เตือนอุณหภูมิลดลง 3-5 องศาฯ 23-26 ก.ย.นี้
"รมช.สธ." เตือนอากาศเย็นหลงฤดู ช่วง 23-26 ก.ย.นี้ ทำให้เกิดโรคติดต่อได้ง่าย ชี้เด็ก - ผู้สูงอายุ- ผู้ป่วย โรคเรื้อรังมีโอกาสเสี่ยงสูง แนะควรดูแลสุขภาพเป็นพิเศษ
ดร.สาธิต ปิตุเตชะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ตามที่กรมอุตุนิยมวิทยา แจ้งว่าในช่วงวันที่ 23-26 กันยายนนี้ จะเกิดอากาศเย็นหลงฤดู อุณหภูมิจะลดลง 3-5 องศาเซลเซียส ในภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคกลางตอนบน อาจทำให้ร่างกายปรับสภาพไม่ทัน ประกอบกับเชื้อโรคหลายชนิดสามารถแพร่ระบาดได้อย่างรวดเร็ว ทำให้เจ็บป่วยได้ง่าย โดยโรคที่มาพร้อมกับช่วงเวลานี้ที่สามารถพบบ่อย คือ โรคติดเชื้อระบบทางเดินหายใจ เช่น หอบหืด หรือหลอดลมอักเสบ โรคไข้หวัด ไข้หวัดใหญ่ ปอดบวม มีสาเหตุมาจากรับเชื้อไวรัสที่สามารถเข้าสู่ร่างกายทางจมูก ปากและตาได้โดยง่า เชื้อชนิดนี้มักอยู่ในละอองเสมหะ น้ำมูก น้ำลายของผู้ป่วยที่ไอ จาม และอาจติดอยู่กับภาชนะหรือพื้นผิวที่เปื้อนน้ำมูก น้ำลายของผู้ป่วยได้ สามารถแพร่กระจายอย่างรวดเร็วในสถานที่ที่มีคนแออัด และอากาศถ่ายเทไม่สะดวกโดยผู้ป่วยจะมีอาการไข้ ปวดศีรษะ น้ำมูกไหล ไอ จาม เจ็บหรือแสบคอ อาจมีอาการหนาวสั่นร่วมด้วย สำหรับในรายที่เป็นไข้หวัดใหญ่ จะมีอาการรุนแรงกว่า คือ มีไข้สูง ปวดศีรษะ ปวดเมื่อยบริเวณกล้ามเนื้อ และมักมีอาการคลื่นไส้อาเจียนร่วมด้วย โดยเฉพาะในกลุ่มเสี่ยงทั้งเด็กเล็กผู้สูงอายุ และผู้มีโรคประจำตัว เนื่องจากกลุ่มบุคคลเหล่านี้มีภูมิต้านทานโรคต่ำกว่าคนปกติ จึงควรได้รับการดูแลอย่างใกล้ชิด
นายแพทย์สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวเพิ่มเติมว่า การดูแลกลุ่มเสี่ยงหมั่นสังเกตอย่างใกล้ชิด หากเริ่มมีอาการไม่สบายเป็นไข้หวัด ควรให้ผู้ป่วยนอนพักผ่อนอย่างเพียงพอ ดื่มน้ำอุ่นๆ บ่อยๆ หากตัวร้อนมากให้รับประทานยาลดไข้ ใช้ผ้าชุบน้ำอุ่นเช็ดตัว หรือถ้าอาการไม่ดีขึ้น เช่น มีอาการไอมากขึ้น แน่นหน้าอก มีไข้นานเกิน 2 วัน ควรรีบไปพบแพทย์ทันที สำหรับแนวทางปฏิบัติเพื่อดูแลสุขภาพในช่วงอากาศที่เปลี่ยนแปลงบ่อย คือ หมั่นดูแลสุขภาพอย่างสม่ำเสมอ ด้วยการพักผ่อนให้เพียงพอ สวมใส่เสื้อผ้าให้เหมาะสมกับสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลงในแต่ละวัน ควรงดการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เนื่องจากส่งผลให้ระบบภูมิต้านทานโรคในร่างกายต่ำลงทำให้ติดเชื้อได้ง่าย รับประทานอาหารที่มีคุณค่าทางโภชนาการ ลดหวาน มัน เค็ม ปรุงอาหารให้สุกก่อนการบริโภค ดื่มน้ำสะอาด และ รับประทานผักผลไม้ที่มีวิตามินซีสูง เช่น ส้ม ฝรั่ง มะละกอสุก สับปะรด ล้างมือด้วยน้ำสบู่หรือเจลทำความสะอาดทุกครั้ง โดยเฉพาะก่อนรับประทานอาหาร ออกกำลังกายอย่างเหมาะสม เพราะจะทำให้ร่างแข็งแรงต้านทานต่อสู้กับเชื้อโรคต่างๆได้ เช่น เดิน วิ่งเหยาะๆ ปั่นจักรยาน เล่นกีฬาที่มีการเคลื่อนไหวอย่างต่อเนื่อง เป็นต้น
นอกจากนี้ควรทำจิตใจให้แจ่มใส ไม่เครียดจะทำให้ห่างไกลจากโรคดังกล่าวได้ ทั้งนี้ ประชาชนควรเตรียมพร้อมรับฟังข้อมูลข่าวสารเรื่องการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศอย่างใกล้ชิด เพื่อให้สามารถดูแลตนเองและคนใกล้ชิดได้