ศธ.ลดเหลื่อมล้ำการศึกษาทั่วประเทศ โรงเรียนเล็ก-ใหญ่เข้าถึงได้หมด
"รมว.ศธ." เผยแผนการลดความเหลื่อมล้ำการศึกษาทั่วประเทศ ตอบโจกย์การควบรวม ไม่ว่าโรงเรียนขนาดเล็ก-ใหญ่ เข้าถึงระบบการศึกษาอย่างเท่าเทียม ย้ำหลังลงพื้นที่พบว่าคุณภาพของสถานศึกษา ขึ้นอยู่กับศักยภาพของทีมผู้บริหาร
นายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รมว.ศธ.) กล่าวว่า จากกรณีที่มีความวิตกกังวลเกี่ยวกับนโยบายการควบรวมโรงเรียนขนาดเล็กที่มีนักเรียนต่ำกว่า 120 คน และอาจจะส่งผลกระทบต่อนักเรียน และผู้ปกครองว่า ขณะนี้อยู่ในกระบวนการศึกษาและยังไม่ได้ข้อสรุปว่าจะมีการควบรวมหรือไม่ และหากต้องมีการควบรวมก็ยังไม่ได้ข้อสรุปว่าจะควบรวมกี่โรงเรียนและกี่พื้นที่ โดยต้องคำนึงถึงภูมิศาสตร์ของสถานที่ ระยะทาง และผลกระทบที่จะเกิดขึ้น
จากการรวบรวมข้อมูลของกระทรวงศึกษาธิการ โดยลงพื้นที่สถานที่จริงพบว่า มีโรงเรียนขนาดเล็กทั้งหมด 15,000 โรงเรียน ขณะที่เป็นโรงเรียนที่ไม่มีโอกาสควบรวม ประมาณ 1,914 โรงเรียน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นโรงเรียนที่อยู่ตามเกาะ แถบบนภูเขา อย่างไรก็ตามการควบรวมโรงเรียนขนาดเล็กกระทรวงฯ ต้องการให้ระบบการศึกษามีคุณภาพดีขึ้น โดยเน้นคุณภาพการเรียนการสอนของเด็กนักเรียนทั่วประเทศไทย
“ผมไม่ได้บอกนะครับว่า เราจะมีการควบรวมจริง และจะควบรวมจำนวนเท่าไร แต่ยืนยันได้ว่าสิ่งที่เด็ก เยาวชน และผู้ปกครองจะได้ คือการศึกษาที่มีคุณภาพดีกว่าเดิมแน่นอน หากมีความชัดเจนว่าควรจะควบรวม กระทรวงศึกษา ต้องดูในส่วนงบประมาณที่เหมาะสม ขณะนี้บางโรงเรียนอาจจะมีครูอยู่แค่ 2 คน กับนักเรียน 40 คน เราต้องดูว่า ต้องเพิ่มครูเข้าไปมากกว่านี้ เพื่อให้มีการศึกษาเท่าเทียมกัน นักเรียนทุกคนในประเทศไทยต้องได้รับการศึกษาที่เท่าเทียมกัน ความสามารถของผู้บริหาร ระดับผู้อำนวยการ และครู ต้องมีมาตรฐานใกล้เคียงกัน” รมว.ศธ. กล่าวและว่า
อย่างไรก็ตามกระทรวงศึกษา ต้องนำข้อมูลมาพิจารณา มาเปรียบเทียบกับที่ผ่านมาในอดีต เพื่อดูความเหมาะสม นอกจากนี้หากมีการควบรวมโรงเรียน ทางกระทรวงศึกษาฯ ต้องมีการเตรียมความพร้อมและแก้ปัญหาในส่วนของบุคลาการ เพื่อไม่ให้ส่งผลกระทบ ต่อผู้บริหารในโรงเรียน ทั้งผู้อำนวยการ และครู
“กรณีที่ ผู้อำนวยการโรงเรียน รองผู้อำนวยการโรงเรียน ที่มีความวิตกกังวลว่า หากมีการควบรวมกันจริงแล้ว พวกเขาจะไปอยู่ที่ไหน ผมยืนยันว่าการทำงานของกระทรวงศึกษา ไม่ว่าจะมีการเปลี่ยนแปลงอะไร ผู้ที่ได้รับผลกระทบ จะต้องไม่ถูกริดรอนสิทธิที่เขาควรจะได้ หรือแม้แต่โอกาสเติบโตก้าวหน้าทางด้านหน้าที่การงาน กระทรวงศึกษา ต้องคงไว้ ไม่เช่นนั้นก็จะมีการต่อต้าน และมีความไม่เข้าใจ” รมว.ศธ. กล่าวในที่สุด
สำหรับกรณีการบรรจุข้าราชการครูนั้น นายณัฏฐพล กล่าวว่า เมื่อเดือนมีนาคม ปี 2562 ได้มีการบรรจุตำแหน่งผู้อำนวยการ 4,900 คน ก่อนที่ตนจะเข้ามารับตำแหน่ง ส่วนที่เหลือ และตำแหน่งที่กำลังจะเกษียณอายุนั้น กำลังพิจารณาอยู่ ซึ่งโครงสร้างของกระทรวงศึกษา และวิธีที่ได้มาซึ่งผู้บริหารในตำแหน่งต่างๆ เป็นสิ่งที่ตนให้ความสำคัญที่สุด
“เราต้องยอมรับว่า สิ่งดีๆ ที่กระทรวงศึกษามีอยู่ ก็ควรต้องนำมาต่อยอด แต่สิ่งไหนที่เป็นปัญหา หรือสิ่งไหนที่อาจจะสร้างความแคลงใจกับสังคม เราต้องเข้าไปดู เข้าไปแก้ไข มิเช่นนั้นก็จะเป็นการสร้างปัญหา หรือปล่อยให้ปัญหานั้น เกิดขึ้นต่อไป” นายณัฏฐพล กล่าว
อย่างไรก็ตามจากที่ได้มีโอกาสไปดูโรงเรียนในหลายจังหวัดพบว่า ประมาณ 95% มีผู้อำนวยการโรงเรียนที่มีความมุ่งมั่น แม้จะเห็นสภาพโรงเรียน ที่ไม่ว่าจะเป็นโรงเรียนขนาดเล็ก หรือโรงเรียนขนาดใหญ่ หรือขาดแคลนอุปกรณ์ขนาดไหน แต่ก็สามารถสร้างบรรยากาศการเรียนการสอนได้อย่างดี
ขณะที่บางโรงเรียน ผู้บริหารอาจไม่มีความสามารถในการบริหาร ไม่ว่าเพราะเหตุผลใดก็แล้วแต่ สิ่งที่สะท้อนออกมาคือสภาพการเรียนการสอนยังไม่ดีเท่าที่ควร ประเด็นดังกล่าวจึงเป็นเรื่องที่ต้องให้ความใส่ใจ เพราะนโยบายของรัฐบาลมีอยู่ชัดเจน คือต้องการลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา ให้กับนักเรียนทุกคนในประเทศไทย