เช็คลิสต์ 7 สัญญาณเตือน 'ป่วยทางใจ' ใครว่าเรื่องเล็ก
แพทย์เตือน หมั่นเช็ค "7 สัญญาณเตือน" อาการป่วยทางใจของคนรอบกาย อันตรายใกล้ตัว ที่เกิดได้ทั้งกับวัยเรียน วัยทำงาน พร้อมแนะปรับวิธีคิดช่วยป้องกัน
ท่ามกลางสังคมยุคใหม่ที่มีการแข่งขันสูง หลายคนมุ่งมั่นอยากประสบความสำเร็จตามเป้าหมายของตนเอง หรือความคาดหวังของครอบครัว ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการศึกษา การทำงาน หรือการดำเนินธุรกิจ แต่ระหว่างทางมักเจออุปสรรคมากมายทางความคิดที่สะสมจนกลายเป็นความตึงเครียด วิตกกังวล และเป็นสาเหตุหลักของ "อาการป่วยด้านจิตใจ" โดยไม่รู้ตัว ด้วยเหตุนี้ โรงพยาบาลเปาโล พหลโยธิน จึงเปิดบ้าน “Let’s Talk” @ Paolo Phaholyothin ศูนย์จิตเวชยุคใหม่ ทีมแพทย์พร้อมคุย เข้าใจทุกปัญหาทางใจ ณ อาคาร 4 ชั้น 5 โรงพยาบาลเปาโล พหลโยธิน
ผู้ช่วยศาสตราจารย์นายแพทย์ณัทธร พิทยรัตน์เสถียร ในฐานะหัวหน้าศูนย์ Let’s Talk กล่าวอธิบายว่า เรื่องของอารมณ์ ความรู้สึก เป็นสิ่งที่เราสามารถควบคุมได้ แต่เมื่อใดก็ตามหากเราเจอเหตุการณ์ไม่คาดฝัน ผิดหวัง สูญเสีย หรือปัญหารุนแรงหนักๆ เข้ามากระทบจิตใจ หลายคนจัดการและหาทางออกไม่ได้ ส่งผลกระทบให้เกิดอาการป่วยทางจิตใจ
ทั้งนี้ เราสามารถสังเกตตัวเองและคนใกล้ชิดได้ว่า มีอาการเหล่านี้หรือไม่
1.นอนไม่หลับ นอนมากเกินไป หรือมีอาการอย่างใดอย่างหนึ่งติดต่อกันนานเกินสองสัปดาห์ หรือเป็นเดือน
2.แยกตัว เก็บตัวอยู่คนเดียว ไม่อยากทำในสิ่งที่เคยชอบ ไม่อยากออกไปใช้ชีวิตตามปกติ ไม่ใส่ใจดูแลตัวเอง หรือไม่อยากแม้กระทั่งอาบน้ำ แปรงฟัน หรือแต่งตัว เกิดความรู้สึกไม่มีความสุขกับการใช้ชีวิตร่วมกับผู้อื่น ไม่ว่าจะเป็นครอบครัว ที่ทำงาน หรือแม้แต่อยู่บนโลกใบนี้
3.มีอาการเจ็บป่วยทางกายแบบหาสาเหตุไม่ได้ เช่น ปวดหลัง ปวดหัว ปวดท้อง ท้องอืด หรือเป็นโรคกระเพาะอาหารแบบเฉียบพลัน ร่างกายซูบผอม อ่อนเพลีย ไม่มีแรง หัวใจเต้นเร็วขึ้น แน่นหน้าอก หายใจลำบาก หน้ามืด วิงเวียนศีรษะ ทั้งหมดนี้ เรียกว่าเป็นภาษาร่างกายแห่งความเครียด (body language of stress)
4.เบื่ออาหาร ไม่อยากกินอะไรจนน้ำหนักลดลงอย่างรวดเร็ว หรือ อาการกินมากเกินปกติจนน้ำหนักมากขึ้น รวมถึงควบคุมพฤติกรรมการกินของตนเองไม่ได้
5.ไม่มีสมาธิ ไม่สามารถจดจ่อกับสิ่งที่ต้องทำได้ตามปกติ ความสามารถในการคิด อ่านลดลง ตัดสินใจในเรื่องธรรมดาๆ ไม่ได้
6.มีพฤติกรรมหุนหันพลันแล่น มั่นใจในตัวเองมากเกินปกติ มีอารมณ์คึกครื้น ไม่อยากนอน มีพลังงานสูง พูดเร็ว ทำเร็ว รวมถึงใช้จ่ายฟุ่มเฟือย ใช้จ่ายเงินแบบไม่คิด
7.มีอารมณ์ซึม เหงา เศร้า และคิดว่าตนเองไร้ค่า สะเทือนใจง่าย ร้องไห้บ่อย คิดว่าตนเองเป็นภาระ ท้อแท้ ตำหนิตัวเอง มองเห็นแต่ข้อผิดพลาดของตัวเอง รู้สึกสิ้นหวัง หรืออาจมีความคิดอยากตาย
หากสำรวจแล้วมีอาการ 1 ใน 7 ข้อ หรือมีหลายอาการร่วมกัน ให้สงสัยเลยว่าพฤติกรรมที่เป็นอาจไม่ใช่แค่อารมณ์แปรปรวน หรืออาการทางใจปกติทั่วๆ ไป แต่อาจมาจากความผิดปกติของสารเคมีในสมองที่ไม่สมดุล ควรได้รับการรักษาที่ถูกต้อง ด้วยการพูดคุยกับจิตแพทย์ นักจิตบำบัดหรือทานยาเพื่อรักษา
ทั้งนี้ ในปัจจุบัน Let’s Talk @ Paolo Phaholyothin ช่วยให้การเข้ามาพบแพทย์เฉพาะทางเป็นเรื่องปกติ ธรรมดา ไม่จำเป็นต้องกลัวหรืออาย เนื่องจากไม่ต่างจากการพบหมอในโรคทั่วไป แต่จะเน้นทิศทางการพูดคุย รับฟังอย่างเข้าใจแบบเพื่อน ควบคู่ไปกับการแสดงความเข้าใจ ให้คำอธิบาย หรือมีกิจกรรมให้ทดลองทำ อย่างศิลปะบำบัด กิจกรรมบำบัด เพื่อช่วยปรับเปลี่ยนความคิดและพฤติกรรมภายในบรรยากาศที่อบอุ่น ผ่อนคลาย เป็นเหมือนบ้านหลังที่สอง
อยากให้ยอมรับและเข้าใจในทุกเหตุการณ์ เพราะไม่มีใครเกิดมาเพอร์เฟค 100%
ทุกคนล้วนต้องเจอกับปัญหา หัดมองโลกในแง่ดี คิดบวก มีความสุข
เห็นคุณค่าในตัวเอง ภูมิใจในหน้าที่ของตน
สำหรับ การป้องกันอาการป่วยทางจิตใจ ผู้ช่วยศาสตราจารย์นายแพทย์ณัทธร พิทยรัตน์เสถียร แนะนำต่อว่า วัยเรียน หรือวัยทำงาน หลีกเลี่ยงไม่ได้ที่ต้องเจอแรงกดดัน ทั้งจากตนเอง ครอบครัว เจ้านาย เพื่อนร่วมงาน หรือแม้แต่บทบาททางสังคม อยากให้ยอมรับและเข้าใจในทุกเหตุการณ์ เพราะไม่มีใครเกิดมาเพอร์เฟค 100% ทุกคนล้วนต้องเจอกับปัญหา
ขอให้หัดมองโลกในแง่ดี คิดบวก มีความสุข เห็นคุณค่าในตัวเอง ภูมิใจในหน้าที่ของตน ทั้งการเรียน การประกอบอาชีพ รู้จักกล่าวชื่นชมคนอื่น ออกไปพบปะพูดคุยกับเพื่อนแลกเปลี่ยนมุมมอง ทัศนคติ
หากต้องเจอกับความรู้สึกด้านลบ ต้องรู้จักปลดปล่อยอารมณ์ ทั้งโกรธ เศร้า เสียใจ หรือเขียนระบายลงสมุดบันทึก ไม่แนะนำโพสต์ลงสื่อโซเชียล เพราะอาจจะทำให้เกิดความเครียดเพิ่มขึ้นจากคอมเมนต์ต่างๆ
รวมถึงการออกกำลังกาย รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ ลาไปเที่ยวพักผ่อนบ้าง และสำหรับคนที่ติดโลกออนไลน์ ควรจำกัดเวลาการใช้ นอกเหนือจากเพื่อทำงาน ตั้งกฏกับตัวเองว่าควรเล่นโซเชียลไม่เกิน 1 ชั่วโมงต่อวันเท่านั้น เมื่อครบแล้วให้วางทันที แล้วไปทำกิจกรรมอื่นแทน แต่ถ้ารู้สึกทำยากไม่ไหวจริงๆ ลองเปลี่ยนไปดูคอนเทนต์ที่สร้างสรรค์ เช่น ดูสารคดีท่องเที่ยว ทำอาหาร งานศิลปะ แฟชั่น ความสวยความงาม เพื่อกระตุ้นให้มีแรงบันดาลใจในการใช้ชีวิต