คุณภาพชีวิต-สังคม
ทส.ตั้งเป้า เริ่มลด “ขยะอาหาร” 5% ต่อปี I Green Pulse
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม นายวราวุธ ศิลปอาชาว่า ยังมีขยะอีกประเภท ที่มีจำนวนมหาศาล และเป็นตัวการก่อก๊าซเรือนกระจกไม่แพ้ขยะพลาสติก นั่นคือ “ขยะอาหาร”
นายวราวุธกล่าวว่า ปัจจุบัน ประเทศไทยอยู่ในช่วงเริ่มต้นดําเนินการเก็บข้อมูลและจัดการเรื่องการสูญเสียอาหารและขยะอาหาร โดยได้บรรจุเรื่องปัญหาขยะอาหารไว้ในแผนขับเคลื่อนการผลิตและการบริโภคที่ยั่งยืน พ.ศ. 2560-2579 ซึ่งตั้งเป้าหมายลดขยะอาหารให้ได้ 5% ต่อปี และร่างแผนปฏิบัติการลดก๊าซเรือนกระจกสาขาการจัดการของเสียชุมชนปี พ.ศ.2564-2573 ซึ่งมีเป้าหมายลดขยะให้ได้ 25% ภายในปี พ.ศ. 2568
กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เริ่มดำเนินจัดทำนโยบาย Food Waste Management โดยใช้วิธีขั้นตอนการจัดการขยะอาหาร ตามหลักขององค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ ( UNFAO ) โดยนำแนวคิดดังกล่าวมาปรับใช้ในการจัดการอาหารส่วนเกินในประเทศไทย ทั้งในโรงแรม ห้างสรรพสินค้าและธุรกิจร้านค้าขนาดเล็ก โดยภาครัฐจะมีบทบาทในการกระตุ้นระบบนิเวศของการบริหารจัดการอาหารส่วนเกิน, นายวราวุธกล่าว
พร้อมกันนี้ ทส.กำลังศึกษามาตรการ รูปแบบ และแนวทางการจัดการอาหารส่วนเกินเพื่อสร้างคุณประโยชน์สูงสุด จากประเทศฝรั่งเศส สหรัฐอเมริกา และ ประเทศออสเตรเลีย ที่ได้นำนโยบายดังกล่าวมาปรับใช้กับขยะอาหารส่วนเกินได้อย่างมีประสิทธิภาพ, นายวราวุธกล่าว
จากข้อมูลขององค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาติ (FAO), 1 ใน 3 ของอาหารที่ถูกผลิตขึ้นเพื่อการบริโภคของมนุษย์ทั่วโลกหรือประมาณ 1,300 ล้านตัน เป็นอาหารที่ถูกทิ้งกลายเป็นขยะอาหาร ซึ่งมากเกินพอที่จะเป็นอาหารสำหรับประชากรที่หิวโหย 800 ล้านคนทั่วโลก และจากข้อมูลล่าสุดในปี 19 ขยะอาหารกว่า 14% สูญเสีญในระหว่างช่วงหลังการเก็บเกี่ยวจนมาสู่ผู้บริโภค
ข้อมูลจากกรมควบคุมมลพิษ ระบุว่า คนไทยสร้างขยะประมาณ 1.14 กิโลกรัมต่อคนต่อวัน ซึ่งสัดส่วนของขยะร้อยละ 64 นั้นเป็นขยะอาหาร ซึ่งถือว่าเป็นจำนวนที่เยอะ และควรได้รับความร่วมมือจากทุกฝ่ายตั้งแต่ระดับครัวเรือน ระดับภาคธุรกิจไปจนถึงระดับนโยบายในการแก้ไขปัญหา
ทั้งนี้ คพ. เคยแลกเปลี่ยนประเด็นดังกล่าวในการประชุมเชิงปฏิบัติการ Towards SDG 12.3 Food Loss and Waste จัดโดย GIZ ราวสองปีที่ผ่านมา ซึ่งเป็นเวทีที่เปิดให้นักวิจัยชาวไทยและชาวต่างชาติ รวมทั้งผู้กำหนดนโยบายของประเทศไทยแลกเปลี่ยนความรู้และประสบการณ์ด้านแนวทางการลดขยะอาหาร เพื่อหวังบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDG) ข้อ 12.3 ที่ต้องการลดจำนวนขยะอาหารทั่วโลกกว่าครึ่งภายในปีพ.ศ. 2573 และนับเป็นจุดเริ่มต้นหรือเวทีแรกๆที่ประเทศไทยเริ่มขยับในเรื่องนี้
สำนักงานสถิติแห่งชาติ (สสช.) ในฐานะหน่วยงานประสานงานเพื่อการรายงานข้อมูลด้าน SDG ของประเทศไทยได้เปิดเผยในเวทีเดียวกันนี้ว่า ข้อมูลด้านการสูญเสียอาหารและขยะอาหารของประเทศไทยยังมีค่อนข้างจำกัด ซึ่งความท้าทายในการเก็บข้อมูล ได้แก่ การให้คำนิยามที่ไม่ชัดเจน ข้อมูลไม่มีคุณภาพ ความสามารถในการเก็บข้อมูลของบุคลากรไม่เพียงพอ รวมถึงบทบาททับซ้อนระหว่างหน่วยงาน
อย่างไรก็ตาม เริ่มมีภาคเอกชนบางราย ได้ริเริ่มโครงการเพื่อลดขยะอาหารเหล่านี้ อาทิ ห้างสรรพสินค้า TESCO ที่ได้ดำเนินโครงการด้านนโยบายบริจาคอาหารและลดราคาสินค้าที่เหลือจากการวางขาย ใช้บรรจุภัณฑ์ที่ช่วยยืดอายุอาหาร และยังทำงานร่วมกับชาวสวนในการวางแผนการเพาะปลูกผักและผลไม้ให้พอดีกับความต้องการในการซื้อหาของผู้บริโภคมากที่สุด และล่าสุดกับโครงการ “2030 No Food Waste” หรือTops Supermarket ที่ลดการสูญเสียอาหารโดยการบริจาคอาหารให้องค์กรการกุศล ซึ่งในอนาคตอาจมีการพัฒนา application รองรับ เป็นต้น