โรงเรียนนี้ไม่มีน้ำขาย
นับเป็นแนวคิดที่ดีในการทำนโยบาย "โรงเรียนปลอดน้ำอัดลม" เพราะนี่คือผลกระทบหลักอย่างหนึ่งที่ส่งผลต่อเด็กนักเรียน ซึ่งเป็นอนาคตของชาติ แล้วเพราะเหตุใดนโยบายนี้ถึงเป็นไปได้ยากและใช้เวลายาวนาน
เมื่อสัปดาห์ก่อนมีข่าวเล็กๆ แต่น่าสนใจอย่างยิ่ง โดยเฉพาะคนในแวดวงการศึกษาและสาธารณสุข เมื่อกรุงเทพมหานครประกาศให้ทุกโรงเรียนในสังกัด กทม. งดจำหน่ายน้ำอัดลมภายในโรงเรียน
ถือเป็นก้าวสำคัญมากและน่ายกย่องผู้บริหารกรุงเทพมหานคร ที่กล้าประกาศนโยบายดังกล่าว เพราะเป็นความพยายามมานานพอสมควรของหลายองค์กรที่จะทำให้ "โรงเรียนปลอดน้ำอัดลม" แต่ดูเหมือนมีอะไรบางอย่างบังตา ทำให้ความพยายามนั้น ไปไม่ถึงไหน
รถตู้, พื้นยางอาคารพละ, หลังคาโรงอาหาร, เครื่องคอมพิวเตอร์ 20 ตัว พร้อมไวไฟกำลังสูงทั่วโรงเรียน ฯลฯ เหล่านี้คือตัวอย่างสิ่งของที่ได้มาเมื่อแลกกับการมีตู้แช่น้ำอัดลม หรือร้านขายน้ำอัดลม พ่วงด้วยไอศกรีมในโรงเรียนด้วยสัญญา 3 ปี หรือ 5 ปี แล้วแต่จะตกลงกัน
ข้อเสนอเหล่านี้ ยากจะปฏิเสธสำหรับโรงเรียนที่ได้รับงบประมาณสนับสนุนอย่าง "จำกัด" จากกระทรวงศึกษาธิการ ซึ่งหลักๆ มาจากงบประมาณตามโครงการสนับสนุนค่าใช้จ่ายในการจัดการศึกษา โดยเฉพาะค่าจัดการเรียนการสอน ถ้าระดับประถมศึกษาจะได้คนละ 1,900 บาทต่อปี (ถ้าโรงเรียนขนาดเล็กต่ำกว่า 120 คน จะได้เพิ่มอีกคนละ 500 บาท) เท่านั้นเอง
ถ้าอยากได้รถไว้ใช้ เพื่อจะได้ไปทำธุระที่ไหน หรือบรรทุกนักเรียนไปทำกิจกรรมได้สะดวก หากผู้อำนวยการโรงเรียนไม่ขอบริจาคจากศิษย์เก่าหรือผู้ปกครอง ก็ต้องพึ่งหลวงพ่อ ขอผ้าป่าซักกองมาทำทุนซื้อรถ แต่ง่ายที่สุดเพื่อให้ได้มา คือการรับข้อเสนอของผู้ขายสินค้าต่างๆ โดยแลกกับสิ่งที่โรงเรียนอยากจะได้
แต่ก็นั่นแหละ ไม่ใช่ทุกโรงเรียนจะมีคนเอารถมาเสนอ หากโรงเรียนไหนมีนักเรียนต่ำกว่าร้อย ก็คงต้องให้นักเรียนนั่งกระบะท้ายรถของ ผอ.เหมือนเดิม โรงเรียนที่มีนักเรียนระดับ 800 คนขึ้น ถึงจะเป็นโรงเรียนเป้าหมาย เพราะกำลังซื้อสูง คุ้มที่จะลงทุนมากกว่า
เมื่อผู้ใหญ่ยกเอาความจำเป็นต้องใช้ หรือ "ต้องมี" มาเป็นเหตุผลในการตัดสินใจ ผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับนักเรียนจึงถูกมองข้าม ความหวังที่ใครต่อใครมองว่า นอกจากจะให้ความรู้วิชาการ และเพิ่มทักษะการใช้ชีวิตแล้ว โรงเรียนต้องสร้างเสริมสุขภาพเด็กได้ด้วย แต่ เมื่อมีการอนุญาตให้ขายน้ำอัดลมในโรงเรียน ก็ได้สร้างพฤติกรรมการบริโภคแบบผิดๆ ขึ้นมาทันที ผลที่ตามมาคือสุขภาพฟันของนักเรียน
ข้อมูลการสำรวจระดับประเทศของกรมอนามัย พบว่าเด็กไทยอายุ 5 ปี เป็นโรคฟันผุร้อยละ 80.64 ไม่แปลกที่มีข่าวเมื่อสองสัปดาห์ก่อน เมื่อทันตแพทย์ที่จังหวัดภูเก็ตต้องถอนฟันน้ำนมของเด็กอายุ 4 ขวบคนหนึ่งหมดปากทั้ง 20 ซี่ เด็กต้องทรมานจากการปวดฟัน และเจ็บปวดยิ่งขึ้นเมื่อโดนฉีดยาชาถึง 14 เข็ม เย็บอีก 18 เข็ม สาเหตุเพราะผู้ปกครองปล่อยลูกไว้กับสถานรับเลี้ยงเด็ก แล้วกินตามใจปาก โดยเฉพาะขนมขบเคี้ยวและน้ำอัดลม จนฟันผุในที่สุด
ผลการสำรวจระดับชาติของกรมอนามัย ยังระบุด้วยว่า เด็กอายุ 12 ปี ดื่มน้ำอัดลมทุกวัน ร้อยละ 11.65 และดื่มเพิ่มมากเป็น 2 เท่า คือร้อยละ 22.76 ในกลุ่มเยาวชนอายุ 15 ปี และจากข้อมูลการสำรวจ กองทันตสาธารณสุข กรมอนามัย ปี 2558 ปริมาณน้ำตาลเฉลี่ยที่เด็กได้รับจากเครื่องดื่ม คือนมหวาน น้ำอัดลม เครื่องดื่มอื่นๆ คิดเป็น 6.96 ช้อนชาต่อวัน ซึ่งน้ำอัดลมมีปริมาณน้ำตาลสูงสุดร้อยละ 10-14
เราทราบกันดีว่าน้ำอัดลมเป็นเครื่องดื่มที่มีน้ำตาลเป็นส่วนประกอบหลัก ไม่มีสารอาหารอื่นๆ ที่มีประโยชน์กับร่างกาย การที่มีน้ำตาลมากถึง 8-12 ช้อนชา เป็นสาเหตุที่ทำให้เด็กอ้วน นอกจากนี้ยังมีสารปรุงแต่งที่เรียกว่าหัวน้ำเชื้อที่ให้กลิ่น สี และกรดบางชนิด ที่ส่งผลให้ความหนาแน่นของกระดูกลดลง ทำให้กระดูกหักง่ายด้วย
การตระหนักถึงพิษภัยต่อเด็กนี้มีในหลายพื้นที่ทั่วโลก เช่น ที่แคลิฟอร์เนีย สหรัฐอเมริกา ห้ามขายน้ำอัดลมในโรงเรียนทุกแห่ง ที่คอนเนตติกัต สภาแห่งรัฐลงมติด้วยคะแนนเสียง 76 ต่อ 71 สนับสนุนร่างกฎหมายห้ามจำหน่ายน้ำอัดลมในโรงเรียน นอกจากนี้ยังมีอีก 38 รัฐ กำลังดำเนินการผ่านร่างกฎหมายนี้เช่นกัน
ที่สิงคโปร์ มีนโยบายห้ามขายเครื่องดื่มที่มีน้ำตาลมากกว่า 8 กรัม แคนาดามีการระบุปัญหาเด็กอ้วนที่มาจากการดื่มน้ำอัดลม ส่วนไทยก็เคลื่อนไหวล่าสุดโดยกรุงเทพมหานคร
ดังนั้นจึงเชื่อว่า นโยบายโรงเรียนปลอดน้ำอัดลมจะส่งผลในการคุ้มครองสุขภาพเด็กและลดการบริโภคนน้ำตาลได้มาก เพราะเด็กใช้เวลาส่วนใหญ่อยู่ที่โรงเรียน อย่างการศึกษาของ ผศ.สุภาวดี พรหมมา จากมหาวิทยาลัยราชภัฏนครศรีธรรมราช พบว่าเด็กที่อยู่ในโรงเรียนที่ขายน้ำอัดลมมีการดื่มน้ำอัดลมบ่อยกว่าโรงเรียน ที่ปลอดน้ำอัดลมถึง 7.3 เท่าทีเดียว
ดังนั้นเพื่อให้โรงเรียนเป็นสถานที่ปกป้องสุขภาพเด็กอย่างแท้จริง ขั้นตอนที่ควรทำคือการสร้างสิ่งแวดล้อมเพื่อสุขภาพสำหรับเด็ก แม้ว่าน้ำอัดลมจะยังคงมีการจำหน่ายอยู่ทั่วไป แต่การกำจัดออกไปจากโรงเรียน เป็นเรื่องจำเป็นและมีความหมาย โรงเรียนจำเป็นต้องมีมาตรการบังคับเพื่อเอาสิ่งไม่ดีต่อสุขภาพออกไปจากโรงเรียน
หลายคนอาจแย้งว่าเมื่อเด็กกลับไปถึงบ้าน พ่อแม่หรือผู้ปกครองก็ตามใจเด็กอยู่ดี เรื่องแบบนี้ถ้าผู้ใหญ่ในบ้านไม่ตระหนักรับรู้ ก็คงเหมือนกับเด็กที่ต้องถอนฟันน้ำนมหมดปากนั่นแหละ แต่อย่างไรก็ตามเชื่อว่าถ้าโรงเรียนมีการจัดสิ่งแวดล้อมที่ไม่เอื้อให้เด็กได้เห็น ได้ซื้อ ได้กินสิ่งที่เป็นพิษภัยต่อสุขภาพของเขา ประสบการณ์การบริโภคที่เกิดขึ้นในโรงเรียนจะส่งผ่านสู่สมาชิกคนอื่นๆ ในครอบครัว ทุกคนก็จะได้ความรู้ไปด้วย
การไม่ขายน้ำอัดลมในโรงเรียนยังสะเทือนไปถึงตู้เย็น ในบ้านของเด็กๆ ด้วย ไม่เชื่อลองดู!