ไบโอไทยจี้รัฐออก"มาตรการภาษี"เป็นธรรมต่อเกษตรปลอดสารเคมีกำจัดวัชพืช

ไบโอไทยจี้รัฐออก"มาตรการภาษี"เป็นธรรมต่อเกษตรปลอดสารเคมีกำจัดวัชพืช

เครือข่ายแบนสารพิษฯ ระบุเป็นสิทธิ “สุริยะ”ฟ้องกลับเพื่อปกป้องตัวเอง ยืนยันฟ้อง”สุริยะ”ปกป้องประโยชน์สาธารณะ จี้รัฐเปลี่ยนมาตรการภาษีให้เป็นธรรม เดินหน้าเก็บภาษีนำเข้า-ภาษีมูลค่าเพิ่มสารเคมี เอื้อภาษีให้ทางเลือกทดแทนสารพิษ ช่วยราคาถูกลง

       จากกรณีที่เครือข่ายสนับสนุนการแบนสารพิษร้ายแรง 686 องค์กรและเครือข่ายองค์กรผู้บริโภค แถลงจะดำเนินการฟ้องนายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ในฐานะประธานคณะกรรมการวัตถุอันตราย ต่อศาลปกครองและศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบ กรณีดำเนินการประชุมเมื่อวันที่ 27 พ.ย.2562 โดยมิชอบ ต่อมานายสุริยะ ให้สัมภาษณ์ว่า ทำให้ตนเองเสียหาย จึงได้ให้ฝ่ายกฎหมายดูและฟ้องร้องกลับ

       ล่าสุด วันนี้ (3 พ.ย.) นายวิฑูรย์ เลี่ยนจำรูญ ผู้อำนวยการมูลนิธิชีววิถี หรือไบโอไทย กล่าวว่า ต้องดูว่านายสุริยะจะฟ้องเรื่องอะไร และต้องดูว่าใครจะฟ้องใครก่อน ส่วนการที่เครือข่ายฯจะฟ้องนายสุริยะนั้น ยังไม่ได้ระบุว่าเป็นวันไหน เนื่องจากจะรอดูว่าหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องกับคณะกรรมการวัตถุอันตรายจะมีการเสนอให้มีการตีความมติการเลื่อนแบน 2 สารเคมีอันตรายและไม่แบน 1 สารหรือไม่ เพราะหากคณะกรรมการกฤษฎีกาตีความว่าไม่ชอบ ก็ไม่มีความจำเป็นต้องฟ้องอีก

         “หากนายสุริยะจะฟ้องนั้นก็อยากให้มองว่า เราต่างคนต่างทำหน้าที่ เพราะการฟ้องเป็นกระบวนการที่ประชาชนหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐจะใช้ก็ไม่ได้มีปัญหาอะไร และต้องมาพิสูจน์กันว่าใครทำให้ฝ่ายใดเสียหาย แต่ทางเครือข่ายฯไม่ด้ำเพื่อปกป้องประโยชน์ตัวเอง แต่เป็นการปกป้องประโยชน์สาธารณะ และก็เป็นสิทธิของนายสุริยะที่จะปกป้องสิทธิตัวเอง”นายวิฑูรย์กล่าว

       นายวิฑูรย์ กล่าวด้วยว่า ในการพิจารณาและลงมติของคณะกรรมการวัตถุอันตราย เรื่อง การแบนหรือไม่แบน 3 สารเคมีอันตราย ที่ผ่านมา 3 ครั้ง ตั้งแต่พ.ค.2561 ,14 ก.พ.2562 และ 22 ต.ค.2562 เป็นการลงมติด้วยการโหวตนับคะแนนเสียงทั้งนี้ แต่ครั้งนี้กลายเป็นมติสันนิษฐานเป็นเรื่องที่ฟังไม่ค่อยขึ้น และเมื่อประธานคณะกรรมการฯเคยบอกว่าเป็นมติเมื่อวันที่ 27 พ.ย.2562เป็นเอกฉันท์แต่ต่อมาเปลี่ยนเป็นบอกว่าเป็นมติเสียงข้างมาก ซึ่งจะมีความแตกต่างกัน ก็ต้องพิสูจน์กันในเชิงกฎหมายต่อไปว่ามติดังกล่าวถือเป็นการลงมติได้หรือไม่

      

        ผู้สื่อข่าวถามถึงมาตรการที่รัฐควรจะดำเนินการเพื่อเอื้อต่อการใช้ทางเลือกทดแทนสารเคมีให้กับเกษตรกร นายวิฑูรย์ กล่าวว่า ทราบว่ารัฐเตรียมเงินชดเชยไว้ราว 3 หมื่นล้านบาท แต่ไม่อยากให้มองเพียงแค่การชดเชยที่เป็นเงินเท่านั้น แต่ต้องมีการพิจารณาถึงมาตรการทางภาษีด้วย เนื่องจากขณะนี้การใช้สารเคมีกำจัดศัตรูพืชเป็นนโยบายของรัฐในหลายยุคที่ไม่เก็บภาษีนำเข้าและภาษีมูลค่าเพิ่ม ทั้งที่อัตราภาษีเหล่านี้มีมูลค่าเป็นหมื่นล้านบาทโดยประมาณ วิธีการนี้ทำให้สารเคมีกำจัดสัตรูพืชมีราคาถูกกว่าที่ควรจะเป็น แม้จะมีข้ออ้างเพื่อลดความเดือดร้อนของเกษตรกร แต่หากเก็บภาษีท้ายที่สุดผู้ประกอบการสารเคมีก็จะผลักภาระไปให้เกษตรกร รัฐจึงไม่เก็บภาษี กลายเป็นการเอื้อเฟื้อต่อธุรกิจเอกชนที่ขายสารเคมีกำจัดศัตรูพืช

         ขณะที่เกษตรกรหรือผู้ประกอบการอื่น ที่ใช้วิธีการกำจัดวัชพืชโดยไม่ใช้สารเคมี เช่น เครื่องตัดหญ้า รถไถเดินตาม รถแทรกเตอร์เจาะหลุม วัสดุคลุมดิน เมล็ดพันธุ์คลุมดินและอื่นๆ กลับถูกผลักภาระด้วยมาตรการทางภาษี ทำให้การดำเนินการด้วยวิธการที่ไม่ใช้สารเคมีมีราคาแพง ระบบภาษีจึงไม่เป็นธรรม ดังนั้น รัฐควรจะต้องพิจารณาลดภาษีนำเข้าและภาษีมูลค่าเพิ่มให้กับวิธีการทางเลือกเหล่านี้ด้วย

         “รู้สึกว่ามาตรการภาษีเรื่องการกำจัดวัชพืชยังมิชอบ และควรเป็นการปรับมาตรการทางภาษีให้เป็นแบบตรงกันข้ามดับปัจจุบัน คือ ผลิภัณฑ์ที่ทำลายสุขภาพ สิ่งแวดล้อมควรมีการเก็บภาษีใช่หรือไม่ เพราะมีการส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมภายนอก ซึ่งจากการคำนวณก็พบว่าทุก 1 ล้านบาททำให้เกิดความเสียหายผลกระทบต่อสุขภาพ สิ่งแวดล้อมและกลไกต่างๆในการจัดการประมาณ 765,000 บาท แต่ประเด็นเหล่านี้ไม่ถูกหยิบยกมาพิจารณาในคณะกรรมการวัตถุอันตรายเลยทั้งที่เป็นเรื่องสำคัญมาก และหวังว่าเมื่อสภาผู้แทนราษฎรมีการผ่านแผนเกษตรกรรมยั่งยืนด้วยมติเอกฉันท์ เครือข่ายฯจึงเรียกร้องและหวังว่าสภาผู้แทนราษฎรจะมาช่วยในการผลักดันมาตรการทางภาษีเหล่านี้ เพื่อเสนอนโยบายให้รัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการ”นายวิฑูรย์กล่าว

            น.ส.สารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค(มพบ.) กล่าวว่า จากการที่เครือข่ายผู้บริโภคได้มีการสุ่มตรวจน้ำส้ม 100 % หรือน้ำส้มคั้นสด พบว่า 60 % ตรวจพบสารเคมี 13 ชนิดตกค้างในน้ำส้ม ซึ่งผู้บริโภคไม่มีทางเลือกหากเกษตรกรจะยังใช้สารเคมี เพราะฉะนั้น การมีระบบฉลากที่บอกถึงกระบวนการผลิต แหล่งที่มาอาหารก็เป็นทางออกของผู้บริโภค ซึ่งกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ควรที่จะผลักดันให้เกิดฉลาก ในสินค้าทางการเกษตรที่ควรจะต้องมีการบอกถึงที่มาของกระบวนการผลิต ปริมาณการใช้สารเคมีมากน้อยแค่ไหนอย่างไร ใช้สารเคมีกลุ่มไหน เป็นต้น เพื่อให้ผู้บริโภคสามารถเลือกได้ว่าจะซื้อสินค้านั้นหรือไม่