เกินครึ่งทศตวรรษงบการศึกษาไทย คุณภาพต่ำ ความเหลื่อมล้ำสูง
งบการศึกษาใน 10 หน่วยงานปี 2563 จำนวน 368,000 ล้านบาท แม้ถูกปรับลดจากปีที่ผ่านมา แต่ก็ถือเป็นกระทรวงที่ได้รับงบสูงมาก ทว่าเมื่อเทียบกับคุณภาพกลับพบว่าการศึกษาไทยเหลื่อมล้ำ 20 เท่า
‘ณัฏฐพล ทีปสุวรรณ’ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ กล่าวว่าจากนี้ไป จะเริ่มต้นจากการวางแผนสร้างคนทุกช่วงวัยให้รองรับการเปลี่ยนแปลง พร้อม ๆ กับการหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งกระทรวงแรงงาน กระทรวงอุตสาหกรรม และกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม เพื่อพัฒนากำลังคนอย่างเป็นระบบร่วมกัน รวมไปถึงการ Re-skill และ Up-skill บุคลากรที่อยู่ในระบบการศึกษาด้วย
โดยเฉพาะในส่วนของ สป.ศธ. อยู่ในแผนงานยุทธศาสตร์พัฒนาศักยภาพคนตลอดชีวิต 4,735,752,600 บาท ที่เพิ่มขึ้น 80,320,400 บาท อยู่ในแผนงานยุทธศาสตร์เพื่อสนับสนุนด้านการพัฒนาและเสริมสร้างศักยภาพทรัพยากรมนุษย์ 2,600,279,100 บาท เพิ่มขึ้น 353,401,500 บาท
โดยงบที่ถูกตัดลดลงอยู่ในแผนยุทธศาสตร์สร้างความเสมอภาคในการศึกษา วงเงิน 30,881,150,800 บาท ลดลง 1,701,259,900 บาท เช่นเดียวกับแผนบูรณาการขับเคลื่อนการแก้ปัญหาชายแดนภาคใต้ ที่ขอรับ 152,722,100 บาท ลดลง 24,864,800 บาท
งบฯของ สพฐ. อยู่ในแผนงานบุคลากรภาครัฐ 214,210,148,400 บาท เพิ่มขึ้น 4,691,792,400 บาท โดยงบที่ถูกตัดลดลงอยู่ในแผนยุทธศาสตร์สร้างความเสมอภาคในการศึกษา วงเงิน 37,638,538,500 บาท ลดลง 1,424,926,900 บาท งบฯของ สอศ. อยู่ในแผนงานบุคลากรภาครัฐ 9,323,095,200 บาท ลดลง 531,640,900 บาท แต่มีการเพิ่มใหม่ในแผนบูรณาการพัฒนาพื้นที่ระดับภาค 68,882,800 บาท ในแผนบูรณาการเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก 99,893,200 บาท
ทว่าหากย้อนดูข้อมูลการจัดการศึกษาของประเทศไทยจะพบว่าเป็นประเทศที่มีความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาสูงถึง 20 เท่า ระหว่างในเมืองกับชนบท เด็กฐานะยากจนที่สุดในประเทศ มีถึง 20% และสามารถเข้าศึกษาต่อระดับอุดมศึกษาเพียง 5% เท่านั้น แต่ 20% ของเด็กที่มีฐานะทางสังคมสูง สามารถเข้าศึกษาต่อระดับอุดมศึกษาได้ 100 %
ขณะเดียวกันข้อมูลสถิติจากสถาบันสถิติแห่งยูเนสโก (UIS) แสดงให้เห็นแนวโน้มความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาในระดับนานาชาติที่ลดลงอย่างต่อเนื่อง จำนวนเด็กนอกระบบการศึกษา(ระดับประถมศึกษา) ทั่วโลกที่เคยมีจำนวนมากกว่า 100 ล้านคน เมื่อปี 2533 ลดลงเหลือราว 63 ล้านคน หรือลดลงเกือบ 40 % ในปี 2560
แต่ตลอด 10 ปีที่ผ่านมา (2550-2560) จำนวนเด็กนอกระบบการศึกษาทั่วโลกมีอัตราที่ลดลงน้อยมากแสดงให้เห็นว่าความก้าวหน้าในการสร้างความเสมอภาคทางการศึกษาในทศวรรษที่ผ่านมาเริ่มชะลอตัวลง แต่ยังพบกลุ่มเป้าหมาย 5-10% สุดท้ายยังเข้าไม่ถึงโอกาสทางการศึกษา หรือต้องออกจากการเรียนกลางคัน เพราะปัญหาสภาพเศรษฐกิจ สังคม สุขภาพ ฯลฯ ที่น่ากังวลไปกว่านั้นคือ ตัวเลขเด็กนอกระบบการศึกษาเริ่มกลับมามีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นระหว่างปี 2559-2560 อีกครั้ง
นพ.สุภกร บัวสาย ผู้จัดการกสศ. กล่าวว่าข้อมูลที่กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.)ได้ร่วมกับกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ศธ. กศน. ท้องถิ่นจังหวัด และภาคี20 จังหวัด สำรวจข้อมูลเด็กและเยาวชนนอกระบบล่าสุดเดือนกันยายน 2562 พบว่ามีอายุระหว่าง 2-21 ปีจำนวน 867,242 คน แบ่งเป็น เด็กปฐมวัยช่วงอายุ 2-6 ปี จำนวน 242,002 คน ช่วงอายุ 7-17 ปี จำนวน 177,383 คน และอายุระหว่าง 18-21 ปี จำนวน 447,846 คน
ทั้งนี้การแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา กลไกภาครัฐแต่ลำพัง ไม่สามารถจัดการให้หมดไปได้ ต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ด้วยแนวคิดปวงชนเพื่อการศึกษาหรือAll for Education ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน ท้องถิ่น ภาคประชาสังคม และองค์กรระหว่างประเทศ ช่วยกันออกแบบหาทางแก้ไขปัญหาร่วมกันอย่างยั่งยืน และหนึ่งในแนวทางที่เป็นวาระซึ่งทั่วโลกกำลังดำเนินการอยู่อย่างต่อเนื่อง คือการปฏิรูปการศึกษาเชิงพื้นที่ Area Base Education Reform (ABE) ที่ใช้กระบวนการทำงานเชิงพื้นที่ระดมการมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วนในการลดความเหลื่อมล้ำ
ปัจจุบันกสศ.ช่วยขจัดอุปสรรคในการมาเรียนให้เด็กกลุ่มนี้ทั่วประเทศราว 700,000 คน และทุนการศึกษาสายอาชีพสำหรับนักเรียนยากจนจำนวน 2,500 ทุนต่อปี มีมาตรการแก้ไขเร่งด่วน (OOSCY Correction) โดยร่วมกัน 20 จังหวัด ระดมความร่วมมือหลายภาคส่วนสร้างกลไกช่วยเหลือเด็กนอกระบบการศึกษา เพื่อค้นหาส่งต่อให้เด็กส่วนใหญ่กลับเข้าสู่ระบบการศึกษา หรือฝึกทักษะด้านการศึกษาและอาชีพ ส่วนกลุ่มที่ยังไม่พร้อมคืนสู่ระบบการศึกษา ก็จะเข้าสู่กระบวนการเยียวยา/ ฟื้นฟูจากทีมสหวิชาชีพต่อไป เบื้องต้นในปี 2562 กสศ.สามารถช่วยเหลือเด็กกลุ่มนี้ทันที 5,000 คน จากจำนวนเด็กเยาวชนอายุ3-17 ปี ที่อยู่นอกระบบการศึกษา 670,000 คน
'สมพงษ์ จิตระดับ' ผู้อำนวยการศูนย์วิชาการและเครือข่ายวิชาการด้านเด็ก เยาวชน และครอบครัว กล่าวว่าความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาในสังคมไทยสูงมาก รวมถึงความแตกต่างระหว่างในเมืองและชนบท ทำให้การศึกษาไทยในขณะนี้ไม่มีความเท่าเทียมกัน ที่สำคัญมีเด็กอีกจำนวนมากหลุดออกจากระบบการศึกษา
เด็กกลุ่มนี้มีแนวโน้มสูงที่จะเข้าสู่วงจรสังคมสีเทาที่อันตราย 3 เรื่องสำคัญ 1.เส้นทางแรงงานนอกระบบ มีรายได้ต่ำ ถูกนายจ้างเอารัดเอาเปรียบ ทำงานที่เสี่ยงอันตรายต่อชีวิต สุขภาพ 2.เส้นทางของการค้าประเวณี โดยเฉพาะเด็กผู้หญิง 3.เส้นทางยุวอาชญากร ตกอยู่ในวังวนยาเสพติด เป็นเด็กเดินยา ลักเล็กขโมยน้อย
“ประเทศเราพูดถึงการศึกษาเพื่อทุกคน แต่ยังมีเด็กอีกจำนวนมากไม่ได้เรียนหนังสือ และยังมีนโยบายที่จะยุบโรงเรียนขนาดเล็ก จำนวนกว่า 15,000 โรง แล้วเด็กชนบทจะไปเรียนที่ไหน สิ่งที่กำลังจะตามมาอีกคือ การจัดสอบเรียนต่อม.1 แบบ 100% ในจำนวน 400 กว่าโรงเรียน จะทำให้พบกับการเรียนในลักษณะที่แข่งขัน การเรียนกวดวิชาจะเพิ่มขึ้น เพราะค่านิยมของพ่อแม่ที่ต้องให้ลูกเรียนโรงเรียนที่ดีที่สุด ทั้งที่ควรสร้างคุณภาพโรงเรียนให้มีความเท่าเทียมและเที่ยงธรรม แก้ปัญหาเด็กนอกระบบ ซึ่งมีจำนวนมากที่มีต้นทุนของความใฝ่ดี มีความอดทน ความกตัญญูกตเวที มองเห็นคุณค่าการเรียนแต่ไม่มีโอกาส”สมพงษ์ กล่าว
เขากล่าวต่อว่าทุกคนพูดเรื่องความเหลื่อมล้ำเป็นเรื่องใหญ่ของประเทศ แต่ความจริงใจของรัฐบาลนั้นยังไม่ชัดเจน อย่างงบกองทุนกสศ.ที่จะนำมาใช้ในการลดความเหลื่อมล้ำขอไป 5,000 ล้านบาท กลับถูกตัดเหลือเพียง 3,000 กว่าล้านบาท ทั้งที่การแก้ปัญหาเรื่องนี้ต้องใช้งบประมาณในการแก้ไขปัญหาให้ตรงกับกลุ่มเป้าหมายเด็กอย่างชัดเจน ไม่ใช่เพียงการเฉลี่ยเงินให้เท่ากันอย่างที่ผ่านมาอยากให้ นายณัฎฐพล ทีปสุวรรณ ให้ความสำคัญการลดความเหลื่อมล้ำ แก้ปัญหาเด็กทั้งในระบบและเด็กนอกระบบ