ติงแผนพีดีพีใหม่ ตั้งกำลังสำรองสูง
หวั่น ดันค่าไฟพุ่ง ในกลุ่มผู้ใช้ไฟ
ในการปรับแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศ หรือ PDP 2018 ล่าสุด ซึ่งเป็นการวางแผนการผลิตและการใช้ไฟฟ้าของประเทศในระยะยาว 20 ปี รัฐมนตรีพลังงาน สนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ ได้ประกาศชัดเจนในการสนับสนุนการใช้พลังงานหมุนเวียนในประเทศ โดยจะมีการปรับสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนเพิ่มขึ้นจากที่กำหนดในแผน PDP ล่าสุดนี้ และจะเปิดโอกาสให้ประชาชนมีส่วนร่วมผ่านการสร้างโรงไฟฟ้าชุมชน
ซึ่งนายสนธิรัตน์ได้ให้สัมภาษณ์ในการปรับแผนฯ ในช่วงเดือนกรกฎาคม หลังจากเข้ารับตำแหน่งรัฐมนตรีของกระทรวงพลังงานว่า จะเร่งรัดเรื่องนี้ให้เกิดขึ้นโดยเร็ว เพราะไฟฟ้าจะต้องไม่ใช่เรื่องของรายใหญ่เพียงคนเดียว
และกว่าอาทิตย์ที่ผ่านมา เขาได้มีโอกาสเดินทางเข้าร่วมเวทีประชุมด้านพลังงานหมุนเวียนที่ประเทศเยอรมนี “Global Ministerial Conference on System Integration of Renewables” ซึ่งจัดโดยกระทรวงกิจการเศรษฐกิจและพลังงานของสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี (The German Federal Ministry for Economic Affairs) และทบวงการพลังงานระหว่างประเทศ (International Energy Agency: IEA) เพื่อเป็นเวทีสำหรับการแลกเปลี่ยนแนวคิดและบูรณาการด้านพลังงานหมุนเวียน โดยนายสนธิรัตน์ใช้โอกาสตอกย้ำการสนับสนุนการใช้พลังงานหมุนเวียนอย่างจริงจังของประเทศไทยต่อนานาประเทศอีกครั้ง
แม้จะเป็นไปในทิศทางเดียวกับกระแสโลกที่ต้องรับมือกับปัญหาการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศและโลกร้อน และทำให้ต้องมีการปรับเปลี่ยนการใช้พลังงาน ซึ่งเป็นหนึ่งในเหตุผลหลักของการจัดทำแผน PDP ฉบับนี้ด้วย หากแต่ในสายตาของนักวิเคราะห์ด้านพลังงานที่ติดตามนโยบายเรื่องพลังงานของรัฐมานานอย่าง วิฑูรย์ เพิ่มพงศาเจริญ ผู้อำนวยการเครือข่ายพลังงานเพื่อนิเวศวิทยาแม่น้ำโขง (Mekong Energy and Ecology Network:MEE -Net), แผน PDP ฉบับใหม่นี้ ยังมีการพยากรณ์ความต้องการไฟฟ้าในอนาคตที่สูงเกินจริง คือ อยู่บนสมมุติฐานที่ GDP เติบโตเฉลี่ยที่ 3.8 เปอร์เซ็น ทั้งที่ในขณะนี้มีการเติบโตเพียง 2.6 เปอร์เซ็น ซึ่งจะทำให้ไฟฟ้าสำรองขณะนี้ สูงกว่า 40 เปอร์เซ็น และจะยิ่งสูงมากขึ้นไปอีก นับว่าเป็นการสวนทางกับสภาวะการณ์ทางเศรษฐกิจ ณ ปัจจุบัน
ซึ่งการคาดการณ์ดังกล่าว นายวิฑูรย์กล่าวว่า ส่งผลต่อการวางแผนการผลิตไฟฟ้าในอนาคต กล่าวคือ PDP 2018 จะมีกำลังผลิตไฟฟ้าในปลายปี 2580 รวมสุทธิ 77,211 เมกะวัตต์ โดยประกอบด้วยกำลังผลิตไฟฟ้าในปัจจุบัน ณ สิ้นปี 2560 เท่ากับ 46,090 เมกะวัตต์ โรงไฟฟ้าที่จะสร้างใหม่รวม 56,431 เมกะวัตต์ และมีการปลดโรงไฟฟ้าเก่าที่หมดอายุในช่วงปี 2561 - 2580 จำนวน 25,310 เมกะวัตต์ ซึ่งเขามองว่ายังเกินจำเป็นอยู่มาก และทำให้งานด้านพลังงานหมุนเวียนและการอนุรักษ์พลังงาน ที่อยู่ในแผนไม่เป็นจริงอย่างที่ควรจะเป็น
“ทุกๆ 1 MW ของการเพิ่มกำลังสำรองผลิตไฟฟ้าของประเทศ มันหมายถึงมูลค่าทางสังคมและเศรษฐกิจและผลกระทบต่อวิถีชีวิตที่ชาวบ้านต้องแบกรับ อย่างเขื่อนไซยะบุรี 1,220 MW เข้าระบบปีนี้ ในขณะที่เรามีกำลังผลิตไฟฟ้าที่ไม่ได้ใช้กว่า 12,000 MW เหลือในระบบ ซึ่งต้องแลกมากับชีวิตมากมายในลุ่มน้ำโขง ทั้งที่มีบทเรียนจากชีวิตของคนปากมูลกว่า 1,700 ครอบครัวที่ต้องล่มสลายไปกับเขื่อน 136 MW เป็นต้น นั่นคือ ความหมายของทุกๆ กำลังผลิตไฟฟ้าสำรองที่ผิดพลาด” นายวิฑูรย์กล่าว
นายวิฑูรย์กล่าวว่า กำลังผลิตไฟฟ้าสำรองระยะยาวที่ถูกออกแบบในแผน PDP ฉบับนี้ ถูกคำนวนไว้สูงกว่ากำลังผลิตจริงอยู่ถึง 40-60% หรือ ประมาณ 16,800-26,700 MW ในขณะที่นโยบายกำหนดไว้ที่ราว 15 % ซึ่งเป็นแนวคิดในอดีตที่อิงจากกรณีที่โรงไฟฟ้าที่ใหญ่ที่สุดเกิดเหตุสุดวิสัยหลุดออกจากระบบ ทำให้ต้องมีโรงไฟฟ้าสำรองเดินเครื่องเข้าไปแทนที่
แต่ ณ เวลานี้ ประเทศมีกำลังผลิตไฟฟ้าถึงกว่า 40,000 MW กำลังผลิตไฟฟ้าสำรองที่เกิน 15% (6,000MW)ไปมากนั้น จึงไม่ใช่สิ่งจำเป็นแต่อย่างใด นายวิฑูรย์ระบุ
ยิ่งไปกว่านั้น ในปัจจุบัน การผลิตไฟฟ้ามีปัจจัยบวกมากมาย ไม่ว่าจะเป็นการเติบโตของภาคพลังงานหมุนเวียนที่ต้นทุนลดลงอย่างรวดเร็ว การผลิตพลังงานไฟฟ้าใช้เอง (IPS) ในภาคอุตสาหกรรมที่สูงถึง 15% ของพีคดีมานด์ การแทรกแซงของเทคโนโลยีใหม่ๆ(Disruption) ที่ทำให้การผลิตไฟฟ้าและระบบสำรองไฟฟ้ามีประสิทธิภาพมากขึ้น ด้วยปัจจัยดังกล่าว ความคิดที่ว่าความมั่นคงหลักของพลังงานไฟฟ้ายังอยู่ที่โรงไฟฟ้าขนาดใหญ่เท่านั้น จึงไม่ได้เป็นไปในแนวทางเดียวกันกับข้อเท็จจริงที่กำลังเกิดขึ้น นายวิฑูรย์กล่าว
เมื่อรวมกับแนวโน้มของโลกที่หาทางรับมือกับปัญหาภาวะโลกร้อน จึงมีความจำเป็นที่ประเทศไทยต้องหันกลับมาทบทวนแผน PDP 2018 ฉบับนี้อีกครั้ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งภาคพลังงานทางเลือก นายวิฑูรย์กล่าวเพิ่มเติม
“ในการศึกษาแผน PDP ฉบับปี 2015 เราทดลองปรับลดการคำนวนกำลังผลิตไฟฟ้าสำรองลงให้ใกล้เคียงกับที่ควรจะเป็น เราพบว่า เราสามารถปรับลดโครงการลงทุนสร้างโรงไฟฟ้าและเขื่อนที่ไม่จำเป็นออกไปได้เป็นจำนวนมาก และนั่นหมายถึงการลดงบประมาณ ค่าใช้จ่ายของรัฐได้จำนวนมหาศาล การตั้งกำลังผลิตไฟฟ้าสำรองไว้สูงๆ มันคือ ทรัพย์สินที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (non performing assets) ซึ่งจากตัวเลขที่ออกมาตอนนี้ มันสูงกว่าช่วงหลังวิกฤตเศรษกิจปี 2540 เสียอีก” นายวิฑูรย์ระบุ
นายวิฑูรย์ยังพบอีกว่า มีการอ้างความมั่นคงไฟฟ้ารายภาค เช่น ภาคใต้จะมีการสร้างโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่เพิ่ม เพื่อให้กำลังไฟฟ้าสำรองรายภาคสูงเกิน 15 เปอร์เซ็น ทั้งๆที่กำลังสำรองทั้งระบบสูงเกินกว่า 40 เปอร์เซ็น และที่ผ่านมา ก็มีการลงทุนสร้างระบบสายส่ง ขนาด500kv ผ่านคอขอดกระเป็นเงินนับแสนล้านเพื่อแก้ปัญหาการส่งไฟฟ้าจากภาคอื่นไปสู่ภาคไต้ และยังมีแนวคิดให้ลาวส่งไฟฟ้ามาขายให้มาเลเซีย จำนวน100 MW ไปเรียบร้อยแล้ว
การเพิ่มกำลังผลิตไฟฟ้าหลักใหม่รายภูมิภาค ซึ่งกำหนดให้ดำเนินการโดยการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย ในขณะที่ กฟผ.กำลังพัฒนาระบบสายส่งให้เป็นระบบอาเซียนกริด และต้องการผันตัวไปเป็นคนกลางซื้อ-ขายไฟฟ้าในอาเซียน นายวิฑูรย์ตั้งข้อสังเกต
ในขณะเดียวกัน PDP 2018 กลับมีการบรรจุกำลังการผลิตไฟฟ้าที่มาจากประเทศเพื่อนบ้านในสัดส่วนใกล้เคียงกันกับแผนรายภูมิภาค เกิดเป็นคำถามถึงความจำเป็นในการทำแผนที่ซ้ำซ้อนในลักษณะนี้ และการเพิ่มความเสี่ยงที่ภาระต่างๆ (การขาดทุนและต้นทุนที่สูงจากการทำธุรกิจของกฟฝ.)จะตกแก่ผู้บริโภคโดยผลักทุกอย่างที่ผิดพลาดลงในต้นทุนค่าไฟในระบบต้นทุนบวกกำไร (Cost Plus) นายวิฑูรย์กล่าว
ในสัดส่วนพลังงานหมุนเวียนที่กำหนดไว้ ราว 20,000 MW นายวิฑูรย์กล่าวว่า ได้ถูกบรรจุไว้ในปีท้ายๆ ของแผนฯ ก่อให้เกิดคำถามถึงความเป็นไปได้ในทางปฎิบัติที่ระบบยังมีไฟฟ้าสำรองเหลือเฟือ เป็นคำถามถึงความจริงจังจริงใจของรัฐ แม้จะมีการประกาศเพิ่มสัดส่วนล่าสุดก็ตาม
นายวิฑูรย์กล่าวอีกว่า ตราบใดที่การพยากรณ์ความต้องการไฟฟ้าในอนาคตและการวางแผนกำลังผลิตไฟฟ้ายังสูงเกินจริง สวนทางกับตัวเลขการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างที่เป็นอยู่ มันคือความสับสนของการวางแผนการผลิตและการใช้ไฟฟ้าของประเทศ ที่ยังคงวังวนอยู่ในระบบผูกขาดรวมศูนย์และโครงสร้างที่ขาดการตรวจสอบ (Check and balance) ซึ่งมักเอื้อต่อผลประโยชน์ขนาดใหญ่ และจะกลายเป็นภาระที่ถูกผลักไปสู่ผู้บริโภคในรูปแบบของ “ค่าไฟฟ้า” ทั้ง ค่าไฟฐานและ FT(ค่าไฟฟ้าผันแปร) ในทุกๆ บิลค่าไฟฟ้าที่ส่งถึงบ้านผู้บริโภคในทุกๆ เดือนนั่นเอง
“มันมีความซับซ้อนขึ้นทุกที เพราะDrivers(ตัวผลักดัน) มันไม่ใช่แค่รัฐอย่างเดียวแล้ว มันมี ภาคเอกชนในอุตสาหกรรมพลังงาน และการลงทุนในตลาดหลักทรัพย์ ฯลฯ ที่มีผลประโยชน์มหาศาล และเกิดการใช้อำนาจเหนือผลประโยชน์ส่วนรวม
”ภาคพลังงานไฟฟ้าทั้งรัฐและเอกชน จึงเป็นภาคที่ใหญ่จนยากจะควบคุม ความเป็นประชาธิปไตยในกระบวนการวางแผน(PDP)มันไม่มี มันมีแต่ผู้เชี่ยวชาญไม่กี่คน และที่สำคัญ มันไม่มีการตรวจสอบโดยภาคประชาชน เพราะการตรวจสอบไม่สามารถเกิดขึ้นได้ในช่วงที่ไม่มีประชาธิบไตย (แผนนี้ถูกทำขึ้นในช่วงรัฐบาล คสช.)” นายวิฑูรย์กล่าว
ในฐานะผู้เชี่ยวชาญด้านพลังงานที่ติดตามเรื่องนี้มาโดยตลอด นายวิฑูรย์ได้เสนอว่า ทางออกคือ จะต้องยกเลิกระบบค่าไฟฟ้าที่คำนวญมาจากระบบต้นทุนบวกกำไร (Cost Plus) ซึ่งทุกอย่างจะถูกผลักลงในต้นทุนที่ยากจะตรวจสอบ เป็นการคำนวญค่าไฟโดยอาศัยค่ามาตรฐาน(Benchmark) และข้อเท็จจริง
ในระบบที่มีตรวจสอบและแข่งขัน(Performance Base) นายวิฑูรย์กล่าวว่า การทำสัญญาซื้อขายไฟฟ้า(PPA) ค่าความพร้อมจ่ายของกำลังผลิตสำรองที่เกินกว่า15% ไม่สามารถผลักลงในต้นทุนค่าไฟฟ้า แต่อาจมีสูตรคำนวนที่เป็นธรรม ที่ไม่ก่อให้เกิดแรงจูงใจในการลงทุนสร้างโรงไฟฟ้าเกินจำเป็น
“ประการสำคัญคือ กฟฝ.ต้องแยกระบบกำลังผลิต ออกจากระบบสายส่ง และตราบใดที่กฟฝ.ยังคงผูกขาดเป็นผู้ซื้อไฟฟ้ารายเดียว(Enhance Singlำ Buyer) ระบบการผลิตจะต้องไม่ผูกขาดโดยกฟฝ.หรือบริษัทลูก แต่เป็นระบบที่ก่อให้เกิดประสิทธิภาพและเป็นธรรม”
“และส่วนที่ต้องทำให้เป็นจริงก็คือ ความเป็นอิสระและมีประสิทธิภาพของคณะกรรมการกำกับไฟฟ้าและพลังงาน คำตอบจึงอยู่ที่การสร้างธรรมาภิบาลให้เป็นจริง” นายวิฑูรย์กล่าวทิ้งท้าย