รพ.ชลบุรี เปิดตัวแอปพลิเคชัน 'CBH PLUS'
รพ.ชลบุรี เปิดตัวแอปพลิเคชัน “CBH PLUS” ช่วยผู้ป่วยตรวจสอบสิทธิการรักษาผ่านมือถือ ลดขั้นตอนใน รพ. กดรับบัตรคิว ดูคิวได้แบบเรียลไทม์ช่วยลดความแออัดหน้าห้องตรวจ ลดเวลาการอยู่ รพ.ลงได้กว่าครึ่ง คาดต่อยอดจ่ายค่ารักษาในแอปฯเดียว
เมื่อวันที่ 9 ก.ย.62 นายสาธิต ปิตุเตชะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) แถลงข่าวเปิดตัวแอปพลิเคชัน CBH PLUS ที่ รพ.ชลบุรี ว่าเป็นการใช้เทคโนโลยีหรือไอทีมาช่วยลดความแออัดใน รพ. ลดขั้นตอน ลดบริการ ลดการรอคอย ซึ่ง รพ.ชลบุรีเป็นอีกแห่งหนึ่งที่มีการพัฒนาแอปพลิเคชัน “CBH PLUS” ช่วยเพิ่มความสะดวกประชาชนผู้รับบริการ
อาทิ ระบบจองคิวและบอกคิวที่อัปเดตสถานะแบบเรียลไทม์ ทำให้ผู้ป่วยใช้เวลาไปทำภารกิจอื่นก่อนถึงเวลาตรวจได้ แจ้งเตือนนัดหมายพบแพทย์ ระบบชำระเงิน ข่าวสารทางสุขภาพ ระเบียนสุขภาพเข้าถึงประวัติทางการแพทย์ได้ทุกที่ทุกเวลา และเป็นแอปพลิเคชันโรงพยาบาลแห่งแรกที่เชื่อมต่อฐานข้อมูลของสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ซึ่งผู้ป่วยตรวจสอบสิทธิการรักษาพยาบาล ได้ทั้ง 3 ระบบ ได้แก่ สิทธิ์หลักประกันสุขภาพ (บัตรทอง) สิทธิ์ประกันสังคม และสิทธิ์สวัสดิการ การรักษาพยาบาลของข้าราชการ
“ ทำให้ผู้ป่วยสามารถจองคิวการรักษาได้ด้วยตนเอง ใช้งานได้จริง ผ่านช่องทางแอพพลิเคชั่นบนมือถือ ตอบโจทย์ปัญหาลดความแออัด ลดระยะเวลารอคอยของผู้ป่วยที่มารับบริการ ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการจัดการ สนับสนุนการทำงานของบุคคลากร และเพิ่มคุณภาพบริการซึ่งเป็นประโยชน์ในการดูแลรักษาและส่งต่อ ตั้งเป้าให้โรงพยาบาลชลบุรีเป็นโรงพยาบาลต้นแบบ” นายสาธิต กล่าว
ผศ.(พิเศษ) นพ.สวรรค์ ขวัญใจพานิช ผู้อำนวยการ รพ.ชลบุรี กล่าวว่า รพ.ชลบุรี เป็นรพ.ศูนย์ที่ใหญ่ที่สุดในภาคตะวันออกหรือเขตสุขภาพที่ 6 มีเตียงผู้ป่วย 850 เตียง ให้บริการจริง 945 เตียง มีผู้ป่วยนอกจำนวนเฉลี่ยมากกว่า 4 พันรายต่อวัน เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการให้บริการ รพ.จึงมีการนำเทคโนโลยีมาช่วยยกระดับการบริหารจัดการอย่างต่อเนื่อง
โดยร่วมกับธนาคารกสิกรไทยพัฒนาแอปพลิเคชัน CBH PLUS ซึ่งมีฟังก์ชันการทำงาน คือ สามารถตรวจสอบสิทธิการรักษาพยาบาลทั้งสามกองทุน ผู้ป่วยสามารถทำผ่านแอปพลิเคชันได้เอง จึงลดขั้นตอนและเวลาในการเข้ามาติดต่อโรงพยาบาลเพื่อเช็กสิทธิระบบระเบียนสุขภาพส่วนบุคคลอิเล็กทรกนิกส์ เช็กอิน-รับบัตรคิว อัปเดตคิวเรียลไทม์ แจ้งเตือนนัดหมายพบแพทย์ ระบบการชำระเงิน และข่าวสารทางสุขภาพ เป็นต้น
นพ.ชาญวิทย์ ชัยสุริยะพันธ์ หัวหน้าศูนย์คอมพิวเตอร์ รพ.ชลบุรี กล่าวว่า แอปพลิเคชันเริ่มดำเนินการใช้เมื่อวันที่ 10 ก.ค.ปัจจุบันมีดาวน์โหลดและขึ้นทะเบียนแล้วกว่าพันราย โดยตั้งเป้าเพิ่มการใช้ประมาณ 10% จากจำนวนผู้ป่วยนอก 4,000 คนต่อวัน ทั้งนี้ ที่ตั้งเป้าน้อยเพราะผู้ป่วยที่มาใช้บริการในรพ.ชลบุรี ส่วนใหญ่เป็นผู้สูงอายุ และการใช้แอปพลิเคชันก็จะเป็นลูกหลานช่วย
ทั้งนี้ เบื้องต้นเริ่มใช้ในแผนกอายุรกรรมก่อน เพราะมีผู้ป่วยจำนวนมาก ก่อนจะขยายไปยังแผนกอื่นๆ ซึ่งการใช้งานแอปพลิเคชันผู้ป่วยจะมีการลงทะเบียนยินยอมก่อนที่แผนกเวชระเบียน ซึ่งจะมีการถ่ายภาพใบหน้า และแจ้งเบอร์โทรศัพท์มือถือไว้ และเมื่อดาวน์โหลดแอปฯ มาแล้ว จะให้ลงทะเบียนใช้โปรแกรมยืนยันอีกครั้งหนึ่ง เพื่อให้แน่ชัดว่าผู้ที่ใช้งานเป็นตัวจริง ผ่านเบอร์โทรศัพท์มือถือที่ลงทะเบียนไว้ก่อนหน้า
นพ.ชาญวิทย์ กล่าวว่า ผู้ป่วยที่ลงทะเบียนแล้วเมื่อเข้ามาในแอปพลิเคชัน สามารถตรวจสอบสิทธิการรักษาจากที่ใดก็ได้ ซึ่งทำให้มีความสะดวกและรวดเร็ว ลดขั้นตอนการมาดำเนินการใน รพ. สำหรับในระยะแรก รพ.เริ่มใช้งานในผู้ป่วยที่มีการนัดคิวก่อน ซึ่งการเช็กอินรับบัตรคิวนั้น สามารถเช็กอินผ่านแอปพลิเคชันได้เลย แต่จะกำหนดว่าจะให้รับบัตรคิวผ่านแอปฯ ได้ก่อนเวลานัด 1 ชั่วโมง เช่น นัดช่วงเวลา 13.00-14.00 น. ก็จะสามารถกดรับบัตรคิวได้ในเวลา 12.00 น. ซึ่งช่วยให้ผู้ป่วยไม่ต้องมา รพ.แต่เช้าเพื่อรอเอาบัตรคิวและมาแออัดกันหมายเลขคิวที่ได้นั้นจะใช้ตั้งแต่เริ่มจนจบการรักษา คือไปจนถึงรับยาและจ่ายเงิน
“การใช้แอปพลิเคชั่น ทำให้ผู้ป่วยสะดวกสบายขึ้น ยิ่งผู้ป่วยสูงอายุจะช่วยลดการรอคอยนานๆ ซึ่งการใช้แอปฯนี้พบว่าลดการรอคอยภาพรวม โดยใช้เวลาทั้งหมดตั้งแต่กดรับคิวผ่านแอปฯ จนพบแพทย์ รับยา ฯลฯ ใช้เวลาประมาณ 2-3 ชั่วโมง จากเดิมที่ใช้เวลาภาพรวมในการมารับบริการรพ.ถึง 6-7 ชั่วโมง และในอนาคตจะพัฒนาแอปฯ ไปจนถึงขั้นสามารถจ่ายค่ารักษาได้ด้วย ซึ่งอาจจ่ายผ่านคิวอาร์โคด หรือบัตรเครดิต หรือพ่วงกับประกันที่ทำเพิ่มเติมได้” นพ.ชาญวิทย์ กล่าว