ควบรวมร.ร.ขนาดเล็ก ทางออกหรือซ้ำเติมคุณภาพการศึกษา?
มติจากครม.ออกมาอย่างชัดเจนว่าให้มี “ควบรวม” โรงเรียนขนาดเล็กในสังกัดสพฐ.ที่มีระยะทางห่างจากโรงเรียนในสังกัด สพฐ.ในตำบลเดียวกันน้อยกว่า 6 กิโลเมตร (กม.)ให้บังเกิดผล
โดยให้เหตุผลว่าเพื่อยกระดับคุณภาพการศึกษาให้เพิ่มสูงขึ้น เพิ่มประสิทธิภาพการจัดการเรียนการสอน และลดภาระค่าใช่จ่ายงบประมาณด้านบุคลากรและการบริหารจัดการลง
เมื่อวันที่ 19 พ.ย.2562 ที่ผ่านมา นายอำนาจ วิชยานุวัติ เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน(กพฐ.) ได้ลงนามในหนังสือแจ้งไปยังผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษา (สพป.)ทุกเขต และผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา(สพม.) ทุก เพื่อให้ดําเนินการตามมติดังกล่าว
ขณะที่ “นายประเสริฐ บุญเรือง ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ(ศธ.)"ได้ลงนามแต่งตั้งคณะทำงานจัดทำแผนบริหารจัดการโรงเรียนขนาดเล็กในภาพรวมของกระทรวงศึกษาธิการ เพื่อมอบหมายให้สำนักงานศึกษาธิการจังหวัดทุกจังหวัดร่วมมือกับสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาและสถานศึกษา รวมทั้งภาคีเครือข่ายที่เกี่ยวข้องจัดทำแผนบริหารจัดการโรงเรียนขนาดเล็ก มีการกำหนดเป้าหมาย ระยะเวลาและแนวทางการดำเนินงานอย่างขัดเจน ให้แล้วเสร็จภายใน6สัปดาห์
ว่ากันว่า “การควบรวมโรงเรียนขนาดเล็ก” เป็นโรงเรียนที่ถูกตั้งคำถามเรื่องคุณภาพ และความคุ้มค่าในการใช้ทรัพยากร ส่งผลให้กระทรวงศึกษาธิการ มีนโยบายต้องการยุบ ควบรวม โรงเรียนขนาดเล็กมาโดยตลอด อาทิ ปี 2554 ต้องการยุบโรงเรียนขนาดเล็ก 7,000 แห่งภายในปี 2561 เป็นต้น
นายสมพงษ์ จิตระดับ ผู้อำนวยการศูนย์วิชาการและเครือข่ายวิชาการด้านเด็ก เยาวชน และครอบครัว กล่าวว่าการยุบ ควบรวมโรงเรียนขนาดเล็ก กำลังเป็นการละเมิดสิทธิเด็กและชุมชนอย่างร้ายแรง เพราะโรงเรียนขนาดเล็กไม่ได้เกิดจากภาครัฐ แต่เกิดจากความร่วมมือของภาคประชาสังคม ชุมชนเพื่อพัฒนาการศึกษาของเด็กในชุมชนท้องถิ่น
"จุดเริ่มต้นการสร้างโรงเรียนขนาดเล็ก เป็นเรื่องที่ดีมาก แต่ที่โรงเรียนขนาดเล็กมีคุณภาพแย่ลง เพราะนโยบายจากภาครัฐ กระทรวงศึกษาธิการทั้งเรื่องการบรรจุครู การแต่งตั้งผู้บริหาร ไม่มีนวัตกรรมการเรียนการสอนใหม่ๆ การดึงเด็กออกจากชุมชนไปเรียนในเมือง และเมื่อผู้ปกครองไม่เชื่อมั่นในโรงเรียนขนาดเล็ก เกิดอุปทานหมู่ว่าโรงเรียนขนาดเล็กด้อยคุณภาพ ทั้งที่จริงๆ แล้วสิ่งที่ทำให้เกิดปัญหามาจากระบบราชการที่บริหารจัดการไม่ดี”นายสมพงษ์ กล่าว
ศธ.ต้องประเมินตนเองว่าโรงเรียนขนาดเล็กที่ไม่มีคุณภาพเกิดจากอะไร อย่าโทษว่าเด็กเกิดน้อย เพราะนั่นเป็นเพียงประเด็นหนึ่งเท่านั้น
นายสมพงษ์ กล่าวต่อว่าจากงานวิจัยยืนยันว่าสามารถพัฒนาโรงเรียนขนาดเล็กให้ฟื้นกลับมามีคุณภาพได้ โดยนำปัจจัยต้นทุนประวัติศาสตร์ ความเป็นเจ้าของในชุมชน ผู้บริหารโรงเรียน ครูต้องไม่คิดการโยกย้าย แต่ครูและผู้บริหารโรงเรียนต้องทำงานร่วมกับชุมชม ครูต้องเป็นคนในพื้นที่ และต้องมีนวัตกรรมแก้ปัญหาการศึกษา ต้องจัดการเรียนการสอนโดยให้ชุมชนเป็นฐาน มีปฎิสัมพันธ์ ความมีส่วนร่วมของชุมชน และโรงเรียนต้องเป็นนิติบุคคลอย่างจริงจัง
การยุบ ควบรวมโรงเรียนนอกจากการประหยัดงบประมาณและประสิทธิภาพของบุคลากร “นายสมพงษ์”อยากให้มองมิติด้านชุมชน เพราะการศึกษาต้องช่วยลดความเหลื่อมล้ำ แต่สิ่งที่ทำให้ กลับยิ่งทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำมากขึ้น โดยเฉพาะในกลุ่มของเด็กยากจนและมีผู้ปกครองที่พึ่งตนเองไม่ได้ ซึ่งมีประมาณเกือบ 5-6 แสนคน อยากฝากนายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ รมว.ศึกษาธิการทบทวนในเรื่องนี้ให้ดี อย่ามองเพียงในกระทรวง และเชื่อข้อมูลจากข้างบนเท่านั้น อยากให้มองไปถึงชุมชน เด็ก และผู้ปกครองด้วย
ปัจจุบันข้อมูลของสพฐ. ในปี 2562(ข้อมูล ณ วันที่ 10 มิ.ย. 2562) ระบุว่า มีจำนวนโรงเรียนขนาดเล็กในประเทศไทย ทั้งหมด 15,158 โรง มีจำนวนครูที่สอนอยู่ในโรงเรียนขนาดเล็ก 103,079 คน และมีนักเรียน 981,831 คน อัตราส่วนครูต่อนักเรียน 1:10
ด้าน น.ท.สุมิตร สุวรรณ รองคณบดี คณะศึกษาศาสตร์และพัฒนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ (มก.) กล่าวว่าโดยส่วนตัวเห็นด้วยกับการควบรวมโรงเรียนขนาดเล็ก มีแนวโน้มจะทำให้คุณภาพการศึกษาดีขึ้น แต่ต้องใช้เวลา และต้องเลือกพื้นที่ที่เหมาะสม ซึ่งโรงเรียนขนาดเล็กที่อยู่ในพื้นที่ห่างไกล ภูเขา หรือตามเกาะต่างๆ ต้องคงไว้ เพื่อไม่ให้เด็กและผู้ปกครองเดือนร้อน
ส่วนโรงเรียนขนาดเล็กที่สามารถควบรวมได้ ก็ต้องคำนึงถึงผู้ปกครอง เด็ก ครูและผู้อำนวยการโรงเรียนต้องไม่เดือดร้อน ต้องไม่เป็นการผลักภาระให้ใคร โดยต้องมีมาตรการต่างๆ คอยช่วยเหลือ เช่น จัดรถรับส่งไม่ให้กระทบกับการเดินทาง เป็นต้น
ขณะที่ฝั่งผู้ปฏิบัติงาน นายธนชน มุทาพร ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษา (สพป.) ชัยภูมิ เขต 1 ในฐานะประธานชมรมผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาแห่งประเทศไทย (ชร.ผอ.สพท.) กล่าวว่าการควบรวมโรงเรียนขนาดเล็กนั้น เรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องใหม่และเป็นเรื่องที่ทางเขตพื้นที่การศึกษาแต่ละแห่งได้มีการดำเนินการอยู่แล้ว
โดยยึดตามระเบียบกระทรวงศึกษาธิการ ว่าด้วยการจัดตั้ง รวม หรือเลือกสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน พ.ศ.2550 ภายใต้การทำงานโดยมีหลักการชัดเจนว่าต้องไม่กระทบต่อสิทธิ์ของเด็ก ครู ผู้อำนวยการโรงเรียน ประชาชนชุมชนทุกคน ดังนั้น การจะยุบรวมหรืออะไรก็ตามต้องผ่านความเห็นชอบจากทุกฝ่าย และไม่เป็นการสร้างปัญหาให้แก่เด็ก ผู้ปกครอง ครู และผู้อำนวยการโรงเรียน รวมถึงชุมชน
ดังนั้น การควบรวมโรงเรียนขนาดเล็กเพื่อประโยชน์ของเด็กนักเรียน ครู ผู้ปกครอง ชุมชน เป็นเรื่องปกติที่เขตพื้นที่ทำอยู่แล้ว เมื่อมีมติคณะรัฐมนตรีชัดเจนก็จะทำให้ง่ายขึ้น