สิทธิสตรีในไทย เปรียบเทียบกับยุโรป
ผู้หญิงเป็นช้างเท้าหลังคงหมดยุคไปแล้ว ปัจจุบันศักยภาพของสตรมีเทียบเท่ากับผู้ชาย มนุษย์ทำงานไทยน่าจะมีทางเลือกได้มากกว่าเพียงแค่ต้องเลือกอย่างได้อย่างหนึ่ง ว่าจะเป็น working woman หรือแม่บ้าน เพราะจริงๆ ผสมผสานกันได้ คือ work life balance นั่นเอง
ปัจจุบันนับได้ว่าสตรีหรือผู้หญิงมีสิทธิขึ้นมากในสังคมกว่าสมัยก่อนมาก เห็นนักสตรีนิยมคนดังหลายท่าน ออกมาแสดงเจตจำนงและสร้างแรงบันดาลใจให้กับชาวโลกในการรณรงค์เรียกร้อง “ความเท่าเทียมกันทางเพศ” และ “สิทธิสตรี” จึงทำให้มานั่งหวนว่า สิทธิขั้นพื้นฐานที่หญิงไทยพึงมี พึงได้ และควรเรียกร้องจากสังคมและจาก รัฐบาลไทยน่าจะมีอะไรอีกบ้าง
“ความเท่าเทียมกันทางเพศ” รวมทั้งสิทธิสตรี ดูเหมือนจะไม่ใช่สูตรสำเร็จในสังคมไทย แต่ความเหลื่อมล้ำในสังคมต่างหาก กลับกลายเป็นเรื่องที่คนยอมรับได้ โดยเฉพาะเกี่ยวกับสิทธิและความคาดหวังที่สังคมมีกับผู้ชายและผู้หญิงนั้น ทำไมถึงแตกต่างกัน
- ผู้หญิงกับการทำงาน ตำแหน่งระดับสูง และเสรีภาพทางการเงิน
ในยุโรป เรื่องความเท่าเทียมกัน รวมทั้งความเท่าเทียมกันทางเพศ ถือเป็นค่านิยมพื้นฐานของสังคม ภาครัฐยุโรป โดยเฉพาะสหภาพยุโรปให้ความสำคัญกับการส่งเสริม และสร้างสังคมที่มีความเท่าเทียม ลดความเหลื่อมล้ำ และมีโอกาสให้กับคนทุกเพศ ทุกวัย ทุกสถานะ ไม่ว่าจะจนหรือรวย หรือแม้แต่ผู้พิการก็มีการสร้างโอกาสและพื้นที่ให้เขาในสังคม
หากจะพูดเรื่องการทำงานและการเข้าสู่ตลาดงาน สถิติของยุโรปแสดงว่า
- ในภาพรวม การจ้างงานเพศหญิงในยุโรปอยู่ที่ประมาณ 40-75% (แล้วแต่ประเทศไหน) แต่ที่น่าสนใจคือว่า ผู้หญิงในยุโรปทำงาน part-time มากกว่าผู้ชาย และที่สำคัญทำงานในสาขาและในตำแหน่งที่มีมูลค่าและความสำคัญน้อยกว่างานของผู้ชาย
- หากดูจำนวนผู้เรียนจบมหาวิทยาลัยในยุโรปทั้งหมด นับเป็นผู้หญิงจำนวนถึง 60% แต่พอดูจำนวนผู้หญิงที่ทำงานในสาขาวิศวกร นักวิทยาศาสตร์ มีเพียงประมาณ 33% แต่ในงานสาขาด้านสังคมและการศึกษา เป็นหญิงถึง 60%
- ที่สำคัญ ผู้หญิงในยุโรปได้รับเงินค่าจ้างต่ำกว่าเพศชายถึง 16% (ค่าจ้างต่อชั่วโมง)
ล่าสุดในระหว่างการประชุมสภายุโรป มีการโต้แย้งระหว่างนักการเมืองยุโรป ซึ่งเป็น ส.ส.ยุโรปขวาจัด เพศชายชาวโปแลนด์ กับ ส.ส.หญิงชาวสเปนในสภายุโรป ที่ดุเดือดมากในประเด็นดังกล่าว โดย ส.ส.ชายกล่าวว่า “ผู้หญิงควรจะได้รับค่าจ้างน้อยกว่าผู้ชาย เพราะพวกเธอตัวเล็ก/ด้อยกว่า อ่อนแอกว่า และฉลาดน้อยกว่า- smaller, weaker, and less intelligence”
เรื่องนี้ทำให้ประเด็นเรื่องสิทธิสตรีและบทบาทของเพศหญิงได้รับความสนใจมากในยุโรป ในที่สุด ส.ส.ชายดังกล่าวต้องถูกลงโทษโดยการพักงานไปสักพัก เพราะการพูดจาดูหมิ่นในลักษณะดังกล่าว นี่คือคุณค่าทางสังคมที่ยุโรปใส่ใจ จึงสะท้อนถึงสภาผู้แทนราษฎรไทยและ ส.ส.หญิงของไทย ว่าได้รับสิทธิเหล่าหรือไม่อย่างไร
นอกจากนั้น ยุโรปยังตั้งเป้าส่งเสริมให้มีการจ้างงานเพศหญิงในตำแหน่งระดับสูงของบริษัท (ยกเว้น SMEs) ให้ได้ถึง 40% และส่งเสริมให้ผู้หญิงมีส่วนร่วมในการเมืองและการกำหนดนโยบายของประเทศมากขึ้นคือ เล่นการเมืองมากขึ้น มาร่วมกันพัฒนาประเทศให้มากขึ้น และที่สำคัญหากมีอาชีพการงานที่ดีขึ้นแล้ว พวกเธอก็จะมีเสรีภาพทางการเงินมากขึ้น (ไม่ต้องขึ้นอยู่กับฝ่ายชายเสียอย่างเดียว)
ในประเทศไทยก็น่าจะมีการรวบรวม และวิเคราะห์สถิติเรื่องสัดส่วนของหญิงและชายแบบนี้ไว้ด้วย หรือหากมีแล้วก็อย่าเก็บไว้เฉยๆ ควรนำมากำหนดเป็นนโยบายและตั้งเป้าหมายเรื่องสิทธิสตรีและส่งเสริมการจ้างงานเพศหญิง เพื่อลดความเหลื่อมล้ำในสังคม จริงๆ สำหรับประเทศไทย อยากเห็นนักการเมืองหญิงมากขึ้น นักธุรกิจหญิง CEO หญิงมากขึ้น และบทบาทของเพศหญิง ในการร่วมกันพัฒนาประเทศและสังคมไทยให้มากขึ้น และต้องได้ค่าจ้างและค่าตอบแทนที่เท่าเทียมกับผู้ชาย
- ผู้หญิงที่เป็นแม่ กับบทบาทของพ่อ-ลาคลอดได้ 3 เดือนน้อยไปไหม?
ข้อมูลที่น่าสนใจอีกอันหนึ่งก็คือว่า เมื่อผู้หญิงคลอดบุตรแล้ว บรรทัดฐานและความคาดหวังของสังคมคืออะไร แม่ต้องอยู่บ้านเลี้ยงลูก? ให้นมน่ะแน่นอน แล้วพ่อล่ะ?
ข้อมูลจากกระทรวงแรงงาน บอกว่า “ลูกจ้าง ซึ่งเป็นหญิงมีครรภ์มีสิทธิลาคลอดก่อน และหลังคลอดครรภ์หนึ่งไม่เกิน 90 วัน โดยให้นับรวมวันหยุดที่มีระหว่างวันลาด้วย และให้นายจ้างจ่ายค่าจ้างแก่ลูกจ้าง ซึ่งลาคลอด เท่ากับค่าจ้างในวันทำงานตลอดระยะเวลาที่ลา แต่ไม่เกิน 45 วัน”
สรุปกฎหมายไทยกำหนดให้ผู้หญิงสามารถลาคลอดได้ 3 เดือน แต่ชาย (เฉพาะที่เป็นข้าราชการและลูกจ้างราชการ) สามารถลาไปดูแลภรรยาได้ 15 วัน และได้รับเงินเดือน (ในภาคเอกชนหรือองค์กรอื่นๆ มีแตกต่างกันออกไป) จึงขอสนับสนุนให้ผู้ชายที่มีสิทธิดังกล่าวรีบใช้สิทธินี้และลาไปดูแลภรรยา เพราะช่วงแรกของการคลอดและดูแลทารกนั้นสำคัญที่สุด และผู้หญิงต้องการความช่วยเหลือ การสนับสนุน และที่สำคัญกำลังใจจากสามีเป็นอย่างมาก
การให้โอกาสการลาคลอดที่นานกว่านี้ น่าจะรับไว้พิจารณา และการส่งเสริมการมีส่วนร่วมของพ่อถือเป็นการส่งเสริมสถาบันครอบครัวและสร้างการส่วนร่วมในการเลี้ยงดูทารก ด้วยความสัมพันธ์ระหว่างทารกและพ่อแม่ยิ่งใหญ่ลึกซึ้งและเหนียวแน่นมาก งานวิจัยบางชิ้นบอกว่าเวลาช่วงที่เด็กเกิดไปจนถึง 3 ปี เป็นช่วงที่สำคัญที่สุดในชีวิต จึงเห็นว่าเราควรมาลองพิจารณากฎหมายไทยดูใหม่ว่า จริงๆ สิทธิลาคลอดได้ 3 เดือนนั้น สั้นไปหรือไม่ แล้วเราจะให้สิทธิลูกจ้างผู้ชายในการใช้สิทธิลาคลอดด้วยดีไหม
อยากให้ลองพิจารณาการปรับเปลี่ยนกฎหมายเกี่ยวกับสิทธิขั้นพื้นฐานเรื่องการเลี้ยงดูบุตร โดยขอเสนอให้รวมสิทธิของพ่อ (ไม่ใช่เฉพาะแม่เท่านั้นที่ทำได้) เข้าไปด้วยในการลาเลี้ยงดูบุตร และควรเป็นสิทธิการเลี้ยงดูบุตรแบบได้รับเงินเดือนด้วย สรุปว่าสิทธิการลาเลี้ยงดูบุตรแบบได้รับเงินเดือนควรใช้ได้ทั้งพ่อและแม่ ควรถูกกำหนดให้บังคับใช้เป็นกฎหมายระดับชาติของไทยกับทุกหน่วยงาน และทุกองค์กร
ลองมาดูนานาประเทศกันว่า จริงๆ เขาให้สิทธิการลาเลี้ยงดูบุตรแบบได้รับเงินเดือนกันนานมากเท่าไร ตัวอย่าง เอสโตเนีย เป็นประเทศที่ให้สิทธิการลาเลี้ยงดูบุตรแบบได้รับเงินได้นานที่สุดในโลกถึง 87 สัปดาห์ หรือ 609 วัน มากกว่า 1 ปี และให้เงินเดือนแบบครึ่งหนึ่ง
แต่ที่สำคัญ สิ่งที่ต้องปรับเปลี่ยน ควบคู่ไปด้วยน่าจะเป็นการปรับทัศนคติของคนไทยว่า ไม่ใช่ผู้หญิงเท่านั้นที่มีหน้าที่เลี้ยงลูกและดูแลบ้านจริงๆ ในยุโรป เห็นพ่อบ้าน หรือผู้ชายที่ทำหน้าที่หลักในการเลี้ยงดูบุตร แต่ภรรยากลับไปทำงานก็มีให้เห็นมากมาย น่าจะเป็นทางเลือกของครอบครัวเองว่าใครจะเป็นคนหากรายได้เข้าบ้าน เพราะอีกบทบาทคือ พ่อบ้านหรือแม่บ้านก็ไม่สำคัญน้อยไปกว่ากันเลย
- ผู้หญิงน่าจะมีโอกาสในอาชีพการงานที่ยืดหยุ่นเวลาได้
ผู้หญิงเป็นช้างเท้าหลังคงหมดยุคไปแล้ว ปัจจุบันศักยภาพของสตรมีเทียบเท่ากับผู้ชาย อยู่ที่ว่าจะได้รับการยอมรับแค่ไหนจากสังคมโอกาสด้านการศึกษา โอกาสได้เรียนสูงๆ (เท่าที่เธอต้องการจะเรียน) โอกาส ได้เข้าร่วมในการบริหารประเทศ โอกาสในการเป็นผู้บริหารบริษัท และธุรกิจใหญ่ หากผู้หญิงเลือกที่จะกลับไปทำงานหลังมีบุตร โดยพ่ออาจเป็นตัวแทนของครอบครัวในการดูแลและเลี้ยงดูบุตร พวกเธอควรได้รับโอกาสที่เท่าเทียม
ที่สำคัญ สังคมควรให้โอกาสผู้หญิงในการกลับเข้าสู่ตลาดแรงงาน หากไม่สามารถทำต็มเวลา ก็น่าจะมีทางเลือกให้ทำงานแบบ part-time ให้มากขึ้น สิ่งที่ต้องปรับเปลี่ยน น่าจะเป็นทัศนคติอีกนั่นแหละเรื่องการทำงานแบบครึ่งเวลา หรือเวลายืดหยุ่นที่นายจ้างในองค์กรหรือหน่วยงานของไทยควรรับให้ได้มากขึ้น และน่าจะเปิดโอกาสให้มีการทำงานแบบ part-time ดังกล่าวมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นตำแหน่งสูงๆ ในองค์กรก็ตาม
ประชาชนมนุษย์ทำงานไทยน่าจะมีทางเลือกได้มากกว่าเพียงแค่ต้องเลือกอย่างได้อย่างหนึ่ง ว่าจะเป็น working woman หรือแม่บ้านจริงๆ มันผสมผสาน กันได้อย่างลงตัวคือ work life balance นั่นเอง คงเป็นอีกทางเลือกที่น่าจะร่วมกันสร้างสรรค์ให้มากขึ้นในสังคมไทย