เตือนหญิงท้องเลี่ยงนวด แนะหากปวดเมื่อย ออกกำลังกายเบา ๆ ช่วย
กรมอนามัย เตือนหญิงท้องเลี่ยงนวด แนะหากปวดเมื่อย ออกกำลังกายเบา ๆ ช่วย
แพทย์หญิงพรรณพิมล วิปุลากร อธิบดีกรมอนามัย เปิดเผยว่า จากกรณีที่หญิงตั้งครรภ์ 6 เดือน ใช้บริการร้านนวดแล้วเกิดช็อกหมดสติ ส่งผลให้แท้งลูก กลายเป็นเจ้าหญิงนิทราและเสียชีวิตในเวลาต่อมานั้น โดยปกติ หญิงตั้งครรภ์จะมีการเปลี่ยนแปลงทางสรีระวิทยาขณะตั้งครรภ์ในช่วงอายุครรภ์ 3 เดือนแรก ไม่ควรนวด เพราะการนวดจะกระตุ้นให้มดลูกบีบรัดตัวอาจทำให้แท้งได้ส่วนอายุครรภ์ 4-6 เดือน สามารถนวดได้ แต่ต้องนวดกับผู้ที่ผ่านการอบรมแล้วเท่านั้นสำหรับหญิงที่อายุครรภ์ 6 เดือนขึ้นไป มดลูกจะไปกดเส้นเลือดดำ เส้นเลือดแดงในท้อง ไม่ควรนวดร้านทั่วไป แต่หากจำเป็นควรนวดผ่านหมอแผนไทยที่เรียนมาไม่น้อยกว่า 800 ชั่วโมง หรือเพื่อความปลอดภัย หญิงตั้งครรภ์ที่มีอาการปวดเมื่อย หรือต้องการผ่อนคลายภาวะเครียดจากการเปลี่ยนแปลงทางสรีรวิทยา ควรหันมาใช้วิธีการออกกำลังกายเบา ๆ แทนจะดีกว่า เพื่อช่วยเพิ่มความแข็งแรงของระบบไหลเวียนเลือด ระบบหายใจและกล้ามเนื้อ ช่วยให้นอนหลับสนิทและช่วยให้คลอดบุตรง่าย โดยหญิงตั้งครรภ์ที่ไม่เคยออกกำลังกายมาก่อนควรทำเมื่ออายุครรภ์ได้ 2 เดือน ส่วนผู้ที่มีประวัติการแท้งง่ายติดต่อกัน หากต้องการออกกำลังกาย แนะนำให้เริ่มหลังจากตั้งครรภ์ได้ 3 เดือนไปแล้ว โดยให้เริ่มออกกำลังกายจากเบาไปหนักหรือช้าไปเร็ว เช่น ทำงานบ้าน การเดิน โดยเริ่มออกกำลังกายต่อเนื่องวันละ 10 - 15 นาที 3 วันต่อสัปดาห์ แล้วค่อย ๆ เพิ่มเวลาจนครบวันละ 30 นาที 5 วันต่อสัปดาห์ ไม่ควรหักโหม หรือออกกำลังกายติดต่อกันนานเกินไป ควรแบ่งทำเป็นช่วง ช่วงละ 15 นาที
“สำหรับหญิงที่อายุครรภ์ 4 เดือนไปแล้ว ไม่ควรออกกำลังกายในท่านอนหงายนานเกิน 5 นาที หรือท่าเบ่งหรือกลั้นหายใจ เพราะทำให้เลือดไหลกลับเข้าสู่หัวใจน้อยลงและเป็นลมได้ ควรดื่มน้ำอย่างเพียงพอระหว่าง ออกกำลังกาย และหลังจากออกกำลังกายทุกครั้งควรผ่อนคลายกล้ามเนื้อ (Cool down) ด้วยการยืดเหยียดกล้ามเนื้อ 3 - 5 นาที เพื่อป้องกันการหดตึงของกล้ามเนื้อที่จะส่งผลทำให้เกิดการบาดเจ็บ และที่สำคัญขณะ ออกกำลังกาย หากมีอาการปวดท้อง ปวดหลัง หายใจไม่ทัน เจ็บหน้าอก อ่อนเพลีย ปวดศีรษะ ใจสั่น หน้ามืด จะเป็นลม มีเลือดออกทางช่องคลอด ต้องหยุดออกกำลังกายในขณะนั้นทันทีและควรไปพบแพทย์ ส่วนหญิงตั้งครรภ์ที่มีภาวะโรคเรื้อรังต่าง ๆ เช่น ความดันโลหิตสูง เบาหวาน หัวใจและหลอดเลือด ระบบทางเดินหายใจ ควรปรึกษาแพทย์ก่อนออกกำลังกาย” อธิบดีกรมอนามัย กล่าว
ทางด้าน นายแพทย์อุดม อัศวุตมางกุร ผู้อำนวยการกองกิจกรรมทางกายเพื่อสุขภาพ กล่าวเสริมว่า ก่อนออกกำลังกายทุกครั้งหญิงตั้งครรภ์ควรมีการเตรียมความพร้อม โดยให้สังเกตร่างกายตนเองก่อน และขอเน้นย้ำหากมีอาการปวดท้อง อ่อนเพลีย หน้ามืดจะเป็นลม มีเลือดออกทางช่องคลอด ในวันนั้นควรเลี่ยงออกกำลังกาย หากอากาศร้อนและชื้นเกินไปควรออกกำลังกายในระดับเบา เช่น การเดิน ควรแต่งกายให้เหมาะสมกับการ ออกกำลังกาย เช่น สวมใส่รองเท้าผ้าใบเพื่อรองรับน้ำหนัก ลดแรงกระแทก ใสกางเกงพยุงท้อง เสื้อผ้าที่ไม่รุ่มร่าม ใส่สบายเพื่อป้องกันการหกล้ม และก่อนออกกำลังกายทุกครั้งควรอบอุ่นร่างกายโดยการยืดเหยียดกล้ามเนื้อ (Warm up) ครั้งละ 3 - 5 นาที และไม่ควรกินอาหารมื้อหนักก่อนออกกำลังกาย 2 ชั่วโมง เพราะจะทำให้เกิดการ จุกเสียดแน่นท้องได้