วัด-พระสงฆ์ ศูนย์กลางพัฒนา ยกระดับสุขภาวะชุมชน
พระสงฆ์ถือเป็นสื่อกลางในการนำหลักธรรมคำสั่งสอน เผยแพร่ให้แก่ประชาชน เพื่อนำไปสู่การปฏิบัติ โดยมีวัดเป็นศูนย์กลางร่วมกับชุมชนและท้องถิ่น อีกหนึ่งบทบาทของพระสงฆ์ คือ “นักพัฒนา” ที่มุ่งเน้นการให้วัดเป็นศูนย์กลางสร้างสังคมสุขภาวะที่ดีให้แก่ชุมชน
เนื่องด้วย สาธารณสงเคราะห์ มหาเถรสมาคม ได้จัดตั้ง “โครงการพระสงฆ์นักพัฒนาการสาธารณสงเคราะห์กับพื้นที่ต้นแบบการสร้างสังคมสุขภาวะ” ผ่านมหาวิทยาจุฬาลงกรณ์ราชวิทยาลัย วิทยาเขตนครราชสีมา (มจร. โคราช) สนับสนุนโดย สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) เพื่อให้วัดและพระสงฆ์ที่เปรียบเสมือนศูนย์รวมจิตใจของคนในชุมชน มีบทบาทสำคัญต่อการสร้างสังคมสุขภาวะ โดยมีวัดเป็นศูนย์กลาง ร่วมกับชุมชนและท้องถิ่น สอดแทรกธรรมะในการดำเนินชีวิต กับแนวทางการสร้างปัจจัยทางสังคมที่กำหนดพฤติกรรมสุขภาพ เกิดการจัดการเครือข่ายการเรียนรู้พื้นที่ต้นแบบการสร้างสังคมสุขภาวะต่อไป
ทั้งนี้ หลักในการการปฏิบัติงานสาธารณสงเคราะห์ประกอบด้วย 5 ด้าน ได้แก่ 1. การจัดการสิ่งแวดล้อม 2. การจัดการสุขภาวะและกลุ่มวัย 3. การพัฒนาระบบเศรษฐกิจวิถีพุทธ 4. การส่งเสริมภูมิปัญญาและวัฒนธรรม และ 5. การจัดการพื้นที่เรียนรู้วิถีพุทธ
ซึ่งมีการสอดแทรกธรรมมะในการดำรงชีวิต ถือเป็นการปฏิรูปกิจการพระพุทธศาสนา ในด้านการสาธารณสงเคราะห์ของคณะสงฆ์ ที่มุ่งเน้นการบรรลุเป้าหมายให้วัดเป็นศูนย์กลางในการสร้างสุขภาพวะเชิงพุทธภายใต้หลักธรรมของพระพุทธเจ้า
- พระสงฆ์ ขับเคลื่อนสังคม
พระมหามงคลธรรมวิธาน ผศ.ดร. รองอธิการบดีฝ่ายกิจการคณะสงฆ์ มมร. กล่าวภายในการประชุมสัมมนาเชื่อมโยงและทำความเข้าใจเครือข่ายคณะสงฆ์ คณะธรรมยุต โครงการพระสงฆ์นักพัฒนาสาธารณสงเคราะห์กับพื้นที่ต้นแบบการสร้างสังคมสุขภาวะ ณ มหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย (มมร.) จ.นครปฐม ว่า บทบาทของพระสงฆ์คือการขับเคลื่อนเพื่อประโยชน์สังคม ควบคู่ไปกับประโยชน์ส่วนตน หมายความว่า หากตนมีความรู้ จะสามารถขยายไปสู่ผู้อื่นต่อไปได้ สาธารณสงเคราะห์มีทั้งประโยชน์ต่อหมู่สงฆ์และพุทธศาสนิกชน ปัจจุบัน ภาพรวมของวัดทั้งหมด ข้อมูลจากสำนักพุทธ ปี 2560 พบว่า มีวัดราว 41,252 แห่งทั่วประเทศ ดังนั้น การเชื่อมเครือข่าย เพื่อให้พระสงฆ์ดูแลพระสงฆ์ และนำไปสู่พระสงฆ์เกื้อกูลสังคม จะนำไปสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน เพื่อพัฒนาองค์ความรู้สุขภาวะอันเป็นลักษณะการตอบโจทย์สังคม
- สร้างเครือข่ายหาพื้นที่ต้นแบบ
สำหรับโครงการดังกล่าว มีระยะเวลาดำเนินการตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2562 – กุมภาพันธ์ 2564 เริ่มตั้งแต่ ระยะที่ 1 (ก.ค.62-พ.ค.63) ศึกษารูปแบบการขับเคลื่อนสังคมสุขภาวะโดยพระสงฆ์และวัด ลงพื้นที่ 77 จังหวัด รวบรวมข้อมูลระดับนโยบายและระดับพื้นที่ จัดทำฐานข้อมูลวัดและข้อมูลพระสงฆ์ รวมถึงการพัฒนากลไกเชิงนโยบาย ตั้งคณะทำงานร่วมคิดร่วมทำในระดับจังหวัด พัฒนาแผนงานสุขภาวะพระสงฆ์ สู่ฝ่ายสาธารณสงเคราะห์ของมหาเถรสมาคม จัดประชุมสัมมนาเชื่อมโยงและทำความเข้าใจ 5 เขตการปกครองคณะสงฆ์ และสนับสนุนกิจกรรม 77 จังหวัด และประสานงานดำเนินการ
หลังจากนั้น ในระยะที่ 2 (พ.ค.63-ต.ค.63) การพัฒนาพื้นที่ต้นแบบ และ ระยะที่ 3 (ส.ค.63-ก.พ.64) การติดตามและการนำเสนอผลการดำเนินงาน และประเมินติดตามโครงการต่อไป เพื่อสร้างฐานข้อมูลวัด ข้อมูลพระสงฆ์นักพัฒนาและข้อมูลเครือข่าย เกิดแผนงานการพัฒนาสุขภาวะเข้าสู่นโยบายคณะสงฆ์ เกิด 77 พื้นที่ พระสงฆ์นักพัฒนา เกิดการเชื่อมโยงระหว่างคณะพระสงฆ์ปกครองและเครือข่ายพระสงฆ์นักพัฒนา รวมถึงเกิด 18 พื้นที่ต้นแบบ และสื่อสารสู่สาธารณะ
พระราชปฏิภาณโกศล ผศ.ดร. อธิการบดี มมร. กล่าวเสริมว่า พระสงฆ์เป็นที่พึ่งทางปัญญาให้แก่สังคม สามารถให้คำแนะนำที่เป็นประโยชน์แก่ประชาชนได้ ดังนั้น การจะพัฒนาสิ่งใดสิ่งหนึ่งให้สำเร็จอย่างยั่งยืน จำเป็นต้องอาศัยกระบวนการอันชาญฉลาด ตามที่รัชกาลที่ 9 ได้พระราชทานหลักการไว้ว่า การพัฒนาจำเป็นต้องผ่านกระบวนการ 2 ขั้นตอน คือ เข้าใจ และ เข้าถึง จึงจะพัฒนาได้อย่างเหมาะสม
“การสร้างสังคมสุขภาวะในแต่ละพื้นที่ ต่างก็มีองค์ประกอบแตกต่างกันไปทั้งในแง่ของชุมชน สังคม สิ่งแวดล้อม ดังนั้นการพัฒนาต้องผ่านกระบวนการศึกษาเรียนรู้จนเข้าใจอย่างถ่องแท้ ตามคุณสมบัติพื้นฐาน และเข้าถึงสภาพปัญหาและข้อมูลการพัฒนาอย่างรอบด้าน รู้ว่าสิ่งใดควรจะรักษาไว้ สิ่งใดควรปรับปรุงแก้ไข สิ่งใดควรสร้างเสริมให้ดีขึ้น ถ้าทุกท่านมีความเข้าใจและเข้าถึง การพัฒนาย่อมเป็นอุดมการณ์อันยั่งยืนคู่กับสังคมนั้นๆ ตลอดไป” พระราชปฏิภาณโกศล ผศ.ดร. กล่าว
ด้าน ดร.ประกาศิต กายะสิทธิ์ รองผู้จัดการ สสส. กล่าวว่า หัวใจสำคัญในการสร้างเสริมสุขภาวะ คือ พฤติกรรม และ สภาพแวดล้อม และหากจะสร้างการขับเคลื่อนทางสังคมต้องมี 3 ส่วน คือ “การสร้างความรู้” สังคมต้องมีความรู้และความพร้อม ถัดมาคือ “การสร้างเครือข่าย” เพื่อขยายผล และ สุดท้าย คือ “นโยบาย” เพื่อนำไปสู่ความยั่งยืน ถ้านโยบายไม่เปิดการปฏิบัติก็จะไม่ต่อเนื่อง ทั้งนี้ บทบาทของ สสส. ในด้านของพระสงฆ์ คือ การร่วมมือ และขับเคลื่อนโยบาย ในเรื่องของธรรมนูญสุขภาพพระสงฆ์แห่งชาติ สนับสนุนโครงการสงฆ์ไทยไกลโรค ให้ความรู้ด้านโภชนาการพระสงฆ์ รวมถึงกิจกรรมในชุมชน เครือข่าย กับองค์กรต่างๆ พร้อมสนับสนุนพัฒนาแกนนำพระนิสิตที่เข้าไปพัฒนาในชุมชนก่อนที่จะเข้ารับพระราชทานปริญญาบัตร
- สปสช.พัฒนาระบบสุขภาพไร้รอยต่อ
ดร.นพ.ชาตรี เจริญชีวะกุล ผู้อำนวยการสำนักส่งเสริมการมีส่วนร่วม สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวว่า สปสช. มีสิทธิบัตรทองให้พระสงฆ์ได้เข้าถึงการรักษาพยาบาล โดยเฉพาะกรณีฉุกเฉิน ซึ่งสามารถเข้าได้ทุกโรงพยาบาลในประเทศไทยทั้งรัฐบาลและเอกชน แต่จากข้อมูลพระภิกษุและสามเณร โดยสำนักงานพระพุทธศาสนา ปี 2562 ระบุว่า มีจำนวน 174,091 รูปทั่วประเทศ ในจำนวนนี้ ไม่มีข้อมูลในฐาน สปสช. จำนวน 20,559 รูป เนื่องจากบางรูปไม่มีบัตรประจำตัวประชาชน เพราะบวชมาในระยะเวลานานตั้งแต่อายุยังน้อย
ดังนั้น ในยุทธศาสตร์พัฒนาระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2560 – 2564 ซึ่ง สปสช. มีเป้าหมายในการเพิ่มการเข้าถึงบริการในกลุ่มเปราะบางและกลุ่มที่ยังเข้าไม่ถึง โดยภารกิจหลักคือการเพิ่มการเข้าถึงสิทธิของพระสงฆ์ ในปี 2563 นี้ จะมีการขับเคลื่อนการจัดระบบบริการสุขภาพแบบไร้รอยต่อ (ยกเว้นใบ Refer) ไปได้ทุกที่ ฟรีทุกสิทธิ นำร่องระดับเขต พร้อมสนับสนุนเผยแพร่ คู่มือการใช้สิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ สำหรับพระภิกษุ สามเณร ตามวัดต่างๆ อีกด้วย