการจัดการศึกษา ออกแบบ ดีไซต์หลักสูตร มาตรฐาน การจัดการเรียนการสอนเอง เพราะมหาวิทยาลัยต้องมีความหลากหลาย และไม่อยากให้กังวลเรื่องมาตรฐาน เนื่องจากตอนนี้ หากมหาวิทยาลัยไหนไม่มีมาตรฐานรองรับ ไม่มีคุณภาพ ไม่เป็นไปตามอัตลักษณ์ หรือความแตกต่างที่วางไว้ ก็จะไม่สามารถอยู่รอดได้ ล้มหายไปเอง เพราะเด็กรุ่นใหม่รู้จักเลือกเรียนมหาวิทยาลัย คณะที่เขาต้องการ และตอบโจทย์ความต้องการของประเทศ ในการเป็นมหาวิทยาลัยที่มีความหลากหลายกัน


ขณะที่ นายสมพงษ์ จิตระดับ อาจารย์คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มองว่านายณัฏฐพลมาจากภาคเอกชนระบบการตัดสินใจ ระบบการเปลี่ยนแปลง ความรวดเร็วและความคล่องตัวจะดี อีกด้านหนึ่งคือ นายณัฏฐพล ทำเรื่องโรงเรียนเอกชนก็จะทำให้รู้เรื่องปัญหาการศึกษาประมาณหนึ่ง ดังนั้นจึงไม่ใช่คนที่ไม่มีพื้นฐานด้านการศึกษาเลย และอาจจะมีวิสัยทัศน์ และนโยบายที่มุ่งไปสู่ความเป็นสากล การมีงานทำ โรงเรียน 2 ภาษา การสร้างทักษะของศตวรรษที่ 21 ส่วนคุณหญิงกัลยา เคยเป็นอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ก็มีความรู้ความสามารถด้านวิทยาศาสตร์ สอดคล้องกับการจัดการเรียนการสอนในรูปแบบสะเต็มศึกษา และนางกนกวรรณ เห็นถึงเรื่องการกระจายอำนาจไปสู่พื้นที่ ซึ่งส่วนตัวคิดว่าหากมีการหลอมรวมกันดีก็จะเป็นจุดแข็งของ ศธ.ได้


นายสมพงษ์ กล่าวต่อว่า สำหรับ นายสุวิทย์ นั้น มองว่าเป็นผู้ที่มีบทบาทสำคัญโดยเฉพาะเรื่องการตั้ง อว. มองอนาคต แผนการดำเนินงานไปในทิศทางของอุตสาหกรรม นวัตกรรม เศรษฐกิจ ภาคเอกชน ซึ่งแนวความคิดชุดนี้มค่อนข้างจะทำให้มหาวิทยาลัยได้รับอิทธิพลในด้านการบริหารการศึกษาและการจัดการการเรียนรู้ มีการปรับตัวครั้งใหญ่ ดังนั้น อว.จำเป็นต้องวางตำแหน่งตัวเองให้ดี ระหว่างอุตสาหกรรม นวัตกรรม เศรษฐกิจ และสังคมศาสตร์ สิ่งแวดล้อม ความเหลื่อมล้ำ คุณภาพชีวิต ต้องทำให้เกิดความสมดุลในระดับ 50 ต่อ 50 ต้องดำเนินไปอย่างควบคู่กัน และนำไปสู่การปฏิบัติ ไม่ใช่พูดลอยๆ เพื่อไม่ให้ระบบการศึกษาไทยเป็นไปตามแนวคิดเรื่องตลาดแรงงานเป็นใหญ่ ไม่ใช้ วิธีคิดแบบสร้างคุณภาพ


“มีข้อเสนอแนะในฐานะที่เป็นผู้ที่จับตาเฝ้าระวังระบบการศึกษามาอย่างยาวนาน คือ 1.ควรจะนำประวัติการปฏิรูปการศึกษามาศึกษา ว่าเหตุใดจึงไม่สำเร็จ เพื่อจะทำให้เห็นจุดแข็ง จุดอ่อน และได้โจทย์การปฏิรูปที่เป็นตัวตนและได้รับการยอมรับ 2.ขณะนี้เริ่มเห็นความเคลื่อนไหวของเด็กและเยาวชนในเรื่องที่มีผลกระทบกับตัวเขา ซึ่ง รมว.ศธ. ควรเห็นจุดดีและจุดแข็งของเด็ก เพราะที่ผ่านมาเราเห็นวัฒนธรรมเรื่องการใช้งบประมาณสิ้นเปลืองมาก แต่ไปอยู่กับผู้ใหญ่และการทุจริตไม่น้อย ดังนั้น เมื่อเด็กมีพื้นที่มากขึ้น อย่าปล่อยโอกาสนี้ ฟังเสียงของเด็กให้มากขึ้น 3.อยากเห็นการสานต่องานจากรัฐบาลที่ผ่านมา เรื่องการปราบปรามการทุจริตที่มีมากในปัจจุบัน และ 4.ความมีการบูรณาการนโยบายที่ใช้ในการหาเสียงไว้ ซึ่งคิดว่านโยบายสำคัญ คือ เรื่องการขับเคลื่อนการปฏิรูปการศึกษาครั้งใหญ่ ไม่เช่นนั้นคนที่เข้ามาเป็นรัฐมนตรีก็จะเป็นแค่ รมว.ศธ.ในช่วงเวลาหนึ่ง ผลักดันนโยบายที่ไม่ต้องกับปัญหา ทำให้เกิดปัญหาพอกพูนและแก้ไขได้ยาก ดังนั้น จึงต้องมีการทุ่มเทให้เวลา รวมถึงหาคนที่ไม่ใช่พรรคพวกตัวเอง เพื่อให้เกิดการตอบโต้ทางความคิดและได้แนวทางการปฏิรูปการศึกษาที่ถูกต้องและแก้ไขปัญหาของประเทศได้อย่างลุล่วง”นายสมพงษ์ กล่าว