“โรคหัวใจและหลอดเลือด” ติด 5 อันดับปัญหาสุขภาพคนไทย
โรคหลอดเลือดสมองและโรคหลอดเลือดหัวใจ เป็น 2 ใน 5 อันดับแรกของปัญหาสุขภาพของคนไทย และเป็น 5 อันดับแรกของสาเหตุการเสียชีวิตในกลุ่มผู้เป็นโรคเรื้อรัง
จากรายงาน Healthy Hearts, Healthy Aging ฉบับประเทศไทย ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของโครงการการจัดทำรายงาน Healthy Hearts, Healthy Aging ในระดับภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก จัดทำโดย ไบเออร์ และ NUS Enterprise หน่วยงานในสังกัดมหาวิทยาลัยแห่งชาติสิงคโปร์ เพื่อวิเคราะห์ผลกระทบที่เพิ่มขึ้นจากโรคหัวใจและหลอดเลือดกับการก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุของประเทศไทย ชี้ให้เห็นถึงความสำคัญของนวัตกรรมสุขภาพ และข้อเสนอแนะในการนำวิธีการรักษาเชิงป้องกันที่เหมาะสม
ในรายงานระบุว่าแนวโน้มการก้าวเข้าสู่สังคมสูงวัยในประเทศไทย อายุที่มากขึ้นนำมาซึ่งปัญหาด้านสุขภาพ ภาวะโรคเรื้อรัง ภาวะทุพพลภาพที่เป็นผลจากการเป็นโรค รวมถึงโรคไม่ติดต่อ อาทิ โรคหัวใจ โรคมะเร็ง โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง และโรคอ้วน คิดเป็นกว่า 70% ของการเสียชีวิตทั้งหมดในประเทศไทย มีรายงานว่ากว่า 50% ของประชากรผู้สูงอายุในประเทศไทยต้องทนทุกข์ทรมานกับโรคเรื้อรังอย่างน้อย 1 โรค และในปี 2558 โรคหัวใจและหลอดเลือดเป็นสาเหตุของการเสียชีวิตถึง 23 % ของจำนวนผู้เสียชีวิตทั้งหมด
ทั้งนี้ “โรคหัวใจและหลอดเลือด” แสดงถึงความผิดปกติต่างๆ ของหัวใจและหลอดเลือด เช่น ภาวะหัวใจห้องบนสั่นพริ้ว (Atrial Fibrillation: AF) และโรคหลอดเลือดสมอง (Stroke) โดยที่โรคหัวใจห้องบนสั่นพริ้ว (AF) หรืออาการที่หัวใจเต้นผิดจังหวะ เป็นอาการที่ทำให้สมองมีความเสี่ยงจากการขาดเลือดจากการอุดตันของเส้นเลือดเพิ่มขึ้นถึง 5 เท่า โรคหลอดเลือดสมอง (Stroke) จากภาวะ AF มีอาการรุนแรง สามารถทำให้ผู้ป่วยมากกว่า 50% ต้องทุพพลภาพ
- 2ใน5ปัญหาสุขภาพคนไทย
ริอาซ บัคซ ผู้จัดการทั่วไป กลุ่มธุรกิจฟาร์มาซูติคอล บริษัท ไบเออร์ไทย จำกัด กล่าวภายในงาน Healthy Hearts Healthy Aging…หัวใจสุขภาพดี สูงวัยอย่างแข็งแรง ที่ว่าจากข้อมูลแผนยุทธศาสตร์ระดับชาติระยะ 20 ปี ด้านสาธารณสุข พบว่าโรคหลอดเลือดสมอง และโรคหลอดเลือดหัวใจ เป็น 2 ใน 5 อันดับแรก ของปัญหาสุขภาพของคนไทย และเป็น 5 อันดับแรกของสาเหตุการเสียชีวิตในกลุ่มผู้เป็นโรคเรื้อรัง โดยอัตราการเสียชีวิตจากโรคหลอดเลือดหัวใจ (CHD) เพิ่มขึ้น 24% และอัตราการเสียชีวิตจากโรคหลอดเลือดสมอง (stroke) เพิ่มขึ้น 19.7% ในช่วงระหว่างปี 2550 ถึงปี 2560 ในประเทศไทย
อย่างไรก็ตาม ผู้ป่วยในกรณีทุพพลภาพจากการเป็นโรคหัวใจและหลอดเลือดเป็นอีกหนึ่งประเด็นที่ควรให้ความสำคัญ ในช่วงปี 2550-2560 มีรายงานว่า ทั้งโรคหลอดเลือดหัวใจและโรคหลอดเลือดสมอง เป็น 1 ใน 10 อันดับของสาเหตุการเสียชีวิตและพิการในดัชนีวัดความสูญเสียทางสุขภาพ
จากข้อมูลของสำนักงานสถิติแห่งชาติ ในประเทศไทย พบว่าจำนวนผู้ป่วยในจากโรคหัวใจที่รุนแรง เช่นโรคหัวใจวาย มีมากกว่า 84,000 คนในปี 2560 เพิ่มขึ้น 25% จาก 67,000 คนในปี 2556 และจำนวนผู้ป่วยในจากโรคหลอดเลือดสมองที่เข้ารับการตรวจรักษา มีมากกว่า 26,000 คนในปี 2560 เพิ่มขึ้นมากกว่า 50% จาก 17,000 คนในปี 2556
บัคซ กล่าวเพิ่มเติมว่า หลายทศวรรษที่ผ่านมา การวิจัยทางการแพทย์ทำให้เกิดความก้าวหน้าทั้งด้านการรักษา การวินิจฉัย การผ่าตัด และยา ซึ่งผลการรักษาทำให้อุบัติการณ์การรักษาดีขึ้น เช่น การใช้ยาในกลุ่มต้านการแข็งตัวของเลือดชนิดรับประทานที่ไม่ได้ออกฤทธิ์ต้านวิตามินเค (NOAC) ใช้รับประทานร่วมกับยาต้านเกล็ดเลือด ให้ผลในเชิงบวก ในการป้องกันโรคหลอดเลือดสมอง ในคนไข้ที่เป็นโรคหัวใจเต้นระริก สามารถลดอัตราการเสียชีวิต และช่วยผู้ป่วยโรคหัวใจและหลอดเลือดให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นได้
“ระบบจ่ายร่วม”เพิ่มการเข้าถึงยา
อย่างไรก็ตาม การพัฒนายาและนวัตกรรมการรักษา ย่อมมาพร้อมกับต้นทุนด้านสาธารณสุขที่แพงขึ้น เกิดปัญหาการเข้าถึงยาใหม่ๆ ของผู้ป่วยในประเทศไทยที่ยังไม่ทั่วถึง เนื่องจากสิทธิการรักษาทั้ง 3 สิทธิ ไม่ว่าจะเป็น สิทธิประกันสังคม สิทธิประกันสุขภาพถ้วนหน้า และสิทธิข้าราชการ ครอบคลุมเพียงยาในบัญชียาหลัก และใช้ยาใหม่ได้ในบางกรณีเท่านั้น
นพ.วศิน พุทธารี หัวหน้าห้องปฏิบัติการสวนหัวใจ ศูนย์โรคหัวใจ โรงพยาบาลจุฬาภรณ์ สภากาชาดไทย กล่าวว่า ในปีที่ผ่านมาพบผู้ป่วยโรคหลอดเลือดหัวใจกว่า 4 แสนคน เสียชีวิตราว 2 หมื่นคนต่อปี หรือ 2 คนต่อ 1 ชม. ส่งผลกระทบต่อผู้ป่วย คนรอบข้าง และสังคม ประเด็นคือ สิ่งเหล่านี้ป้องกันได้ หากเริ่มเป็นก็ป้องกันไม่ให้เป็นมากถึงอัมพาต แต่ประเทศไทยขาดข้อมูลบิ๊กดาต้าผลการรักษาภาพรวมของประเทศ มีแต่ข้อมูลค่าใช้จ่ายเรื่องยาในแต่ละปี ควรส่งเสริมให้เกิดการเก็บข้อมูลผลการรักษาที่ผ่านมาเพื่อมาทำเป็นบิ๊กดาต้า รวมถึงการวิจัยเพื่อสนับสนุนการเข้าถึงนวัตกรรมการรักษาที่มีประสิทธิภาพ และวิเคราะห์ไปถึงด้านเศรษฐศาสตร์
“การเข้าถึงยานวัตกรรมเพื่อผลการรักษาที่ดีมากขึ้นก็เป็นสิ่งสำคัญ อาจต้องใช้ “ระบบจ่ายร่วม” เพิ่มการเข้าถึง และลดภาระทางการเงินในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ และสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับประสิทธิภาพของการนำนวัตกรรมใหม่ๆ รวมถึงศึกษาต้นทุนและความคุ้มค่าของการรักษาด้วยนวัตกรรมใหม่” นพ.วศิน กล่าว
- ผู้ป่วยหัวใจสั่นพริ้วเข้าถึงยาใหม่9%
ด้าน ศ.นพ.รุ่งโรจน์ กฤตยพงษ์ อาจารย์แพทย์ศูนย์โรคหัวใจสมเด็จพระบรมราชินีนาถ ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทย์ศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวเพิ่มเติมว่า จากสถิติผู้ป่วยที่มีภาวะหัวใจห้องบนสั่นพริ้วมีมากกว่า 3,000 ราย และพบว่า 70% ของผู้ป่วยเหล่านี้ใช้ยาต้านการแข็งตัวของเลือดเพื่อป้องกันโรคหลอดเลือดสมอง แต่มีเพียง 9% เท่านั้นที่ได้รับใบสั่งยาต้านการแข็งตัวของเลือดชนิดรับประทานกลุ่มใหม่ที่ได้กำหนดไว้ในแนวทางการรักษา การให้ความรู้แก่ผู้ป่วยในเรื่องของการเข้ารับการรักษาอย่างต่อเนื่องเป็นสิ่งสำคัญ ผู้ป่วยบางรายมีการหยุดการใช้ยา ส่งผลเสียต่อทั้งสุขภาพของผู้ป่วยและการรักษาของแพทย์
“การไม่รับประทานยาโรคหัวใจและหลอดเลือด มีความสัมพันธ์กับความเสี่ยงต่อการเจ็บป่วยและการเสียชีวิตที่เพิ่มขึ้น ดังนั้น ควรให้ความรู้กับผู้ป่วยในเรื่องความสำคัญในการเข้ารับการรักษาอย่างต่อเนื่อง ขณะเดียวกัน ภาครัฐและเอกชนสามารถช่วยพัฒนาการเข้าถึงนวัตกรรม โดยผลักดันเรื่องการป้องกันโรคหัวใจและหลอดเลือดให้เป็นวาระสำคัญเพื่อกำหนดพัฒนานโยบาย อนุมัติวิธีการรักษาและเทคโนโลยีใหม่เพื่อให้ผู้ป่วยสามารถเข้าถึงนวัตกรรมเหล่านี้ได้”