'ว.วชิรเมธี-บิณฑ์ บรรลือฤทธิ์' นำรณรงค์ เลิกใช้เครื่องรางของขลัง จากชิ้นส่วนสัตว์ป่า
ชี้มงคลชีวิตไม่ได้อยู่ที่เครื่องราง พุทธคุณไม่มีทางอยู่ในเครื่องรางของขลังที่มาจากสิงห์สาราสัตว์ เพราะพระพุทธคุณหมายถึงปัญญา ความบริสุทธิ์ และความเมตตาอาทร
องค์กรไวล์ดเอด (WildAid) และองค์การเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศของสหรัฐอเมริกา หรือ ยูเอสเอด (USAID) เปิดตัวโครงการรณรงค์ “ชีวิตดีต้องไร้ฆ่า” ไม่พึ่งเขี้ยวงา โดยมีท่าน ว.วชิรเมธี หรือ พระเมธีวชิโรดม เป็นทูตโครงการ ร่วมกับ บิณฑ์ บรรลือฤทธิ์ นักแสดงและผู้จัดการฝ่ายกิจกรรมพิเศษมูลนิธิร่วมกตัญญู และดารณีนุช “ท๊อป” ปสุตนาวิน พิธีกรและนักแสดง เพื่อโน้มน้าวให้ผู้ใช้เครื่องรางของขลังทำจากชิ้นส่วนของสัตว์ป่าโดยเฉพาะจากซากเสือโคร่งและงาช้าง เลิกพฤติกรรม
“สิ่งที่เกิดจากการเข่นฆ่า มั่นใจหรือว่าจะเป็นมงคล พระพุทธเจ้าบอกว่า จงเชื่อมั่นในการกระทำของตัวเอง ทำดีตอนไหน ตอนนั้นเป็นสิริมงคล เราทำดีวันไหน วันนั้นก็เป็นวันที่ดี ตามหลักชาวพุทธ มงคลในชีวิตขึ้นอยู่กับมันสมองและสองมือของเราเอง
“พุทธคุณไม่มีทางที่จะไปอยู่ในเครื่องรางของขลังที่มาจากสิงห์สาราสัตว์ได้เลย เพราะพระพุทธคุณหมายถึงปัญญา ความบริสุทธิ์ และความเมตตาอาทร” ท่าน ว.วชิรเมธี ผู้อำนวยการศูนย์วิปัสสนาสากลไร่เชิญตะวัน จ.เชียงราย กล่าว
โครงการรณรงค์ 'ชีวิตดีต้องไร้ฆ่า’ จัดทำขึ้นเป็นแคมเปญที่สองต่อจาก “สวยที่ใจ ไม่ใช่ที่งา” ที่มุ่งเน้นลดการใช้ชิ้นส่วนสัตว์ป่าเพื่อความสวยงามในกลุ่มผู้หญิง เพื่อลดความต้องการซื้อและใช้ชิ้นส่วนจากสัตว์ป่าอย่างซากเสือโคร่งและงาช้าง ในกลุ่มผู้ใช้และผู้ซื้อที่มีความเชื่อว่า สิ่งของเหล่านี้จะ “นำความโชคดี” หรือ “มีพลังปกป้องคุ้มครอง” มาให้
ผลการวิจัยผู้บริโภคและใช้งาช้างและผลิตภัณฑ์จากเสือโคร่งในประเทศไทย โดยโครงการ USAID Wildlife Asia ปี พ.ศ. 2561 พบว่า คนไทยในเขตเมือง ร้อยละ 2 หรือราว 500,000 คน มีหรือใช้ชิ้นส่วนหรือผลิตภัณฑ์จากงาช้าง และ ร้อยละ 1 หรือราว 250,000 คน มีหรือใช้ชิ้นส่วนหรือผลิตภัณฑ์จากเสือโคร่ง
นอกจากนี้ ร้อยละ 3 หรือราว 750,000 คน มีความตั้งใจที่จะซื้อผลิตภัณฑ์จากงาช้าง หรือผลิตภัณฑ์จากเสือโคร่งในอนาคต
ร้อยละ 10 (ราว 2.5 ล้านคน) มองว่าการซื้อขายผลิตภัณฑ์งาช้าง ยังเป็นที่ยอมรับในสังคม ในขณะที่ร้อยละ 7 (ราว 1.8 ล้านคน) เห็นว่าการซื้อขายผลิตภัณฑ์จากเสือโคร่งยังเป็นสิ่งที่ยอมรับได้
โดยเหตุผลหลักในการซื้อ อาทิ เชื่อว่างาช้าง "นำความโชคดีมาให้" "ป้องกันอันตราย" หรือ "มีความศักดิ์สิทธิ์” ส่วนผู้ซื้อหรือใช้ชิ้นส่วนจากเสือ เชื่อว่า จะช่วย"ป้องกันอันตราย” หรือ “เพราะมีพลังปกป้องคุ้มครอง" หรือ "มีความศักดิ์สิทธิ์"
“ในอดีต ผมเคยใช้ผลิตภัณฑ์จากซากสัตว์ป่า เพราะเชื่อว่าสิ่งเหล่านี้สามารถปกป้องเรา หางาน หาเงินให้เรา แต่แม้มีสิ่งเหล่านี้ติดตัวก็ไม่ได้ช่วยอะไร และพบว่ามันอยู่ที่ตัวเราต่างหาก
“ทุกวันนี้สิ่งที่ผมเชื่อก็คือ หากเราคิดดี ทำดี ความดีก็จะสามารถปกป้องตัวเราได้ สิ่งที่ผมกราบไหว้ก็คือพ่อแม่ที่บ้าน การช่วยเหลือคน การช่วยเหลือชีวิตสัตว์ ผมว่าเป็นสิ่งที่ประเสริฐที่สุด” นายบิณฑ์กล่าว
“ความเชื่อที่มีมานานในสังคมไทย อาจไม่สอดคล้องกับสถานการณ์ของสัตว์ป่าในปัจจุบัน เราเชื่อว่า ด้วยความร่วมมือจากผู้มีอิทธิพลทางความคิดในสังคม “ชีวิตดีต้องไร้ฆ่า” จะเป็นวิถีใหม่ ที่การใช้ผลิตภัณฑ์จากสัตว์ป่า อย่างซากเสือโคร่ง และงาช้าง จะไม่เป็นที่ยอมรับดังเช่นที่ผ่านมา”
“ความสูญเสียที่เกิดจากการลักลอบล่าและค้าสัตว์ป่าเป็นสิ่งที่เราทุกคนช่วยหยุดยั้งได้ และนี่คือภารกิจขององค์กรไวล์ดเอดที่จะต้องเดินหน้ารณรงค์เพื่อสร้างความตระหนักให้ทุกคนใช้ชีวิตในแบบที่ไม่สร้างความเสียหายให้กับสัตว์ป่า และธรรมชาติ" นายจอห์น เบเกอร์ ผู้อำนวยการโครงการรณรงค์ องค์กรไวล์ดเอด กล่าว
นายสมเกียรติ สุนทรพิทักษ์กูล ผู้อำนวยการกอง กองคุ้มครองพันธุ์สัตว์ป่า และพืชป่าตามอนุสัญญา กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช กล่าวว่า กรมอุทยานฯ เชื่อว่า การแก้ปัญหาการค้าสัตว์ป่าผิดฎหมายที่ได้ผล ต้องเกิดจากการบังคับใช้กฎหมาย ควบคู่ไปกับการลดความต้องการของผู้บริโภค
นายปีเตอร์ เอ. มัลนัค ผู้อำนวยการองค์การเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศของสหรัฐอเมริกา สำนักงานภาคพื้นเอเชีย กล่าวว่า “เราหวังว่า การได้รับความร่วมมือจากบุคคลที่มีอิทธิพลต่อความคิดในสังคมไทย จะทำให้โครงการรณรงค์ ‘ชีวิตดีต้องไร้ฆ่า’ สามารถลดทอนความเชื่อที่มีต่อผลิตภัณฑ์จากสัตว์ป่า อย่างเสือโคร่งและงาช้าง ในกลุ่มผู้ใช้และผู้มีความต้องการซื้อ และทำให้การใช้ผลิตภัณฑ์เหล่านี้ไม่เป็นที่ยอมรับเหมือนในอดีต”
วิดีโอรณรงค์ “ชีวิตดีต้องไร้ฆ่า” เริ่มเผยแพร่แล้วทางสื่อออนไลน์ และอีกหลากหลายช่องทางเพื่อให้เข้าถึงกลุ่มเป้าหมาย และคนทั่วไปมากที่สุด
https://drive.google.com/drive/folders/10hLpCmz7mN8Lwh1hz74wdXij8G_azt-K