เผยเด็กนอกระบบในไทยมีมากกว่า 8 แสนคน
20 จังหวัด ร่วมกับ 4 หน่วยงาน กสศ-ศธ.-พม.และ สถ. เดินหน้าค้นหาช่วยเหลือเด็กเยาวชนนอกระบบการศึกษารายคน หลังพบ ปี 62 มีเด็กนอกระบบมากกว่า 8 แสนคน กสศ.พร้อมช่วย 5,000 คนแรก หลังพบปี 62 มีเด็กนอกระบบมากกว่า 8 แสนคน ใน 20 จังหวัดนำร่อง
วันนี้ (21ก.ย.2562 )ที่สยามแสควร์วัน นายสมพงษ์ จิตระดับ ที่ปรึกษาคณะกรรมการกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) และผู้อำนวยการศูนย์วิชาการและเครือข่ายวิชาการด้านเด็ก เยาวชน และครอบครัว คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวในงานเปิดตัวโครงการรณรงค์ “เด็กไร้…ได้เรียน เราจะไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง” จัดโดย กสศ.ร่วมกับ องค์การช่วยเหลือเด็ก (Save the Children) สำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย (กศน.) และภาคีเครือข่าย 20 จังหวัดสร้างความเสมอภาคทางการศึกษา เพื่อค้นหา ช่วยเหลือเด็กนอกระบบให้มีโอกาสกลับมาในเส้นทางการศึกษาอีกครั้ง ว่า เด็กและเยาวชนไทยนอกระบบส่วนใหญ่จะติดกับดักชีวิตที่เรียกว่า โง่ จน เจ็บ เป็นวงจรจากรุ่นสู่รุ่น ถูกสังคมมองข้าม ไม่ให้ความสำคัญมาโดยตลอดด้วยอคติเชิงลบ ทำให้เส้นทางชีวิตของเด็กและเยาวชนกลุ่มนี้จะเป็นศูนย์หรือติดลบทันทีเมื่อหลุดออกนอกระบบการศึกษา เพราะพวกเขามีแนวโน้มสูงที่จะเข้าสู่วงจรสังคมสีเทาที่อันตราย 3 เรื่อง 1.แรงงานนอกระบบ ที่มีรายได้ต่ำ ถูกนายจ้างเอารัดเอาเปรียบ ทำงานที่เสี่ยงอันตรายต่อชีวิต สุขภาพ 2.การค้าประเวณี โดยเฉพาะเด็กผู้หญิง และ 3.ยุวอาชญากร ตกอยู่ในวังวนยาเสพติด เป็นเด็กเดินยา ลักเล็กขโมย
นายสมพงษ์กล่าวต่อว่า ถ้าทุกคนในประเทศยังปล่อยให้ปัญหาเด็กไทยหลุดนอกระบบเรื่อยๆ อย่างไม่สนใจ ผลักไสให้พวกเขาไปอยู่ด้านมืดของสังคมย่อมเกิดผลเสียต่อสังคมและประเทศอย่างแน่นอน อีกทั้งเด็กนอกระบบมีอีกจำนวนมากที่เขามีต้นทุนของความใฝ่ดี อยากเรียนหนังสือ แต่ไม่มีโอกาส สิ่งที่สังคมไทยควรเรียนรู้ คือการเปลี่ยนมุมมองต่อเด็กนอกระบบใหม่ ช่วยกันเยียวยาชีวิต ให้โอกาส รวมถึงช่วยกันสมทบความช่วยเหลือเพื่อสร้างคน ให้ชีวิตใหม่ต่อยอดอนาคตทางการศึกษาให้กับเด็กเหล่านี้
นายพัฒนะพงษ์ สุขมะดัน ผู้ช่วยผู้จัดการกสศ. กล่าวว่า กสศ.ร่วมกับ กระทรวงศึกษาธิการ สำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย (กศน.) กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์(พม.) กรมส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่น (สถ.) และเครือข่าย 20 จังหวัดสร้างความเสมอภาคทางการศึกษา ได้แก่ เชียงใหม่ แม่ฮ่องสอน ลำปาง น่าน แพร่ สุโขทัย พิษณุโลก ขอนแก่น มหาสารคาม สุรินทร์ อำนาจเจริญ อุบลราชธานี นครราชสีมา กาญจนบุรี นครนายก ระยอง สุราษฎร์ธานี ภูเก็ต ยะลา และสงขลา ดำเนินโครงการจัดการศึกษาเชิงพื้นที่เพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา ระดมทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องช่วยเหลือเด็กและเยาวชนนอกระบบการศึกษาอายุระหว่าง 2-21 ปี โดยทั้ง 20 จังหวัดจะใช้ระบบข้อมูลสารสนเทศเชื่อมฐานทะเบียนราษฎร์กระทรวงมหาดไทย กับข้อมูลเด็กปฐมวัยของกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ส่วนเด็กเยาวชนในระบบการศึกษาของกระทรวงศึกษาธิการ และข้อมูลเด็ก เยาวชนนอกระบบการศึกษาจาก กศน. เพื่อคัดกรองรายชื่อเด็กเยาวชนนอกระบบให้เป็นปัจจุบันที่สุด
“ในการค้นหาเด็กนอกระบบนั้น ทั้ง 20 จังหวัด จะใช้ตัวเลขเหล่านี้เป็นฐานข้อมูลสำคัญในการทำงาน แต่ละจังหวัดจะนำรายชื่อเด็กและเยาวชนนอกระบบเหล่านี้ พร้อมระดมสรรพกำลัง เช่น กศน.จังหวัด อพม. อาสาสมัคร ออกไปค้นหา สำรวจให้พบตัวเด็ก โดยมี สำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัดเป็นจุดแรกรับช่วยเหลือ หลังจากนั้นทีมสหวิชาชีพจะวิเคราะห์ปัญหาเชิงลึกเป็นรายบุคคลเพื่อทำแผนดูแลเด็กเป็นรายกรณีด้วยแนวทางที่มีความยืดหยุ่น โดยมี ท้องถิ่น/ท้องที่ ประชาสังคม องค์กรเอกชน มูลนิธิต่างๆ เข้ามามีส่วนร่วมด้วย มีเป้าหมายเพื่อส่งต่อให้เด็กส่วนใหญ่กลับเข้าสู่ระบบการศึกษา หรือฝึกทักษะด้านการศึกษาและอาชีพ ส่วนกลุ่มที่ยังไม่พร้อมคืนสู่ระบบการศึกษา ก็จะเข้าสู่กระบวนการเยียวยา/ฟื้นฟูจากทีมสหวิชาชีพต่อไป”นายพัฒนะพงษ์ กล่าว
ทั้งนี้ในปี 2562 กสศ.ได้จัดสรรงบประมาณช่วยเหลือเด็กนอกระบบกลุ่มแรกจำนวน 5,000 คนๆ ละ 4,000 บาท แต่ในขณะที่ขนาดของปัญหานี้ มีเด็กและเยาวชนเป้าหมาย เป็นหลักแสนหรืออาจถึงหลักล้าน กสศ.ร่วมกับ 20 จังหวัดจึงขอเชิญชวนประชาชนและทุกภาคส่วนต่างๆ ในสังคมร่วมบริจาคในโครงการ “ล้านคน ล้านใจ ร่วมบริจาคกับกสศ. ให้โอกาสเด็กไร้...ได้เรียน”โดยสามารถเข้าไปบริจาคและใช้สิทธิลดหย่อนภาษี 2 เท่าได้อัตโนมัติที่ https://donate.eef.or.th/main-donate หรือสามารถสอบถามรายละเอียดได้ที่ กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา หมายเลขโทรศัพท์ 02-079-5475