“สมคิด” แนะ รัฐ - มหาลัย – เอกชน เร่งผลิตกำลังคนตอบโจทย์พัฒนาประเทศ
“สมคิด” มอบนโยบายพัฒนากำลังคน ตอบโจทย์โครงสร้างเศรษฐกิจใหม่ ดันจีดีพี เร่งผลิตผู้ประกอบการ สตาร์ทอัพ นวัตกรรม แนะ ม.ชั้นนำเพิ่ม Non Degree กลุ่มพระจอมเสริมศักยภาพราชมงคล ราชภัฎให้มุ่งพัฒนาท้องถิ่นโดยใช้เทคโนโลยีให้เกิดประโยชน์
วานนี้ (28 ตุลาคม) นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี กล่าวในงานประชุมหารือ เรื่อง การพัฒนากำลังคนตอบโจทย์ความต้องการของประเทศ ณ ห้องประชุมศาสตราจารย์ประเสริฐ ณ นคร ชั้น 3 อาคารอุดมศึกษา 1 สำนักงานปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมว่า เรื่องบุคลากรเป็นเรื่องสำคัญ ขณะนี้ เราพยายามสร้างโครงสร้างเศรษฐกิจใหม่ของประเทศให้มีผู้ประกอบการรายใหม่ สตาร์ทอัพ และสร้างนวัตกรรม สิ่งเหล่านี้ เป็นเรื่องสำคัญ แต่กำลังคนยังไม่เพียงพอ หากเราไม่แก้ไขปัญหาเหล่านี้ ก็อย่าหวังว่าไทยจะสามารถสร้างจีดีพีได้สูงอีกต่อไป
“ผมเพิ่งไปประเทศจีนมา เราเห็นชัดว่าเศรษฐกิจใหม่คนละเรื่องกับรุ่นเก่าๆ ที่กวางโจวเปลี่ยนแปลงไปเยอะ คนอายุไม่เท่าไหร่สามารถสร้างธรุกิจได้ แต่ในอดีตไม่มีทางเพราะธุรกิจเป็นเรื่องของบริษัทใหญ่ แต่สมัยนี้คนรุ่นใหม่มีความคิดที่ดี มีการร่วมมือระหว่างเอกชน มหาวิทยาลัย สถาบันวิจัย สร้างสตาร์ทอัพโดยมีกองทุนซัพพอร์ต เกิดยูนิคอนได้ในเวลาไม่ถึง 10 ปี ธุรกิจหนึ่ง เกิดการจ้างงานเป็นร้อยเป็นพันตำแหน่ง ดังนั้น การพัฒนาไม่ใช่ของซีเนียร์อีกต่อไป”
รองนายกฯ กว่าวต่อไปว่า ประเทศไทยตั้งมั่นจะเป็นไทยแลนด์ 4.0 เราจึงต้องมีอีอีซีรองรับ โชคดีมากที่อีอีซีเกิดมาถูกที่ถูกจังหวะ ขณะที่ต่างชาติให้ความสำคัญในการเข้ามาลงทุนในประเทศไทย แต่สิ่งที่เป็นอุปสรรคใหญ่คือ “คน” ไม่ใช่แค่มหาวิทยาลัยผลิตอย่างเดียว แต่มหาวิทยาลัยต้องร่วมมือกับเอกชนที่สนใจ ผลิตบุคลากรขึ้นมาเองด้วยซ้ำไป ต่อไปการผลิตจะมีทั้งผลิตโดยมหาวิทยาลัย เอกชน หรือไทยร่วมกับต่างประเทศ ทั้ง Degree และ Non Degree หรืออะไรที่คิดว่ามีประโยชน์ สอนเสร็จ เข้าทำงานได้เลย เราต้องเร่งจำนวนภายใน 3-4 ปี จะมาผลิตปีละไม่กี่พันคนไม่เพียงพอ ในขณะที่คู่แข่งเราผลิตเป็นหมื่น
“ไม่ใช่ว่าสาขาดั้งเดิมเราไม่เอา แต่ดูที่สัดส่วน บางส่วนต้องการ Non Degree ทำอย่างไรให้คนสามารถใช้แพลตฟอร์ม ดิจิทัลได้ เราเป็นประเทศที่พัฒนาแล้ว ไม่ใช่กำลังหรือด้อยพัฒนา ดังนั้น เราต้องยืนอยู่บนขาของเอง ถ้าสินค้าเราดียังไงเขาก็ซื้อ ประเทศมีตั้งกี่ร้อยประเทศ ต้องมองหาประเทศใหม่ๆ และรักษาความสัมพันธ์กับคู่ค้าเก่าๆ เราต้องพัฒนาตัวเราเองเพื่อความอยู่รอด” รองนายกฯ กล่าว
ดังนั้น การร่วมมือระหว่างรัฐ มหาวิทยาลัย และเอกชน สำคัญมาก เราทำแค่ราชการไม่ได้ วันนี้เอกชนต้องต้องเข้าไปมีส่วนร่วม “กลุ่มมหาวิทยาลัยหลัก” ซึ่งมีบุคลากรและเครื่องมือครบ มีความพร้อมในเรื่องของ Non Degree ต้องเป็นกลุ่มที่เพิ่มในเรื่องนี้เข้าไปเพื่อตอบโจทย์กำลังคน
ขณะที่ “กลุ่มพระจอม” ต้องประสานงานกับราชมงคล ดึงกันขึ้นมาให้แข็งแรง เป็นพี่จูงน้องขึ้นมา เพราะราชมงคลมีหลากหลาย แต่มาตรฐานไม่ตรงกัน ต้องพาเขาขึ้นมาและจะดีขึ้น
ในส่วนของ “กลุ่มราชภัฎ” เรียกว่าพลิกตัวได้เร็ว ตอนนี้เดินตามแนวทางพัฒนาท้องถิ่น และตอบโจทย์ S Curve แต่ไม่ใช่มีแค่นั้น เกษตรสำคัญที่สุด ดังนั้น คุณต้องไปทำให้เกิดเกษตรสมัยใหม่ ท่องเที่ยวก็สำคัญ แต่ต้องไม่ใช่หลักสูตรที่เป็นอยู่อย่างปัจจุบัน ต้องรู้จักการแนะนำท้องถิ่นว่าหมู่บ้านคุณเป็นแหล่งท่องเที่ยวได้ พัฒนาสอนชาวบ้าน ทำเมืองให้น่าเที่ยวเหมือนประเทศญี่ปุ่น
“หากทั้งสามกลุ่มช่วยกัน จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงแรงมาก บุคลากรจะมีรายได้ เราไม่ได้ต้องการระบบบริษัทอย่างเดียว แต่เราต้องการวิจัย นวัตกรรมด้วย สิ่งสำคัญที่สุด คือ เรื่องของความสามารถทางการแข่งขัน จะควบคู่ไปกับการลดความเหลื่อมล้ำ อย่าลืมว่าอินเทอร์เน็ตไปถึงหมู่บ้านแล้ว คุณสามารถเอาความรู้เป็นแอพพลิเคชั่นไปได้ทุกที่ เช่น การเกษตร สู่สมาร์ทฟาร์เมอร์ การท่องเที่ยว ใช้แอพพลิเคชั่นในการบอกข้อมูลแก่นักท่องเที่ยว”
ทุกวันนี้ต้องใช้อินเทอร์เน็ตให้เกิดประโยชน์ ไม่ใช่ให้นักศึกษามาเรียนแค่ในมหาวิทยาลัย เพราะเขาเรียนที่ไหนก็ได้ หากมหาวิทยาลัยร่วมมือกัน เอกชนจะเข้ามาสนใจเอง เขาจะมองหาว่ามหาวิทยาลัยไหนมีของดี มหาวิทยาลัยต้องมีองค์ความรู้เพื่อให้เอกชนมาสมทบ ส่งผลให้อาจารย์มีพลังในการทำการวิจัย เราต้องเปลี่ยนแปลงด้วยตัวเราเอง ช่วงเวลา 2 ปีนี้เป็นช่วงเวลาที่สำคัญ ต้องปลุกให้สังคมเกิดการเปลี่ยนแปลง
“เราต้องทำตัวเราเองให้หล่อให้สวย อย่าทำให้ตัวเราดูไม่ดี เรื่องคนสำคัญ เพื่อให้คนที่เข้ามาลงทุนมองว่า เรามีคนที่มีศักยภาพรองรับเขา” นายสมคิด กล่าว
ทั้งนี้ จากข้อมูลโครงการสำรวจความต้องการบุคลากรวิจัยและนวัตกรรมรายอุตสาหกรรม ปี 2562 โดย สวทน. ระบุว่า ความต้องการบุคลากรในพื้นที่อีอีซี และนอกอีอีซี ภายใน 5 ปี แบ่งเป็น ความต้องการกำลังคน New S-curve (กลุ่ม STEM) จำนวน 107,000 คน แบ่งเป็น อาชีวศึกษา 8,000 คน และ ป.ตรี-เอก 99,000 คน ขณะที่ความต้องการกำลังคนพื้นที่อีอีซี (กลุ่ม STEM และ Non-STEM) จำนวน 476,000 คน แบ่งเป็น อาชีวศึกษา 253,000 คน และ ป.ตรี-เอก 223,000 คน
ซึ่งจากแนวทางพัฒนากำลังคนรองรับอนาคต ระบุว่า ตำแหน่งงานที่มีความต้องการสูงกว่า 1 แสนคน อาทิ Data Scientist , Engineer, Researcher, Manager เพื่อพร้อมสำหรับความต้องการของอุตสาหกรรมรองรับการลงทุนทั้งอีอีซี นอกพื้นที่อีอีซี ผู้ประกอบการ และ S-Curve ดังนั้น การอัพสกีล และ รีสกีล จึงเป็นอีกสิ่งสำคัญในการพัฒนาศักยภาพกำลังคน โดยการเรียนรู้แบบ Non Degree ในระยะเวลาสั้น เพื่อตอบโจทย์ความต้องการของประเทศ
ศ.บัณฑิต เอื้ออาภรณ์ อธิการบดีจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า หากสถาบันการศึกษาไม่ปรับตัว ก็อาจจะปรับตัวไม่ทัน บทบาทของมหาวิทยาลัย เป้าหมายของเราในวันนี้ คือ เพื่อยกระดับศักยภาพของคนไทย วันนี้สถาบันการศึกษาส่วนใหญ่มีทั้ง Degree และ Non Degree ประเด็นสำคัญคือ ตอบโจทย์หรือไม่ อยู่มานานเกินไปหรือไม่ และปรับตัวหรือยัง
ทั้งนี้ เป้าหมายการมุ่งเป้าของมหาวิทยาลัยเพื่อยกระดับ Skill Set ของคนไทย แบ่งเป็น ระยะสั้น Non-Degree โดยโฟกัสที่การสร้าง Skill Set ที่ต้องการ สอนตรงควบคู่ไปกับเป้าหมายในการขับเคลื่อนประเทศตามนโยบายรัฐ เพิ่มความสามารถ และระยะยาว Degree แต่เดิมมหาวิทยาลัยไทยเน้นความรู้ด้านวิชาการ สิ่งที่เราต้องปรับตัว คือ ความมุ่งมั่นในการทำงาน ไม่ใช่แค่การเรียนรู้ในห้องเรียน แต่ต้องเรียนรู้จากประสบการณ์จริงจากการทำงานผ่านการฝึกงานในภาคเอกชนด้วย
"ทุกวันนี้ไม่ใช่มหาวิทยาลัยแข่งกันเอง แต่มีคนทำคอร์สต่างๆ ขึ้นมามากมาย ดึงเด็กจาก ม.ต่างๆ มาเรียน คู่แข่งของมหาวิทยาลัยไม่ใช่แค่ในประเทศไทย แต่เป็นทั่วโลก ดังนั้น ต้องมองว่าการพัฒนากำลังคนเป็นการลงทุนไม่ใช่ค่าใช้จ่าย"
ดังนั้น เครื่องมือและกลไกสนับสนุนที่จำเป็น คือ ภาคเอกชนต้องร่วมกำหนด Skill Set ที่ต้องการ ขณะที่มหาวิทยาลัยต้องจัดคนและพัฒนาหลักสูตรที่ตอบสนอง โดยมี อว. เป็นตัวกลางในการ Matching ระหว่างความต้องการภาคเอกชน กับการพัฒนาคนของภาคการศึกษา นอกจากนี้ อว. ต้องส่งเสริมและสนับสนุนสถาบันการศึกษาจัดการศึกษาในรูปแบบ Modular System ที่ตอบโจทย์ทั้ง Degree แล Non-Degree รวมถึงภาครัฐ BOI และ เอกชน เตรียมทรัพยากรสนับสนุน
ผศ.วิโรจน์ ลิ้มไขแสง ประธาน ทปอ.มทร. กล่าวว่า กลุ่มราชมงคลมีทั้งหมด 9 แห่ง และมีสังกัดย่อยกว่า 30-40 แห่ง งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2563 ทั้ง 9 มทร. จำนวนทั้งสิ้น 8,446 ล้านบาท มีจำนวนหลักสูตรแบบ Degree จำนวน 726 หลักสูตร และ หลักสูตรแบบ Non-Degree จำนวน 117 หลักสูตร โดยกลุ่มราชมงคลเป็นมหาวลัยทางเทคโนโลยี ซึ่งมุ่งผลิตกำลังคนรับนักศึกษาใหม่ราว 3 หมื่นคนต่อปี
ทั้งนี้ หลักสูตรของ มทร. พยามโยงกับ S-Curve ของรัฐ ได้แก่ ท่องเที่ยว Degree 36 หลักสูตร และ Non-Degree 8 หลักสูตร , เกษตร Degree 67 หลักสูตร Non-Degree 16 หลักสูตร , อิเล็กทรอนิกส์ Degree 30 หลักสูตร Non-Degree 10 หลักสูตร , แปรรูปอาหาร Degree 17 หลักสูตร Non-Degree 9 หลักสูตร , ยานยนต์ Degree 47 หลักสูตร Non-Degree 9 หลักสูตร , ดิจิทัล Degree 92 หลักสูตร Non-Degree 21 หลักสูตร , แพทย์ Degree 8 หลักสูตร Non-Degree 11 หลักสูตร , การบิน โลจิสติกส์ Degree 25 หลักสูตร Non-Degree 9 หลักสูตร , เชื้อเพลิง ชีวภาพ Degree 12 หลักสูตร Non-Degree 3 หลักสูตร และหุ่นยนต์ Degree 16 หลักสูตร Non-Degree 10 หลักสูตร
นอกจากนี้ หลักสูตรที่ได้รับการพิจารณาเข้าร่วมโครงการบัณฑิตพันธุ์ใหม่และกำลังคนที่มีสมรรถนะ เพื่อตอบโจทย์ภาคการผลิตตามนโยบายการปฏิรูปอุดมศึกษาไทย (Non-Degree) กลุ่ม 9 มทร. แบ่งเป็น อุตสาหกรรมการบินและโลจิสติกส์ 10 หลักสูตร (40%) อุตสาหกรรมเกษตรและเทคโนโลยีชีวภาพ 4 หลักสูตร (16%) Soft Skill 3 หลักสูตร (12%) อุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่ 3 หลักสูตร (12%) อุตสาหกรรมดิจิทัล 2 หลักสูตร (8%) อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ 1 หลักสูตร (4%) อุตสาหกรรมหุ่นยนต์เพื่ออุตสาหกรรม 1 หลักสูตร (4%) และกลุ่มผู้สูงอายุ 1 หลักสูตร (4%)
ผศ.เรืองเดช วงศ์หล้า ประธาน ทปอ.มรภ. กล่าวว่า การพัฒนากำลังคน เพื่อขับเคลื่อนประเทศ เป้าหมายมรภ. คือ นักศึกษา ชุมชนฐานราก ผู้ประกอบการ และผู้สูงอายุ ผ่านทั้งแบบ Degree และ Non-Degree ได้แก่ ปริญญา อบรมระยะสั้น และ Credit Bank โดยหลักสูตรที่เน้นเพื่อให้สอดรับกับกลุ่ม S-Curve ได้แก่ การท่องเที่ยว เกษตร แปรรูปอาหาร และดิจิทัล มีนักศึกษาของกลุ่ม S-Curve ในทุกภูมิภาครวมกว่า 39,318 คน
“ขณะที่หลักสูตร Non-Degree ของ มภร. ครอบคลุมทั้งการรีสกีล และ อัพสกีล ในด้านการเกษตรชีวภาพ สมาร์ทฟาร์เมอร์ การท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์ สื่อสารภาษาอังกฤษ ยกระดับผู้ประกอบการ ผลิตครูเชี่ยวชาญโค้ดดิ้ง และรีสกีลครู เพื่อตอบโจทย์ศตวรรษที่ 21 ข้อดีของราชพัดคือ อยู่ในชุมชน การพัฒนาคนไม่ต้องย้ายคนแต่สามารถดำเนินการได้เลย อาจจะเน้นหนักในชุมชน เพื่อให้เขาพึ่งพาตนเอง เป็นผู้ประกอบการ บางอย่างสามารถสร้างเศรษฐกิจได้เป็นอย่างดี” ประธาน ทปอ.มรภ. กล่าว
ด้าน นายสุวิทย์ เมษินทรีย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ระบุว่า ทุกวันนี้ทุกประเทศกำลังช่วงชิงกัน ไม่ใช่แค่ Degree แต่ต้องมี Non-Degee ซึ่งมหาวิทยาลัยต้องผนึกกำลังกัน ไม่ใช่แค่การผลิตบัณฑิต แต่ต้องสร้างโปรแกรมใหม่ๆ ที่จะตอบโจทย์การรีสกีล และอัพสกีล งบปี 2564 ให้ความสำคัญจากการผลิตกำลังคน มหาวิทยาลัยต้องหลุดจากกรอบเดิม นอกจากผลิตบัณฑิตคุณภาพแล้ว ต้องทำ Non-Degree ตอบโจทยประเทศด้วย BOI เอง ก็ได้ทำการส่งเสริมทั้งมหาวิทยาลัย รวมถึงเอกชนที่ร่วมมือกับมหาวิทยาลัย หลังจากนี้ ต้องหารือกับ BOI ว่าจะยกระดับการพัฒนากำลังคนของประเทศอย่างไรต่อไป