'ยุบโรงเรียนเล็ก' ดี-เสีย อย่างไร กรณีศึกษาจาก ‘สหรัฐ’
การยุบโรงเรียนขนาดเล็ก จะเป็นทางออกของการศึกษาไทยหรือไม่นั้น ควรที่จะศึกษาให้ดีก่อน หรือนำบทเรียนจากต่างประเทศมาปรับใช้ ก็จะน่าเห็นแนวทางที่ชัดเจนมากขึ้น เพื่อตอบคำถามว่ามันจะเพิ่มประสิทธิภาพการเรียนได้จริงหรือ?
คำว่า "ประสิทธิภาพ" และคำว่า "ต้นทุน" คือ ประเด็นหลักที่ถูกยกขึ้นมาเป็นเหตุผลในการยุบโรงเรียนขนาดเล็ก แต่หากพิจารณามาตรการรองรับที่ออกมาเพื่อบรรเทาผลกระทบ กลับไม่ได้ช่วยให้เกิดความสบายใจเท่าที่ควร
ความจริงแล้วเรื่องการยุบ ควบรวม และการจัดการเรียนรู้แบบหลายโรงเรียนร่วมกันจัดการศึกษา เพื่อแก้ปัญหาจำนวนนักเรียนที่น้อยลงของโรงเรียนขนาดเล็กนั้น เป็นเรื่องที่หลายประเทศก็มีการดำเนินการอยู่เช่นกัน
โดยเฉพาะสหรัฐ มีหลายรัฐที่ได้ทำหรือคิดจะทำเรื่องนี้อยู่ เช่น นิวเจอร์ซี เนแบรสกา และอิลลินอยส์ บางทีบทเรียนจากอีกฟากของโลกอาจจะช่วยให้เราได้ข้อมูล "ข้อดี-ข้อเสีย" เพื่อมาประกอบการถกเถียงกันมากขึ้น
บทเรียนจากสหรัฐสามารถสรุปออกมาเป็นข้อดีได้ 10 ข้อ และข้อเสีย 10 ข้อ
- ข้อดี 10 ข้อ มีดังนี้
ข้อดีข้อที่ 1 เมื่อจำนวนของนักเรียนในโรงเรียนเพิ่มขึ้น ย่อมทำให้มีการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรในโรงเรียนได้อย่างคุ้มค่ากว่า เจ้าหน้าที่ในโรงเรียนมีงานทำสมน้ำสมเนื้อกับค่าตอบแทนที่ได้รับ
ข้อดีข้อที่ 2 ต้นทุนต่อหัวในการจัดการเรียนรู้ให้กับนักเรียนแต่ละคนลดลง
ข้อดีข้อที่ 3 การที่จำนวนนักเรียนมีมากขึ้น ทำให้หลักสูตรและกิจกรรมเสริมหลักสูตรมีความหลากหลาย เพราะมีจำนวนผู้เข้าร่วมมากเพียงพอ
ข้อดีข้อที่ 4 การที่มีนักเรียนเพิ่มขึ้น ทำให้ครูได้รับเงินเดือนและสิทธิประโยชน์ต่างๆ มากขึ้น
ข้อดีข้อที่ 5 ครูไม่ต้องรับงานสอนหลายสาขาพร้อมกัน เพราะมีครูเพียงพอ ทำให้ครูแต่ละคนสามารถพัฒนาความเชี่ยวชาญเฉพาะด้านของตนเองให้มากขึ้นได้ ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อการสอนนักเรียน
ข้อดีข้อที่ 6 อุปกรณ์ในการจัดการเรียนการสอนดีขึ้น มีงบประมาณในการดูแลรักษาให้อยู่ในสภาพดี
ข้อดีข้อที่ 7 มีทรัพยากรเพียงพอที่ในการจัดการเรียนให้กับนักเรียนที่ต้องการการดูแลเป็นพิเศษ เช่น นักเรียนพิการ นักเรียนที่มีความบกพร่องด้านการเรียนรู้ นักเรียนในกลุ่มเสี่ยงออกกลางคัน เป็นต้น
ข้อดีข้อที่ 8 นักเรียนมีโอกาสใช้ชีวิตในสังคมที่มีขนาดใหญ่ มีความหลากหลายมากขึ้น ซึ่งช่วยเตรียมนักเรียนให้พร้อมสำหรับการเรียนต่อในระดับสูงและโลกของการทำงาน
ข้อดีข้อที่ 9 อัตราการลาออกและอัตราการขอย้ายออกจากโรงเรียนในโรงเรียนใหญ่มีน้อยกว่า เพราะโรงเรียนมีความพร้อม ครูมีเส้นทางความก้าวหน้าในอาชีพที่ชัดเจน
ข้อดีข้อที่ 10 โรงเรียนขนาดใหญ่มีโอกาสได้รับความช่วยเหลือจากภาครัฐมากกว่าโรงเรียนขนาดเล็ก
ข้อดีข้อที่ 11 สามารถระดมทุนได้ง่ายกว่า เพราะมีฐานศิษย์เก่าและผู้ปกครองจำนวนมาก
อ่านข่าว "ยุบโรงเรียน" คลิกที่นี่
- ควบรวม ร.ร.ขนาดเล็ก ทางออกหรือซ้ำเติมคุณภาพการศึกษา?
- สพฐ.สั่งการ ผอ.เขตพื้นที่ทั่วประเทศควบรวมโรงเรียนขนาดเล็ก
- ข้อเสีย 10 ข้อ
ข้อเสียข้อที่ 1 นักเรียนมีค่าใช้จ่ายในการเดินทางมากขึ้น เสียเวลาในการเดินทางมากกว่าเดิม
ข้อเสียข้อที่ 2 ผู้ปกครองกับครูจะพบกันได้ยากขึ้น ทำให้ความสัมพันธ์ของทั้ง 2 ฝ่าย ไม่ใกล้ชิดเท่าที่ควร
ข้อเสียข้อที่ 3 ชุมชนที่อยู่ห่างออกไปมีความผูกพันกับโรงเรียนลดลง ซึ่งจะส่งผลต่อขอบเขตของการจัดการเรียนรู้ที่ไม่สามารถดึงเอาชุมชนเข้ามามีส่วนร่วมในการจัดการเรียนรู้ได้มากเท่าที่ควร
ข้อเสียข้อที่ 4 เมื่อชุมชนไม่มีโรงเรียน การย้ายออกจากชุมชนมีแนวโน้มจะเพิ่มมากขึ้น คนย้ายเข้ามาอยู่ในชุมชนน้อยลง ส่งผลต่อเศรษฐกิจของชุมชนและมูลค่าของที่อยู่อาศัยในชุมชนนั้น
ข้อเสียข้อที่ 5 การที่ชุมชนรอบข้างมีขนาดเล็กลง ในระยะยาวจะทำให้มีนักเรียนไปเรียนในโรงเรียนลดลง โรงเรียนขนาดใหญ่ที่มีนักเรียนน้อยทำให้ต้นทุนต่อหัวของนักเรียนเพิ่มขึ้น จนอาจทำให้เกิดการยุบโรงเรียนอีกครั้ง
ข้อเสียข้อที่ 6 หากขีดความสามารถในการบริหารจัดการไม่สามารถเพิ่มตามจำนวนของนักเรียนที่เพิ่มขึ้นได้ทัน ประสิทธิภาพอาจลดลงกว่าเดิม ทำให้ต้นทุนไม่ลดลงเท่าที่ควร
ข้อเสียข้อที่ 7 ครูรวมเข้าเป็นสมาชิกของสหภาพแรงงานมากขึ้น เกิดการต่อรองค่าตอบแทน ผลประโยชน์ที่ควรได้ รวมถึงการต่อรองเกี่ยวกับการจัดการเรียนการสอน จนส่งผลต่อคุณภาพในการจัดการเรียนการสอน
ข้อเสียข้อที่ 8 นักเรียนที่ย้ายมายังโรงเรียนใหญ่มักจะมาจากชุมชนขนาดเล็ก ครอบครัวมีฐานะทางเศรษฐกิจไม่ดี ทำให้เกิดความรู้สึกไม่เท่าเทียมกันของนักเรียน ซึ่งอาจกระทบกับการเรียนได้
ข้อเสียข้อที่ 9 นักเรียนที่ย้ายมามีพื้นฐานทางวิชาการไม่เท่ากับนักเรียนในโรงเรียนใหญ่ ทำให้ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนรู้ต่ำกว่า เป็นการบั่นทอนแรงจูงใจในการเรียนของนักเรียน
ข้อเสียข้อที่ 10 ชุมชนสูญเสียพื้นที่สาธารณะสำหรับทำกิจกรรม สูญเสียอัตลักษณ์ของพื้นที่ ทุนทางสังคมของการเป็น "รุ่นพี่-รุ่นน้อง" โรงเรียนเดียวกันหายไป ทำให้ความสามัคคีกลมเกลียวกันของคนในชุมชนมีน้อยลง
ถ้าเอาข้อดีข้อเสียข้างต้นมาเทียบกันดูแล้ว จะเห็นว่าการยุบโรงเรียนแต่ละแห่งต้องคิดให้ดี แม้ว่าต้นทุนที่ลดลงจากการยุบโรงเรียนมีความชัดเจน แต่ต้นทุนต่อชุมชนและตัวเด็กเองยังไม่ชัดพอ เพราะประเมินผลกระทบไม่รอบด้าน เลยกลายเป็นว่าหลักการทางเศรษฐศาสตร์ถูกเอามาใช้เพื่อสร้างความชอบธรรมเพียงข้างเดียว