สำเร็จขั้นแรก! เซลล์นักฆ่ามะเร็งเม็ดเลือดขาว

สำเร็จขั้นแรก! เซลล์นักฆ่ามะเร็งเม็ดเลือดขาว

"เซลล์นักฆ่ามะเร็งเม็ดเลือดขาว" งานวิจัยแพทย์จุฬาฯ ทดลองใช้ในคนระยะ 1 ผู้ป่วยรายแรกมีระยะปลอดโรคแล้ว 18 เดือน หวังช่วยคนไทยเข้าถึงมากขึ้น เผยต้นทุนถูกกว่าราคายาในตลาด 15 เท่า

      ในการแถลงข่าว "ก้าวอีกขั้น ! แพทย์จุฬาฯ พัฒนางานวิจัยภูมิคุ้มกันบำบัดมะเร็ง" จัดโดยคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มีการเปิดเผยความคืบหน้างานวิจัยใน 3 พันธกิจของศูนย์ ความเป็นเลิศด้านภูมิคุ้มกันบำบัดมะเร็ง ได้แก่ เซลล์บำบัดมะเร็ง วัคซีนโรคมะเร็ง และแอนติบอดีต้านมะเร็ง โดยอ.นพ.กรมิษฐ์ ศุภพิพัฒน์ หัวหน้ากลุ่มวิจัยเซลล์บำบัดมะเร็ง ศูนย์ความเป็นเลิศด้านภูมิคุ้มกันบำบัดมะเร็ง กล่าวถึงภารกิจของกลุ่มวิจัยภูมิคุ้มกันด้านเซลล์บำบัดว่า มุ่งเน้นไปยังงานวิจัย 2 เรื่อง คือ1. การพัฒนาเอ็นเค เซลล์ ( NK cell :Natural Killer cell) หรือ เซลล์นักฆ่า ซึ่งเป็นเซลล์ที่มีในร่างกายอยู่แล้วแต่มีปริมาณน้อย คุณสมบัติพิเศษของเซลล์นี้คือรู้ได้ว่าเซลล์ไหนเป็นมะเร็งและทำลายได้ โดยในปี 2561-2562 ได้ดำเนินโครงการนำร่องเพื่อศึกษาความเป็นไปได้และความปลอดภัยของการรักษาผู้ป่วยมะเร็งเม็ดเลือดขาวชนิดมัยอิลอยส์ที่ความเสี่ยงสูงด้วยเซลล์นักฆ่าจากผู้บริจาคแก่ผู้ป่วยจำนวน 10 ราย โดยเป็นผู้ป่วยที่ไม่ตอบสนองต่อการรักษาอื่นหรือผู้ป่วยที่โรคกลับเป็นซ้ำหลังปลูกถ่ายไขกระดูก และใช้เซลล์นักฆ่าจากผู้บริจาคที่มีพันธุกรรมตรงกันครึ่งหนึ่ง ก็คือ พ่อ แมา พี่น้องของผู้ป่วย
         จากการดำเนินโครงการนำร่อง ทดลองในผู้ป่วยนั้น ศูนย์ฯ ประสบความสำเร็จในการผลิตเซลล์นักฆ่าจากผู้บริจาคให้มีจำนวน คุณภาพ และความปลอดภัย ผ่านเกณท์มาตรฐานของการใช้เซลล์ทางคลินิกภายในห้องปฏิบัติการปลอดเชื้อพิเศษสำหรับการผลิตเซลล์เพื่อใช้ทางคลินิก และยังพบว่าการรักษาด้วยเซลล์นักฆ่าจากผู้บริจาคในผู้ป่วยกลุ่มนี้    มีความปลอดภัยสูงและมีผลข้างเคียงอยู่ในระดับที่ควบคุมได้ โดยผู้ป่วยรายแรกที่เข้าร่วมโครงการนั้น มีระยะปลอดโรคนานถึง 18 เดือนแล้วหลังจากได้รับเซลล์นักฆ่า จากปกติผู้ป่วยกลุ่มที่มีข้อบ่งชี้เดียวกับผู้ป่วยกลุ่มทดลองนั้นโอกาสมีระยะปลอดโรคเกิน 1 ปีเท่ากับ 0 ศูนย์มีความมุ่งหวังจะดำเนินโครงการวิจัยทางคลินิกระยะที่ 1 และ 2 ต่อไปในปี 2563 ด้วยการเพิ่มจำนวนผู้ป่วยในการทดลองมากขี้น เพื่อศึกษาความปลอดภัยและประสิทธิภาพของการรักษาผู้ป่วยมะเร็งเม็ดเลือดขาวเพื่อเพิ่มโอกาสการเข้าถึงการรักษาดังกล่าวแก่ผู้ป่วยกลุ่มที่เหมาะสมต่อไปในอนาคต
       และ2.ศูนย์ได้เริ่มพัฒนา การรักษามะเร็งเม็ดเลือดขาวและมะเร็งต่อมน้ำเหลืองชนิดลิมฟอยส์ด้วยคาร์ ที เซลล์(CAR T cell: Chimeric Antigen Receptor T cell)ร่วมกับ มหาวิทยาลัย นาโกย่า ประเทศญี่ปุ่น โดย CART cell คือเม็ดเลือดขาวของผู้ป่วยที่ถูกดัดแปลงพันธุกรรมให้มีความจำเพาะต่อมะเร็ง ซึ่งทำให้สามารถควบคุมมะเร็งเม็ดเลือดขาวชนิดลิมฟอยส์ที่กลับเป็นซ้ำหรือไม่ตอบสนองต่อการรักษามาตรฐานได้สูงถึง 80-90% การรักษาดังกล่าวได้รับการขึ้นทะเบียนแล้วในสหรัฐอเมริกาและยุโรป แต่มีค่าใช้จ่ายสูงถึง 10-15 ล้านบาท
           ศูนย์ฯ จึงได้มีความร่วมมือกับมหาวิทยาลัย นาโกย่า ในการพัฒนาผลิต CAR T cell ที่มีประสิทธิภาพสูงแต่ต้นทุนการผลิตต่ำเพื่อเพิ่มโอกาสในการเข้าถึงการรักษาแก่ผู้ป่วยชาวไทย ซึ่งการทดสอบในหลอดทดลองและในสัตว์ทดลองพบว่าเซลล์ที่ผลิตด้วยวิธีใหม่นี้มีประสิทธิภาพสูงในการทำลายเซลล์มะเร็งเม็ดเลือดขาวเทียบเท่ากับที่าการจำหน่ายอยู่ โดยในงานวิจัยมีต้นทุน 5แสน-1ล้านบาท และมีความปลอดภัยในสัตว์ทดลอง ทางศูนย์ฯ มีความมุ่งหวังจะเริ่มต้นดำเนินการวิจัยทางคลินิกในระยะที่ 1 แก่ผู้ป่วย 12 รายตั้งแต่ช่วงต้นปี 2563 ปัจจุบันโครงการวิจัยดังกล่าวอยู่ระหว่างการพิจารณาอนุมัติ จากคณะกรรมการจริยธรรมการวิจัยในมนุษย์ฯ ทั้งนี้ หากวิจัยสำเร็จมุ่งหวังว่าจะสามารถใช้รักษาผู้ป่วยได้ในค่าใช้จ่ายที่ไม่สูงกว่าการปลูกถ่ายไขกระดูกอยู่ที่ 1-5ล้านบาท
   

   ศ.ดร.พญ.ณัฏฐิยา หิรัญกาญจน์ ผู้อำนวยการศูนย์ความเป็นเลิศด้านภูมิคุ้มกันบำบัดมะเร็ง     คณะแพทยศาสตร์ จุฬาฯ กล่าวว่า คณะได้จัดกิจกรรมต่างๆ อย่างต่อเนื่องทั้งเพื่อระดมทุนสนับสนุนและเพื่อให้ความรู้ ที่ถูกต้องแก่ประชาชน ล่าสุดจะจัดกิจกรรมงานวิ่งการกุศล "Chula Cancer Run ก้าว...ทันมะเร็ง"ในวันอาทิตย์ที่ 15 ธันวาคม 2562 ณ สนามกีฬาจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผู้สนใจสมัครได้ที่ https://race.thai.run/chulacancerrun หรือผู้ที่ต้องการจะร่วม บริจาคเพื่อการวิจัยสามารถบริจาค เข้าบัญชีธนาคารไทยพาณิชย์ “คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย​ (เงินบริจาคเพื่อการวิจัย) เลขที่ 045-304669-7 (กระแสรายวัน) ผู้ที่ต้องการใบเสร็จเพื่อลดหย่อนภาษีได้2เท่า ขอให้กรอกข้อมูลขอใบเสร็จมาทาง online http://canceriec.md.chula.ac.th/donation/