รับยาร้านยาสู่“ธุรกิจแชร์ริ่ง” งบฯรัฐแบ่งปันเอกชนหมุนเวียน
นโยบายให้ผู้ป่วยบัตรทองสมัครใจรับยาที่ร้านขายยาแทนรับจากรพ. ไม่เพียงมีเป้าหมายเพื่อลดความแออัดในรพ.รัฐขนาดใหญ่เท่านั้น แต่ที่สุดจะมุ่งไปสู่การเกิด “แชร์ริ่ง อีโคโนมี” หรือ “ธุรกิจแบ่งปัน” ซึ่ง4 ปีเป็นเงินจากรัฐไปสู่เอกชนแบบกำไรล้วนกว่า 1,600 ล้านบาท
1 ต.ค.2562 วันแรกของการเริ่มนโยบาย มีรพ.ขนาดใหญ่ที่มีคนไข้แออัดมากเข้าร่วม 35 แห่ง ร้านขายยา 300 แห่ง จากเป้าหมายในปีงบประมาณ 2563 รพ. 50 แห่ง ร้านขายยา 500 แห่ง โดยจะต้องเป็นผู้ป่วย 4 กลุ่มโรค คือ เบาหวาน ความดัน หอบหืด จิตเวช ที่แพทย์วินิจฉัยว่าอาการคงที่ และผู้ป่วยสมัครใจรับยาที่ร้านขายยาใกล้บ้านที่ร่วมโครงการ ซึ่งจะต้องเป็นร้านขายยาแผนปัจจุบัน(ขย.1)ที่ขึ้นทะเบียนกับสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา(อย.) และมีเภสัชกรอยู่ประจำร้าน 8 ชั่วโมง โดยยาที่ผู้ป่วยจะได้รับจากร้านยาจะเป็นยาที่จัดส่งมาจากรพ. เป็นยารายการเดียวกัน ยี่ห้อเดียวกัน เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับผู้ป่วย
รูปแบบนี้จะเป็นระยะแรกของนโยบายเท่านั้น เพราะ “อนุทิน” อธิบายว่า นโยบายจะแบ่งเป็นระยะๆ หรือเฟส ตอนนี้อยู่เฟส 1 เป็นการทดลองระบบให้ประชาชนเกิดความคุ้นชิน ด้วยการที่รพ.จัดยามาให้ร้านยา แต่เฟส 3 จะไปสู่เป้าหมายประชาชนถือใบสั่งยาไปซื้อที่ร้านขายยาได้เลย เป็นการกระจายรายได้เป็นลักษณะของ “แชร์ริ่ง อีโคโนมี” หรือ “ธุรกิจแบ่งปัน”
“ร้านขายยาที่เข้าร่วมจะได้รับค่าจัดบริการด้านยาและเวชภัณฑ์ 70 บาทต่อครั้ง ส่วนนี้ถือเป็นกำไรล้วนๆ แบบไม่มีต้นทุนใด นอกจากการที่เภสัชกรจะต้องให้ความรู้เกี่ยวกับยากับผู้ป่วย เพราะยาจะถูกส่งมาจากรพ. ซึ่งโดยปกติร้านขายยาจะต้องขายยาให้ได้ 300-500 บาทต่อ1ใบเสร็จจึงจะได้กำไร 70 บาท” นายอนุทินกล่าว
จากร้านขายยาแผนปัจจุบันขย.1 ที่ขึ้นทะเบียน 13,906 แห่ง เป็นร้านขายยาหลายสาขา (Chain Store) 3,338 แห่ง คิดเป็น 24 % ร้านขายยาเดี่ยว (Stand-alone) 10,568 แห่ง คิดเป็น 76 % หากพิจารณาจาก 300 ร้านขายยาที่ร่วมโครงการ ณ วันที่ 1 ต.ค.2562 เป็นร้านขายยาเดี่ยวราว 91.4 % และร้านขายยามีหลายสาขา 8.6% โดยร้านบู๊ทส์ร่วมมากที่สุด 12 แห่ง และร้านเอ็กซ์ต้า พลัส 10 แห่ง นับว่าระยะแรกยังไม่เห็นแนวโน้มของการกระจุกตัวอยู่เฉพาะร้านขายยาเชนใหญ่ๆ
ทว่า นโยบายนี้มีระยะเวลาดำเนินการอีก 4 ปี จะต้องพิจารณายอดเมื่อร้านยาครบ 5,000 แห่งอีกครั้งว่ามีการกระจุกตัวมากหรือน้อยเพียง อย่างไรก็ตาม สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ให้ข้อมูลว่า การคัดเลือกร้านขายยาที่เข้าร่วมโครงการนอกจากคุณสมบัติต้องครบตามเกณฑ์แล้ว ระดับพื้นที่จะเป็นผู้พิจารณาเลือกร้านขายยาเอง โดยมีคณะทำงานที่ประกอบด้วยเจ้าหน้าที่และผู้ป่วยร่วมคัดเลือก
“ร้านยาเป้าหมายต้องมีความเท่าเทียม ไม่มีเหลื่อมล้ำ ยิ่งร้านยาเล็กที่เข้าเกณฑ์คุณสมบัติของสปสช.ที่จะเข้าร่วมได้ ต้องไปส่งเสริมให้ร้านยาเหล่านั้นมาขึ้นทะเบียนร่วมโครงการกับสปสช.ให้มากที่สุด” นายอนุทินกล่าว
การให้ผู้ป่วยรับยาที่ร้านขายยานั้น มีการจำกัดผู้ป่วย 30 คนต่อ 1 ร้านยาต่อวัน เท่ากับ 1 วัน ร้านขายยาจะได้รับกำไรจากนโยบายนี้ แบบไม่มีต้นทุนใดๆ นอกจากการที่เภสัชกรจะให้ความรู้เกี่ยวกับยากับผู้ป่วย ราว 2,100 บาทต่อวัน ขณะเดียวกัน มีการให้ค่าบริหารจัดการแก่รพ.ที่ร่วม 33,000 บาทต่อร้านยา 1 แห่งต่อปี
ทั้งนี้ การประมาณการงบประมาณของสปสช. ตั้งแต่ปีงบประมาณ 2563–2566 รวม 4 ปี จะใช้ประมาณราว 2,022 ล้านบาท ในจำนวนนี้จ่ายให้กับร้านขายยาราว 1,643 ล้านบาท และให้รพ. จำนวน 379 ล้านบาท โดยหลังครบระยะเวลา 4 ปีก็จะมีการตั้งเป็นงบประมาณประจำของนโยบายนี้ คาดว่าจะใช้งบฯราว 850 ล้านบาทต่อปี ให้ร้านขายยา 685 ล้านบาท และรพ.165 ล้านบาท
ผลประโยชน์ที่รัฐหรือประชาชนจะได้รับจากการนำ“กำไร”ล้วนๆไปให้เอกชนใน 4 ปี กว่า 1,600 ล้านบาท กระทรวงสาธารณสุข (สธ.)และสปสช. คาดหวังว่า จะมีผู้ป่วยสมัครใจรับยาที่ร้านขายยาราว 30% ของผู้รับบริการ หรือราว 2 ล้านครั้ง จากที่มีการใช้บริการที่รพ. 7 ล้านครั้ง จะเป็นการลดความแออัดให้กับรพ.ได้ ในมุมของผู้ป่วยไม่ต้องเสียเวลารอรับบริการที่รพ.นานและไม่ต้องเสียค่าเดินทางไปยังรพ. และอาจจะเป็นการลดการครอบครองยาเกินจำเป็นข้องผู้ป่วย
ข้อมูลจากกองบริการการสาธารณสุข สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สป.สธ.) ระบุว่า การประมาณการในระดับประเทศ ผู้ป่วยราว 19.2 ล้านคน ครอบครองยาเกินจำเป็น มูลค่าความสูญเสียทางการคลัง 2,349 ล้านบาท หรือ 1.7 % ดังนั้น หากเป็นการนำเงินราว 685 ล้านบาทต่อปีไปให้เอกชน แต่สามารถแก้ปัญหาเหล่านี้ได้จริง และเกิดเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจก็น่าจะคุ้ม
“ยืนยันว่านโยบายนี้ไม่มีการเอื้อประโยชน์ให้กับร้านยาขนาดใหญ่แน่นอน แต่เป็นการเอื้อประโยชน์ให้เกิดความสะดวกกับประชาชน ลดความเครียดของแพทย์และบุคลากรในรพ.ที่ต้องดูแลผู้ป่วยจำนวนมาก ขณะเดียวกันก็เอื้อร้านขายยาให้มีช่องทางในการเพิ่มรายได้ ช่วยเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจด้วย วินๆทุกฝ่าย” นายอนุทินกล่าว
อย่างไรก็ตาม ที่น่ากังวลคือ “เมื่อไหร่ที่ผู้ป่วยจะได้กลับไปพบแพทย์ที่รพ.อีกครั้ง” ในประเด็นนี้ สปสช.ให้ข้อมูลเกี่ยวกับขั้นตอนการรับยาร้านขายยาว่า ในครั้งแรกผู้ป่วยไปพบแพทย์ที่รพ.ตามนัด หากแพทย์วินิจฉัยอาการคงที่ และผู้ป่วยสมัครใจรับยาร้านขายยา รพ.ก็จะส่งข้อมูลผู้ป่วยเท่าที่จำเป็นให้กับร้านขายยาที่ผู้ป่วยเลือก จากนั้นในวันนัดครั้งต่อไป ผู้ป่วยสามารถไปรับยาเดิมที่ร้านขายยาได้ ไม่ต้องเดินทางไปรพ.
ขณะเดียวกันเภสัชกรที่ร้านจะทำหน้าที่ในการติดตามอาการผู้ป่วย ซึ่งแพทย์จะมีคู่มือการติดตามอาการผู้ป่วยแต่ละโรคให้กับเภสัชกร โดยจะต้องบันทึกข้อมูลออนไลน์ที่เชื่อมต่อระหว่างรพ.กับร้านทุกครั้ง หากเห็นว่าผู้ป่วยมีการเปลี่ยนแปลงของอาการเกิดขึ้น เภสัชกรจะต้องสื่อสารข้อมูลส่งไปยังรพ. เพื่อให้ผู้ป่วยกลับเข้ารับการตรวจวินิจฉัยที่รพ. หรือแพทย์เห็นอาการผู้ป่วยจากระบบออนไลน์ก็สามารถส่งเรื่องยังเภสัชกร เพื่อแจ้งให้ผู้ป่วยเข้ารับการตรวจที่รพ.
เหนือสิ่งอื่นใด นโยบายนี้สำคัญที่สุดคือ “ความปลอดภัยในการใช้ยาของผู้ป่วย” ควรมาก่อนเป้าหมายของการแบ่งปันทางธุรกิจ โดยเฉพาะท่ามกลางเสียงสะท้อนว่า “ร้านขายยาเภสัชกรแขวนป้าย” หรือ “ไร้เภสัชกรอยู่ประจำร้าน” ยังมีอยู่จำนวนไม่น้อย!!!
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง
-เปิดชื่อ 35 โรงพยาบาล ไม่ต้องรอรับคิวยา
-สปสช.วางระบบ'รับยาที่ร้าน'1ต.ค.นำร่องโรงพยาบาล
-ไม่ต้องตื่นตี4ไปรอคิวที่รพ. 5 ร้านนำร่อง
-1 ต.ค. ผู้ป่วยบัตรทองรับยาร้านยาวันแรกรพ.เข้าร่วม 35