ชงรัฐ แก้ปัญหาผู้เฒ่าไร้รัฐ-ไร้สัญชาติ เพิ่มการเข้าถึงสวัสดิการรัฐ-สิทธิการรักษา
จากข้อมูลประกาศสำนักทะเบียนกลาง กระทรวงมหาดไทย ตามหลักฐานการขึ้นทะเบียนราษฎร ณ วันที่ 31 ธ.ค. ปี 2560 ในจำนวนราษฎรทั่วราชอาณาจักรไทยที่มีมากว่า 66.1 ล้านคน มีบุคคลที่ไม่ได้มีสัญชาติไทยถึง 875,814 คน
ในปี 2555 มูลนิธิพัฒนาชุมชนและเขตภูเขา (พชภ.) ได้เปิดประเด็น “ผู้เฒ่าไร้รัฐไร้สัญชาติ” ครั้งแรก โดยการสนับสนุนของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จัดโครงการพัฒนาสุขภาวะผู้เฒ่าไร้รัฐ ไร้สัญชาติ ในพื้นที่พรมแดนไทย-เมียนมา และไทย-ลาว ด้วยการศึกษาข้อมูลสถานการณ์และปัญหาที่ผู้สูงอายุไร้รัฐไร้สัญชาติประสบอยู่เพื่อสื่อสารกับสังคม
พบว่า กลุ่มผู้เฒ่าไร้รัฐ ไร้สัญชาติ มี 2 ลักษณะ คือ 1. กลุ่มผู้เฒ่าที่เกิดในประเทศไทย เป็น “ชาวเขาติดแผ่นดิน” และ 2. กลุ่มที่อพยพเข้ามาอยู่นานแล้วจนกลมกลืนกับสังคมไทย มีลูกหลานเหลนที่ได้พัฒนาสถานะแล้ว ได้เข้าศึกษาและทำงานร่วมสร้างเศรษฐกิจให้สังคมไทย
ข้อมูลจาก พชภ. ระบุว่า กลุ่มชาวเขาติดแผ่นดินที่เกิดในประเทศไทย แต่ยังคงไร้รัฐ ไร้สัญชาติ สามารถเข้าหลักเกณฑ์การยื่นเอกสารการลงรายการสัญชาติไทย ตามระเบียบสำนักทะเบียนกลางว่าด้วยการพิจารณา รายการสถานะบุคคลในทะเบียนราษฎรให้แก่บุคคลบนพื้นที่สูง พ.ศ.2543 ที่เรียกโดยทั่วไปว่า “ระเบียบ 43” คือ ผู้ที่เกิดในประเทศไทยระหว่างวันที่ 10 เมษายน พ.ศ. 2456 – 13 ธันวาคม พ.ศ. 2515 ให้สันนิษฐานว่ามีสัญชาติไทย เว้นแต่พิสูจน์ได้เป็นอย่างอื่น
- ผู้เฒ่าไร้บัตร ไร้สิทธิ ไร้ความภูมิใจ
ทั้งนี้ ปัญหาการรับรองสัญชาติไทย สำหรับ “ชาวเขาติดแผ่นดิน” ตามระเบียบ 43 ที่จำเป็นต้องมีนโยบายพิเศษ (Fast Track) เนื่องจากผู้เฒ่าไร้สัญชาติที่ตกหล่นการสำรวจจากเจ้าหน้าที่รัฐ มีสถานะเป็นคนไร้รัฐยังมีอยู่ ขั้นตอนการยื่นคำร้อง ต้องรวบรวมเอกสารและหลักฐานจำนวนมาก และต้องผ่านกระบวนการที่ซับซ้อนเกินความสามารถของผู้เฒ่า ที่จะดำเนินการเอง ไม่มีช่องทางด่วนนโยบายพิเศษ สำหรับกลุ่มผู้สูงอายุ ซึ่งสามารถทำได้ในระดับอำเภอ หากเอกสารหลักฐานชัดเจน และกรณีข้อมูลจากการสำรวจผิดพลาด เอกสารไม่ตรงกับข้อเท็จจริง ยังไม่มีแนวทางในการแก้ไขที่ชัดเจน
ทำให้ผู้เฒ่าจำนวนมากที่ไม่มีบัตรประชาชน การเข้าไม่ถึงสิทธิด้านสุขภาพ ไม่สามารถรับการรักษาพยาบาลได้ตามที่ควรจะได้รับ เข้าไม่ถึงการส่งเสริมสุขภาพที่เหมาะสม นอกจากนี้ ยังเข้าไม่ถึงสวัสดิการของรัฐ อาทิ เบี้ยยังชีพ นอกจากประเด็นการเข้าถึงระบบบริการสุขภาพแล้ว ยังพบว่า ผู้เฒ่าไร้รัฐไร้สัญชาติ ต้องการได้ความภาคภูมิใจ ในฐานะประชาชนที่อาศัยในรัฐไทย เป็นบุพการีของลูกหลานที่ส่วนใหญ่ได้รับการรับรองเป็นคนไทยแล้วโดยสมบูรณ์ นั่นคือศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์
นางเตือนใจ ดีเทศน์ ผู้ก่อตั้ง พชภ. กล่าวระหว่างการนำสื่อมวลชนลงพื้นที่บ้านกิ่วสะไต และบ้านเฮโก ตำบลป่าตึง อำเภอแม่จัน จังหวัดเชียงราย และหมู่บ้านป่าคาสุขใจ ต.แม่สลองนอก อ.แม่ฟ้าหลวง จ.เชียงราย ว่า กฎกระทรวง ระเบียบที่เกี่ยวข้องกับคนไร้รัฐไร้สัญชาติ มีความทับซ้อนมาก เจ้าหน้าที่หน่วยงานต่างๆ เขามีภารกิจหลายด้าน
ดังนั้น หากดูตามคำมั่นของมติคณะรัฐมนตรี ในวันที่ 1 ตุลาคม 2562 ที่เห็นชอบให้ผู้แทนของประเทศไทยไปแถลงต่อที่ประชุมของ สำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ ที่เจนีวา สวิตเซอร์แลนด์ ทั้งเรื่องการปรับปรุงระบบการเข้าถึง กระบวนการเรื่องการพัฒนาสถานะ รวมถึงเรื่องผู้สูงอายุไร้รัฐ ไร้สัญชาติ ซึ่งเป็นครั้งแรกในการเป็นมติคณะรัฐมนตรี เพื่อขับเคลื่อนการแก้ปัญหา
"ประเทศไทยควรมีหน่วยงานที่แก้ปัญหาคนไร้รัฐ ไร้สัญชาติโดยเฉพาะ และปรับทัศนคติการทำงานของหน่วยงานที่มองว่าเรื่องของคนผู้เฒ่าไร้สัญชาติ ยังไม่เป็นเรื่องเร่งด่วน นอกจากนี้ การก้าวสู่สังคมสูงวัย โดยหลักสิทธิมนุษยชนจะต้องไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง” นางเตือนใจ กล่าว
ด้าน กลุ่มที่อพยพเข้ามาอยู่นานแล้ว จนกลมกลืนกับสังคมไทย เป็นระยะเวลา 30-50 ปี แต่ยังไม่สามารถพัฒนาสถานะบุคคลของตน เป็นต่างด้าวเข้าเมืองชอบด้วยกฎหมาย และมีถิ่นที่อยู่อาศัยถาวรในประเทศไทย เนื่องจากความล่าช้า การเรียกพยานหลักฐานจำนวนมาก โดยคณะอนุกรรมการกลั่นกรองสัญชาติ ทำให้ปัจจุบันกลุ่มผู้เฒ่าเหล่านี้ไม่สามารถพัฒนาสถานะบุคคลให้ถูกต้องตามกฏหมาย
แม้ที่ผ่านมา แม้จะมีหนังสือสั่งการ ของปลัดกระทรวงมหาดไทย ลงวันที่ 17 กรกฎาคม 2558 เรื่องการปรับปรุงแนวทางประกอบพิจารณา คุณสมบัติของชนกลุ่มน้อยที่แปลงสัญชาติเป็นไทย โดยหนังสือสั่งการดังกล่าว มีเนื้อหาระบุว่า “ในประเด็นที่เกี่ยวกับการมีอาชีพเป็นหลักฐาน และการมีความรู้ภาษาไทย สำหรับผู้ขอแปลงสัญชาติไทย ซึ่งเป็นชนกลุ่มน้อย หรือกลุ่มชาติพันธุ์ที่เป็นผู้สูงอายุ ให้คนกลุ่มดังกล่าว สามารถเข้าสู่สิทธิในการแปลงสัญชาติเป็นไทยได้” โดยมีเงื่อนไขดังนี้
1) การมีอาชีพเป็นหลักฐาน ให้พิจารณาจากอาชีพที่ผู้สูงอายุสามารถทำได้ ไม่ว่าจะเป็นการรวมกลุ่มอาชีพ หรืออาชีพส่วนบุคคล โดยให้ยกเว้นเรื่องเกณฑ์รายได้และการเสียภาษี และให้นายอำเภอเป็นผู้ออกหนังสือรับรองการประกอบอาชีพ 2) การมีความรู้ภาษาไทย ให้พิจารณาการใช้ภาษาไทยในการสื่อสาร (พูดและฟัง) ได้บ้างพอสมควร และร้องเพลงชาติหรือเพลงสรรเสริฐพระบารมีได้บ้าง และ 3) หลักเกณฑ์ตาม 1) และ 2) ให้ใช้กับชนกลุ่มน้อยที่มีอายุตั้งแต่ 65 ปีขึ้นไป และได้รับใบสำคัญประจำตัวคนต่างด้าวไม่น้อยกว่า 20 ปี ให้ลดระยะเวลาการได้รับใบสำคัญประจำตัวคนต่างด้าวไม่น้อยกว่า 5 ปี
ดร.พันธุ์ทิพย์ กาญจนะจิตรา สายสนุทร นักวิชาการจากคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ระบุว่า การพัฒนานโยบายพิเศษ (Fast Track) ของผู้เฒ่ากลุ่มไร้สัญชาติ แปลงสัญชาติ ในกลุ่มนี้ยังพบปัญหาว่ามีหลายขั้นตอน ตั้งแต่ 1.การยื่นคำร้องต่อสำนักทะเบียน อำเภอ เพื่อพิจารณา 2.พิจารณาระดับจังหวัด 3.คณะกรรมการกลั่นกรองสัญชาติระดับกรมการปกครอง 4.ส่งเรื่องให้กระทรวงมหาดไทยอนุมัติ 5.รัฐมนตรีกระทรวงมหาดไทยทูลเกล้าถ่ายให้พระเจ้าอยู่หัวลงพระปรมาภิไทย 6.ประกาศในราชกิจจานุเบกษา
นอกจากนี้ ยังต้องมีการตรวจสอบที่ต้องเกี่ยวข้องกับหลายหน่วยงาน อาทิ ตรวจประวัติอาชญากรรม ทั้งระดับอำเภอและจังหวัด สำนักงานตำรวจภูธรจังหวัด สำนักป้องกันและปราบปรามยาเสพติด สำนักงานข่าวกรองแห่งชาติ และระดับกรมการปกครอง ส่งตรวจสันนิบาล ซึ่งต้องใช้ระยะเวลาหลายปี
ดร.พันธุ์ทิพย์ กล่าวเสริมว่า สำหรับกรณีการขอแปลงสัญชาติขณะนี้ สามารถทำได้ 3 แบบ คือ แบบทั่วไป แบบผู้ที่ทำคุณประโยชน์ และแบบให้ผู้ด้อยโอกาส ในกรณีที่เป็นผู้ทำคุณประโยชน์ ต้องเข้าเงื่อนไข 5 ข้อ คือ 1.อายุ 20 ปีขึ้นไป 2.มีความประพฤติดี 3.มีอาชีพเป็นหลักฐาน 4. มีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านมาแล้วไม่น้อยกว่า 5 ปี และ 5.พูดฟังภาษาไทยได้ ที่ผ่านมาพบว่า บางรายมีปัญหาติดขัดบางประการ คือ กรณีมีอาชีพ แต่หน่วยงานไม่ได้ออกให้ทั้งๆ ที่เขาทำอาชีพเกษตรกรรมมาตั้งแต่อดีต
“ตนได้สอบถามไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะหน่วยงานกระทรวงพาณิชย์ จากนั้นจะยื่นต่อกรมการปกครอง เพื่อขอให้ดำเนินการ เพราะที่ผ่านมา เรื่องที่ยื่นถูกค้างไว้นานโดยไม่มีกำหนด อย่างไรก็ตาม ตามกฎหมายระบุว่าเจ้าหน้าที่จะต้องรับคำร้องและดำเนินการให้แล้วเสร็จภายใน 90 วัน ตนจะพยายามเสนอให้เจ้าหน้าที่ออกใบรับคำร้องเพื่อให้ดำเนินการแล้วเสร็จโดยเร็วต่อไป” ดร.พันธุ์ทิพย์กล่าว
บัตรประชาชนใบแรกในแผ่นดินไทย
เมื่อปีที่ผ่านมา ทาง พชภ. ได้ทำการทดลองเสนอนโยบายพิเศษ (Fast Track) สำหรับแม่เฒ่าไร้สัญชาติบ้านกิ่วสะไต ต.ป่าตึง อ.แม่จัน จ.เชียงราย วัย 65 – 98 ปี โดยดำเนินการจัดทำเอกสารประกอบการยื่นคำร่องขอลงรายการสัญชาติไทย ให้แก่แม่เฒ่าจำนวน 16 ราย เพื่อประกอบการยื่นคำร่องที่อำเภอแม่จัน โดยทำงานหนุนเสริมการเก็บข้อมูลของเจ้าหน้าที่สำนักทะเบีนย อ.แม่จัน ในการสอบข้อมูลสภาพแวดล้อม รวมถึงทำงานร่วมกับภาคีเครือข่าย จนปัจจุบัน แม่เฒ่าทั้ง 16 ราย ได้ทำการถ่ายบัตรประจำตัวประชาชน ลงรายการสัญชาติไทย และเพิ่มชื่อในทะเบียนบ้านเป็นครั้งแรก
นางโชชูน เบกากู่ อดีตแม่เฒ่าไร้สัญชาติ บ้านกิ่วสะไต ต.ป่าตึง อ.แม่จัน จ.เชียงราย อายุ 66 ปี เล่าว่า ตนมาอยู่ที่เมืองไทยมากกว่า 40 ปี ปัจจุบันทำอาชีพเย็บผ้า รู้สึกดีใจมากที่ได้บัตรประชาชน มีความสุข และภูมิใจมาก หลังจากได้บัตรก็มีโอกาสไปเยี่ยมญาติพี่น้องที่อยู่ประเทศจีน 2 ครั้ง เนื่องจากแต่ก่อนไม่มีโอกาสได้พบเจอเพราะไม่กล้าเดินทาง ก่อนที่ยังไม่ได้บัตร รู้สึกว่าหากตายก็ตายอย่างสูญเปล่า ตายแบบไม่มีสัญชาติ แต่ตอนนี้ถ้านึกถึงบั่นปลายชีวิตก็รู้สึกภูมิใจแล้วว่า ครั้งหนึ่งได้เป็นคนไทยเต็มตัว
ขณะเดียวกัน นายอาเหล่ งัวยา วัย 81 ปี อาชีพทำการเกษตร ชาวบ้านเฮโก ต.ป่าตึง อ.แม่จัน จ.เชียงราย ซึ่งเป็นหนึ่งในกรณีที่เกิดบนแผ่นดินไทยแต่ยังคงเป็นคนไร้สัญชาติ ยืนยันว่าตนเกิดที่ อ.แม่อาย จ.เชียงใหม่ และเป็นชาวบ้านกลุ่มแรกๆ ที่มาปักหลักอยู่ในหมู่บ้านเฮโก ที่ผ่านมา ในปี 2534 มีหลักฐานอยู่ในการสำรวจโดยศูนย์พัฒนาและสงเคราะห์ชาวเขา แต่ในปี 2546 กรมปกครองสำรวจอีกครั้ง แล้วระบุให้เป็นผู้ไร้สัญชาติ รู้สึกเสียใจมาก ที่ตนเองยังไม่ได้สัญชาติ ไม่มีบัตรประชาชน ในขณะที่เพื่อนและพี่น้องของตนหลายคนได้สัญชาติไปแล้ว ซึ่งตนก็ไม่รู้สาเหตุว่าทำไม