เช็คด่วน! สิทธิลูกจ้าง กรณี ‘COVID-19’ ป่วย-ถูกกักตัว ยังได้เงินไหม?

เช็คด่วน! สิทธิลูกจ้าง กรณี ‘COVID-19’ ป่วย-ถูกกักตัว ยังได้เงินไหม?

เปิด 'สิทธิลูกจ้าง' เมื่อป่วยหรือถูกกักตัว 14 วันเพื่อเฝ้าระวัง 'โควิด-19'

สถานการณ์ 'ไวรัสโคโรน่า' หรือ 'โควิด-19' ขยายวงกว้างในประเทศไทย และในระดับโลก กระทั่งถูกประกาศให้ 'โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019' หรือ 'โรคโควิด 19' เป็นโรคติดต่ออันตราย

ในกรณีเดินทางกลับมาจากพื้นที่ที่มีการระบาด หรือมีโอกาสใกล้ชิดกับผู้ป่วย เมื่อมีอาการไข้ หรืออาการเกี่ยวกับระบบทางเดินหายใจ ต้องให้ข้อมูลที่เป็นจริงกับแพทย์ พยาบาล และเจ้าหน้าที่ตั้งแต่ขั้นตอนของการซักประวัติ เพื่อช่วยในการรักษาและป้องกันตนเอง โดยการไม่แจ้งจะมีโทษปรับ เป็นมูลค่า 20,000 บาท 

ถูกกักตัวสังเกตอาการ "โควิด-19" จะยังได้รับ "ค่าจ้าง" หรือไม่

  • กรณีถูกสั่งกักตัวสังเกตอาการ

กลายเป็นประเด็นคำถามที่หลายคนสงสัยเกี่ยวกับโรค 'COVID-19' ว่ากรณีลูกจ้างลางานไปประเทศที่มีความเสี่ยง แต่ถูกทางการไทยให้กักตัวเพื่อสังเกตอาการ 14 วัน นายจ้างต้องจ่ายค่าจ้าง 14 วันที่ลูกจ้างถูกกักบริเวณหรือกักตัวหรือไม่

สำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานกรุงเทพมหานครพื้นที่ 3 ในข่าวประชาสัมพันธ์ "ประเด็นคำถามเกี่ยวกับโรคติดต่อโควิด-19" ได้ตอบคำถามประเด็นนี้ โดยสรุปว่า หากกรณีที่ทางการกักตัวลูกจ้างที่เดินทางกลับเข้าไทยไว้ เป็นการใช้อำนาจของเจ้าพนักงานควบคุมโรคติดต่อ ตาม ม.34 (1) และ ม.52 ตาม พ.ร.บ โรคติดต่อ 2558 เพราะมีเหตุอันควรสงสัยว่าเป็นโรคติดต่ออันตราย

แม้การใช้อำนาจตามกฎหมายดังกล่าวจะมีผลทำให้ลูกจ้างไปทำงานให้นายจ้างตามสัญญาได้ไม่ได้ ซึ่งไม่ใช่ความผิดของทั้งฝ่ายลูกจ้างและฝ่ายนายจ้าง ฉะนั้นลูกจ้างย่อมหลุดพ้นจากหน้าที่ ไม่ต้องไปทำงานให้นายจ้าง แต่ก็ไม่มีสิทธิได้รับค่าจ้างจากนายจ้าง และนายจ้างก็ไม่มีหน้าที่จ่ายค่าจ้างให้ลูกจ้าง ตามหลัก no work no pay

158323123541

  • กรณีมีอาการป่วยเป็นโรค "โควิด-19"

หากเป็นเหตุอันควรสงสัยว่าลูกจ้างเป็นโรคดังกล่าวเกิดจากการตรวจวัดร่างกายเพราะมีอาการเป็นไข้ ย่อมถือว่า "ลูกจ้างป่วย" ซึ่งสามารถใช้สิทธิลาป่วยได้ตามกฎหมายคุ้มครองแรงงาน เมื่อลูกจ้างแจ้งการใช้สิทธิลาป่วยโดยชอบต่อนายจ้างแล้ว ย่อมมีสิทธิได้รับค่าจ้างในวันที่ลาป่วย

เว้นแต่ลูกจ้างไม่ใช้สิทธิลาเพราะอาจจะไม่ได้รับค่าจ้างเนื่องจากลาป่วยเกิน 30 วันแล้วในรอบปี กรณีนี้ลูกจ้างอาจใช้สิทธิหยุดพักร้อนได้ และถ้าหากใช้สิทธิหยุดพักร้อนครบตามสิทธิตามกฎหมาย กฎระเบียบแล้ว ก็อาจตกลงกับนายจ้างหยุดงานโดยไม่จ่ายค่าจ้างก็ได้

อนึ่ง โรคติดต่อ COVID-19 เป็นโรคติดต่อร้ายแรง เป็นเรื่องที่เกี่ยวกับสุขภาพ เกี่ยวกับความเป็นความตายของชีวิตคน การปฏิบัติต่อกันระหว่างนายจ้าง ลูกจ้าง และบุคคลใดๆ ที่เกี่ยวข้อง เพื่อเฝ้าระวัง ป้องกัน และควบคุมโรคติดต่อดังกล่าวจะต้องคำนึงสุขภาพร่างกายและชีวิตของมนุษย์เป็นเป้าหมายที่สำคัญ มากกว่าจะเอาประโยชน์จากฝ่ายหนึ่งหรือมองว่าตนจะเสียประโยชน์บางอย่างไป

หากถูกสั่งกักตัวหลังกลับมาจากพื้นที่เสี่ยง ลูกจ้างถือว่าหลุดจากหน้าที่ ขณะที่นายจ้างไม่มีหน้าที่จ่ายค่าจ้าง จากหลัก no work no pay 

158323123743

ผู้มีสิทธิได้รับเงินทดแทนจากประกันสังคม กรณีขาดรายได้

  • ผู้ประกันตนมาตรา 33 (ทํางานกับนายจ้าง)

- มีสิทธิ์ได้เงินทดแทนฯ เมื่อส่งเงินสมทบภายใน 15 เดือนย้อนหลัง ไม่น้อยกว่า 3 เดือน ไม่ว่าจะติดต่อกันหรือไม่ก็ตาม ก่อนวันที่เข้ารับการรักษาพยาบาล โดยแพทย์มีคําสั่งให้หยุดพักรักษาตัว

- ต้องลาป่วยและได้รับเงินจากนายจ้างครบ 30 วันก่อน ส่วนที่ลาป่วยเกิน 30 วัน จึงสามารถยื่นขอรับเงินทดแทนฯ จากประกันสังคมได้

- มีหนังสือรับรองจากนายจ้างว่าได้รับค่าจ้างในวันลาป่วยครบ 30 วันทํางานใน 1 ปีปฏิทินตามกฎหมายคุ้มครองแรงงานแล้ว

- จะได้รับเงินทดแทนการขาดรายได้ 50% ของค่าจ้างจริง โดยคิดจากฐานไม่เกิน 15,000 บาท ตามกฎหมายประกันสังคม โดยได้รับครั้งละไม่เกิน 90 วัน ปีละไม่เกิน 180 วัน ยกเว้นเป็นโรคเรื้อรัง จะได้รับไม่เกิน 365 วัน

  • ผู้ประกันตนมาตรา 39 (ประกันตนเอง) 

- มีสิทธิรับเงินทดแทนฯ เมื่อส่งเงินสมทบภายใน 15 เดือนย้อนหลัง ไม่น้อยกว่า 3 เดือน ไม่ว่าจะติดต่อกันหรือไม่ก็ตาม ก่อนวันที่เข้ารับการรักษาพยาบาล โดยแพทย์มีคำสั่งให้หยุดพักรักษาตัว และต้องมีรายได้จากการประกอบอาชีพ

- กรณีมีรายได้ หรือมีกิจการเป็นของตนเอง ให้นำหลักฐานมาแสดงต่อเจ้าหน้าที่ จะได้รับเงินทดแทนการขาดรายได้ 50% ของค่าจ้างจริง โดยคิดจากฐานอัตราการนำส่งเงินสมทบของผู้ประกันตนมาตรา 39 (4,800 บาท) ตามกฎหมายประกันสังคม โดยได้รับครั้งละไม่เกิน 90 วัน ปีละไม่เกิน 180 วัน ยกเว้นเป็นโรคเรื้อรังจะได้รับไม่เกิน 365 วัน

- กรณีไม่ได้ทำงานกับนายจ้าง หรือไม่มีรายได้ จะไม่สามารถเบิกสิทธิ์เงินทดแทนการขาดรายได้จากประกันสังคมได้

  • ผู้ประกันตนมาตรา 38 (ผู้ประกันตนมาตรา 33 ที่ลาออกจากงาน แต่ยังอยู่ในสิทธิ์คุ้มครอง 6 เดือน)

- มีสิทธิ์ได้รับเงินทดแทนฯ เมื่อส่งเงินสมทบภายใน 15 เดือนย้อนหลัง ไม่น้อยกว่า 3 เดือน และเจ็บป่วยภายใน 6 เดือนนับแต่วันที่สิ้นสุดความเป็นผู้ประกันตน โดยแพทย์มีคำสั่งให้หยุดพักรักษาตัวและต้องมีรายได้จากการประกอบอาชีพ หรือเจ็บป่วยต่อเนื่องจากการเป็นผู้ประกันตนตามมาตรา 33 จึงถือว่ามีรายได้จากการทำงานก่อนการเจ็บป่วย

- จะได้รับเงินทดแทนการขาดรายได้ 50% ของค่าจ้างจริง โดยคิดจากฐานไม่เกิน 15,000 บาท ตามกฎหมายประกันสังคม โดยได้รับครั้งละไม่เกิน 90 วัน ปีละไม่เกิน 180 วัน ยกเว้นเป็นโรคเรื้อรัง จะได้รับไม่เกิน 365 วัน

  • ผู้ประกันตนมาตรา 41 (ลาออกจากมาตรา 39 แต่ยังอยู่ในสิทธิ์คุ้มครอง 6 เดือน)

- มีสิทธิรับเงินทดแทน เมื่อส่งเงินสมทบภายใน 15 เดือนย้อนหลัง ไม่น้อยกว่า 3 เดือน และเจ็บป่วยภายใน 6 เดือนนับแต่วันที่สิ้นสุดความเป็นผู้ประกันตน โดยแพทย์มีคําสั่งให้หยุดพักรักษาตัวและต้องมีรายได้จากการประกอบอาชีพ หรือเจ็บป่วยต่อเนื่องจากการเป็นผู้ประกันตนตามมาตรา 33 จึงถือว่า มีรายได้จากการทํางานก่อนการเจ็บป่วย โดยจะได้รับสิทธิ์เหมือนกับผู้ประกันตนมาตรา 39

สรุปได้ว่า หากเรามีประวัติเดินทางกลับมาจากประเทศกลุ่มเสี่ยง และมีอาการป่วยที่ต้องสงสัย ว่าติดเชื้อไวรัสโควิด-19 สามารถไปพบแพทย์ที่โรงพยาบาลตามสิทธิประกันสังคมได้เลย โดยแพทย์จะวินิจฉัยและส่งตรวจโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย แต่หากเรายังไม่มีอาการป่วยใด ๆ แล้วอยากขอตรวจเพื่อ ความมั่นใจจะต้องออกค่าใช้จ่ายในการตรวจเอง

เรื่องที่เกี่ยวข้อง: ประกันสังคมตรวจ-รักษาฟรี 'โควิด-19'

158322925177

ที่มา: สำนักงานประกันสังคม