“เก่งภาษา เก่งคน เก่งงาน” 3 ทักษะคนทำงาน แก้ทางดิสรับ
ขณะที่หลายคนกังวลว่าเอไอจะเข้ามาแย่งงานมนุษย์ แต่ทักษะสำคัญจริงๆ กลับเป็นภาษาอังกฤษ ซึ่งจะเป็นใบเบิกทางให้กับคนทำงานทั้งโอกาส และค่าตอบแทนที่สูงขึ้น รวมไปถึง Hard / Soft Skills และ สุดท้ายคือ Meta Skills เพื่อรับการเปลี่ยนแปลง
จากการจัดอันดับ English Proficiency Index (EFI) หรือทักษะด้านภาษาอังกฤษจากกลุ่มประเทศที่ไม่ได้ใช้ภาษาอังกฤษเป็นภาษาหลักหรือภาษาราชการ ปี 2562 โดย Education First (EF) ระบุว่า ประสิทธิภาพในการใช้ภาษาอังกฤษของแรงงานไทย ปี 2562 อยู่ในระดับ Very Low Proficiency โดยมีผลรวมอยู่ที่ 47.61 ในอันดับ 74 จากประเทศที่ร่วมทดสอบ 100 ประเทศ ร่วงต่อเนื่อง 3 ปีซ้อน โดยในปี 2561 อยู่ในอันดับที่ 64 จากทั้งหมด 88 ประเทศ ด้วยคะแนน 48.54 ขณะที่ปี 2560 อยู่ในอันดับ 53 จากทั้งหมด 80 ประเทศด้วยคะแนน 49.7
สำหรับ 10 ประเทศแรกที่มีทักษะภาษาอังกฤษระดับสูงมาก ได้แก่ เนเธอร์แลนด์, สวีเดน, นอร์เวย์, เดนมาร์ก, สิงคโปร์, แอฟริกาใต้, ฟินแลนด์, ออสเตรีย, ลักเซมเบิร์ก และเยอรมนี ตามลำดับ ส่วนประเทศที่อยู่ในกลุ่มทักษะภาษาอังกฤษระดับต่ำมาก (Very Low) เช่นเดียวกับไทย เช่น เวเนซุเอลา จอร์แดน โมร็อกโก ศรีลังกา อียิปต์ เมียนมา กัมพูชา เป็นต้น ส่วนในภูมิภาคเอเชีย ไทย เป็นอันดับที่ 17 จาก 25 ประเทศ และรั้งอันดับ 6 จาก 8 ประเทศอาเซียน
- ภาษาระดับสูง เงินเดือนเพิ่ม 11 เท่า
การจัดอันดับดังกล่าว สะท้อนปัญหาการขาดทักษะการสื่อสารภาษาอังกฤษที่ถือเป็นเครื่องมือหลักในการสื่อสารของคนทั่วโลก เมื่อแรงงานขาดทักษะ ย่อมส่งผลกระทบต่อศักยภาพการแข่งขันของไทยเช่นกัน นอกจากนี้ ทักษะด้านภาษาอังกฤษเป็นตัวแปรสำคัญที่องค์กรใช้ในการพิจารณาคัดเลือกบุคลากรเข้าทำงาน ผู้ที่มีทักษะภาษาอังกฤษดี ย่อมมีโอกาสในการทำงานได้มากกว่า
จากงานวิจัยสภาพเศรษฐกิจไทยสะท้อนความสำคัญของภาษาอังกฤษ ผ่านอัตราค่าจ้างงานในไทย ถึงส่วนต่างจากภาษาอังกฤษที่อยู่ในระดับสูง โดยในปี 2552 ช่องว่างอัตราค่าจ้างระหว่างเงินเดือนผู้บริหารที่พูดภาษอังกฤษได้ กับ พนักงานธุรกิจ ต่างกัน 11 เท่า หรือ 1,140 %
ขณะที่ผลสำรวจเงินเดือนทั่วโลกประจำปี โดย โรเบิร์ต วอลเทอร์ส บริษัทที่ปรึกษาด้านการสรรหาบุคลากร พบว่า ในปี 2559 บริษัทในไทยยินดีจ่ายเงินเดือนเพิ่มขึ้น 15-25% ให้กับบุคลากรที่มีทักษะการทำงานในโลกดิจิทัล และสามารถพูดภาษาอังกฤษได้เป็นอย่างดี โดยบุคลากรเหล่านี้จะได้รับโอกาสต่างๆ ทั้งการศึกษาดูงานต่างประเทศ การทำงานร่วมกับคู่ค้ารายใหญ่ ไปจนถึงโอกาสในการเลื่อนตำแหน่ง
- Meta Skills ทักษะจำเป็นคนทำงาน
ขณะที่หลายคนกำลังพูดถึงการเข้ามาของเอไอ แต่ในความเป็นจริง มนุษย์ก็ยังมีความต้องการที่ซับซ้อน การปฏิสัมพันธ์ ระหว่างมนุษย์และมนุษย์ยังเป็นความต้องการตามบริบทของไทย แม้แต่อุตสาหกรรมที่โดนดิสรับในอันดับต้นๆ อย่างธนาคาร บุคลากรก็ยังมีความจำเป็น ดังนั้น สิ่งสำคัญของคนทำงานในยุคปัจจุบัน ต้องตระหนัก และสังเกตความเปลี่ยนแปลง เพราะอย่างไรก็ตามมนุษย์ยังเป็นแรงงานพื้นฐานที่เหนือกว่าเอไอ
ผลินสุ เจริญยิ่ง ผู้เชี่ยวชาญด้านพัฒนาทรัพยากรบุคคล จากองค์กรชั้นนำ อธิบายภายในงานสัมภาษณ์กลุ่ม ผลกระทบจากเศรษฐกิจและดิจิทัลดิสรับชั่นกับแรงงานไทย ณ สถาบันเดะนิวตัน เพรปสูคล สยาม ว่า หลายธุรกิจชื่มชมการเอาเอไอมาใช้ แต่จุดสำคัญ คือ การบาลานซ์ เพราะอย่างไรก็ตามมนุษย์เป็นสิ่งที่ดี่ที่สุดในการติดต่อกับมนุษย์ด้วยกัน นอกจาก Hard Skills ความรู้ทางเทคนิคแล้ว แน่นอนว่าสิ่งสำคัญอีกอย่างคือ ความรู้ทางด้าน Soft Skills โดยเฉพาะด้านสังคม เพราะมนุษยังต้องการสังคม
"นอกจากนี้ สิ่งสำคัญอีกอย่างคือ Meta Skills ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของ Soft Skills คือ การปรับตัวเพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลง การทำให้ความรู้มีประสิทธิภาพสูงสุด พัฒนาให้เกิดการเรียนรู้ตลอดชีวิต ใช้มันก่อนจะหมดอายุและเอาความรู้ใหม่เข้ามา และนี่คือโจทย์ที่ไม่ง่าย"
- “เก่งภาษา เก่งคน เก่งงาน”
อภิธา วัลลภศิริ ผู้อำนวยการสถาบัน Exchange English กล่าวว่า ต่างชาติมองคนไทย Sabai (สบายๆ) Smile (ไม่เอาจริง) Shy (ขี้อาย หลบซ่อน) ดังนั้น เราต้องมีความรู้มากกว่า 1 ภาษา งานวิจัยทั่วโลกยืนยันประโยชน์ว่าหากรู้มากกว่า 2 ภาษาจะช่วยให้การทำงานดีขึ้น ดังนั้น ภาษจึงเป็นสิ่งที่สำคัญ การทำงานในศตวรรษที่ 21 ใน 1 ปี เราต้องเสียสละ 101 วัน เพื่อเรียนรู้สิ่งใหม่ เพื่อทำงานในอนาคตได้ ไม่ว่าจะเป็นเรียนนอกเวลา ระบบออนไลน์ เรียนที่บ้าน หรือเรียนรู้ด้วยตัวเอง
หลายภาคส่วนมีความกังวลถึงการเข้ามาของเอไอในอนาคต ความกังวลถึงการที่หุ่นยนต์จะเข้ามาทำงานแทนคน มีความเสี่ยงเยอะไปหมด แต่ทุกอย่างเป็นอนาคตที่ยังมาไม่ถึง เป็นแค่การคาดการณ์ เห็นตัวเลขอย่าเพิ่งเชื่อทั้งหมด ขณะเดียวกันการไม่ระวังภัยหรือตื่นกลัวก็เป็นความประมาท ดังนั้น ทักษะในการเรียนรู้จึงสำคัญ แม้เอไอจะเข้ามา แต่เราใช้เครื่องมือเป็นหรือไม่ ความท้าทายที่มาถึงระดับใช้แรงงานที่จีนน่ากลัวมาก เพราะทั้งดีและถูก เข้าถึงง่าย ราคาจับต้องได้ นี่คือความท้าทายใหม่
"ปัจจุบันมีแรงงานข้ามชาติมาทำงานในประเทศไทย สิ่งที่น่าจับตา คือ งานบริการ ทั้งในโรงพยาบาล โรงแรม จากประเทศที่สามารถพูดภาษาอังกฤษได้ดี เช่น ฟิลิปปินส์ เป็นที่น่ากังวลว่าเขาจะมาแย่งงานเราหรือไม่ และเรามีทางรอดอย่างไร ดังนั้น 3 ข้อสำคัญ คือ เก่งภาษา เก่งคน เก่งงาน คือ ภาษาอังกฤษต้องได้ ต้องมีทักษะทำงานร่วมกับคนอื่น และหาจุดแข็งของคนไทย งานไหนที่อยากทำต้องไปให้สุด และไปในเวทีโลกได้ คนไทยไประดับโลกได้ หาจุดแข็ง จุดขาย ของคนไทย แล้วเราจะสู้ต่างประเทศได้" อภิธา กล่าว
- ใช้ภาษาเป็นใบเบิกทาง
ดร.วิทย์ สิทธิเวคิน ผู้ประกาศข่าว และ ผู้จัดรายการโทรทัศน์ ในฐานะที่เคยทำงานในบริษัทสัญชาติเยอรมันอธิบายว่า ต่างชาติไม่เคยมีใครว่าคนไทยไม่เก่ง โดยเฉพาะอุตสาหกรรมรถยนต์ เวลาเจอผู้บริหารต่างชาติผมจะถามเสมอว่า มองว่าคนไทยเป็นอย่างไร คำตอบที่ได้รับ คือ คนไทยเป็นชาติที่มีความคิดสร้างสรรค์สูงที่สุดของโลก แต่คนไทยเวลาทำอะไรไม่ค่อยเตรียมการ คนไทยมีความรู้และความคิด แต่คนไทยพูดไม่ได้ ขาดความมั่นใจในด้านภาษา ที่สุดคือ ความเก่ง ความช่างคิด และการเตรียมแผนของเรา เรามักเก็บเอาไว้และไม่ได้พรีเซ็นต์สิ่งเหล่านี้ให้ต่างชาติได้เห็น ดังนั้น ภาษาเป็นตัวบ่งบอกว่าเราเป็นคนอย่างไร และเป็นใบเบิกทางในการทำงานต่อไป คนไทยเป็นเพชรที่ดีแล้ว ขาดแค่การเจียระไนด้านภาษาเท่านั้น
“การเรียนภาษาอังกฤษแบบไทย ที่เริ่มต้นจากไวยกรณ์ ไม่ใช่ว่าระบบการศึกษาไม่ดี แต่ทุกครั้งที่เราพูด จะมีคนคอยจับผิดว่าเราพูดผิด ทำให้หลายคนไม่กล้าที่จะพูด ก่อนจะพูดก็ต้องคิดว่าถูกหลักไวยกรณ์หรือไม่ ขณะที่ต่างชาติเขาไม่ได้ซีเรียสหากพูดคุยกันปกติ เล็กๆ น้อยๆ เข้าใจได้เป็นพอ นอกจากเลเวลที่สูงขึ้นไปใช้แบบทางการ เวลาเขียนเมล์นิสัยของคนต่างชาติ คือ ชอบแก้กลับมาให้เรา ดังนั้น เราจะได้เรียนรู้จากเขา"
"ขณะเดียวกัน เราเข้าถึงสื่ออินเทอร์เน็ตได้ง่ายขึ้น ทุกอย่างมีอยู่ในมือถือ รู้จักใช้เทคโนโลยีให้เกิดประโยชน์ ฟังบ่อยๆ และเรียนรู้ในแบบของเรา โดยไม่ต้องสนใจแบบแผนหรือไวยกรณ์บ้าง จะทำให้เรากล้ามากขึ้น” ดร.วิทย์ กล่าว