“หัวใจเต้นผิดจังหวะ” ภัยเงียบต้องรู้ คาดปี 93 มีผู้ป่วย 72 ล้านคนทั่วภูมิภาค

“หัวใจเต้นผิดจังหวะ” ภัยเงียบต้องรู้ คาดปี 93 มีผู้ป่วย 72 ล้านคนทั่วภูมิภาค

“ภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ” เป็นอีกหนึ่งปัญหาด้านสุขภาพที่สำคัญในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก โดยมีการประมาณการณ์ว่าในปี 2593 ทั่วภูมิภาคจะมีผู้ป่วยกว่า 72 ล้านคน ซึ่งเป็นตัวเลขที่น่าตกใจและถือเป็นภัยเงียบที่อาจคุกคามชีวิตโดยไม่รู้ตัว

จากรายงานผลกระทบของภาวะโรคหัวใจเต้นผิดจังหวะในเอเชียแปซิฟิก โดย Biosense Webster ซึ่งเผยแพร่ในงานประชุม APHRS (The Asia Pacific Rhythm Society) วันที่ 24 – 27 ตุลาคม ระบุว่า “ภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ” (Atrial Fibrillation - AF) เป็นภาวะที่หัวใจเต้นไม่เป็นจังหวะตามธรรมชาติ โดยหัวใจเต้นเร็วเกินไปจนส่งผลให้การบีบกล้ามเนื้อหัวใจห้องบนทั้งสองห้องไม่สัมพันธ์กัน ผู้ป่วยมักมีความบกพร่องในการทำงานของร่างกาย เป็นอุปสรรคต่อการใช้ชีวิตประจำวัน ส่งผลทำให้คุณภาพชีวิตถูกบั่นทอน


นอกจากนี้ ภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ ยังเพิ่มความเสี่ยงของการเกิดภาวะแทรกซ้อนที่อันตรายถึงชีวิต นำไปสู่ภาวะหัวใจล้มเหลว 5-6 เท่า หลอดเลือดสมองอุดตัน 2.5-3 เท่า และเสียชีวิตจากโรคหัวใจและหลอดเลือด 2-3 เท่า รวมถึงสร้างภาระในการดำเนินชีวิตของผู้ป่วย โดยพบความบกพร่องในการทำงานของร่างกาย 19% พบอุปสรรคต่อการใช้ชีวิตประจำวัน 20% ออกกำลังกายได้น้อยลงมากกว่า 50% และคุณภาพชีวิตถูกบั่นทอน มากถึง 57%

157244923752

ปี2593คาดมีผู้ป่วย72ล้านคน

ทั้งนี้ พบผู้ป่วยที่มีอาการหัวใจเต้นผิดจังหวะกว่า 16 ล้านคนทั่วภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก โดยมีผู้ป่วยรายใหม่กว่า 1.4 ล้านคนต่อปี และผู้ป่วยในเพิ่มขึ้นปีละ 5 – 24% ส่วนหนึ่งมาจากการเพิ่มของประชากรสูงอายุและพฤติกรรมการดำเนินชีวิตที่เสี่ยงให้เกิดโรค และมีการคาดการณ์ว่าภายในปี 2593 จะมีผู้ป่วยภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะในเอเชียแปซิฟิกมากถึง 72 ล้านคน ซึ่งมากเป็น 2 เท่าของจำนวนผู้ป่วยในทวีปยุโรป และอเมริกาเหนือรวมกัน

จากอุบัติการณ์ของโรคที่เพิ่มมากขึ้น ส่งผลให้ค่าใช้จ่ายในการดูแลรักษาผู้ป่วยภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะทั้งโดยตรงและโดยอ้อม ในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก เพิ่มขึ้นถึง 1.8 – 5.6 เท่า ทุกๆ 10 ปี อีกทั้งยังอาจส่งผลให้มีผู้ป่วยชาวเอเชีย 2.9 ล้านคน ประสบภาวะหลอดเลือดสมองอุดตันอันมีสาเหตุมาจากภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ

ขณะที่ประเทศไทย มีผู้ป่วยภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะจำนวนมากถึง 1.5 ล้านคน การแพร่หลายของโรคสอดคล้องกับอายุที่เพิ่มมากขึ้น โดยพบในประชากรอายุระหว่าง 65 – 74 ปี 1.5% ถัดมา คือ 75 – 84 ปี 2.2% และ 85 ปีขึ้นไป 2.8% ตามลำดับ สาเหตุและปัจจัยการเกิดโรค ได้แก่ อายุที่มากขึ้น (ผู้สูงอายุ) กลุ่มโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (NCDs) อาทิ ความดันสูง เบาหวาน รวมถึงภาวะไทรอยด์เป็นพิษ โรคหลอดเลือดหัวใจ โรคไตเรื้อรัง และหัวใจล้มเหลว

ภัยเงียบคุกคามชีวิต

อ.นพ.ธัชพงศ์ งามอุโฆษ สาขาวิชาโรคหัวใจ ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า โรคนี้เป็นกันเยอะยิ่งแก่ยิ่งเป็น ในอนาคตประชากรสูงวัยที่จะเพิ่มขึ้นทำให้อุบัติการณ์ของโรคนี้เพิ่มขึ้นไปด้วย มีการประมาณการณ์ว่า 0.2% ของประชากรในอินเดีย และ 1.4% ของออสเตรเลีย จะมีภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ ขณะที่ทั่วโลก 1 ใน 5 ของประชากรอายุ 70 ปี จะมีแนวโน้มเกิดภาวะดังกล่าวได้ และคาดว่าจะเพิ่มขึ้นในอนาคต

ทั้งนี้ ภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ ถือว่าเป็นภัยเงียบที่คุกคามชีวิต เนื่องจากกว่า 15 – 46% ของผู้ป่วยไม่มีอาการ ขณะที่มากถึง 65% มีอาการใจสั่น, 50% มีอาการอ่อนเพลีย นอกจากนี้ มากถึง 50% หายใจติดขัด และมากถึง 41% มีอาการแน่นหน้าอก

157244923530

อ.นพ.ธัชพงศ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า จากข้อมูลคนไข้ในประเทศไทยที่ใช้สิทธิประกันสุขภาพถ้วนหน้า และ ประกันสังคม พบว่า ผู้ป่วยที่นอนโรงพยาบาลและได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะอัตราการตายสูงกว่าเป็นมะเร็งเต้านม โดยหลังจากตรวจพบในปีแรก อัตราตายอยู่ที่ 18% และหลังจากตรวจพบ 5 ปีอัตราตายอยู่ที่ 44% ซึ่งหากรู้เร็วสามารถรักษาให้หายได้ แต่ส่วนใหญ่ไม่มีอาการ คนไข้มาครั้งแรกเป็นอัมพาตเลยก็มี ที่เหลือก็อาจจะมาด้วยอาการเหนื่อย ใจสั่น ภาวะหัวใจล้มเหลว น้ำท่วมปอดเนื่องจากความดันในหัวใจเยอะ

“คนไข้ที่มีความเสี่ยงสูง เช่น อายุเยอะ เบาหวาน ความดัน ไขมันสูง หัวใจล้มเหลว เคยเป็นอัมพฤกษ์ อัมพาตมาก่อน หากเราสามารถตรวจเจอก่อนได้ด้วยการเช็คด้วยตัวเอง คลำชีพจร ตรวจร่างกายสม่ำเสมอ ก็จะสามารถป้องกันการเกิดอัมพฤกษ์อัมพาตได้ ขณะเดียวกัน คนไข้ที่อายุน้อยก็เป็นได้ แต่ความเสี่ยงอัมพฤกษ์อัมพาต และเสียชีวิตจะน้อยกว่า”

รู้เร็ว รักษาทัน ลดกลับมาเป็นซ้ำ

ทั้งนี้ ในรายงานยังระบุด้วยว่า พบผู้ป่วย 10.7% มีอาการเรื้อรังขึ้นภายในระยะเวลาเพียง 1 ปี ดังนั้น กุญแจสำคัญในการรักษา คือ การตรวจพบโรคแต่เนิ่นๆ

157244923710

นพ.กุลวี เนตรมณี อายุรแพทย์โรคหัวใจและหลอดเลือด ผู้เชี่ยวชาญด้านสรีรวิทยาไฟฟ้าหัวใจ ศูนย์หัวใจเต้นผิดจังหวะ โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ อธิบายว่า การรักษาส่วนใหญ่จะเริ่มจากการใช้ยา ซึ่งมี 2 แบบ คือ 1.เพื่อควบคุมไม่ให้หัวใจเต้นเร็ว แต่ไม่ใช่เพื่อให้กลับมาเป็นปกติ และ 2. ยาที่ใช้เพื่อให้หัวใจเต้นปกติตลอดเวลา ซึ่งเป็นที่นิยม แต่ในช่วงหลังมีการวิจัย พบว่า การให้ยาทั้งสองกลุ่มไม่ต่างกัน และยังมีอัตราการเสียชีวิตและอัมพฤกษ์อัมพาตอยู่ ดังนั้น หากจะให้ยาทั้งสองกลุ่ม ต้องให้ยาป้องกันการแข็งตัวของเลือดร่วมด้วย

แต่การจะให้คนไข้ทานยาป้องกันการแข็งตัวของเลือดในระยะยาว ต้องให้คนไข้มาเช็คเลือดบ่อย ขณะที่ยาใหม่ซึ่งมีคุณภาพดีกว่าก็มีราคาแพง และทั่วโลกส่วนใหญ่พบว่าคนไข้ที่ทานต่อเนื่อง เริ่มทานยาไม่ถูกต้อง แต่ในช่วง 10 กว่าปีที่ผ่านมา มีเทคโนโลยีการใช้สายสวนเพื่อจี้กล้ามเนื้อหัวใจด้วยไฟฟ้า (Catheter Ablation) ซึ่งเป็นวิทยาการที่ถูกพัฒนาล่าสุด ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพของการรักษาภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ ซึ่งสามารถรักษาคนไข้ให้หายขาดได้เป็นส่วนใหญ่

“วิธีจี้กล้ามเนื้อหัวใจด้วยไฟฟ้า คล้ายกับทำบอลลูนหัวใจ แต่ก็ไม่เหมือนกันซะทีเดียว ซึ่งการรักษาตั้งแต่ในช่วงแรกที่พบโรคจะดีที่สุด อาจสำเร็จกว่า 90% และโอกาสที่จะกลับมาทำซ้ำน้อยลง แต่หากคนไข้ที่ป่วยมาในระยะเวลานาน 20-30 ปี การจะสำเร็จอาจจะน้อยลงอยู่ที่ราว 60% แต่ไม่ได้หมายความว่าทำไม่ได้ คนไข้ต้องยอมรับในผลการรักษาว่าอาจจะต้องทำมากกว่า 1 ครั้ง”

157244923696

ทั้งนี้ โอกาสเสี่ยงที่กลับมาเป็นซ้ำหลังจากการจี้กล้ามเนื้อหัวใจด้วยไฟฟ้าน้อยกว่า 3-4% ซึ่งต้องติดตามอาการในระยะ 6 เดือน – 1 ปี สาเหตุหลักที่กลับมาเป็นซ้ำส่วนใหญ่ คือ ไม่สามารถควบคุมการใช้ชีวิตของคนไข้ได้ คนไข้อาจจะไปสูบบุหรี่ มีความดันสูง ไม่ควบคุมความดัน อ้วนขึ้น ก็อาจจะกลับมาเป็นได้อีก แต่หากดูแลตัวเองดีๆ ผ่านไป 1 ปี โอกาสกลับมาเป็นอีกจะน้อยมาก และคนไข้มีชีวิตอยู่ได้ 10 – 20 ปีโดยไม่กลับมาเป็นอีก 

 

นพ.กุลวีย้ำว่า หากมีอาการใจสั่น ออกกำลังกายไม่ได้ จะเป็นลม ควรรีบมาพบแพทย์ วิธีการป้องกันที่ดีที่สุด คือ การดูแลสุขภาพ ออกกำลังกาย ไม่ใช่เฉพาะในกลุ่มเสี่ยง แต่เป็นสิ่งที่ทุกคนจะต้องทำ