“องค์กรครู” ยกระดับเคลื่อนไหวค้านยุบ สพท. เล็งล่ารายชื่อ รับฟังความคิดเห็นครูทั่วประเทศ
“กลุ่มข้าราชการและบุคลากรของสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาทั่วประเทศ (สพท.)“ เดินหน้าร้องให้ กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ทำตามข้อเรียกร้อง ค้านยุบ สพท. เล็งล่ารายชื่อ รับฟังความคิดเห็นครูทั่วประเทศ
ไม่ได้มาเล่นๆ สำหรับ “กลุ่มข้าราชการและบุคลากรของสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาทั่วประเทศ(สพท.)“ ที่เดินหน้าให้มีกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ทำตามข้อเรียกร้อง ตั้งแต่ดำเนินการปรับปรุงแก้ไข พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ ต้องการขอคืนใบประกอบวิชาชีพครู ไม่เอาใบรับรองความเป็นครู ขอคืนตำแหน่งผู้อำนวยการสถานศึกษากลับมาคืนมาไม่เอาตำแหน่งครูใหญ่ ขอพื้นที่ให้บุคลากรทางการศึกษาอื่นๆ และขอให้การปรับโครงสร้างของศธ.จะไม่เป็น Single Command รวมถึงขอแยกงานบุคคลออกจากคณะกรรมการศึกษาธิการจังหวัด (กศจ.). และขอให้รัฐสภา และนายกรัฐมนตรี ออกพ.ร.บ.ยกเลิกคำสั่งที่ 19/2560 และที่ 16/2560 ของ คณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.)
จนก่อให้เกิดการตั้งคณะทำงานจัดทำข้อเสนอโครงสร้างการแบ่งส่วนราชการสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน(สพฐ.)ขึ้น ศึกษาวิเคราะห์ ทบทวน บทบาท ภารกิจ และการจัดทำโครงสร้างของสพฐ. เพื่อให้เป็นตามแนวทางการวิเคราะห์ภารกิจภาครัฐ สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ กฎหมาย นโยบายของรัฐบาล รองรับบริบทการเปลี่ยนแปลงการบริหารราชการแผ่นดิน และการปรับปรุงโครงสร้างของกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.)
ล่าสุดคณะกรรมาธิการการศึกษาสภาผู้แทนราษฎรได้ประชุมพิจารณาข้อร้องเรียนของสมาคมนักบริหารการศึกษาขั้นพื้นฐานแห่งประเทศไทย พร้อมเครือข่ายเกี่ยวกับการปรับโครงสร้างของศธ. โดยเชิญปลัดศธ.มาให้ข้อมูล โดยมีข้อสรุป ดังนี้ ปลัดศธ.ชี้แจงต่อที่ประชุมว่าประชุมกระทรวงศึกษาธิการครั้งที่1/62 เมื่อวันที่ 28 ต.ค.2562 มีมติให้ส่วนราชการที่เกี่ยวข้องไปยกร่างโครงสร้างของตนเองมานำเสนอครั้งต่อไป และที่ผ่านมายังไม่เคยคิดยุบสพท.แต่ณัฏฐพล ทีปสุวรรณ รมว.ศึกษาธิการ ให้นโยบายซ้ำซ้อนให้แก้ไข
ในที่ประชุมคณะกรรมาธิการการศึกษาหลายท่านได้มีการซักถามถึงการยุบหรือไม่ยุบ เขตพื้นที่การศึกษา ซึ่งปลัดศธ. ได้ชี้แจงว่าสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) หรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องแจ้งว่าถ้ามีกศจ.ก็ต้องไม่มีสพท. โดยหลังจากประชุมการปรับโครงสร้างศธ.ครั้งต่อไป จะเชิญมาชี้แจงต่อคณะกรรมาธิการการศึกษาอีกครั้ง
“ธนชน มุทาพร” ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาชัยภูมิ เขต 1 และประธานชมรมผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า จากการประชุมดังกล่าว องค์กรครูที่ออกมาเรียกร้องเรื่องนี้ มองว่าโดยรวมศธ.มีธงจะยุบสพท.แน่นอน เพียงแต่เห็นองค์กรครูออกมาเคลื่อนไหวจึงชะลอไว้ และถ้าพลังองค์กรครูอ่อนแอหรือหลงกลเมื่อใด เชื่อแน่ว่า กระทรวงจะเดินหน้าปรับโครงสร้างยุบสพท.ทันที
ดังนั้น หลังจากนี้ กลุ่มองค์กรครูจะมีการเคลื่อนไหวต่างๆ อย่างต่อเนื่อง อาทิ จะมีการล่ารายชื่อครูและบุคลากรที่เกี่ยวข้อง พร้อมจัดทำแบบสำรวจเพื่อรับฟังความคิดเห็นจากครู 4 แสนคนทั่วประเทศ ฟังเสียงครูส่วนใหญ่ประกอบกับการจัดทำข้อเสนอต่างๆ ว่าโครงสร้างควรจะเป็นอย่างไร ซึ่งเชื่อมั่นว่าครูจะเห็นด้วยกับการใช้ พรบ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ.2542 ก่อนมีคำสั่ง หัวหน้า คสช.แต่จะให้เพิ่มเขตมัธยมเพิ่มขึ้นครบทุกจังหวัดหรือใกล้เคียง
“สำหรับโครงสร้างกระทรวงนั้น ยืนยันว่า จะขอเป็นโครงสร้างเดิม คือคงแท่ง สพฐ.ไว้เหมือนเดิม แต่ถ้ากระทรวงศึกษาธิการยังยืนยันจะให้ สพฐ.เป็นกรมในสังกัด สป.ศธ. พวกเราจะขอแยกตัวออกมาตั้งเป็นทบวงการศึกษาขั้นพื้นฐานทันที และขณะนี้ได้มอบหมายผู้รับผิดชอบไปยกร่างพระราชบัญญัติ(พ.ร.บ.) ที่เกี่ยวข้อง และจะเร่งเสนอกฎหมาย 2 ฉบับก่อนคือ พรบ.ยกเลิกคำสั่งหัวหน้า คสช.ที่เกี่ยวกับการปฏิรูปการศึกษา คือคำสั่งที่ 16/2560 ยกเลิกทั้งฉบับ ส่วน คำสั่งที่ 19/2560 ปรับปรุง ยกเลิกเฉพาะ และพรบ.ระเบียบข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา พ.ศ.2547 โดยจะขอแก้ไขเป็นรายมาตรา ที่เน้นแก้ไขงานซ้ำซ้อนกับ กศจ.ที่เกี่ยวกับงานบุคคลที่เกี่ยวกับงานบุคคล หลังจากนั้นจะมอบหมายผู้รับผิดชอบประสานงานกับแกนนำพรรคการเมืองทุกพรรค”ธนชน กล่าว
อย่างไรก็ตามเมื่อวัันที่ (6 พ.ย.) มีการประชุม สมาคมนักบริหารเขตพื้นที่การศึกษาแห่งประเทศไทย สมาคมผู้บริหารเขตพื้นที่การศึกษาแห่งประเทศไทย สมาคมผู้บริหารสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษาประเทศไทย และชมรมผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาแห่งประเทศไทย ทีห้องประชุม 2 โรงเรียนตราษตระการคุณ จังหวัดตราด โดยมีนายไพศาล ปันแดน ผอ.สพป.สุพรรณบุรี เขต 1 นายกสมาคมนักบริหารเขตพื้นที่การศึกษาแห่งประเทศไทย เป็นประธานการประชุม
ที่ประชุมมีการพิจารณาแนวทางการขับเคลื่อนการปรับปรุง โครงสร้างกระทรวงศึกษาขององค์กรครูสายงานผู้บริหารการศึกษา ซึ่งที่ประชุมมีมติให้แต่งตั้งคณะยกร่าง พรบ.ที่เกี่ยวข้องทั้ง 4 ฉบับ คือ 1.ร่าง พรบ.การศึกษาแห่งชาติ 2.ร่าง พรบ.การศึกษาขั้นพื้นฐาน 3.ร่างแก้ไขปรับปรุง 4.พรบ.ระเบียบข้าราชการครูฯ เป็นรายมาตราที่เกี่ยวข้องกับการแก้ปัญหาความทับซ้อนระหว่าง สพท.และ กศจ. และให้มี อ.ก.ค.ศ.สพฐ.และ พรบ.ยกเลิกคำสั่งหัวหน้า คสช.ที่เกี่ยวข้องกับการปฎิรูปการศึกษา
โดยเฉพาะร่าง พรบ.การศึกษาแห่งชาติให้คงไว้ใน 4 ประเด็นหลัก คือ 1.คงไว้ซึ่งใบประกอบวิชาชีพครู 2.)คงไว้ซึ่งตำแหน่งผู้อำนวยการสถานศึกษา 3.)กำหนดให้บุคลากรทางการศึกษาอื่นตามมาตรา 38 ค (2)ใน พรบ.การศึกษาแห่งชาตืให้ชัดเจน และให้มีเส้นทางความก้าวหน้าเช่นเดียวกันกับข้าราชการคร 4.ให้รัฐสภาเป็นผู้ออกกฎหมายระเบียบบริหารราชการกระทรวงศึกษาธิการ โดยยกเลิกหรือปรับปรุงมาตรา 99 ของร่าง พรบ.การศึกษาแห่งชาติ โดยให้เน้นการกระจายอำนาจ ให้ สพฐ. เขตพื้นที่การศึษา และสถานศึกษาให้เข้มแข็ง ตามแนวทาง พรบ.กศ.แห่งชาติ พ.ศ.2542 คือให้คงแท่งสพฐ.ไว้เหมือนเดิม ตามหลักการ มีเอกภาพตามนโยบาย แต่หลากหลายการปฏิบบัติ
รวมทั้งเสนอให้ดำเนินการตามรัฐธรรมนูญมาตรา 133 (3) คือการเข้าชื่อเสนอกฎหมายสองฉบับก่อน คือ พรบ.ยกเลิกคำสั่งหัวหน้า คสช.ที่เกี่ยวข้องกับการปฏืรูปการศึกษา และร่างแก้ไขปรับปรุง พรบ.ระเบียบข้าราชการครู ฯ รายมาตรา โดยจะทำควบคู่กันกับการเสนอตามมาตรา 133 (1) (2) ของรัฐธรรมนูญ
นอกจากนั้นเมื่อเร็วๆ นี้ สมาพันธ์สมาคมครูแห่งประเทศไทย (ส.ค.ท.)ได้มีรับฟังความคิดเห็น “เวทีครูคิดวันปิดภาคเรียน” ซึ่งได้เก็บแบบสอบถามระหว่างวันที่ 27 ต.ค.-1 พ.ย.2562 มีจำนวนผู้ตอบแบบสอบถาม 3,269 คน แบ่งเป็น ผู้บริหารการศึกษา 234 คน ผู้บริหารสถานศึกษา 852 คน ครูและพนักงานราชการปฏิบัติการสอน 1,727 คน และเจ้าหน้าที่ ลูกจ้างประจำและบุคลากรทางการศึกษาอื่น456 คน พบว่า ครูและบุคลากรทางการศึกษา เห็นด้วย 88.3% ให้ยกเลิกคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 19/2560 ให้กระจายอำนาจการบริหารจัดการศึกษาไปยังสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษา(สพป.)สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา (สพม.)และให้สถานศึกษาเป็นนิติบุคคลเน้นการกระจายอำนาจ และมีผู้แทนผู้ประกอบวิชาชีพครู และบุคลากรทางการศึกษาทุกระดับตามเจตนารมณ์ของพ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542
เห็นด้วย 74.1% ยกเลิกมติคณะรัฐมนตรี (7 ต.ค.2562) เรื่อง ให้สพฐ. พิจารณาดำเนินการควบรวมโรงเรียนขนาดเล็กที่มีระยะทางห่างจากโรงเรียนในสังกัดสพฐ. ในตำบลเดียวกันน้อยกว่า 6 กิโลเมตร เห็นด้วย 95.7% ให้รมว.ศึกษาธิการ รีบดำเนินการให้มีการสรรหาคณะกรรมการคุรุสภา ตามมาตรา 12 และดำเนินการสรรหาคณะกรรมการส่งเสริมสวัสดิการและสวัสดิภาพครู และบุคลากรทางการศึกษาตามมาตรา 64 ของพ.ร.บ.สภาครูและบุคลากรทางการศึกษา พ.ศ. 2546 โดยเร็วที่สุด และเห็นด้วย93.9% ให้นำพ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542 มาปรับปรุงใช้แทนร่างพ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติฉบับของรัฐบาล
นายธนชน กล่าวทิ้งท้ายว่า นอกจากนั้น กลุ่มได้มีกำหนดแนวทางในการสนับสนุนในเรื่องต่างๆ เพิ่มเติม คือ 1.จะไม่มีการอบรมผู้สอบคัดเลือกรอง ผอ.สพป/ สพท. ทั้งๆ ที่ สพฐ.มีงบประมาณมีวิทยากรมีหลักสูตร มีสถานที่พร้อมอบรมหมดทุกอย่างแล้วยังเหลือแต่รัฐมนตรีดึงเรื่องไว้ 2 ไม่คืนตำแหน่งเกษียณของ ผอ.เขต รองผอ.เขต และ 38 ค(2) ให้กับเขตพื้นที่ ทั้งที่เขตพื้นที่การศึกษาทุกแห่งขาดแคลนบุคลากรดังกล่าว ซึ่งจะส่งผลต่อการขับเคลื่อนคุณภาพการศึกษาในช่วงก่อนสอบโอเน็ตเร็วๆนี้ ดังนั้นสมาคม/ ชมรม และเครือข่ายองค์กรครูทั่วประเทศจะเพิ่มมาตรการเพื่อกดดันให้ผู้มีอำนาจได้ยุติแนวคิดยุบเลิกเขตพื้นที่ และที่สำคัญจะทำการประชาสัมพันธ์ข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาในสังกัดเข้าใจ