เด็กมัธยมฯสุดเจ๋ง คว้ารางวัลนวัตกรรมสร้างสรรค์ ลดปัญหาขยะ

เด็กมัธยมฯสุดเจ๋ง คว้ารางวัลนวัตกรรมสร้างสรรค์ ลดปัญหาขยะ

เด็กมัธยมฯสุดเจ๋ง ชนะ Dow-CST Award ครั้งที่ 7 ชใช้วิทยาศาสตร์ เคมีย่อส่วน ผลิตนวัตกรรมสร้างสรรค์ จัดการปัญหาขยะอย่างยั่งยืนด้วยหลักการเศรษฐกิจหมุนเวียน พร้อมสร้างจิตสำนึกใช้ทรัพยากรให้เกิดประโยชน์สูงสุด

วันนี้ (17 ม.ค.2563)- กลุ่มบริษัท ดาว ประเทศไทย (Dow) ร่วมกับ สมาคมเคมีแห่งประเทศไทยในพระอุปถัมภ์ของศาสตราจารย์ ดร.สมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี องค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ (อพวช.) และคณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

จัดการประกวดโครงงานวิทยาศาสตร์ด้วยเทคนิคปฏิบัติการเคมีแบบย่อส่วน (DOW-CST AWARD) ประจำปี พ.ศ. 2562 ภายใต้โครงการห้องเรียนเคมีดาว ซึ่งจัดขึ้นต่อเนื่องเป็นปีที่ 7 โดยมีครูและนักเรียนทั่วประเทศร่วมประชันไอเดียการจัดการขยะด้วยโครงงานวิทยาศาสตร์ ชิงทุนการศึกษาและโล่เกียรติยศรวมมูลค่ากว่า 200,000 บาท

157931346244

โดยปีนี้มีทีมที่ผ่านการคัดเลือกเข้าสู่รอบชิงชนะเลิศทั้งสิ้น 20 ทีม แบ่งเป็น ระดับมัธยมศึกษาตอนต้น 6 ทีม และระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย 14 ทีม ซึ่งผู้ที่ชนะเลิศรางวัลยอดเยี่ยมจะได้เข้ารับพระราชทานโล่เกียรติยศจากศาสตราจารย์ ดร.สมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์    อัครราชกุมารี กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี ในงานประชุมวิชาการนานาชาติ Pure and Applied Chemistry International Conference (PACCON 2020) ที่จะจัดขึ้นที่อิมแพ็ค ฟอรั่ม เมืองทองธานี แจ้งวัฒนะ ระหว่างวันที่ 13-14 กุมภาพันธ์นี้

นายสุพจน์ เกตุโตประการ ผู้อำนวยฝ่ายธุรกิจ กลุ่มบริษัท ดาว ประเทศไทย กล่าวว่า Dowเล็งเห็นความจำเป็นในการแก้ปัญหาขยะอย่างยั่งยืนด้วยหลักการเศรษฐกิจหมุนเวียน และต้องการสร้างจิตสำนึกในการใช้ทรัพยากรให้เกิดประโยชน์สูงสุด โดยปีนี้ โครงการฯ ได้กำหนดธีมการประกวดภายใต้หัวข้อ การจัดการขยะและของเสีย (Waste Management)โดยเปิดโอกาสให้นักเรียนและครูที่ปรึกษานำเสนอไอเดียที่น่าสนใจ สร้างแรงบันดาลใจให้นักเรียนมีความคิดริเริ่มและสร้างสรรค์นวัตกรรมได้อย่างมีประสิทธิภาพ อันจะสามารถนำแนวคิดจากโครงการเหล่านี้ไปต่อยอดเพื่อการแก้ปัญหาขยะอย่างยั่งยืนต่อไป

ศ.ดร.สุภา หารหนองบัว นายกสมาคมเคมีแห่งประเทศไทยฯ กล่าวว่า โครงการฯ เห็นถึงประโยชน์ของเทคนิคปฏิบัติการเคมีแบบย่อส่วน ซึ่งเป็นองค์ความรู้ที่ช่วยให้วิชาวิทยาศาสตร์สามารถเข้าถึงได้ง่าย ทางสมาคมได้ร่วมส่งเสริมให้บุคลากรทางการศึกษาและเยาวชนสามารถประยุกต์ใช้องค์ความรู้ เครื่องมือ อุปกรณ์ และวัสดุที่มีอยู่ในท้องถิ่น นำมาพัฒนาเป็นสื่อในโครงงานวิทย์ฯ ซึ่งสามารถปรับใช้กับบทเรียนในชั้นเรียนที่ช่วยเพิ่มสีสีนให้กับการเรียนวิทยาศาสตร์ พร้อม ๆ กับช่วยแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อม เพื่อยกระดับมาตรฐานการศึกษาไทย สนับสนุนการเรียนการสอนที่ทั้งครูและนักเรียนสามารถเป็นนักคิดและพัฒนาเสริมสร้างนวัตกรรมโดยเฉพาะทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ในยุคประเทศไทย 4.0

ดร.กรรณิการ์ เฉิน รองผู้อำนวยการ องค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ กล่าวว่าวิทยาศาสตร์สามารถแก้ปัญหาที่ท้าทายต่าง ๆ และช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตของสังคมโลกได้ การประกวดในปีนี้ จึงสนับสนุนให้ครูและเยาวชนได้นำความรู้ด้านวิทยาศาสตร์มาคิดค้นวิธีการจัดการขยะและของเสียด้วยเทคนิคและนวัตกรรมต่าง ๆ อย่างสร้างสรรค์ สอดรับกับทิศทางการตื่นตัวของประเทศไทยในด้านการบริหารจัดการสิ่งแวดล้อมอย่างมีส่วนร่วม เพื่อสร้างระบบนิเวศที่ดีให้กลับคืนมาอีกครั้ง

157931346034

ตลอดระยะเวลาการดำเนินกิจกรรมกว่า 7 ปี มีคณาจารย์กว่า 2,000 คน จาก 762 โรงเรียนทั่วประเทศ และมีนักเรียนกว่า 100,000 คน ที่ได้รับประโยชน์ นอกจากนี้ โครงการฯ ยังได้รับความสนใจและมีการขยายผลองค์ความรู้ให้กับครูในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ด้วยการร่วมเข้ารับการถ่ายทอดเทคนิคการเรียนการสอนรูปแบบใหม่อย่างต่อเนื่องอันจะเป็นประโยชน์ต่อการสร้างบุคคลากรด้านวิทยาศาสตร์ในอนาคต

ด.ญ.ณัฐวรา ขอสันติวิวัฒน์ ด.ญ.ฐิติพร เพ็ชรอำไพ และด.ช.เตชธร ยิ่งสุข 2 สาว 1หนุ่ม จากโรงเรียนปราจิณราษฎรอำรุง จ.ปราจีนบุรี เจ้าของโครงงานทดลองเคมีย่อส่วนเรื่อง Microplastic Management ทีมชนะเลิศคว้ารางวัลยอดเยี่ยมระดับมัธยมศึกษาตอนต้น ในการโครงงานวิทยาศาสตร์ด้วยเทคนิคปฏิบัติการเคมีแบบย่อส่วน (DOW-CST AWARD) ประจำปี พ.ศ. 2562 ช่วยกันเล่าว่ารู้สึกดีใจและภาคภูมิใจมากที่โครงงานของพวกเขาได้รับรางวัลในครั้งนี้ เพราะนี่เป็นครั้งแรกที่ได้เข้าร่วมการประกวดและเป็นความตั้งใจของพวกเราในการค้นหาข้อมูล คิดค้นกระบวนการทางเคมีเรื่อง Microplastic ซึ่งเป็นปัญหาขยะพลาสติกและสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะในแม่น้ำ และท้องทะเล

157931346012

โครงงาน จะเป็นการทดลอง การแยกสารด้วยกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ จนทำให้สามารถกรองสารหรือกรองไมโครพลาสติก รวมถึงสารต่างๆที่ขนาดอนุภาคเล็กกว่าไมโครพลาสติก โดยโครงงานดังกล่าสามารถนำไปต่อยอดในกระบวนการคัดกรองไมโครพลาสติกได้

“สิ่งที่ได้เรียนรู้นอกจากกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ การคัดแยกสารแล้ว ยังทำให้รู้จักการแก้ปัญหาเฉพาะหน้า การคิดวิเคราะห์ คิดสร้างสรรค์ เรียนรู้การทำงานเป็นทีม ที่สำคัญทำให้ได้นำความรู้จากบทเรียนมาใช้งานจริง โดยแต่ละคนจะมีหน้าที่รับผิดชอบแตกต่างกันตามความถนัดของตนเอง"2 สาว1หนุ่มช่วยกันกล่าว

157931346166

การประกวด DOW-CST AWARD เป็นกิจกรรมที่ดีและเป็นเวทีให้เด็กได้แสดงความสามารถ นำความรู้ในห้องเรียนมาบูรณาการสร้างกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ที่สามารถนำไปต่อยอดได้จริง รวมถึงปลูกฝังการแก้ปัญหาขยะ ดูแลสิ่งแวดล้อมให้กับเด็กๆ ด้วย อยากให้มีการจัดการประกวด เพื่อเป็นการสร้างแรงบันดาลใจ และความกระตือรือร้นให้เด็กชื่นชอบวิทยาศาสตร์ และอยากสร้างสรรค์สิ่งประดิษฐ์ นวัตกรรม และรู้หลักกระบวนการทางวิทยาศาสตร์มากขึ้น 

ขณะที่ 3 หนุ่มจากโรงเรียนตะพานหิน จ.พิจิตร นายชิษณุพงศ์ จันทร์ทอง นายณัฐภูมินทร์ ถาวรกุล และนายภาณุวิชญ์ เทพโสภา เจ้าของโครงงานการทดลองเคมีแบบย่อส่วนเรื่องปฎิกิริยาเคมีและความสัมพันธ์ทางมวลของทองแดง ที่ได้รับรางวัลยอดเยี่ยมระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย เล่าว่ารู้สึกดีใจมากที่ได้รับรางวัลครั้งนี้ เพราะกว่าจะได้โครงงานชิ้นนี้ใช้เวลาพอสมควร โดยโครงงานของพวกเขาเป็นการสร้างชุดการทดลองเคมีแบบย่อส่วนเพื่อศึกษาปฎิกิริยาเคมีของสารประกอบทองแดงที่เมื่อใช้กระบวนการทางวิทยาศาสตร์  ปฎิกิริยาทางเคมี ทำให้สามารถละลายตะกอน และก๊าซ ซึ่งสามารถนำมาใช้ในการทดลองแหล่งน้ำ เป็นการช่วยรักษาสิ่งแวดล้อม

อยากฝากทุกคนที่ชื่นชอบวิทยาศาสตร์ ขอให้เปิดโอกาสให้ตนเองได้เข้าร่วมการประกวดต่างๆ  นึกถึงการคิดโครงงานที่เป็นประโยชน์ต่อสังคม และสิ่งแวดล้อมร่วมด้วย