'ซึมเศร้า-เบิร์นเอาท์' พิษร้ายเมืองใหญ่? คนไทยป่วยจิตเวชเพิ่มขึ้น
10 ปี ผ่านไป จาก 'โรคซึมเศร้า' ถึง 'เบิร์นเอาท์' ผู้ป่วยโรคจิตเวชดั้งเดิมก็เพิ่มขึ้น โรคยุคใหม่ก็ปรากฏ เมืองเปลี่ยนไปหรือปัจจัยอะไรที่ทำให้ผู้คนบาดเจ็บทางใจมากขึ้นทุกที
โรคจิตเวช และโรงพยาบาลจิตเวชมีมาร่วมร้อยปีแล้ว ตั้งแต่ยุค 1930s – 1990s เช่น โรควิตกกังวล โรคซึมเศร้า และโรคจิตเภทคร่าชีวิตผู้ป่วยไปมากมาย ทั้งจากการรักษาที่ยังค้นพบวิธีที่ดีที่สุดไม่ได้ และการฆ่าตัวตาย แต่หลังจากยุค 90s แล้ว การฆ่าตัวตายก็ลดลง เพราะในที่สุด วงการแพทย์ก็ได้รู้แล้วว่าไม่ใช่เพียงโรคจิตเภท หรือเศร้ารุนแรงชั่วขณะที่ทำให้คนฆ่าตัวตาย แต่เป็นเรื่องของภาวะโรคที่เกี่ยวข้องกับสารเคมีในสมอง พบปัจจัยที่ทำให้เกิดโรคขึ้นมา รวมถึงค้นพบวิธีการรักษาโรคซึมเศร้าและโรคทางจิตเวชอื่นๆ ขึ้นมา
ทั้งยังเป็นช่วงแห่ง “สุขนิยม” ของวัยรุ่นทั่วโลก ทว่า คนในศตวรรษที่ 21 ล่ะ สุขนิยมกลายเป็นเรื่องเบาหวิว สังคมแห่งเทคโนโลยีและความเป็นเมืองใหญ่ผลักคนจำนวนมากเข้าสู่มุมมืดทางใจ ยิ่งสมองต้องการพิสูจน์ความสำเร็จ จิตใจก็อาจเริ่มล้า ท้อแท้ และบาดเจ็บขึ้นมาได้
- โรคเก่าในบริบทใหม่
โรคจิตเวช (Mental Illness) (ซึ่งไม่ได้หมายความว่าเป็นโรคจิต หรือเป็นบ้า) เช่น โรคซึมเศร้ามีมานานแล้ว ศิลปินและนักเขียนในอดีตหลายคนป่วยเป็นโรคนี้ในวันที่การแพทย์ยังไม่ได้รับรองให้ถึงขั้นเป็นโรค นักเขียนอย่างเวอร์จิเนีย วูลฟ์ หรือซิลเวีย เพลท ที่เขียนบรรยายการมองโลกอย่างบิดเบี้ยวแปลกประหลาด จนสร้างปรากฏการณ์ให้เป็นงานเขียนระดับรางวัล ราวกับว่าเป็นพรสวรรค์ที่มนุษย์ทั่วไปไม่มี ที่แท้คือหลุมดำบางอย่างที่เขาดิ่งอยู่ และพยายามอธิบายออกมา เขียนเพื่อบำบัดความเศร้าหรือ อันที่จริงอาจไม่ได้ทั้งหมด เพราะสุดท้าย ตัวอย่าง 2 ชื่อที่ยกขึ้นมานั้น ก็จากไปด้วยการฆ่าตัวตายอยู่ดี
- สิ้นยินดีเลวร้ายกว่าซึมเศร้า?
โรคซึมเศร้า (Major Depressive Disorder) อันที่จริงคำว่า ‘ซึมเศร้า’ ยังเป็นคำแปลภาษาไทยที่อาจไม่ตรงกับอาการโรคเท่าใด เพราะผู้ป่วยไม่ได้ซึมหรือเศร้าอย่างเดียว แต่เป็นความขมขื่นและดำมืดบางประการ ที่อธิบายได้ยาก บางคนเรียกมันว่าสุนัขสีดำ บางคนบอกว่ามันคือหยดหมึกดำที่แพร่กระจายไปทั้งตัว บางคนเฉยชาทั้งๆ ที่น้ำตาไหลอย่างบ้าคลั่ง บางคนโกรธเกรี้ยวอยู่ข้างในแต่ไม่รู้จะแสดงออกอย่างไร
อ่าน: เตือนโรคซึมเศร้าจะครองโลกปี 2030
อีกหนึ่งภาวะที่ถูกพูดถึงมากขึ้นในสังคมยุคใหม่คือ ภาวะสิ้นยินดี (Anhedonia) ที่ทำให้คนไร้ความรู้สึกแม้แต่กับสิ่งที่เคยชอบทำหรือเคยทำแล้วมีความสุข เช่น ดนตรี อาหาร การสนทนา หรือแม้แต่เรื่องเพศ
ภาวะนี้เป็นส่วนหนึ่งของอาการโรคซึมเศร้าที่จะสุขก็ไม่สุข จะทุกข์ก็ไม่ทุกข์ ไม่รู้ว่าตัวเองรู้สึกอย่างไรกันแน่ และสมาคมจิตเวชศาสตร์ของสหรัฐยังระบุด้วยว่า ภาวะสิ้นยินดีนั้นสามารถพบได้ในโรคจิตเภทและความผิดปกติทางจิตอื่น ๆ อีกด้วย
ในระยะแรกของผู้ที่มีอาการภาวะสิ้นยินดีนี้จะใช้ชีวิตได้อย่างปกติไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลงมาก แต่เมื่อนานไป อาการก็จะเริ่มแสดงออกมาเอง รับรู้ได้จากทุกอย่างที่เคยทำเป็นปกติทุกวันอยู่ ๆ ก็ไม่อยากทำอีกต่อไปเพราะคิดว่าทำไปก็ไม่ได้อะไรขึ้นมา
จากคำบอกเล่าของผู้ป่วยที่เป็นโรคซึมเศร้าหลายคนที่มีอาการของภาวะสิ้นยินดียังบอกเป็นเสียงเดียวกันว่า เกลียดความรู้สึกว่างเปล่านี้มากกว่าอาการของโรคซึมเศร้าด้วยซ้ำ ผู้ป่วยยังบอกอีกว่าการที่ตนรู้สึกเศร้านั้นยังดีกว่าการไม่รู้สึกอะไรเลย (หลายคนจึงทำร้ายตัวเอง เพราะต้องการ “รู้สึก” แม้จะเป็นความเจ็บปวดก็ยังดีกว่า) ภาวะนี้จึงเกี่ยวข้องกับความคิดที่อยากจะฆ่าตัวตาย เพราะไม่รู้สึกอะไรเลยทำให้ไม่กลัวตาย ภาวะสิ้นยินดีจึงเป็นปัญหาที่สำคัญต่อผู้ป่วยโรคซึมเศร้าอย่างมาก
ข้อมูลจากปี 2560 ประเทศไทยมีผู้ป่วยโรคซึมเศร้าราว 1.5 ล้านคน เพิ่มจากปี 2559 ประเทศไทยมีผู้ป่วยจิตเวชรวมทุกโรคกว่า 7 แสนคน ในจำนวนนั้น ผู้ป่วยโรคอารมณ์แปรปรวน หรือ ไบโพลาร์ 3 หมื่นกว่าคน (ยังมีผู้ป่วยอีกมากที่ไม่ได้มาพบแพทย์) นี่เป็นอีกโรคที่น่าห่วงไม่น้อย
- ไบโพลาร์ไม่ใช่เรื่องน่าขัน
โรคไบโพลาร์ (Bipolar Disorder) โรคอารมณ์สองขั้ว ที่ไม่ใช่เพียงแค่ความขึ้นลงของอารมณ์ที่ใครๆ ก็เป็นกัน แต่อาการของผู้ป่วยโรคไบโพลาร์ จะมีอารมณ์แปรปรวนผิดปกติ ต่างกันชัด 2 ขั้ว ขั้วหนึ่งคือ อารมณ์คลั่ง หรือ Mania ในช่วง Manic Episode ในช่วงนี้ผู้ป่วยจะรื่นเริงสนุกสนานผิดปกติ มีพลังในการทำกิจกรรมต่างๆ ไม่เหน็ดเหนื่อย มีความมั่นใจมาก ขาดความยับยั้งชั่งใจ หากถูกห้ามหรือขัดขวางในสิ่งที่ต้องการจะหงุดหงิด ฉุนเฉียว ในรายที่มีอาการรุนแรงจะพบมีอาการหลงผิดแบบมีพลังวิเศษ หรือมีความสามารถพิเศษเหนือคนอื่นจนถึงมีภาวะหวาดระแวงได้
อารมณ์อีกขั้วคือ อารมณ์ซึมเศร้า หรือ Depression ในช่วง Depressive Episode ผู้ป่วยจะเบื่อหน่าย ซึมเศร้า ร้องไห้ง่าย กินไม่ได้ การนอนผิดปกติ (นอนตลอดเวลา หลับยาก หรือไม่นอนเลย) หมดหวัง รู้สึกไม่มีคุณค่า ไม่มีคนสนใจ ไม่ได้รับการยอมรับ ไม่อยากทำอะไรเลย และอาจคิดฆ่าตัวตาย
ในแต่ละช่วงจะมีอาการต่อเนื่องราว 2 สัปดาห์–1 เดือน โดยมีผลกระทบทั้งด้านอารมณ์ พฤติกรรม และความคิด อาจจะสลับกัน หรือมีช่วงที่ปกติ หรือมีช่วงอาการผสม หรือ Mixed Episode คือมีทั้ง Mania และ Depression ผสมกัน
เพราะความแปรปรวนนี้จึงทำให้ผู้ป่วยมีปัญหาด้านความสัมพันธ์กับคนรอบข้างมาก บางคนยังพอทำงานได้ แต่หากถึงขั้นหนักหน่วง ก็ต้องพักงานไปเลย ควรพบจิตแพทย์ และมีผู้ดูแลอย่างใกล้ชิด เพราะหากตกอยู่ในช่วงซึมเศร้า อาการก็รุนแรงถึงขั้นอยากฆ่าตัวตาย และมีผู้ป่วยไบโพลาร์ในรอบ 2 ปีที่ผ่านมาได้ลงมือและจากโลกไปแล้วถึง 1 ใน 5
- 10 ปีผ่านไปคนไทยป่วยใจมากขึ้นกว่าเดิม
รายงานของกรมสุขภาพจิตตั้งแต่ปี 2551–2561 ชี้ให้เห็น (ถึงโรคทางจิตหลักๆ ที่พบมากในไทย) ว่ามีปริมาณทั้งลดลงและเพิ่มขึ้น โดยวัดจากจำนวนผู้ป่วยที่เข้ารับรักษาในสถานพยาบาลของกรมสุขภาพจิตทั้งผู้ป่วยในและผู้ป่วยนอก แต่โดยภาพรวมคือเพิ่มขึ้น ไม่นับผู้ป่วย แต่ไม่รู้ตัว และไม่ได้เข้ารับการรักษาอีก
ในภาคผนวกของรายงานประจำปี 2560 กรมสุขภาพจิตส่วนหนึ่งอธิบายว่า “ดัชนี้ชี้วัดสุขภาพจิตทางลบที่บ่งบอกถึงปัญหาสุขภาพจิตสามารถวัดได้ใน 2 ตัวชี้วัดคือ อัตราการฆ่าตัวตาย และอัตราการเจ็บป่วยทางจิต กระทรวงสาธารณสุขพบภาวะความแปรปรวนทางจิตและพฤติกรรมแนวโน้มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง”
ขอปรับภาษาให้อ่านง่ายขึ้น (สามารถดูต้นฉบับได้ที่ รายงานกรมสุขภาพจิตประจำปี 2561)
อัตราการเจ็บป่วยทางจิต เพิ่มขึ้นจาก 34.0% ในปี 2545 เป็น 62.4% ในปี พ.ศ. 2555 แล้วลดลงเล็กน้อยในปี 2556 และ 2557 แต่สูงขึ้นอย่างชัดเจนในปี พ.ศ. 2558 เป็น 72.1% ต่อ ประชากร 1 แสนคน
อัตราการฆ่าตัวตาย ลดลงในปี 2545 และเริ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องในปี พ.ศ. 2551 เป็น 6.0% ต่อประชากร 1 แสนคน และเพิ่มขึ้นเป็น 6.5% ต่อประชากร 1 แสนคนในปี 2558
ในขณะที่ค่าเฉลี่ยความสุขของคนไทย อายุ 15 ปีขึ้นไป ตั้งแต่ปี 2556-2558 อยู่ที่ 31.44 – 33.59% กลุ่มที่มีความสุขต่ำกว่าค่าเฉลี่ยมีแนวโน้มขึ้นลงตลอด
ในช่วงปีที่อัตราการเจ็บป่วยทางจิตเพิ่มขึ้นสูงขึ้นเรื่อยๆ เป็นเพราะบริบทเมืองที่เปลี่ยนไป อะไรเกิดขึ้นในช่วงนั้นบ้าง? ภัยพิบัติ เศรษฐกิจตกต่ำ ทำให้ผู้คนต้องดิ้นรนหนักขึ้นทุกที มาถึงยุคเทคโนโลยี ดิสรัปชั่น ที่พลิกทุกอย่างคว่ำหงาย การเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วทำให้ความเครียดถาโถม บางโรคทางใจใหม่ๆ ก็เกิดขึ้น
- “หมดไฟทำงาน” ภาวะที่ต้องรักษา
ในรอบทศวรรษที่ผ่านมา คำว่า “Burnout” หรืออาการหมดไฟในการทำงาน ถูกพูดถึงและพบเห็นบ่อยขึ้นในหลายประเทศ แม้แต่ในประเทศไทย ถึงขั้นที่มีการประกาศให้อาการเบิร์นเอาท์เป็นภาวะทางการแพทย์ที่ต้องได้รับการรักษาแล้ว
หากเป็นเมื่อก่อน หลายคนอาจคิดว่าภาวะนี้ไม่ได้เป็นโรคร้ายแรงอะไร แค่พักผ่อนมากขึ้นก็คงหาย แต่ตอนนี้อาจจะต้องคิดใหม่ เพราะภาวะนี้หากเกิดขึ้นซ้ำ ๆ และไม่ได้รับการแก้ไขอย่างทันท่วงที อาจจะเพิ่มระดับความรุนแรงถึงขั้นนำไปสู่โรคซึมเศร้าได้
เมื่อเดือน พ.ค. 2562 องค์การอนามัยโลก (WHO) ประกาศว่า Burnout Syndrome หรือ อาการหมดไฟในการทำงาน นับเป็นภาวะทางการแพทย์ และจัดอาการนี้อยู่ในบัญชีจำแนกทางสถิติระหว่างประเทศของโรคและปัญหาสุขภาพที่เกี่ยวข้อง (ICD-11) อันเป็นคู่มือทางการแพทย์สำหรับการตรวจวินิจฉัยโรคซึ่งสมัชชาอนามัยโลกครั้งที่ 72 โดยจะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 1 ม.ค. 2565 เป็นต้นไป
การประกาศครั้งนี้ทำให้ภาวะหมดไฟในการทำงาน ปรากฏอยู่บนเวชระเบียนของผู้ป่วยได้อย่างเป็นทางการ ซึ่งหมายความว่า แพทย์สามารถระบุสาเหตุการป่วยว่า “หมดไฟในการทำงาน” ผ่านใบรับรองแพทย์ เพื่อให้ผู้ป่วยเข้ารับการรักษา และลาป่วยอย่างเป็นกิจจะลักษณะได้
WHO ยังให้คำจำกัดความของภาวะหมดไฟในการทำงานว่า เป็นอาการที่เป็นผลมาจากความเครียดในการทำงานเรื้อรังและยังได้รับการจัดการดูแล แบ่งลักษณะอาการได้ดังนี้
- ความรู้สึกเหนื่อยล้า ไร้เรี่ยวแรง หรือ อ่อนเพลีย
- มีระยะห่างทางจิตใจต่อสิ่งที่ตัวเองทำ อยากปฏิเสธงาน หรือ มีความรู้สึกที่ไม่ดีต่อเรื่องที่เกี่ยวกับงาน
- ความสามารถในการทำงานลดลง
สำหรับความเห็นของแพทย์ในไทย นพ.มานัส โพธาภรณ์ รองอธิบดีกรมการแพทย์ โรงพยาบาลนพรัตนราชธานี เปิดเผยเมื่อเดือน ต.ค. 2562 ว่า ภาวะหมดไฟเป็นปรากฏการณ์ทางอาชีพ ไม่ใช่ “โรค” และเกิดจากความเครียดเรื้อรังจากการทำงาน ซึ่งถือเป็น “ปัจจัยที่มีผลต่อสุขภาวะ” ที่อาจจะนำไปสู่โรคต่าง ๆ ได้ เช่น ภาวะโรคซึมเศร้า โรควิตกกังวล หรือแม้กระทั่งปวดหัวรุนแรง หรือโรคนอนไม่หลับ เป็นต้น
อย่างไรก็ตาม เบิร์นเอาท์ไม่ใช่อาการที่เกิดขึ้นใหม่ แต่บรรดานักวิจัยทำการศึกษาโรคนี้มาหลายทศวรรษแล้ว ก่อนหน้านี้ เบิร์นเอาท์เป็นเพียงแนวคิดเชิงวัฒนธรรมที่คลุมเครือมานานและไม่มีคำจำกัดความเฉพาะเจาะจงที่นักวิทยาศาสตร์ส่วนใหญ่เห็นพ้องต้องกัน
การทบทวนวรรณกรรมที่ตีพิมพ์ในวารสาร SAGE Open เมื่อปี 2560 ระบุว่า เฮอร์เบิร์ต ฟรอยเดนเบอร์เกอร์ นักจิตวิทยาชาวอเมริกันที่ล่วงลับเมื่อปี 2542 ได้รับการยกย่องในฐานะผู้บุกเบิกงานวิจัยอย่างเป็นทางการเกี่ยวกับอาการเบิร์นเอาท์โดยงานวิจัยของเขาถูกตีพิมพ์เมื่อปี 2517
ลินดา และ ทอร์สเทน ไฮเนมันน์ ผู้เขียนการทบทวนวรรณกรรมดังกล่าว ระบุว่า ในช่วง 40 ปีหลังจากงานวิจัยของฟรอยเดนเบอร์เกอร์ มีงานวิจัยเกี่ยวกับหัวข้อโรคหมดไฟในการทำงานเป็นหลายร้อยชิ้น แต่ในช่วงเวลานั้น โรคหมดไฟในการทำงานกลับไม่ถูกระบุเป็นโรคทางจิต แม้จะเป็นหนึ่งในปัญหาทางจิตที่ถูกพูดถึงมากที่สุดในสังคมทุกวันนี้ก็ตาม
ไฮเนมันน์ บอกว่า เหตุผลหนึ่งสำหรับเรื่องนี้ คืองานวิจัยจำนวนมากเกี่ยวกับเบิร์นเอาท์ให้ความสำคัญกับสาเหตุและตัวแปรที่เกี่ยวข้อง มากกว่าความพยายามในการหาเกณฑ์ในการวินิจฉัยปัญหานี้อย่างเจาะจง ทำให้เกิด “ความคลุมเครือและความกำกวม” เกี่ยวกับแนวคิดต่อภาวะ Burnout
ในการทบทวนวรรณกรรมดังกล่าว ผู้เขียนทั้ง 2 คนยังชี้ว่า คำถามที่ว่านักวิจัยสามารถจำแนกภาวะซึมเศร้าและภาวะหมดไฟในการทำงานออกจากกันได้หรือไม่นั้น ถือเป็นอุปสรรคสำคัญในการยกระดับอาการเบิร์นเอาท์ให้เป็นโรคชนิดหนึ่ง
อย่างไรก็ตาม การที่องค์การอนามัยโลกประกาศให้อาการเบิร์นเอาท์เป็นภาวะทางการแพทย์ที่ต้องได้รับการรักษานั้น ก็ถือเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีในการจำกัดจำนวนผู้หมดไฟในการทำงานไม่ให้ระบาดไปมากกว่านี้
- “ความเหงา” โรคยุคใหม่ ?
ถึงแม้ว่าในรอบ 10 ปีที่ผ่านมา จะมีวิธีการติดต่อเพื่อนฝูง ครอบครัว และแม้แต่เพื่อนร่วมงานมากกว่าที่เคย แต่ความเหงากลับกลายเป็น “โรคระบาดยุคใหม่” และที่สำคัญ อาจทำให้สมรรถภาพในการทำงานของคนยุคนี้ลดลงด้วย
ในประเทศไทย มีคนเหงาจำนวนไม่น้อย ประมาณ 4 ใน 10 คน อ้างอิงจากผลสำรวจโดยวิทยาลัยการจัดการ มหาวิทยาลัยมหิดล เมื่อหลายเดือนก่อน ที่พบว่าในบ้านเรา มีคนเหงากว่า 26.75 ล้านคน หรือคิดเป็น 40.4% ของประชากรทั้งประเทศ โดยเป็นการทดสอบกลุ่มตัวอย่างคนไทยกว่า 1,100 คน
ผลสำรวจของเว็บไซต์ The Economist เมื่อปีที่แล้ว พบว่า กว่า 9% ของผู้ใหญ่ในญี่ปุ่น 22% ของผู้ใหญ่ในสหรัฐ และ 23% ของผู้ใหญ่ในอังกฤษ มักรู้สึกเหงาหรือโดดเดี่ยว หรือรู้สึกแบบนี้ตลอดเวลา
ในสหรัฐ ผลสำรวจเมื่อปีที่แล้วของบริษัทประกัน “ซิกน่า” และบริษัทวิจัยตลาด “อิปซอส” ซึ่งสอบถามกลุ่มตัวอย่างผู้ใหญ่ชาวอเมริกัน 2 หมื่นคน พบว่า 46% หรือเกือบครึ่ง รู้สึกโดดเดี่ยวตลอดเวลาหรือเป็นครั้งคราว
แต่ที่น่าสนใจคือผลการศึกษาอีกชิ้นในปีเดียวกัน ที่จัดทำโดย ศาสตราจารย์ ซิกัล บาร์เซด จากโรงเรียนธุรกิจวอร์ตัน และศาสตราจารย์ ฮาคาน ออซเชลิก จากมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย พบว่า “ความเหงา” มีผลกระทบขั้นรุนแรงต่อประสิทธิภาพในการทำงาน
ผลการศึกษาภาคสนามดังกล่าวที่ชื่อว่า “No Employee an Island: Workplace Loneliness and Job Performance” สำรวจความเห็นบรรดาลูกจ้าง 672 คนและหัวหน้างานของลูกจ้างเหล่านี้114 คน ไล่ตั้งแต่ตำแหน่งระดับล่างไปจนถึงระดับบริหารในสหรัฐ
บาร์เซดอธิบายในบทวิเคราะห์ธุรกิจออนไลน์ “โนว์เลดจ์ แอท วอร์ตัน” (Knowledge@Wharton) ว่า เรื่องความเหงาส่งผลเชิงลบต่อประสิทธิภาพในการทำงาน เนื่องจากการขาดการปฏิสัมพันธ์หมายความว่าพวกเขาจะได้ข้อมูลในบริษัทจากเพื่อนร่วมงานน้อยกว่า และหมายความว่าพนักงานที่รู้สึกโดดเดี่ยวมีแนวโน้มน้อยกว่าที่จะได้สิ่งที่ตัวเองต้องการจากบริษัท
ผลสำรวจนี้อาจขัดแย้งกับสิ่งที่คนส่วนใหญ่นึกถึงเกี่ยวกับความเหงา โดยคาดเดาจากมุมมองด้านวิวัฒนาการและแรงจูงใจที่ว่า คนที่รู้สึกเหงาจะเป็นฝ่ายเข้าหาคนอื่น ๆ
“แต่สิ่งที่เรารู้เกี่ยวกับความโดดเดี่ยวคือ เมื่อผ่านจุดแรกเริ่มมาได้ มันจะเป็นสาเหตุให้เรารู้สึกหวาดระแวงมากขึ้น และปิดกั้นตัวเองมากขึ้น” บาร์เซดระบุ
ศาสตราจารย์จากวอร์ตัน เผยว่า ด้วยเหตุที่เพื่อนร่วมงานและประสิทธิภาพการทำงานมีความเกี่ยวพันกันอย่างมาก ในแง่ของการให้ความคิดเห็นและคำปรึกษา มันจึงสมเหตุสมผลที่คนเหงาในที่ทำงานจะได้รับผลกระทบเชิงลบ
ผลการศึกษาของซิกน่า-อิปซอส พบว่า ความเหงาในที่ทำงานมีผลกระทบต่อสุขภาพเช่นกัน เกือบ 9 ใน 10 (89%) ของกลุ่มตัวอย่างที่มีความสัมพันธ์ “เชิงบวก” กับเพื่อนร่วมงานจะบอกว่ามีสุขภาพดี เทียบกับ 2 ใน 3 (65%) ของกลุ่มที่มีความสัมพันธ์ “ปานกลางหรือแย่” กับเพื่อนร่วมงาน
- โรคจิตเวชคือระบาดวิทยา
นอกจากพันธุกรรม หรือพยาธิสภาพทางกายของแต่ละคนแล้ว โรคจิตเวชไม่ได้ติดต่อกันลมหายใจ หรือสัมผัส แต่ระบาดด้วยการอยู่ภายใต้โครงสร้างสังคมเดียวกัน ไม่เพียงความกดดันของสังคมในระดับครอบครัว ไปจนถึงสังคมออนไลน์ ที่ทำให้คนเรายิ่งเพิ่มความคาดหวังต่อตัวเองมากขึ้น อีกทั้งโครงสร้างของเมืองใหญ่นั่นคือปัจจัยสำคัญ
Urbanization หรือการที่ประชากรย้ายถิ่นฐานมุ่งหน้าเข้าสู่เมืองใหญ่ เป็นกระแสหลักของโลก ในช่วง 2 - 3 ร้อยปีที่ผ่านมาจนถึงอนาคต มีการพยาการณ์กันว่าปี 2050 คนจะอพยพเข้าเมืองใหญ่มากที่สุดในประวัติศาสตร์มนุษยชาติ มีประชากรถึง 7 พันล้านคนกระจุกตัวอยู่ในเมืองใหญ่ 70 % มีเพียง 30 % เท่านั้นที่ยังอยู่ในชนบท และ 1 ใน 3 ของคนที่อาศัยอยู่ในเมืองใหญ่ก็ต้องอยู่อย่างแออัดในสภาพแบบสลัม
เพราะอะไร? ก็เพราะเมืองใหญ่คือโอกาสของการทำมาหากิน คือศูนย์กลางของความเจริญ ธุรกิจ เทคโนโลยี นวัตกรรม และความสะดวกสบายของทุกสิ่งทุกอย่าง แม้ไม่ใช่สำหรับทุกคน ต่อให้ต้องมีความเป็นอยู่คับแค้น ต่อให้มีแรงกดดันสูงในการเอาชีวิตรอดในแต่ละวันก็ตาม
อ่าน : เมืองกินเด็ก เมื่อเด็กไทยโตในคอนโด
มลพิษทางอากาศ ความหนาแน่นของประชากรที่ทำให้พื้นที่ตารางเมตรต่อคนต่ำกว่ามาตรฐาน การลดลงของพื้นที่สีเขียว และพื้นที่สาธารณะเพื่อมวลชนลดลง นี่เป็นนโยบายที่เมืองใหญ่ต้องวางแผนไว้สำหรับอนาคต เพื่อสุขภาวะที่ดีขึ้น...แม้เพียงสักเล็กน้อยก็ตาม
ทั้งนี้ ทุกโรคจิตเวชมีหนทางในการรักษา หากรู้สึกว่าตัวเองมีภาวะทางใจใดไม่สมดุลขึ้นมา การปรึกษาจิตแพทย์ นักจิตบำบัด แล้วเข้ารับการรักษาไม่ใช่เรื่องที่แปลกประหลาดเลย และสามารถหายได้จริง
ไม่มีใครในโลกที่สมดุลได้ตลอดเวลา ‘คนป่วยจิต’ ที่ไม่ยอมรับว่าตัวเองป่วยต่างหากที่จะเป็นภาระของคนรอบข้างและสังคม
อ้างอิง:
รายงานกรมสุขภาพจิตประจำปี , จุดประกาย, NCBI, Psychology Today, Urban Design Mental Health, Our World in Data, CNN, Bottom Line, The Economist, Unlockmen, Depression and Anhedonia, Medical News Today