FabLab ร.ร.เบญจมราชรังสฤษฎิ์ 2 โชว์นวัตกรรมระดับประเทศ
สวทช. เยี่ยมชมผลงานนักเรียน FabLab รร.เบญจมราชรังสฤษฎิ์ 2 ฉะเชิงเทรา ชี้โครงการฯ หนุนความรู้สะเต็มศึกษา ช่วยสร้างนวัตกรให้ประเทศ
สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ได้รับการสนับสนุนงบประมาณดำเนิน “โครงการโรงประลองต้นแบบทางวิศวกรรม (Fabrication Lab)” เพื่อพัฒนาทักษะความเป็นนวัตกรแก่เด็กและเยาวชนไทย ด้วยการส่งเสริมให้มีพื้นที่เรียนรู้ “โรงประลองต้นแบบทางวิศวกรรม (Fabrication Lab)” ในสถานศึกษาและแหล่งเรียนรู้ทั่วประเทศ ในโอกาสเข้าเยี่ยมชมโครงงานสิ่งประดิษฐ์ของนักเรียนที่โรงเรียนเบญจมราชรังสฤษฎิ์ 2 จ.ฉะเชิงเทรา
นำโดย ดร.อ้อมใจ ไทรเมฆ ผู้ช่วยผู้อำนวยการ สวทช. และคณะ เพื่อให้เห็นถึงทักษะความเป็นนวัตกรของเด็กและเยาวชนไทย ซึ่งมี 4 ผลงานโดดเด่นที่เดินสายกวาดรางวัลระดับประเทศมาแล้วภายใต้โครงการ FabLab ร่วมจัดแสดง ได้แก่ เครื่องวัดปริมาณออกซิเจนละลายน้ำด้วยแสง เครื่องตรวจจับควันบุหรี่อัจฉริยะ เครื่องช่วยเหลือผู้ดูแลผู้ป่วยติดเตียง และรถตัดหญ้าไฮเทค โดยมีผู้อำนวยการโรงเรียน ครูผู้ดูแลห้องปฏิบัติการ FabLab ครูพี่เลี้ยงจากมหาวิทยาลัยบูรพา รวมถึงตัวแทนนักเรียนที่ได้รับรางวัลนำเสนอโครงงานสิ่งประดิษฐ์
ดร.อ้อมใจ ไทรเมฆ ผู้ช่วยผู้อำนวยการ สวทช. กล่าวว่า โครงการโรงประลองต้นแบบทางวิศวกรรม (Fabrication Lab) หรือ ‘FabLab’ เป็นโครงการที่ได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาล ภายใต้โครงการ Big Rock ที่เป็นเรื่องของการพัฒนาคนตั้งแต่รัฐบาลที่แล้ว โดยให้การสนับสนุน 100 โรงเรียน 50 วิทยาลัยเทคนิค เพื่อพัฒนานวัตกร ในด้านเครื่องมือที่จะช่วยพัฒนานักเรียนนักศึกษา เช่น 3D Printer (เครื่องพิมพ์ 3 มิติ), Laser Cutter (เครื่องตัดเลเซอร์) และเครื่องมือทางวิศวกรรมและวิทยาศาสตร์อื่น ๆ เพื่อให้เด็ก ๆ ได้พัฒนาทักษะด้านวิศวกรรม ซึ่งโครงการได้ดำเนินมาร่วมปีกว่าแล้ว ตอนนี้มีความก้าวหน้าเป็นอย่างยิ่ง นักเรียนสามารถพัฒนาชิ้นงานได้ด้วยตัวเอง
"ครั้งนี้เราได้มาเยี่ยมชมผลงานของเยาวชนไทยที่โรงเรียนเบญจมราชรังสฤษดิ์ 2 จังหวัดฉะเชิงเทรา ได้เห็นความก้าวหน้า ผลงานเป็นที่ประจักษ์ มีการประกวดในเวทีต่าง ๆ เห็นในเรื่องทักษะของเด็ก ๆ ในเรื่องความคิดเชิงวิทยาศาสตร์ วิศวกรรม เป็นขั้นตอน รู้จักการแก้ปัญหาในเรื่องของชุมชนและสังคม รวมถึงได้รับการดูแลจากมหาวิทยาลัยพี่เลี้ยง ซึ่งโรงเรียนเบญจมราชรังสฤษฏ์ 2 อยู่ในพื้นที่ของโครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (EEC) ด้วย โดยมีมหาวิทยาลัยบูรพาเป็นพี่เลี้ยง ซึ่งทาง ม.บูรพา ได้เข้ามาช่วยในเรื่ององค์ความรู้เรื่องวิศวกรรมและให้คำแนะนำต่าง ๆ จุดนี้ถือเป็นการสร้างพื้นฐานที่จะทำให้เด็กมีความรู้เรื่องวิศวกรรมเป็นอย่างดี เพื่อเตรียมความพร้อมอนาคตของประเทศไทยในการเข้าสู่ไทยแลนด์ 4.0"
ด้าน นางสาวสุพิชฌาย์ เจริญรักษ์ ผู้อำนวยการโรงเรียนเบญจมราชรังสฤษฎิ์ 2 จ.ฉะเชิงเทรา กล่าวว่า โรงเรียนเบญจมราชรังสฤษฎิ์ 2 เล็งเห็นความสำคัญของการศึกษาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเป็นอย่างมาก ภายหลังจากโรงเรียนฯ ได้รับคัดเลือกเข้าร่วมโครงการ FabLab โดยมีมหาวิทยาลัยบูรพาเป็นพี่เลี้ยง และได้รับการสนับสนุนในด้านเครื่องมือต่าง ๆ จาก สวทช. ทำให้สามารถพัฒนาในเรื่ององค์ความรู้และปรับหลักสูตรในรายวิชาเพิ่มเติม เพื่อให้สอดคล้องกับ EEC ด้วย ซึ่งกิจกรรมตรงนี้ทั้งเด็กเองและครูได้คิดนวัตกรรม มีการออกแบบ ได้ลองใช้เครื่องมือที่มี
"ซึ่งผลงานที่เด็กได้คิดขึ้นมานั้น เราได้คัดเลือกจัดสรรให้เด็กได้มีเวทีประลองความสามารถ ซึ่งผลงานเป็นที่ประจักษ์ ได้รับรางวัลนำชื่อเสียงมาสู่โรงเรียนและชุมชนด้วย ซึ่งทางโรงเรียนฯ จะขอเป็นส่วนหนึ่งในการพัฒนาทักษะด้านวิศวกรรม วิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยี ของเด็กและเยาวชนไทย ให้พร้อมก้าวสู่การเป็นนวัตกร ซึ่งเป็นกำลังสำคัญของชาติ ที่จะช่วยพัฒนาผลงานด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม เพื่อนำไปประยุกต์ใช้ให้เกิดประโยชน์ต่อสังคมและขับเคลื่อนประเทศเข้าสู่ไทยแลนด์ 4.0”
ขณะที่มหาวิทยาลัยพี่เลี้ยง ดร.ชินวุธ พิพัฒน์ภานุกูล อาจารย์ สำนักงานจัดการศึกษา คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา กล่าวว่า ในนามตัวแทนของมหาวิทยาลัยบูรพา ที่เป็นแกนนำในพื้นที่ EEC มองเห็นความสำคัญของการพัฒนาเยาวชนไทยให้มีความสามารถด้านวิศวกรรมศาสตร์และเทคโนโลยี โดยมองว่ามหาวิทยาลัยไม่ใช่เพียงแค่ผลิตบัณฑิตเท่านั้น แต่ต้องเป็นมหาวิทยาลัยเพื่อชุมชนด้วย ซึ่งพร้อมที่จะช่วยดูแลและสนับสนุนการเรียนการสอนให้กับเยาวชนคนไทย ไม่เพียงแต่นิสิตนักศึกษาเท่านั้น
"และในโอกาสที่มีโครงการดี ๆ และได้รับมอบหมายจาก สวทช. คือ โครงการ FabLab ทำให้เกิดการพัฒนาตัวโครงการในรูปแบบต่าง ๆ เช่น การอบรมครูผู้ช่วย อบรมคุณครู นักเรียน เพื่อให้เข้าใจถึงห้องโรงประลองต้นแบบวิศวกรรมว่าควรเป็นอย่างไร จุดนี้ต้องขอบคุณผู้บริหารโรงเรียนต่าง ๆ ที่เล็งเห็นความสำคัญของการพัฒนาเยาวชนไทย และสร้างความตระหนักถึงพื้นฐานความรู้ที่จำเป็น เพื่อการพัฒนาเยาวชนไทยให้มีพื้นฐานวิศวกรรมและเทคโนโลยีของประเทศต่อไป”
ด้านน้อง ๆ นักเรียนที่นำผลงานโครงงานสิ่งประดิษฐ์มาร่วมจัดแสดง อย่าง “เครื่องวัดปริมาณออกซิเจนละลายน้ำด้วยแสง” นายวรินทร วงศ์อามีน ชั้น ม.5 ตัวแทนกลุ่ม เล่าว่า ที่ทำผลงานชิ้นนี้ขึ้นมาเนื่องจากพวกเราเล็งเห็นว่ารอบ ๆ โรงเรียนของเรามีปริมาณน้ำที่เราไม่รู้เลยว่าเป็นน้ำดีหรือน้ำเสีย มีปริมาณออกซิเจนน้อยหรือมาก ความต้องการของสัตว์น้ำ พืชต่าง ๆ ต้องการน้ำแบบไหน จึงได้พัฒนาเครื่องวัดปริมาณออกซิเจนละลายน้ำด้วยแสงขึ้นมา โดยใช้ชุดทดสอบออกซิเจนละลายภาคสนามและเทียบกับแถบสีมาตรฐานเพื่อตรวจสอบคุณภาพน้ำ และนำน้ำที่ทดสอบไปเทียบกับค่าปริมาณออกซิเจนละลายน้ำที่ได้จากเครื่องวัดปริมาณออกซิเจนละลายน้ำด้วยแสง
จากนั้นนำเครื่องวัดฯ มาใช้ในการทำการทดลองเพื่อดูประสิทธิภาพของเครื่องวัดฯ ผลการทดลองพบว่า ค่าเฉลี่ยของออกซิเจนละลาย (DO) เมื่อเทียบกับแถบสีมาตรฐาน และเมื่อเทียบกับเครื่องวัดฯ ในจุดเก็บตัวอย่างมีค่าเท่ากัน ซึ่งแสดงถึงว่าเครื่องวัดดังกล่าวใช้ได้จริงและทำงานอย่างมีประสิทธิภาพ สามารถบอกค่าปริมาณออกซิเจนละลายน้ำได้อย่างชัดเจน ถูกต้อง แม่นยำและไม่เกิดความคลาดเคลื่อน รวมถึงยังนำข้อมูลจากการศึกษามาประยุกต์ใช้ได้กับทุก ๆ แหล่งน้ำได้ด้วย
โดยที่ผ่านมากลุ่มเราได้นำไปทดลองใช้จริงกับน้ำในโรงเรียน น้ำก๊อก น้ำดื่ม น้ำคลอง หรือแหล่งน้ำที่เน่าขังตามบ่อ เป็นต้น สำหรับเครื่องวัดฯ นี้กลุ่มเราได้ใช้อุปกรณ์ในห้อง FabLab คือ มีตัวกล่องที่ทำมาจากเครื่องพิมพ์ 3 มิติ ทำให้กล่องกระชับ เล็กมากขึ้น พกพาง่าย ตอบโจทย์ได้เร็วขึ้น ซึ่งโครงการ FabLab ช่วยให้เรามีกระบวนการคิดสร้างสรรค์ในการออกแบบชิ้นงานทางวิศวกรรม ได้ใช้เครื่องมือจริง เพื่อนำไปต่อยอดทำโครงงานต่าง ๆ ได้ และทำให้มีการพัฒนาปรับคิดเทคโนโลยีก้าวหน้าในอนาคตได้”
ขณะที่อีกหนึ่งผลงานของน้อง ๆ เยาวชนในโรงเรียน “รถตัดหญ้าไฮเทค” นายปิยพัทธ์ สิทธินันท์เจริญ ชั้น ม.3 ตัวแทนกลุ่ม เล่าว่า “โครงงานนี้เราต้องการจะนำเทคโนโลยีเข้ามาปรับใช้กับเครื่องตัดหญ้า ให้ผู้ใช้สะดวกไม่ต้องออกแรง ไม่ต้องออกไปตากแดด เวลาปกติจะตัดในเวลากลางวัน ทำให้ต้องไปตากแดด และเกิดอันตรายได้ โดยการทำชิ้นงาน มีทางพี่เลี้ยง มหาวิทยาลัยบูรพา ได้เข้ามาช่วยให้คำแนะนำว่าควรเปลี่ยนอุปกรณ์โครงรถให้เป็นแบบโครงเหล็กเพื่อความแข็งแรง และสะดวกปลอดภัยขึ้น ซึ่งพัฒนามาจนรถค่อนข้างจะสมบูรณ์มากขึ้น ต้นทุนต่อคันประมาณ 3,147 บาท ตอนนี้มีนำไปทดสอบใช้จริงในสวนสาธารณะ สนามหญ้าในโรงเรียน และตัดโชว์ในโรงเรียน ผลที่ได้รู้สึกพึงพอใจมาก สามารถตัดหญ้าได้ดี”
นายปิยพัทธ์ กล่าวต่อว่า การเข้าร่วมโครงการ Fab Lab ครั้งนี้ช่วยให้เราได้คิดในการออกแบบ อย่างตัวล้อ ที่จะใช้เครื่องพิมพ์ 3 มิติ เราต้องออกแบบก่อน เพื่อให้ตัวล้อแข็งแรง ให้มีประสิทธิภาพมาใช้กับรถได้
นายตะวัน พิกุล สมาชิกในทีมอีกคน กล่าวเสริมว่า “โครงการ FabLab นี้ทำให้เราได้รับความรู้ในเรื่องการต่อวงจรไฟฟ้า เรื่องอุปกรณ์ไฟฟ้าต่าง ๆ เช่น โมดูล (ตัวปรับกระแสไฟ) บอร์ด รีเลย์ (อุปกรณ์ไฟฟ้าสำหรับตัดต่อวงจร) เป็นต้น ซึ่งล้วนเป็นเครื่องมือไฟฟ้าพื้นฐาน ทำให้รู้จักว่ามันคืออะไรแล้วมีวิธีใช้งานอย่างไร”
นอกจากสองผลงานข้างต้นแล้ว ทางโรงเรียนฯ ยังจัดแสดงผลงานโครงงานสิ่งประดิษฐ์อื่น ๆ ที่น่าสนใจและได้รับรางวัลระดับประเทศมาแล้วเช่นกัน ได้แก่ “เครื่องตรวจจับควันบุหรี่อัจฉริยะ” ซึ่งมีหลักการทำงานคือ เมื่อพบกลุ่มควัน แก๊ส เคลื่อนที่ผ่านบริเวณเซนเซอร์ จะมีการส่งสัญญาณแอนะล็อก (analog) ไปยังตัวบอร์ด KidBright และแจ้งเตือนไปยังแอปพลิเคชันไลน์
และอีกหนึ่งผลงานคือ “เครื่องช่วยเหลือผู้ดูแลผู้ป่วยติดเตียง” ซึ่งน้อง ๆ ได้วาดแบบร่างและพิมพ์ชิ้นงานด้วยเครื่องพิมพ์ 3 มิติ พร้อมต่อวงจรสิ่งประดิษฐ์ตามแบบร่าง และเขียนโปรแกรมเพื่อควบคุมการทำงานของอุปกรณ์ เพื่อให้เครื่องดังกล่าวสามารถช่วยให้ผู้ป่วยติดเตียงใช้เตือนเมื่อถึงเวลาพลิกท่าและระบุท่าที่ต้องการพลิกผู้ป่วยแต่ละครั้ง โดยแจ้งเตือนผ่านโทรศัพท์มือถือ ซึ่งผู้ดูแลไม่ต้องคอยเดินมาดูที่เตียงว่าถึงกำหนดพลิกตัวหรือยัง