รอผลการศึกษาชัดเจน 'ยาต้านเอชไอวี' รักษาโคโรน่า
ราชวิทยาลัยอายุรแพทย์แห่งประเทศไทย การใช้ยาต้านเอชไอวี โลพินาเวียร์ และ ลิโทนาเวียร์ ร่วมกับการให้ยาต้านไวรัสไข้หวัดใหญ่โอเซลทามิเวียร์ รักษาผู้ป่วยไวรัสโคโรนา ยังต้องรอผลการทดสอบที่ชัดเจน ขณะนี้การรักษาคือ ประคับประคองตามอาการ
ราชวิทยาลัยอายุรแพทย์แห่งประเทศไทย แสดงความเป็นห่วงกรณีการรักษาผู้ป่วยไวรัสโคโรนา โดยใช้ยาต้านเอชไอวีที่เป็นยาสูตรผสมโลพินาเวียร์ และ ลิโทนาเวียร์ ร่วมกับการให้ยาต้านไวรัสไข้หวัดใหญ่โอเซลทามิเวียร์ รักษาผู้ป่วยชาวจีนที่มีการติดเชื้อค่อนข้างรุนแรง อาการดีขึ้น โดยระบุว่า ผลการรักษาดังกล่าวยังต้องรอการทดสอบที่ชัดเจน เนื่องจากยาต้านเอชไอวีมีผลข้างเคียง
หลังจากมีการค้นพบการใช้ยาต้านเอชไอวีที่เป็นยาสูตรผสมโลพินาเวียร์ และ ลิโทนาเวียร์ ร่วมกับการให้ยาต้านไวรัสไข้หวัดใหญ่โอเซลทามิเวียร์ รักษาผู้ป่วยหญิงชาวจีน อายุ 70 ปีที่มีการติดเชื้อค่อนข้างรุนแรง อาการดีขึ้นภายใน 12 ชั่วโมง และผลเชื้อเป็นลบใน 48 ชั่วโมง
ล่าสุดวานนี้ (4 ก.พ.) ราชวิทยาลัยอายุรแพทย์แห่งประเทศไทย แถลงข่าว เรื่องไวรัสปอดบวมร้ายแรงจากอู่ฮั่น โดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ นายแพทย์โอภาส พุทธเจริญ หัวหน้าศูนย์โรคอุบัติใหม่ด้านคลินิก โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย กล่าวว่าข้อมูลเมื่อวันที่ 3 กุมภาพันธ์ มีผู้ติดเชื้อทั่วโลก 17,485 ราย เสียชีวิต 362 ราย เริ่มคงที่เนื่องจากมาตรการป้องกันจากจีนและประเทศอื่นๆ เริ่มเข้มข้นขึ้น อัตราการเสียชีวิตอยู่ที่ 2.9% น้อยกว่าเมอร์สซึ่งอยู่ที่ 37% และซาร์ส 10% โดยผู้ที่เสี่ยงต่อการเสียชีวิตคือ ผู้สูงอายุ และผู้ที่มีโรคประจำตัว
สถานการณ์ในประเทศไทย จากรายงานของกระทรวงสาธารณสุข พบผู้ป่วยในไทยรวม 19 ราย มีคนไทย 2 ราย ซึ่งรายแรกมีประวัติเดินทางไปเมืองอู่ฮั่น และรายที่สอง ไม่ได้เดินทางไปประเทศจีนแต่การติดต่อเกิดจากไปสัมผัสใกล้ชิดผู้ป่วย ทั้งนี้ การติดต่อของโรคนี้ ติดต่อทางระบบทางเดินหายใจและการสัมผัสสารคัดหลั่งทางระบบทางเดินหายใจของผู้ติดเชื้อ
ดังนั้น ผู้ป่วยที่ควรมาพบแพทย์เพื่อตรวจประเมิน คือ ผู้ที่มีประวัติเดินทางมาจากประเทศจีน หรือมีประวัติสัมผัสคลุกคลีกับผู้ที่ได้รับการตรวจยืนยันว่าติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ และมีอาการไข้ ไอ น้ำมูก หายใจเหนื่อยหอบ
สำหรับผู้ที่ไม่มีประวัติเดินทางไปประเทศจีน หรือ ไม่มีประวัติสัมผัสคลุกคลีกับผู้ได้รับการตรวจยืนยีนว่าติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ แต่มีอาการของโรคหวัด ควรพักอยู่บ้าน รักษาตามอาการ หรือไปพบแพทย์ที่สถานพยาบาลใกล้บ้าน เนื่องจากขณะนี้ในประเทศไทยและทั่วโลก ยังมีการระบาดของไข้หวัดใหญ่และเชื้อไวรัสอื่นๆ เช่นกัน
- แพทย์ย้ำรักษาตามอาการ
ศาสตราจารย์แพทย์หญิง ศศิโสภิณ เกียรติบูรณกุล เลขาธิการสมาคมโรคติดเชื้อแห่งประเทศไทย ราชวิทยาลัยอายุรแพทย์แห่งประเทศไทย ระบุว่า มีเชื้อไวรัสบางชนิดเท่านั้นที่มียาต้านไวรัสเฉพาะ เช่น ไข้หวัดใหญ่ เริม งูสวัด เป็นต้น ขณะที่แบคทีเรียมียาปฏิชีวนะ สำหรับไวรัสโคโรนา เป็นไวรัสอีกชนิดหนึ่ง ณ ข้อมูลตอนนี้ยังไม่มียาต้านไวรัสโดยตรง ที่จะสามารถจัดการกับเชื้อไวรัสนี้ได้ ดังนั้น การรักษาหลักๆ คือ การรักษาตามอาการ มีไข้กินยาลดไข้ ไอทานยาแก้ไข หายใจไม่ไหวก็ใส่เครื่องช่วยหายใจ แนวทางปฏิบัติยังรักษาตามอาการแบบประคับประคองอยู่
เลขาธิการสมาคมโรคติดเชื้อแห่งประเทศไทยฯ อธิบายว่าการใช้ยาต้านเอชไอวี ในการรักษาผู้ป่วยไวรัสโคโรนาอย่าง รีโทรนาเวียร์ (Ritonavir) และโลพินาเวียร์ (Lopinavir) ถ้าอยู่ในขั้นหลอดทดลองผลการศึกษาว่ามีผลจริง การศึกษาในสัตว์ก็มีจริง ว่าทั้ง 2 ตัวยาทำให้สัตว์ที่ติดเชื้อโคโรนาไวรัสดีขึ้นได้ แต่ไม่ใช่สายพันธุ์ใหม่ เป็นสายพันธุ์ก่อนหน้านี้
ส่วนการใช้ในคนมีการใช้มาก่อนหน้านี้ แต่เป็นโรคซาร์ส ซึ่งเป็นไวรัสโคโรนาเหมือนกันแต่คนละสายพันธุ์ ดังนั้น การวิจัยในคนมี แต่ยังไม่ใช่ระดับดีมาก บ่งชี้ว่าได้ผลและลดอัตราการตายได้ แต่ในส่วนของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ ต้องรอข้อมูลที่ชัดกว่านี้ ในจีนเองกำลังทำวิจัยอยู่ ต้องรอผลจากในประเทศจีน เนื่องจากเป็นประเทศเดียวที่สามารถทำการวิจัยได้เพราะมีเคสผู้ป่วยมาก คาดว่าจะได้ผลออกมาในไม่ช้า ต้องศึกษาวิจัยอย่างดี มีการควบคุม
"ต้องศึกษาให้ดีว่าคนไข้ที่หาย หายเองตามอาการ หรือเพราะยาต้านเอชไอวี ต้องศึกษาเพิ่มเติมเพื่อให้แน่ชัดว่ายาใช้ได้จริงหรือไม่ เข้าใจว่าทุกคนคงรอความหวัง ซึ่งเรารู้เบื้องต้นแล้วว่าพอมี แต่จะใช้ได้จริงหรือไม่ทางคลินิกต้องรอข้อมูลที่ชัดเจนกว่านี้ ในกรณีคนไข้มีการติดเชื้อที่ปอดรุนแรง อาจจะใช้สเตียรอยส์ ขอเน้นย้ำว่าต้องรักษาประคับประคองตามอาการอยู่ ในข้อมูล ณ วันนี้ (4 ก.พ.)" ศาสตราจารย์แพทย์หญิง ศศิโสภิณ กล่าว
ตระหนักได้แต่อย่าตะหนก
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ นายแพทย์กำธร มาลาธรรม นายกสมาคมโรคติดเชื้อแห่งประเทศไทย ราชวิทยาลัยอายุรแพทย์แห่งประเทศไทย กล่าวเสริมว่าการเอายาต้านเอชไอวี มารักษาไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ เนื่องจากยามีผลข้างเคียง สอง คือ หากไม่ได้เป็นไวรัสโคโรนา เป็นเพียงไข้หวัดธรรมดา บวกกับมีเชื้อเอชไอวีโดยไม่รู้ตัว ทานเข้าไปจะทำให้เชื้อเอชไอวีดื้อยาได้ ซึ่งต้องระวัง และไม่ควรเอายาตัวนี้ไปให้คนอื่นกินเพื่อป้องกันไวรัส เพราะไม่มีประโยชน์ อีกทั้ง ยังส่งผลกระทบต่อตัวยาอื่น ๆ เกิดผลข้างเคียงที่รุนแรงตามมา เช่น ยาไมเกรน และอีกหลายตัว
“ขณะนี้ประเทศไทยยังไม่มีการระบาดอย่างกว้างขวางเท่าจีน ยังอยู่ในวงจำกัด ทำใจให้สบาย หากไม่ได้อยู่ในกลุ่มเสี่ยงหรือใกล้ชิดกับคนจีน ประเด็นสำคัญไม่ได้อยู่ที่เป็นคนชาติไหน แต่อยู่ที่ว่าเขาป่วยหรือไม่ สิ่งที่ต้องทำเป็นนิสัย คือ ล้างมือให้สะอาด ใส่หน้ากากอนามัย และหลีกเลี่ยงการอยู่ในที่ชุมชนที่มีคนมาก ถ้าไม่ใช่กลุ่มเสี่ยง ก็ใช้ชีวิตปกติได้ เพราะไวรัสหายเองได้ถ้าภูมิปกติ"
ทั้งนี้การใช้ยาต้านไวรัสข้อมูลยังไม่มีว่าตัวไหนดีที่สุด หากมีความเสี่ยงแพทย์ส่งตัวเข้ารับการคัดกรองอย่างละเอียด แต่หากไม่มีความเสี่ยงหลายคนก็อยากให้เก็บตัวอย่างไปตรวจ ซึ่งอาจจะเจ็บตัวฟรี เสียเงิน และไม่ใช่เรื่องง่าย การเอาไปทดสอบในห้องปฏิบัติการ ใช้ทรัพยากรสูง หากทุกคนอยากตรวจหมดระบบบริการสาธารณสุขจะไม่สามารถรองรับได้
นายแพทย์ กำธร กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับไวรัสโคโรนายังไม่จำเป็นต้องใช้ N95 เพราะใช้สำหรับบุคลากรทางการแพทย์ ที่ต้องอยู่ใกล้ผู้ป่วยเท่านั้น เนื่องจากไม่ได้ใส่ง่าย ๆ และใส่ได้ไม่นาน หากใส่ถูกวิธีจะหายใจลำบาก หากใส่ทั้งวันแล้วยังใส่ได้แสดงว่าใส่ไม่ถูก
“แนะนำประชาชนว่า อยากให้ตระหนัก แต่อย่าตระหนก หมั่นติดตามข่าวสาร และอย่าตีความข่าวสารเกินกว่าที่รับทราบ การล้างมือใช้น้ำและสบู่ล้างมือก็เพียงพอ ในพื้นที่ทั่วไปหากไม่มีห้องน้ำ ให้ใช้ทิชชู่เปียก 2-3 ครั้งแทนได้ อย่างไรก็ตาม ควรล้างมือทุกครั้งหลังจากกลับถึงบ้าน” นายแพทย์ กำธร กล่าวทิ้งท้าย