สธ.ทำหนังสือท้วงติงมติคกก.วัตถุอันตรายกรณีเลื่อนแบน 3 สารพิษ
สธ.ส่งหนังสือท้วงติงมติคกก.วัตถุอันตราย ยันสนับสนุนแบน 3 สารเคมีอันตราย “อนุทิน”ลั่นยืดแบนซ้ำซาก สะท้อนไร้ประสิทธิภาพในการทำงาน ระบุไม่ใช่หน้าที่รัฐต้องหาเงินเยียวยาผู้ประกอบการสารพิษ คำอ้างฟังไม่ขึ้น
วันนี้ ( 4 ธ.ค.) นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข(รมว.สธ.) กล่าวถึงการยืดแบน3สารเคมีอันตรายว่า ในการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.)นายกรัฐมนตรีไม่ได้มีการฝากอะไรเป็นพิเศษเกี่ยวกับเรื่องนี้ มีเพียงการรับทราบรายงานผลประชุมของคณะกรรมการวัตถุอันตรายเท่านั้น และครม.ไม่ได้มีมติอะไร แต่ในส่วนของกระทรวงสาธารณสุข(สธ.)ยืนยันเช่นเดิมว่าวัตถุอันตรายทั้ง3ชนิดมีโทษต่อสุขภาพไม่ควรใช้ จากนี้จะต้องใช้วิธีให้ความรู้ความเข้าใจและหามาตรการการป้องกันและรักษาหากเกิดเหตุขึ้น อย่างไรก็ตาม สธ.มีคณะกรรมการวัตถุอันตรายเพียง 2 คน และจากการประชุมผู้บริหารสธ.คณะกรรมการฯตัวแทนของสธ.ก็ยืนยันชัดว่าไม่ได้สนับสนุน ยังคงคัดค้านอยู่ ซึ่งจะชนะหรือไม่ชนะก็เป็นเรื่องของคณะกรรมการวัตถุอันตราย
ผู้สื่อข่าวถามว่า สธ.จะยื่นตีความติคณะกรรมการฯวันที่ 27 พ.ย.2562ว่ามีผลบังคับใช้หรือไม่ นายอนุทิน กล่าวว่า เท่าที่ทราบคือมีคณะกรรมการฯลาออก 1 ท่านโดยบอกว่าไม่ได้ลงมติ ดังนั้น นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รมว.อุตสาหกรรม ก็ต้องไปพิจารณา และในการประชุมคณะกรรมการฯครั้งหน้า ก็ต้องดูรายงานการประชุมว่าระบุผลการลงมติไว้เช่นไร อย่างไรก็ตาม นพ.สุขุม กาญจนพิมาย ปลัดสธ. ได้รายงานว่าในส่วนของเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา(อย.)และอธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ในฐานะคณะกรรมการวัตถุอันตรายสัดส่วนของสธ.ได้ทำหนังสือท้วงติงไปที่ประธานคณะกรรมการวัตถุอันตรายแล้วเกี่ยวกับมติเมื่อวันที่ 27 พ.ย.2562 และเรื่องนี้ไม่ใช่คำสั่งของรมว.สาธารณสุข แต่ทุกคนทำตามพันธกิจขององค์กร
“หากเครือข่ายสนับสนุนการแบนสารเคมี 686 องค์กร จะฟ้องร้องก็สามารถทำได้ ส่วนสธ.ยืนยันว่าไม่หนุนให้มีการยืดระยะเวลาการยกเลิกสารเคมีอยู่แล้ว คงไม่ต้องตีความอะไร แต่ให้ดูในบันทึกรายงานการประชุมในการประชุมครั้งต่อไป หากเขียนว่ามติเป็นเอกฉันท์สธ.ก็ต้องโต้แย้งว่าไม่ใช่ และขอให้บันทึกเอาไว้ว่าสธ.ขอให้มีการแบน แต่ถ้าบอกว่าเป็นเสียงข้างมากก็ใช้ได้ แต่ก็ต้องบอกว่าเสียงข้างน้อยคือใคร ซึ่งเสียงข้างมากไม่มีสธ.แน่นอน และย้ำว่าสธ.ไม่ได้ปล่อยให้เครือข่ายภาคประชาชนสู้อย่างเดียวดาย แต่เราทำในสิ่งที่ทำได้ ทำจนสุดซอยแล้ว”นายอนุทินกล่าว
ต่อข้อถามว่า นายสุริยะระบุว่านายกรัฐมนตรีเห็นชอบให้มีการยืดการแบนสารพิษออกไปเพราะรัฐไม่มีเงินเยียวยาผู้ประกอบการ นายอนุทิน กล่าวว่า ไม่ทราบ แต่คงไม่เกี่ยวกับเรื่องเงิน เพราะมันคนละเรื่องกัน และมีตรงไหนที่เขียนว่ารัฐต้องรับผิดชอบไปเยียวยาการนำเข้าสารเคมีของผู้ประกอบการ เมื่อผู้ประกอบการตัดสินใจนำสารพิษเหล่านี้เข้ามาขายในประเทศไทยก็ต้องรับผิดชอบเอง เพราะการทำธุรกิจบางอย่างต้องมีความเสี่ยง อย่างไรก็ตาม ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา ก็อยู่ระหว่างการจำกัดการใช้แล้วยังนำเข้ามาเพิ่มเรียกว่าการจำกัดหรือไม่
“สารพิษทั้ง 3 ชนิดนี้เป็นวัตถุอันตรายแน่นอน เพียงแต่จะมีการยืดการใช้ไปอีกนานแค่ไหน เช่น 6 เดือน และหากยืดอีกก็เท่ากับว่าเราไม่มีประสิทธิภาพในการทำงานเลยใช่หรือไม่ เพราะยืดมา 2 ปีแล้วยังต้องยืดอีก โดยการที่จะบอกว่ารัฐต้องไปทดแทน ชดเชยแล้วรัฐไม่มีเงินมันไม่ใช่ เพราะรัฐไม่ได้มีหน้าที่ไปทดแทน รัฐต้องไม่ไปทดแทนด้วยกับคนที่เอาสิ่งที่มีโทษและเป็นอันตรายกับชีวิตเข้ามาใช้ในประเทศ”นายอนุทินกล่าว
เมื่อถามว่าต้องมีการเคลียร์กับนายสุริยะหรือไม่ นายอนุทิน กล่าวว่า ไม่ต้องเคลียร์อะไรเนื่องจากไม่ได้มีความขัดแย้งอะไรกัน แต่ละคนรับผิดชอบแต่ละกระทรวงที่มีเป้าหมายต่างกัน สำหรับตนสธ.ยืนยันว่าอะไรที่เป็นอันตรายกับสุขภาพต้องมาหารือกัน ใครจะได้ประโยชน์ทางธุรกิจ ประโยชน์ทางเครื่องทุ่นแรง ประโยชน์ทางรายได้แค่ไหน แต่หากต้องสังเวยด้วยชีวิตตนไม่แลกด้วย เรื่องนี้ตนก็ทำสุดซอยแล้ว
ด้านนพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ในฐานะคณะกรรมการวัตถุอันตราย กล่าวว่า ผู้แทนสธ. 2 คน ได้ยืนยันในที่ประชุมคณะกรรมการวัตถุอันตราย ขอให้ยืนยันให้มีการยกเลิกการใช้สารเคมีภาคเกษตรตามมติเดิมเมื่อวันที่ 22 ต.ค.2562 และได้ทำหนังสือถึงประธานคณะกรรมการวัตถุอันตราย เมื่อวันที่ 29 พ.ย.ที่ผ่านมา ขอให้แจ้งในที่ประชุมด้วยว่าสธ.ยืนยันตามมติเดิม แต่ไม่ได้เป็นหนังสือที่ขอให้มีการตีความมติวันที่ 27 พ.ย.2562
“ยินดีให้มีการเปิดเผยเทปการประชุมครั้งล่าสุด แต่ถ้าจะเปิดขอให้เปิดตั้งแต่ต้นจนจบ ไม่ควรเปิดเพียงบางช่วงบางตอนเพราะจะทำให้เกิดการตีความผิดได้ เพราะวันนั้นมีการประชุมกันนานถึง 4 ชั่วโมง จะมีว่าใครพูดอะไร อย่างไร เข้าใจว่าในการสรุปการประชุมจะมีรายละเอียดว่าใครพูดอะไร ซึ่งจะเป็นเอกสารอ้างอิงได้ ก็ขอให้บันทึกให้ครบถ้วน อย่าตัดเอาตอนใดตอนหนึ่งมาเท่านั้น”นพ.โอภาสกล่าว