แล้งเพราะโลกร้อน?
ผู้เชี่ยวชาญด้านการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ ได้แสดงความเป็นห่วงถึงการรับมือกับสถานการณ์ภัยแล้งในประเทศไทยที่นับวันมีแต่จะขยายตัวขึ้น ส่วนหนึ่ง เนื่องมาจากสภาพภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลง ที่ส่งผลให้เกิดความแปรปรวนของสภาพอากาศท้องถิ่น
รศ.ดร.เสรี ศุภราทิตย์ ผู้อำนวยการศูนย์การเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศและภัยพิบัติ มหาวิทยาลัยรังสิต และนักวิจัยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศจากประเทศไทยที่ได้เข้าร่วมเขียนรายงานการประเมินการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศฉบับที่ 6 ของ Intergovernmental Panel on Climate Change ที่มีกำหนดเผยแพร่ในอีกสามปีข้างหน้า ได้แสดงความเป็นห่วงถึงการรับมือกับสถานการณ์ภัยแล้งในประเทศไทยที่นับวันมีแต่จะขยายตัวขึ้น ส่วนหนึ่ง เนื่องมาจากสภาพภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลงที่ส่งผลให้เกิดความแปรปรวนของสภาพอากาศท้องถิ่นและความถี่ของเหตุการณ์
โดยจากการศึกษากราฟพยากรณ์อุณหภูมิและปริมาณฝนเลยจากช่วงฤดูร้อนจนเข้าฤดูฝน ไปจนถึงเดือนมิถุนายน ดร. เสรีพบว่า จะยังไม่มีฝนตกลงมาในประเทศไทย นั่นหมายความว่า ช่วงกลางปี สถานการณ์แล้งจะยังคงหนักหน่วงรุนแรง และอาจส่งผลต่อเนื่องไปถึงปลายปี ซึ่งเป็นช่วงเวลาเข้าสู่ฤดูร้อนหรือฤดูแล้งของปีถัดไป เนื่องจากภาวะฝนและน้ำที่น้อยนั่นเอง
จากการศึกษาสภาพภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลงในระดับโลกที่พยายามหาความสัมพันธ์กับสภาพอากาศท้องถิ่น เป็นที่ยอมรับกันแล้วว่า ภูมิอากาศโลกที่เปลี่ยนแปลงไป (Climate Change) ส่งผลต่อสภาพอากาศระดับท้องถิ่นถึงราว 40-50% โดยทำให้อากาศแปรปรวนมากขึ้นและมีความถี่ขึ้น ดร. เสรี กล่าว, สอดคล้องกับข้อค้นพบของหน่วยงานด้านน้ำ รวมถึงกรมชลประทานที่พบรูปแบบของฝนที่เปลี่ยนไปในประเทศในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา
ดร.เสรีกล่าวว่า ผลกระทบและความเสี่ยงจากภัยธรรมชาติ จะรุนแรงหรือไม่ขึ้นอยู่กับปัจจัย 3 ตัวหลัก คือ ตัวภัยธรรมชาติเอง ความเปราะบาง และความล่อแหลม ซึ่งสองปัจจัยหลังขึ้นอยู่กับความสามารถในการบริหารจัดการรับมือสถานการณ์นั่นเอง ซึ่งถ้าสองปัจจัยหลังสามารถจัดการได้ดี ผลกระทบหรือความเสี่ยงก็จะลดลง
“ภัยแล้งครั้งนี้เผาจริง ถ้าการจัดการยังเป็นอยู่แบบนี้ เราไปไม่ได้” ดร. เสรีกล่าว
ดร.เสรี อธิบายว่า การจัดการกับปัจจัยความเปราะบางและความล่อแหลมต่อสถานการณ์ ขึ้นอยู่เป็นอย่างมากกับการประเมินสถานการณ์และความเสี่ยงล่วงหน้า เพื่อนำไปสู่การเตรียมการที่ดี
จากการทำงานของหน่วยงานที่ผ่านมา ดร.เสรีมองว่า ยังมีการประเมินสถานการณ์ที่ช้าเกินไปคือราวเดือนธันวาคมที่เริ่มเข้าสู่ฤดูแล้งแล้ว และที่สำคัญคือเป็นการประเมินที่ไม่ครอบคลุม เป็นภาพรวมครบถ้วน เพราะจะมีการเน้นการประเมินสถานการณ์และรับมือเพียงพื้นที่ในเขตชลประทานที่มีโครงสร้างหน่วยงานด้านน้ำรองรับ อย่างเช่น กรมชลประทาน ทำให้ไม่สามารถเห็นภาพรวมสถานการณ์ของทั้งประเทศ โดยเฉพาะพื้นที่นอกเขตชลประทานที่มีมากถึงกว่าสามถึงสี่เท่าหรือราวร้อยล้านไร่ในขณะนี้
การประเมินสถานการณ์ดังกล่าวสะท้อนข้อจำกัดขององค์ความรู้ด้านภัยพิบัติที่ไม่สามารถตอบสนองต่อความท้าทายใหม่ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องโลกร้อน เพราะยังเป็นการประเมินบนฐานความรู้ด้านน้ำที่มีอยู่ของกรมชลประทานเป็นหลักทำให้ การออกแบบกลไกหรือมาตรการเป็นไปอย่างจำกัดและไม่ครอบคลุมสถานการณ์, ดร. เสรีกล่าว
จุดอ่อนที่สำคัญคือ การรวมศูนย์การบริหารจัดการมาไว้ที่กองอำนวยการน้ำแห่งชาติที่จะทำให้การทำงานเป็นไปโดยล่าช้า ไม่ตอบสนองพื้นที่ที่ประสบภัยแล้งที่ขยายตัวเป็นวงกว้างในเวลานี้, ดร. เสรีระบุ
“การประเมินแบบนี้ ทำให้เราจัดการแบบเชิงตั้งรับ ซึ่งถ้าดูจากภัยแล้งที่กำลังเกิด คาดว่าจะเกิดความเสียหายอย่างแรง มากกว่าครั้งก่อนๆ
“จริงๆแล้ว ประเทศไทย ถูกประเมินว่าเป็นประเทศที่ถือว่ามีน้ำต้นทุนดีระดับหนึ่งเพราะอยู่ในโซนร้อน หน้าฝน ฝนจะหนัก ซึ่งจริงๆ ถือว่ามีภัยแล้งคุกคามน้อยมาก แต่เรากลับเจอความเสียหายเรื่องภัยแล้งหนักทุกปี
“จากสภาพธรรมชาติที่เกิดขึ้น ภัยธรรมชาติอาจรุนแรงขึ้นแต่มันขึ้นอยู่กับการจัดการ ถ้าจัดการดีก็รอด ไม่ดีก็ลำบาก” ดร.เสรีระบุ
จากการออกแบบโครงสร้างกลไกการรับมือปัญหาภัยแล้งที่เป็นอยู่ในเวลานี้ ดูเหมือนจะสวนทางกับข้อแนะนำของ IPCC ที่ให้ประเทศที่มีความเสี่ยงด้านภัยพิบัติกระจายอำนาจการจัดการลงพื้นที่ที่ ดร.เสรี เรียกว่า “taskforce”
“เราทำกลับกัน คือจริงๆ ต้องเอาศูนย์แก้ปัญหาไปไว้ในพื้นที่” ดร. เสรี กล่าว
จากรายงานของ IPCC ฉบับที่ 5 ที่ ดร. เสรีมีโอกาสร่วมเขียนในบทที่ว่าด้วยการรับมือกับความเสี่ยงด้านภัยพิบัติ ได้เสนอว่า ควรมีการจัดตั้งหน่วยเฉพาะกิจลักษณะดังกล่าวในพื้นที่ เพื่อเป็นกลไกช่วยประเมินความเสี่ยงและบริหารจัดการปัญหาในพื้นที่ให้จบในคราวเดียว ไม่ย้อนกลับไปกลับมาระหว่างส่วนกลางกับพื้นที่ในภาวะวิกฤติเช่นนี้ โดยมีสำนักทรัพยากรน้ำแห่งชาติเป็นผู้ประสานงานหลักหรือเลขาฯ อำนวยการด้านข้อมูลและทรัพยากรสนับสนุน
การบริหารจัดการปัญหาในลักษณะดังกล่าว จะทำให้ปัญหาจำนวนมากซึ่งแตกต่างตามสภาพของพื้นที่ได้รับการจัดการอย่างรวดเร็ว เหลือพียงบางปัญหาที่จะถูกส่งต่อเข้ามายังส่วนกลางให้ช่วยคลี่คลาย, ดร. เสรีระบุ
กลไกดังกล่าว IPCC ยังแนะนำอีกว่า สามารถพัฒนาให้เป็นกลไกบริหารเชิงพื้นที่ที่ยั่งยืนช่วยไขปัญหาในระยะยาว ครอบคลุมเรื่องน้ำในหลายๆ เซ็คเตอร์, ดร. เสรีกล่าว
ในระยะยาว ดร.เสรีแนะนำว่า ปฏิเสธไม่ได้ว่า โลกร้อนกำลังส่งผลกระทบต่อสภาพดินฟ้าอากาศและภัยธรรมชาติของประเทศ ที่ประเทศจำเป็นต้องสร้างองค์ความรู้ทางด้านนี้ให้เท่าทันสถานการณ์
นักวิจัยและงานวิจัยใหม่ๆด้านนี้ โดยเฉพาะของรัฐต้องเกิดขึ้นและรับการสนับสนุนให้เชื่อมโยงกับเวทีโลก, ดร.เสรี แนะ