สัตวแพทย์ผ่าพิสูจน์ซากพะยูน 2 ตัวล่าสุดที่ตายในทะเลตรัง-กระบี่
ผู้เชี่ยวชาญด้านนิเวศน์ทางทะเล ดร.ธรณ์ ธำรงค์นาวาสวัสดิ์ แนะ ยังไม่ควรตัดประเด็นการลักลอบล่า เพื่อเอาเขี้ยวไปเป็นของขลัง
ในช่วงเช้าของวันนี้ ทีมสัตวแพทย์จากกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.) กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช (อส.) และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย วิทยาเขตตรัง ร่วมกันผ่าพิสูจน์ซากพะยูนที่พบลอยตายและเกยตื้นในทะเลตรัง-กระบี่พร้อมกันเมื่อวานนี้
โดย พะยูนเพศผู้ตัวเต็มวัย นำ้หนักประมาณ 400 กิโลกรัม ได้ลอยตายอยู่กลางทะเลระหว่างเกาะปูกับเกาะพีพี ภายในเขตอุทยานแห่งชาติหาดนพรัตน์ธารา-หมู่เกาะพีพี จ.กระบี่ ในขณะที่อีกตัว เป็นเพศผู้ที่มีอายุเพียง 6 เดือน น้ำหนักประมาณ 35 กิโลกรัม พบเกยตื้นตายที่ทะเลตรัง ไม่ไกลจากแหล่งอนุบาลของ “มาเรียม” พะยูนกำพร้าที่ไ้ด้รับการช่วยเหลือรอดชีวิตมาได้ช่วงปลายเดือนเมษายนที่ผ่านมาจนโด่งดังไปทั่วโลก
ขณะนี้ต้องรอการสรุปผลการผ่าพิสูจน์อย่างเป็นทางการของทีมสัตวแพทย์ก่อนที่จะมีการรายงานให้กรมฯ รับทราบต่อไป
ทั้งนี้ พะยูนวัยเด็กถือเป็นพะยูนตัวที่ 8 แล้วที่ตายลงในทะเลตรังในปี 2562 นี้ และเป็นพะยูนวัยเด็กตัวที่ 4 ที่ตาย โดย 3 ตัวแรก พบป่วยตายตามธรรมชาติ, เกยตื้นตาย, และตายไม่ทราบสาเหตุ
ส่วนพะยูนตัวเต็มวัยตายรวม 4 ตัว โดยบางตัวพบถูกตัดเขี้ยว
นายชัยพฤกษ์ วีระวงศ์ หัวหน้าเขตห้ามล่าสัตว์ป่าหมู่เกาะลิบง กล่าวว่า พื้นที่การรับผิดชอบของเขตห้ามล่าสัตว์ป่าหมู่เกาะลิบงมีจำนวน1.2แสนไร่ ทำให้ยากต่อการดูแลเฝ้าระวังพื้นที่
ล่าสุด ทางเขตห้ามล่าฯ ได้รับเรือสำหรับใช้ลาดตระเวนเฝ้าระวังพะยูนในพื้นที่รับผิดชอบ รวมทั้งบริเวณแหล่งอนุบาลมาเรียมเพิ่มจากกรมอุทยานฯ มาอีก 2 ลำ จากที่มีใช้ประจำอยู่ 1ลำ
ขณะเดียวกันทางเขตห้ามล่าฯ ได้รับนโยบายจากอธิบดี อส. นายธัญญา เนติธรรมกุล ให้ดูแลมาเรียมอย่างเต็มที่ และจะมีการส่งกำลังเข้ามาเสริมทั้งทีมสัตวแพทย์จากกรมฯ และเจ้าหน้าที่จากอุทยานฯ ใกล้เคียง
นอกจากนั้น ทางเขตห้ามล่าฯ ยังมีการจัดเวรยามร่วมกับฝ่ายปกครอง อบต.ในการเฝ้าระวังพื้นที่ ทั้งการเฝ้าระวังเรือทุกชนิดห้ามเข้าบริเวณที่ทำการอนุบาลมาเรียมโดยเด็ดขาด ซึ่งอาจเป็นภัยคุกคามต่อความปลอดภัยของมาเรียม
ดร. ธรณ์ ธำรงค์นาวาสวัสดิ์ รองคณบดีคณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ผู้เชี่ยวชาญด้านนิเวศน์ทางทะเล ได้โพสต์เฟสบุ๊คตั้งข้อสังเกตว่า นับเฉพาะเดือนนี้ เพียง 2 สัปดาห์ที่ผ่านมา มีพะยูนเกยตื้น 5 ตัว ตาย 4 ตัว รอด 1 ตัว คือยามีล พะยูนน้อยที่รอดชีวิตถัดจากมาเรียม ซึ่งเป็นจำนวนพะยูนที่ตายมากเกินไป
ดร. ธรณ์กล่าวว่า กระแสตอบรับมาเรียมและยามีล ทำให้คนไทยหันมาสนใจพะยูนเพิ่มมากขึ้น แต่ไม่ควรจบลงแค่เห็นความน่ารักของสัตว์
เขากล่าวว่าความสนใจที่เกิดขึ้นต้องทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลง และต้องทำให้พะยูนตัวอื่นๆ ในทะเลได้รับการดูแลอย่างดี
ดร. ธรณ์กล่าวต่อว่า ทุกหน่วยงานกำลังทำงานเต็มที่ แต่เหตุการณ์ที่เกิดขึ้น อาจเป็นไปได้หลายกรณี เช่น การตายเพราะติดอวน ก่อนโดนลักลอบเอาเขี้ยวไปภายหลัง ทั้งนี้ ดร. ธรณ์ เปิดเผยว่า พะยูน 2 ตัวโดนถอดเขี้ยว ซึ่งตรวจแล้วเข้าใจว่าถูกถอดไปหลังตาย
อย่างไรก็ตาม เขากล่าวว่าคงยังไม่สามารถตัดประเด็นการลักลอบล่าเพื่อเอาเขี้ยวไปเป็นของขลัง ซึ่งการครอบครองเขี้ยวพะยูนนั้น มีบทลงโทษตามพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า ปี พ.ศ. 2562 รุนแรงกว่าก่อนอย่างมาก
ดร.ธรณ์ได้เสนอว่า เมื่อมีพะยูนตายผิดปกติ การเฝ้าระวังและการบริหารจัดการด้วยเทคนิคเดิมๆ อาจไม่พอเพียง
เขากล่าวว่า อาจต้องมีการลงทุนมากขึ้น ทั้งการยกระดับจำนวนเจ้าหน้าที่ เครือข่ายดูแลเรื่องเขตการอนุรักษ์ และรวมไปถึงการจำกัดเครื่องมือประมง อุปกรณ์ เทคโนโลยีต่างๆ โดยครอบคลุมพื้นที่ทั้งตรัง กระบี่ พังงา
“เรื่องนี้ไม่ใช่เฉพาะผู้เชี่ยวชาญด้านทะเลอย่างเดียว แต่คงต้องขอแรงจากทุกฝ่ายมาช่วยกันวางระบบตรวจตราดูแล” ดร. ธรณ์กล่าว “…จัดหนักจัดเต็มให้สมบูรณ์ เป็นพื้นที่โมเดลสำหรับอนุรักษ์สัตว์หายาก”
พะยูน เป็นสัตว์ป่าสงวนชนิดที่ 15 และเป็นชนิดเดียวที่เป็นสัตว์ทะเล ก่อนที่จะมีการประกาศสัตว์ทะเลอีก 4 ชนิดเป็นสัตว์ป่าสงวนภายใต้กฏหมายสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่าฉบับใหม่ ซึ่งได้แก่ วาฬบรูด้า วาฬโอมูระ ฉลามวาฬ และเต่ามะเฟือง
ภายใต้กฏหมายดังกล่าว บทลงโทษสำหรับการล่าสัตว์ป่าคุ้มครองและสัตว์ป่าสงวนได้รับการปรับปรุงให้มีโทษสูงขึ้น จากการจำคุกไม่เกิน 4 ปี ปรับไม่เกิน 4 หมื่น เป็นจำคุก 3-15 ปี ปรับ 300,000-1,500,000 บาท สำหรับการล่าสัตว์สงวน และจำคุกไม่เกิน 10 ปี ปรับไม่เกิน 1,000,000 บาท สำหรับการล่าสัตว์ป่าคุ้มครอง
นอกจากนี้ บทลงโทษสำหรับการครอบครองซากสัตว์ทั้งสองประเภทก็ได้รับการปรับให้มีโทษที่สูงขึ้น คือ จำคุกไม่เกิน 5 ปี ปรับไม่เกิน 500,000 บาท
สำหรับพะยูน ได้รับการคุ้มครองตาม พ.ร.บ. สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า ปี พ. ศ. 2562 นี้ด้วยเช่นกัน และอนุสัญญาว่าด้วยการค้าระหว่างประเทศซึ่งชนิดสัตว์ป่าและพืชป่าที่ใกล้สูญพันธุ์หรือไซเตส (CITES) ได้ขึ้นบัญชีให้พะยูนอยู่ในบัญชีหมายเลข 1 ลำดับที่ 86 ของบัญชีไซเตส ซึ่งเป็นสัตว์ที่ห้ามค้าโดยเด็ดขาด ยกเว้น เพื่อการศึกษาวิจัย และเพาะพันธุ์เท่านั้น
จากการสำรวจของเขตห้ามล่าฯ ล่าสุดในปีนี้ พะยูนถูกพบไม่น้อยกว่า 200 ตัว ในทะเลฝั่งอันดามัน ในแหล่งหญ้าทะเลตั้งแต่จังหวัดสตูลไปจนถึงจังหวัดกระบี่ โดยมีพะยูนแม่ลูกอยู่หลายคู่ และมีอัตราการเกิดเพิ่มขึ้นทุกปี
ในทะเลตรัง พะยูนถูกพบบริเวณเขตห้ามล่าสัตว์ป่าหมู่เกาะลิบง (บริเวณแหลมจูโหยและอ่าวทุ่งจีน) มากที่สุด โดยมีไม่ต่ำกว่า 180 ตัว และพบกระจายไปบริเวณแหล่งหญ้าทะเลในบริเวณอุทยานแห่งชาติหาดเจ้าไหม ในท้องที่จังหวัดตรัง
พะยูนยังเป็นสัตว์ที่ต้องมีการอนุรักษ์เพื่อให้มีจำนวนเพิ่มมากขึ้นและไม่ให้ตกอยู่ในภาวะเสี่ยงสูญพันธุ์ได้ ทางเขตฯ ระบุ
และในช่วงวันหยุดที่ผ่านมา ทาง ทช. ได้พบเต่ามะเฟืองซึ่งเป็นสัตว์สงวนชนิดใหม่เกยตื้นตาย บริเวณหาดสวนสน จังหวัดระยอง
โดยนายจตุพร บุรุษพัฒน์ อธิบดี ทช. เปิดเผยว่า ศูนย์วิจัยและพัฒนาทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งอ่าวไทยฝั่งตะวันออก (จ.ระยอง) ได้รับแจ้งจากกลุ่มประมงพื้นบ้านเรือเล็กสวนสน ว่ามีการพบเต่าทะเลขนาดใหญ่เกยตื้นตาย บริเวณ ร้านป้าแว่นหาดสวนสน จ.ระยอง
เจ้าหน้าที่กลุ่มสัตว์ทะเลหายาก จึงได้เข้าทำการตรวจสอบ พบเป็นเต่ามะเฟือง (Leatherback turtle: Dermochelys coriacea) ยาวกว่าหนึ่งเมตร เพศเมีย อายุประมาณ 10 ปี ไม่พบหมายเลขไมโครชิพ และแถบเหล็กระบุสัญชาติ สภาพซากเน่ามาก
จากการตรวจสอบเบื้องต้น ขาหน้าขวาของเต่าหายไป พบรอยแผลขนาดใหญ่ จำนวน 3 รอยบริเวณกระดองหลัง ส่วนต้น 2 รอยและกระโหลก 1 รอย มีลักษณะขนานกันในแต่ละรอย ซึ่งเป็นลักษณะจำเพาะของร่องรอยที่เกิดจากใบพัดเรือ ทำให้ช่องลำตัวเปิดออก คาดว่าการถูกใบพัดเรือเป็นสาเหตุหลักที่ทำให้เสียชีวิต
อย่างไรก็ตาม เมื่อเปิดสำรวจทางเดินอาหาร พบขยะพลาสติกจำนวน 9 ชิ้น และแมงกระพรุนในหลอดอาหารจำนวนหนึ่งอุดตันบริเวณลำไส้เล็กส่วนต้น เจ้าหน้าที่ ทช. จึงทำการเก็บตัวอย่างชิ้นเนื้อ และตัวอย่างเนื้อเยื่อผิวหนังเพื่อตรวจสอบพันธุกรรมต่อไป