แนะผู้สัมผัสอาหารคุมเข้ม ความปลอดภัย แสงสว่าง ในการปรุงประกอบอาหาร
กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข แนะปรุงประกอบอาหารในสถานที่ที่มีแสงสว่างเพียงพอเหมาะสมเพื่อความสะอาดและความปลอดภัยของอาหาร ป้องกันอันตรายจากเศษแก้วหรือสิ่งแปลกปลอม
แพทย์หญิงพรรณพิมล วิปุลากร อธิบดีกรมอนามัย เปิดเผยว่า จากกรณีที่มีผู้โพสเฟสบุคเกี่ยวกับลูกชายกินอาหารที่ร้านอาหารดังย่านลาดพร้าว โดยมีเศษแก้วที่ปนมาในอาหารจนได้รับบาดเจ็บในช่องปากมีเลือดไหลที่ลิ้นนั้น ความสะอาดปลอดภัยในการปรุงประกอบอาหารนับเป็นเรื่องที่ผู้ประกอบอาหาร ร้านอาหารควรตระหนักและให้ความสำคัญ โดยเฉพาะสถานที่เตรียมปรุง จำหน่ายและล้างภาชนะ จะต้องมีแสงสว่างที่เพียงพอทำให้มองเห็นสภาพสิ่งสกปรก สิ่งปนเปื้อน สีของอาหารที่ผิดจากธรรมชาติ และสิ่งแปลกปลอมในอาหาร เพื่อความสะอาด ความปลอดภัย และยังช่วยป้องกันอุบัติเหตุได้ ส่วนกระบวนการปรุงประกอบอาหาร ไม่ว่าจะเป็นเมนูใด ต้องปรุงประกอบให้ถูกต้องตามหลักปฏิบัติที่ดี โดยใช้ภาชนะบรรจุอาหารที่สะอาด มีการปกปิด ผู้ปรุงไม่ใช้มือหยิบจับอาหารปรุงสำเร็จโดยตรง สวมผ้ากันเปื้อน หมวกคลุมผม ซึ่งในกรณีเหตุการณ์ดังกล่าว กรมอนามัยได้ประสานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องของกรุงเทพมหานครลงไปตรวจสอบข้อเท็จจริง เพื่อหาสาเหตุจากการที่มีเศษแก้วปนเปื้อนในอาหาร พร้อมให้ร้านอาหารปรับปรุงและคุมเข้มการปรุงประกอบอาหารให้ถูกสุขลักษณะมากยิ่งขึ้นในส่วนของผู้บริโภคก็ควรสังเกตอาหารให้มั่นใจว่าสะอาดและปลอดภัยก่อนกิน หากพบสิ่งปนเปื้อนและสิ่งแปลกปลอมในอาหาร ควรรีบแจ้งทางร้านเพื่อดำเนินการแก้ไขให้ถูกสุขลักษณะต่อไป
แพทย์หญิงพรรณพิมล กล่าวต่อไปว่า กรมอนามัยได้ออกกฎกระทรวงสุขลักษณะของสถานที่จำหน่ายอาหาร พ.ศ. 2561 ซึ่งบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 16 ธันวาคม 2561 โดยสาระสำคัญของกฎกระทรวงกำหนดในเรื่องการควบคุมสุขลักษณะสถานที่ขายนั้น ต้องดูแลให้ถูกต้องตั้งแต่จุดเตรียมอาหาร แสงสว่าง ที่ล้างมือ ห้องน้ำ ที่กำจัดขยะและน้ำเสีย วัตถุดิบก็ต้องมีความสด มีการจัดเก็บอย่างดี น้ำดื่มหรือน้ำที่เอามาใช้ทำอาหารก็ต้องสะอาด ส่วนน้ำแข็งที่ใช้กินก็ห้ามเอาหมู เอาผัก หรือเอาน้ำอัดลมลงไปแช่ จานชามช้อนส้อม ต้องสะอาดและมีการฆ่าเชื้อหลังทำความสะอาดด้วย ห้ามการใช้ก๊าซหุงต้มเป็นเชื้อเพลิงในการทำประกอบปรุงอาหารบริเวณโต๊ะรับประทานอาหารในสถานที่จำหน่ายอาหาร ห้ามใช้เมทิลแอลกอฮอล์หรือเมทานอลเป็นเชื้อเพลิงในการทำประกอบ ปรุง หรืออุ่นอาหารในสถานที่จำหน่ายอาหาร รวมทั้งต้องจัดให้มีมาตรการอุปกรณ์หรือเครื่องมือสำหรับป้องกันอัคคีภัยจากการใช้เชื้อเพลิงปรุงอาหารการเก็บรักษาและการจำหน่ายอาหาร น้ำใช้ ต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์ตามที่กำหนด โดยเฉพาะเรื่องแสงสว่างเป็นข้อหนึ่งที่สถานที่จำหน่ายอาหารต้องมีแสงสว่างเพียงพอ โดยต้องติดตั้งหลอดไฟแบบแสงธรรมชาติกลางวัน (Day Light) มีค่าความเข้มของแสงสว่างตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง กำหนดค่าความเข้มของแสงสว่างในสถานที่จำหน่ายอาหาร พ.ศ. 2561 ซึ่งเป็นหลอดไฟที่ได้มาตรฐาน ติดตั้งที่เหมาะสม ปลอดภัย และต้องมีที่ครอบป้องกันที่สามารถทำความสะอาดได้ และป้องกันอุบัติเหตุกรณีหลอดไฟแตกปนเปื้อนอาหาร
“นอกจากนี้ ตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง หลักเกณฑ์ และวิธีการจัดการอบรมผู้ประกอบกิจการและผู้สัมผัสอาหาร พ.ศ. 2561 มีผลบังคับใช้ตั้งแต่ 25 เมษายน 2562 กำหนดให้ผู้ประกอบกิจการ ซึ่งหมายรวมถึงเจ้าของร้าน ผู้จัดการ ผู้ควบคุม/ดูแล สถานที่จำหน่ายอาหาร ต้องเข้ารับการอบรม 6 ชั่วโมง และ ผู้สัมผัสอาหารที่เป็นผู้เตรียม ปรุงประกอบ จำหน่าย เสิร์ฟ และล้างภาชนะอุปกรณ์ ต้องเข้ารับการอบรม 3 ชั่วโมง เพื่อให้มีความรู้ ความเข้าใจ และปฏิบัติงานได้ถูกต้องตามหลักสุขาภิบาลอาหารภายใน 2 ปี โดยต้องอบรมให้แล้วเสร็จภายในวันที่ 16 ธันวาคม 2563 จึงขอเชิญชวนทุกท่านติดต่อขอเข้ารับการอบรมได้ที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในเขตพื้นที่ตั้งของสถานที่จำหน่ายอาหารของตน หรือเข้ารับการอบรมจากหน่วยงานที่ได้รับความเห็นชอบจากกรมอนามัย แต่ต้องเสียค่าใช้จ่ายในการอบรม อาทิ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี มหาวิทยาลัย สวนดุสิต บริษัทอีดับเบิ้ล ไอ คอนซัลแทนท์ แอนด์ เซอร์วิส จำกัด เป็นต้น” อธิบดีกรมอนามัย กล่าวในที่สุด