ตั้งศูนย์วิจัย พัฒนา AI เสริมศักยภาพเยาวชน
ไมโครซอฟท์ เผยความร่วมมือกับหลากหลายภาคส่วนตลอดปีที่ผ่านมา ภายใต้พันธกิจการขับเคลื่อนประเทศไทยบนเส้นทางดิจิทัลด้วยนวัตกรรม AI ระดับโลก วางรากฐานทางเทคโนโลยี แนวทางการปฏิรูป และการเพิ่มทักษะให้บุคลากรทุกระดับ พร้อมจุดประกายมาตรฐานด้านจริยธรรม
ผลสำรวจที่เปิดเผยไปในช่วงต้นปี 2562 ที่ผ่านมา ซึ่งระบุว่ามีองค์กรในประเทศไทยเพียง 26% เท่านั้น ที่ได้นำ AI เข้ามาเป็นองค์ประกอบหลักในกลยุทธ์ทางธุรกิจสำหรับอนาคต ไมโครซอฟท์จึงได้ลงนามในความร่วมมือกับหน่วยงานมากมายเพื่อปูทางไปสู่ก้าวต่อไปที่แข็งแกร่ง สมบูรณ์ และสมดุล ในการพัฒนาเชิงนวัตกรรมดิจิทัลของไทยในปี 2563 ไม่ว่าจะเป็นในภาคธุรกิจ อุตสาหกรรม การวิจัยและพัฒนา การศึกษา หรือสังคม
ล่าสุด ไมโครซอฟท์ ประเทศไทย ได้ลงนามในข้อตกลงความร่วมมือกับ สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (DEPA) กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (DES) เพื่อจัดตั้งศูนย์วิจัยและพัฒนา AI ขึ้นในประเทศไทย ภายใต้จุดมุ่งหมายสูงสุดในการยกระดับคุณภาพชีวิตของคนไทย ทั้งในเชิงเศรษฐกิจและสังคม โดยในระยะแรกศูนย์วิจัยแห่งนี้จะมุ่งเน้นไปที่การยกระดับภาคการเกษตรและการพัฒนาสมาร์ทซิตี้ให้เป็นรูปธรรม
“การพัฒนาเทคโนโลยีต่างๆ ให้กลายเป็นองค์ประกอบที่สร้างประโยชน์ให้กับเศรษฐกิจและสังคมได้อย่างเต็มที่นั้น ต้องอาศัยความเข้าใจที่ลึกซึ้งในทุกระดับ การจัดตั้งศูนย์วิจัยและพัฒนา AI แห่งนี้ ไม่เพียงแต่เป็นช่องทางให้ไมโครซอฟท์สามารถนำแนวทางปฏิบัติที่ผ่านบทพิสูจน์ความสำเร็จบนเวทีโลกมาแบ่งปันให้นักคิดไทยได้นำไปปรับใช้เท่านั้น แต่ยังเป็นเวทีที่เชื่อมโยงทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน ผู้เชี่ยวชาญในวงการเทคโนโลยี สถาบันการศึกษา หรือแม้แต่นักลงทุน ให้ผสานกันเป็นระบบนิเวศเชิงนวัตกรรมที่เอื้อต่อการพัฒนาที่เป็นรูปธรรมมากยิ่งขึ้น” ธนวัฒน์ สุธรรมพันธุ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ไมโครซอฟท์ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าว
ศูนย์วิจัยและพัฒนา AI ประกอบไปด้วย National AI Platform บนแพลตฟอร์มคลาวด์ Microsoft Azure ที่เป็นรากฐานสำหรับการขับเคลื่อนนวัตกรรม บ่มเพาะธุรกิจสตาร์ทอัพ และสนับสนุนงานวิจัยด้าน AI Innovation Hub ศูนย์กลางการพัฒนาโครงการเชิงนวัตกรรมให้ก้าวจากแนวคิดสู่ความเป็นจริง เฟ้นหาจุดตั้งต้นที่เหมาะสมในการพัฒนาเทคโนโลยีที่สามารถก้าวข้ามความท้าทายที่คนไทยยังต้องเผชิญ และให้การสนับสนุนในการพัฒนาอย่างเต็มรูปแบบ Education & Talent Development การวางโครงสร้าง แพลตฟอร์ม เครื่องมือ และคอนเทนท์ต่างๆ ที่จะเสริมสร้างความเข้าใจทางธุรกิจและเทคโนโลยีอย่างสอดคล้องกัน จนเกิดเป็นบุคลากรคุณภาพที่พร้อมผลักดันโครงการเชิงนวัตกรรมไปสู่จุดหมาย
National AI Cluster ศูนย์กลางสำหรับนักคิดนักพัฒนาจากทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคการศึกษา ที่เปิดเวทีให้ทุกภาคส่วนได้ร่วมกันคิด คัด เลือก และต่อยอดนวัตกรรม AI ไปสู่ผลงานที่เป็นรูปธรรม โดยในระยะแรกจะมุ่งเน้นไปที่การส่งเสริมภาคการเกษตรด้วยโซลูชั่น FarmBeats ซึ่งเป็นการยกระดับศักยภาพของเกษตรกรด้วย
ข้อมูล Incubator พื้นที่สำหรับหน่วยงาน องค์กร และนักลงทุนที่ต้องการสนับสนุนและบ่มเพาะสตาร์ทอัพหน้าใหม่ให้เติบโต สามารถเข้าถึงทรัพยากรต่างๆ ที่จำเป็น และก้าวสู่การพัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการเชิงพาณิชย์ต่อไป
ก่อนหน้านี้ ไมโครซอฟท์และกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม ได้ประกาศความร่วมมือเพื่อพัฒนาองค์ความรู้ด้านงานวิจัยเชิงเทคโนโลยีให้กับทั้งนักเรียนนักศึกษา นักวิจัยใน 25 มหาวิทยาลัยทั่วประเทศไทย และหน่วยงานต่างๆ ในสังกัดของกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม โดยที่นำแพลตฟอร์มคลาวด์ระดับโลกเพื่อการเรียนรู้มาปรับใช้ถึง 2 แพลตฟอร์ม
ได้แก่ Microsoft Imagine Academy แหล่งทรัพยากรการเรียนรู้สำหรับสถานศึกษา ที่มีเนื้อหาหลักสูตรสอดคล้องกับการสอบใบประกาศนียบัตรวิชาชีพของไมโครซอฟท์ และ Microsoft Learn แหล่งทรัพยากรเรียนรู้ทักษะเชิงดิจิทัลแบบเปิดที่ทุกคนสามารถเข้าถึงได้ ขณะที่นักวิจัยในสถานศึกษาที่เข้าร่วมโครงการก็จะมีโอกาสได้เข้าถึงความรู้ความเชี่ยวชาญจากศูนย์วิจัยของไมโครซอฟท์ทั่วโลก เพื่อนำมายกระดับงานวิจัยของคนไทยต่อไป
นอกจากนี้ ยังได้สานต่อความร่วมมือกับสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) เพื่อส่งเสริมการพัฒนาศักยภาพของนักเรียน ครู โรงเรียน และหน่วยงานทางการศึกษา ภายใต้โครงการ “การขับเคลื่อนการศึกษาด้วยเทคโนโลยีดิจิทัล” (Digital Transformation in Education) ซึ่งครอบคลุมถึงการวางกรอบโครงสร้างเพื่อปรับรูปแบบการเรียนการสอนด้วยเทคโนโลยี การยกระดับทักษะความสามารถเชิงดิจิทัลของบุคลากรครู และการมอบซอฟต์แวร์และแพลตฟอร์มคลาวด์อย่าง Office365 เพื่อสนับสนุนการเรียนรู้ในสถานศึกษาในเครือ สพฐ.ทั่วประเทศ เป็นเวลา 3 ปีเต็ม
ความร่วมมือระหว่างไมโครซอฟท์กับ สพฐ.นับเป็นการขยายผลจากโครงการที่ไมโครซอฟท์ร่วมจัดทำกับสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (DEPA) และวิทยาลัยเทคโนโลยีพระมหาไถ่ พัทยา เพื่อจัดหลักสูตรอบรมทักษะเชิงดิจิทัลให้กับครูอาจารย์ 500 ท่านจาก 500 โรงเรียนในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อถ่ายทอดทักษะดังกล่าวจากบุคลากรครูไปสู่นักเรียนระดับมัธยมศึกษากว่า 5 หมื่นคน
อีกหนึ่งความร่วมมือระหว่างไมโครซอฟท์และกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม มาในรูปของการสนับสนุนนักวิชาการผู้เชี่ยวชาญจากมหาวิทยาลัยมหิดลเพื่อร่างเอกสารหลักการ และแนวทางเชิงจริยธรรมสำหรับการพัฒนาและใช้งาน AI ภายใต้ชื่อ “Digital Thailand-AI Ethics Guideline” ซึ่งมุ่งวางกรอบแนวทางปฏิบัติใน 6 ด้านใหญ่ๆ ได้แก่ ความสามารถในการแข่งขันและการพัฒนาอย่างยั่งยืน ความสอดคล้องกับกฎหมาย จริยธรรม และมาตรฐานสากล ความโปร่งใสและภาระความรับผิดชอบ ความมั่นคงปลอดภัยและความเป็นส่วนตัว ความเท่าเทียม หลากหลาย ครอบคลุม และเป็นธรรม และความน่าเชื่อถือ
"การที่ประเทศไทยเป็นชาติแรกในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่ไมโครซอฟท์เข้ามาให้คำปรึกษาในด้านจริยธรรม AI นั้น สะท้อนให้เห็นถึงความมุ่งมั่นของเราในการสร้างสรรค์สังคมที่ดีกว่าด้วยเทคโนโลยี โดยไม่ได้มุ่งเน้นไปที่ความล้ำสมัยของนวัตกรรมเพียงอย่างเดียว เรายังคำนึงถึงโอกาสในการเติบโตและประสบความสำเร็จที่คนไทยทุกเพศทุกวัย ทุกระดับความสามารถควรจะมีสิทธิได้รับจากเทคโนโลยีอย่างเท่าเทียมกัน และมุ่งหวังให้ AI เป็นฟันเฟืองที่นำพาความก้าวหน้ามาสู่ประเทศไทยอย่างยั่งยืน” ธนวัฒน์ กล่าวทิ้งท้าย