“ช้างชิล” ต้นแบบปางช้างเพื่อการอนุรักษ์ ยุติการทรมานสัตว์ป่า
องค์กรพิทักษ์สัตว์แห่งโลก สนับสนุน “ช้างชิล” ปางช้างแห่งมิตรภาพ ส่วนหนึ่งของโครงการ เพราะสัตว์ไม่ใช่นักแสดง สู่ต้นแบบปางช้างเพื่อการอนุรักษ์อย่างแท้จริง ยุติการทรมานสัตว์ป่าจากอุตสาหกรรมท่องเที่ยว
องค์กรพิทักษ์สัตว์แห่งโลก ประเทศไทย (World Animal Protection Thailand) จัดงานเสวนาเชิงอนุรักษ์เรื่อง “ช้างชิล ปางช้างแห่งมิตรภาพ (ChangChill : Where Elephants Can Simply Be Elephants)” เนื่องในวันสัตว์โลก หรือ World Animal Day 4 ตุลาคม ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งในโครงการ เพราะสัตว์ป่าไม่ใช่นักแสดง (Wildlife. Not Entertainers.) ที่มุ่งให้สัตว์ป่ามีชีวิตที่ปลอดภัย มีสวัสดิภาพสัตว์ที่ดี และเพื่อยุติการทรมาณสัตว์ป่าที่ได้รับจากอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวและความบันเทิง โดยได้รับเกียรติ จาก ศุภกร ตานะเศรษฐ เจ้าของปางช้างชิวจังหวัดเชียงใหม่ และว่าน ธนกฤต พานิชวิทย์ นักร้อง-นักแสดงชื่อดัง ร่วมแชร์ประสบการณ์และความประทับใจในทริปช้างชิล พร้อมมุมมองที่น่าสนใจจากผู้แทนบริษัทท่องเที่ยวระดับโลก ณ หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร
น.ส.โรจนา สังข์ทอง ผู้อำนวยการองค์กรพิทักษ์สัตว์แห่งโลกประเทศไทย กล่าวว่า ปัจจุบันช้างทั่วโลกกำลังตกอยู่ในสถานะวิกฤตจากการเกิดของอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวโดยเฉพาะในปางช้างทั้งในประเทศและต่างประเทศที่เน้นโปรแกรมทัวร์หลัก คือ การขี่ช้าง การป้อนอาหารช้าง การอาบน้ำช้าง หรือการแสดงโชว์ช้างแสนรู้
"ในความเป็นจริงแล้วช้างควรจะอยู่ในป่าตามธรรมชาติมากกว่าเป็นหนึ่งในเครื่องมือเพื่อสร้างความบันเทิงให้แก่มนุษย์ ทางองค์กรฯ จึงริเริ่มโครงการ นี้ขึ้นเพราะสัตว์ป่าไม่ใช่นักแสดง โดยมีช้างเป็นหนึ่งในเป้าหมายหลักที่เราพยายามปลดปล่อยจากการถูกล่ามโซ่ตรวนอย่างทารุณ ซึ่ง ช้างชิล ถือเป็นปางช้างนำร่องที่ปรับเปลี่ยนมาเป็นปางช้างที่เป็นมิตรกับช้างและให้ความสำคัญกับเรื่องสวัสดิภาพช้างแห่งแรกของประเทศไทย ภายใต้การสนับสนุนและร่วมออกแบบโปรแกรมการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์จากองค์กรพิทักษ์สัตว์แห่งโลก” น.ส.โรจนา กล่าว
ขณะเดียวกัน นายศุภกร ตานะเศรษฐ เจ้าของปางช้างชิล จังหวัดเชียงใหม่ กล่าวถึงความเป็นมาของการปรับปรุงปางช้างให้สอดรับกับการท่องเที่ยวรูปแบบใหม่ว่า “เดิมทีปางช้างของเราก็มีรูปแบบเหมือนกับปางช้างทั่วไป คือ มีการโชว์ช้าง ขี่ช้าง อาบน้ำช้าง และป้อนอาหารช้าง เป็นจุดดึงดูดนักท่องเที่ยวจนเมื่อ 5 – 6 ปีก่อน กระแสต่อต้านการทารุณกรรมสัตว์เริ่มเป็นที่พูดถึง นักท่องเที่ยวเริ่มมองหาสถานที่ท่องเที่ยวรูปแบบใหม่ที่เป็นมิตรกับสัตว์และสิ่งแวดล้อมมากยิ่งขึ้น จึงจับมือกับองค์กรพิทักษ์สัตว์แห่งโลกร่วมกัน พัฒนาปางช้างให้สอดรับกับความต้องการด้านการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ทั้งตลาดในประเทศและต่างประเทศจนกลายมาเป็น ช้างชิล อย่างในปัจจุบัน
ทางด้าน ว่าน ธนกฤต พานิชวิทย์ นักร้อง-นักแสดงชื่อดัง กล่าวว่า ช้างชิลไม่ได้เป็นแค่สถานที่เลี้ยงช้าง แต่เป็นเหมือนบ้านของช้าง โดยทุกคนจะได้เห็นถึงชีวิตความเป็นอยู่ของช้างอย่างที่พวกมันควรจะเป็นในธรรมชาติ ผ่านการสังเกตพฤติกรรมบนหอดูช้างที่มองเห็นได้ทั้ง 35 ไร่ ทั่วปางช้าง พร้อมเรียนรู้เรื่องราวต่างๆ จากควานช้างท้องถิ่น เช่น วิธีการดูแลช้าง การสื่อสารกับช้าง ทำอาหารเสริมให้ช้าง การรักษาช้างด้วยศาสตร์สมุนไพร หรือแม้กระทั่งการทำนาขั้นบันได
"ผมมองว่าการท่องเที่ยวที่ไม่เบียดเบียนธรรมชาติ เป็นสิ่งที่เราทุกคนควรทำเพื่ออนุรักษ์พันธุ์ช้างไทยให้อยู่กับเราไปนานๆ” ธนกฤต กล่าว
นอกจากนี้ องค์กรพิทักษ์สัตว์แห่งโลก ยังมีพันธมิตรเป็นตัวแทนภาคอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวเอกชน ชั้นนำระดับโลก อาทิ เครือ TUI GROUP ประเทศไทย และบริษัทอินเทรพิดทราเวล ที่เป็นกลุ่มธุรกิจท่องเที่ยวที่มีฐานลูกค้าที่สนใจการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์และให้ความสำคัญเรื่องสวัสดิภาพสัตว์อยู่ทั่วโลก โดยเฉพาะในโซนยุโรป อเมริกา และออสเตรเลีย ซึ่งถือเป็นกลุ่มที่มีกำลังซื้อสูงและมีความนิยมด้านการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์เพิ่มมากขึ้นทุกปี รวมถึงมีแนวโน้มให้ความสนใจในปางช้างที่มีความเป็นมิตรกับช้างอย่างแท้จริง และคาดหวังให้ ช้างชิล เป็นต้นแบบเพื่อให้ปางช้างอื่นๆ ปรับตัวและเปลี่ยนรูปแบบให้เป็นมิตรกับช้างอย่างเหมาะสมในอนาคต