กสศ.ใช้บทเรียนจากสาธารณสุข แก้เหลื่อมล้ำทางการศึกษา
“ดร.ประสาร” ชี้ กสศ.ตั้งใจใช้บทเรียนจากสาธารณสุข แก้เหลื่อมล้ำทางการศึกษา เน้นงานวิจัยเชิงระบบ-นวัตกรรม-ภาคีเครือข่าย ค้นหาช่วยเหลือ เด็กตกหล่นด้อยโอกาส สร้างเด็กช้างเผือก เพื่อก้าวพ้นความยากจน ระบุ รัฐลงทุนเพื่อความเสมอภาคฯเท่ากับอุดหนุนสวัสดิการ
ดร.ประสาร ไตรรัตน์วรกุล ประธานคณะกรรมการบริหารกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) กล่าวปาฐกถา หัวข้อ “การสร้างความเสมอภาคทางการศึกษา บทเรียนจากหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า” ในงานรำลึก 12 ปี นายแพทย์สงวน นิตยารัมภ์พงศ์ จัดโดย มูลนิธิมิตรภาพบำบัด (กองทุนนายแพทย์สงวน นิตยารัมภ์พงศ์) ตอนหนึ่งว่า ความสำเร็จของหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ทำให้ปัญหาความเหลื่อมล้ำของการเข้าถึงบริการทางสาธารณสุขที่เคยมี ระหว่างคนที่มีฐานะแตกต่างกันในการเข้าถึงบริการของรัฐ เป็นไปในทิศทางที่ดีขึ้น
ประชาชนมีความสุข มีหลักประกันในชีวิตว่าจะไม่ต้องเป็นหนี้สินหรือล้มละลายจากค่าใช้จ่ายรักษายามป่วยไข้ และยังทำให้ประเทศไทยที่แม้จะเป็นประเทศกลุ่มรายได้ปานกลาง แต่ยังสามารถเป็นกรณีตัวอย่าง เป็นที่ยอมรับของนานาชาติ ในความสำเร็จทำให้เกิดระบบประกันสุขภาพถ้วนหน้าขึ้นมาได้
ดร.ประสาร กล่าวต่อว่า บริการภาคการศึกษา มีโครงสร้างพื้นฐาน ที่คล้ายคลึงกับโครงสร้างของภาคสาธารณสุข และประสบปัญหาหลายๆ อย่างเหมือนกับระบบสาธารณสุข โดยเฉพาะในกลุ่มผู้ยากไร้ ด้อยโอกาส เช่น ปัญหาการเข้าถึงโรงเรียนที่มีคุณภาพ ค่าใช้จ่ายทางการศึกษาที่สูงเกินระดับรายได้ครอบครัว การที่เด็กและเยาวชนต้องหลุดออกไปจากโรงเรียนก่อนเวลาอันสมควร ความเหลื่อมล้ำของการเข้าถึงการศึกษาที่มีคุณภาพระหว่างคนจนกับคนรวย เป็นต้น
แม้ว่าประเทศไทยได้ร่วมเป็นภาคีสหประชาชาติ ในการร่างปฏิญญาจอมเทียน เมื่อสามสิบปีที่แล้ว เพื่อเป็นการประกันว่าเด็กทุกคนจะได้รับการศึกษาอย่างถ้วนหน้า (Education for All) และในภาพรวมประเทศไทยมีนโยบายเพิ่มการเข้าถึงการศึกษาที่ดีพอสมควร แต่ยังมีเด็กกลุ่มหนึ่งที่ต้องหลุดออกนอกระบบการศึกษา เด็กที่เข้าไปเรียนแต่ไม่มีความพร้อม นักเรียนต้องหยุดเรียนเพื่อช่วยพ่อแม่ทำงาน เด็กที่ไม่มีอาหารมื้อเช้ากินก่อนเข้าเรียน
“สถานการณ์ความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา พบว่า เด็กที่อยู่ในกลุ่มครอบครัวที่ยากไร้ที่สุดมีโอกาสได้เรียนต่อขั้นสูงกว่าการศึกษาระดับมัธยมปลายเพียง 5% เมื่อเทียบกับค่าเฉลี่ยของครอบครัวทั่วไปที่สามารถส่งลูกเรียนต่อในระดับสูงกว่าชั้นมัธยมปลาย 35% ดังนั้นโอกาสที่เด็กที่มาจากครอบครัวกลุ่มยากไร้ที่สุดจะสามารถขยับตัวให้พ้นจากวงจรความยากจนโดยอาศัยการศึกษาจึงยิ่งเป็นไปได้ยาก” ดร.ประสาร กล่าว
ดร.ประสาร กล่าวอีกว่า ข้อมูล PISA ปี 2018 พบว่าเด็กกลุ่มฐานะด้อยโอกาส มีความเสียเปรียบในทุกๆ ด้าน ทั้งในด้านผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษา ทัศนคติในชีวิต ความเชื่อที่ว่าชีวิตตนเองสามารถพัฒนาและเติบโตได้ (Growth Mindset) หรือแม้แต่การรังแก (Bullying) กัน ก็เกิดในกลุ่มที่ครอบครัวด้อยโอกาสมากที่สุด
ข้อมูลล่าสุดจาก PISA ที่น่าเป็นห่วงคือสถานการณ์ความเหลื่อมล้ำของการศึกษาภายในประเทศ ที่ประเทศไทยมีการแบ่งแยกโรงเรียนตามฐานะทางเศรษฐกิจของนักเรียนอยู่ในลำดับต้นๆ ของโลก เป็นรองแค่ประเทศในละตินอเมริกาแค่ไม่กี่ประเทศเท่านั้น ซึ่งไม่ใช่ภาพที่น่ายินดีนัก แต่มีเด็กไทยจำนวนหนึ่ง (ประมาณ 13%) มาจากครอบครัวที่ยากจน (ในกลุ่ม 25% ล่างสุดในสังคม) แต่สามารถทำคะแนน PISA ได้อยู่ในกลุ่มสูงสุด 25% ของประเทศ
ซึ่งทาง PISA เรียกว่ากลุ่มเด็กช้างเผือก (หรือ Academic Resilient) เด็กกลุ่มนี้แม้ฐานะยากจน แต่มีความพยายามสูง มีทัศนคติที่ดี มองโลกในแง่บวก มีพ่อแม่ที่แม้จะยากจนแต่ก็สนับสนุนการศึกษา ตัวเขาเองก็มีความหวังที่จะได้เรียนต่อจนจบการศึกษาขั้นสูงสุดเพื่อที่จะข้ามพ้นความจนของครอบครัวได้
“เด็กกลุ่มนี้ที่ กสศ.ตั้งใจค้นหาและเข้าไปสนับสนุนช่วยเหลืออย่างเต็มที่ และเราต้องการขยายผลให้เด็กในกลุ่มยากจน กลุ่มเสี่ยงคนอื่นๆ ได้รับการส่งเสริมพัฒนาให้กลายเป็นเด็กช้างเผือกด้วยเช่นกัน ถ้าเพิ่มจำนวนเด็กช้างเผือกจาก 13% เป็น 20% หรือ 30% ได้ ก็น่าจะเป็นสิ่งที่ทำให้ชีวิตของคนเปลี่ยนไปได้มาก”ดร.ประสาร กล่าว
โดย กสศ. ได้ศึกษาบทเรียนของการปฏิรูประบบสาธารณสุขโดยเฉพาะในเรื่องการสร้างหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ผ่านกระบวนการสร้างองค์ความรู้ทางวิชาการ นวัตกรรม การวิจัยเชิงระบบ การสร้างความร่วมมือกับภาคีเครือข่ายต่าง ๆ และผลักดันนโยบายผ่านประโยชน์ที่สังคมได้รับจากนวัตกรรมที่ กสศ. ได้ทำขึ้นมา
เช่น เรื่องบัญชีรายจ่ายประชาชาติด้านการศึกษา การจัดทำระบบคัดกรองนักเรียนผู้รับทุนเสมอภาค และการสร้างระบบฐานข้อมูลสารสนเทศของนักเรียน การวิจัยและพัฒนาเพื่อค้นหานวัตกรรมการเรียนการสอน การศึกษาแนวทางการปฏิรูประบบการจัดสรรทรัพยากรในรูปแบบต่าง ๆ การใช้นวัตกรรมและเครือข่ายท้องที่ค้นหานักเรียนที่ตกหล่น ซึ่งหลาย ๆ เรื่อง ก็ได้เรียนรู้ผ่านบทเรียนการทำงานของ นพ.สงวน นิตยารัมภ์พงศ์ และผู้ร่วมอุดมการณ์ในการปฏิรูประบบสวัสดิการภาคสาธารณสุข ว่าความสำเร็จต้องสอดประสานกันทั้งด้านวิชาการที่เข้มแข็ง การสร้างเครือข่ายผู้มีอุดมการณ์เพื่อสังคม และการผลักดันเชิงนโยบาย
ประธานคณะกรรมการบริหาร กสศ. ยังกล่าวว่า การที่ประเทศหันมาลงทุนกับงบประมาณเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษาที่เพิ่มขึ้น ไม่ได้หมายความว่าจะทำให้เศรษฐกิจของประเทศลดการเติบโตลง ประเทศส่วนใหญ่ในโลกที่มีระบบการศึกษาที่มีความเสมอภาค และมีคุณภาพสูง ก็มักจะเป็นประเทศที่มีระบบเศรษฐกิจที่เติบโตอย่างก้าวหน้า ดังนั้นการที่ภาครัฐทุ่มเทงบประมาณในการช่วยเหลือผู้ที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยง ยากจน ด้อยโอกาส เทียบเท่ากับการได้ช่วยพัฒนาการศึกษาให้กับประชากรส่วนใหญ่ของประเทศ