สปสช.วางระบบ‘รับยาที่ร้าน’1ต.ค.นำร่องโรงพยาบาล 50 แห่ง ร้านยากว่า 500 แห่ง
โครงการ “รับยาที่ร้านยา” เป็นนโยบายของ รมว.สาธารณสุข ที่ต้องการลดความแออัดในรพ.ด้วยการให้ประชาชนสามารถนำใบสั่งยาจากแพทย์ไปรับยาได้ที่ร้านยาแผนปัจจุบัน (ข.ย.1) ใกล้บ้าน โดยเบื้องต้นจะเริ่มนำร่องในรพ. 50 แห่ง และร้านยาที่ได้มาตรฐานกว่า 500 แห่ง
ช่วงแรกผู้ป่วยที่จะสามารถไปรับยาที่ร้านยาได้นั้นต้องเข้าเกณฑ์ 4 ข้อ ประกอบด้วย 1. ใช้สิทธิ์บัตรทอง 2. ป่วยด้วยโรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง หอบหืด โรคทางจิตเวชหรือโรคเรื้อรังอื่นที่ไม่มีความซับซ้อน3. แพทย์วิจัยฉัยแล้วว่าผู้ป่วยสามารถรับยาที่ร้านยาได้ 4. ผู้ป่วยยินดีไปรับยาที่ร้านยา
นพ.ประจักษวิช เล็บนาค รองเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวว่า การประชุมชี้แจงแนวทางการดำเนินงานลดความแออัดในโรงพยาบาลโดยร้านยาแผนปัจจุบัน (ข.ย.1) ตามนโยบายของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เมื่อวันที่ 19 กันยายน 2562 ที่ผ่านมา สำนักบริหารสารสนเทศการประกัน สปสช. ได้ชี้แจงถึงความพร้อมของระบบสารสนเทศเพื่อสนับสนุนการจ่ายค่าบริการด้านยาและเวชภัณฑ์ ให้แก่ร้านยาแผนปัจจุบันซึ่งเข้าร่วมโครงการ และผู้แทนโรงพยาบาล เนื่องด้วยระยะเวลาที่จำกัด สปสช.จึงได้ทำการออกแบบระบบสารสนเทศในระยะที่ 1 โดยใช้เวลาพัฒนาราว 2 สัปดาห์ เป็นโปรแกรมให้ร้านยารายงานการจ่ายยากับผู้ป่วยตามใบสั่งแพทย์ และให้โรงพยาบาลสามารถค้นหาข้อมูลการจ่ายยาที่ให้กับผู้ป่วย พร้อมออกแบบให้ใช้งานผ่านอินเตอร์เนทในรูปแบบ Web Application รองรับการใช้งานผ่านอุปกรณ์ต่างๆ เพื่อให้ทันเริ่มใช้งานได้ในวันที่ 1 ตุลาคม 2562
น.ส.ศิริพันธ์ เหมือนสิน ผู้อำนวยการสำนักบริหารสารสนเทศการประกัน สปสช. กล่าวว่า ในส่วนขั้นตอนการทำงาน หลังจากที่ผู้ป่วยยื่นใบสั่งยาแก่ร้านขายยาแล้ว ทางร้านจะบันทึกข้อมูลจ่ายยาเข้าสู่โปรแกรม ซึ่งข้อมูลดังกล่าวสามารถตรวจสอบได้โดยโรงพยาบาล และถูกนำไปประมวลผลโดย สปสช.เพื่อชดเชยค่าบริการ ตามรอบทุก 15 วัน ซึ่งหากบันทึกข้อมูลไม่ทันตามรอบ ก็ยังสามารถนับรวมในรอบถัดไปได้ ดังนั้นร้านขายยาจึงไม่ต้องกังวล
อย่างไรก็ตาม ในส่วนของการพัฒนาโปรแกรมระยะที่ 2 ซึ่งคาดว่าจะใช้เวลาพัฒนา 3-6 เดือน หลังจากที่มีการสรุปโครงสร้างข้อมูลมาตรฐานกลาง จะพัฒนาให้รองรับการใช้ Smart card สำหรับยืนยันตัวตนผู้ป่วย เพิ่มช่องทางการรับข้อมูล โดยมีชุดข้อมูลสำหรับข้อมูลใบสั่งยาของโรงพยาบาล เพื่อลดการบันทึกข้อมูลของร้านยา ซึ่งจะใช้รูปแบบชุดข้อมูลในไฟล์ Excel
ด้านนายจิโรจน์ นาคไพจิตร หัวหน้ากลุ่มงาน สำนักบริหารสารสนเทศการประกัน สปสช. กล่าวว่า นอกจากนี้ในโปรแกรมยังมีการเพิ่มช่องทางการรับชุดข้อมูลเข้าโปรแกรมเป็น 2 ช่องทาง คือการ Upload ชุดข้อมูลที่โปรแกรมระบบข้อมูลการจ่ายยาตามใบสั่งแพทย์โดยตรง หรือผ่านช่องทาง Web Service ในขณะที่การส่งออกข้อมูลรายงานการจ่ายยาผู้ป่วยของร้านยา ยังจะมีการเพิ่มช่องทางผ่าน Web Service อีกช่องทางหนึ่ง