‘ค้างคาว’ ไม่ได้มีแค่ ‘ไวรัสโคโรน่า’
กรณี ไวรัสโคโรน่า สายพันธุ์ใหม่ 2019 มีแนวโน้มผู้ป่วยเพิ่มขึ้นในหลายประเทศ คือ ติดจากคนสู่คนได้ และน่าจะมีต้นตอจาก “ค้างคาว” โดยเท่าที่ไทยศึกษาค้างคาวไม่ได้มีแค่เชื้อไวรัสนี้เท่านั้น !
ดร.สุภาภรณ์ วัชรพฤษาดี รองหัวหน้าศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ คณะแพทยศาสตร์ รพ.จุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย กล่าวว่า เท่าที่มีข้อมูลตอนนี้ ไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่ 2019นี้ มีรหัสพันธุกรรมใกล้เคียงกับเชื้อที่พบในค้างคาวมากที่สุดที่ประมาณ 89 % เป็นค้างคาวมงกุฎซึ่งพบในจีน 2 สปีชี่ส์ คือ ค้างคาวเกือกม้าของจีน (Rhinolophus sinicus) ไม่พบในไทย และค้างคาวมงกุฎยอดสั้นเล็ก (Rhinolophus thomast)พบในไทย
“ส่วนที่เชื้อจากค้างคาวจะอาศัยสัตว์ทะเลเป็นตัวกลางปรับเปลี่ยนสารพันธุกรรม ในการมาสู่คนนั้น ค่อนข้างยาก เพราะค้างคาวเป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม การจะเป็นตัวกลางก็น่าจะเป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมเหมือนกัน แต่ก็อยู่ที่ความสามารถของตัวเชื้อด้วย”ดร.สุภาภรณ์กล่าว
จากการที่ศูนย์ฯได้ร่วมกับกรมควบคุมโรค กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ดำเนินการสำรวจไวรัสที่พบในสัตว์ในประเทศไทย ตั้งแต่ปี 2553-2562 ใน 9 จังหวัด ได้แก่ เลย ชลบุรี ราชบุรี เชียงใหม่ ฉะเชิงเทรา นครราชสีมา พังงา สระแก้ว และตราด โดยส่งตรวจในห้องแล็ปกว่า 42,000 ตัวอย่าง
พบว่า เป็นไวรัสที่รู้จักแล้ว 402 ชนิด และไวรัสใหม่ที่ไม่รู้จัก 458 ชนิด ส่วนใหญ่พบในค้างคาว และเป็นไวรัสตระกูลโคโรน่า แบ่งเป็น 5 กลุ่ม ได้แก่ อัลฟา(AlphaCoV) เบต้าโค เอ(BetaCov A) เบต้าโค บี (BetaCov B) เบต้าโค ซี(BetaCov C) และเบต้าโค ดี (BetaCov D) โดยกลุ่มที่สนใจเป็นพิเศษ คือ เบต้าโค บี ซึ่งกลุ่มเดียวกับที่ก่อให้เกิดโรคซาร์สและตัวระบาดที่อู่ฮั่น ส่วนอัลฟายังไม่พบรายงานก่อโรคในคน
ส่วนกรณีที่ทางการจีนระบุว่าไวรัสอาจกำลังกลายพันธุ์นั้น รศ.(พิเศษ)นพ.ทวี โชติพิทยสุนนท์ ผู้ทรงคุณวุฒิ ในคณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ กล่าวว่า การกลายพันธุ์นั้นก็ยังไม่แน่ชัด แต่การกลายพันธุ์เป็นเรื่องปกติของไวรัส ซึ่งอาจจะทำให้เชื้อรุนแรงขึ้น หรือรุนแรงลดลงก็ได้